Interview

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธาตรี เมืองแก้ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธาตรี เมืองแก้ว
ตำแหน่งงานบริหาร
รักษาการรองคณบดีพระราชวังสนามจันทร์
คณะมัณฑนศิลป์ และ
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาพระราชวังสนามจันทร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร

“สิ่งสร้างสรรค์ที่เราทำขึ้นมา ทำให้เราเกิดความสุขใจ ก็อยากส่งมอบความรู้สึกนั้น ให้คนรอบข้างเราได้รับความสุขไปด้วย”

ชอบขีดเขียน : ตั้งแต่เด็ก มีอยู่วันหนึ่งตอนเด็ก พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ผมอยู่กับยาย ตอนคุณยายท่านนอนพักกลางวัน ผมเล่นซนโดยนำสีเทียนไปวาดผนังบ้าน วาดไปวาดมาก็เกิดไอเดียนำสีเทียนก็จิ้มลงบนผนังแล้วเดินขีดไปรอบๆ บ้าน พอพ่อแม่กลับมาเห็น ก็ไม่ได้ว่าอะไรมาก คงเห็นว่าเราคงชอบขีดเขียน หลังจากนั้นก็ซื้อไวท์บอร์ดมาให้ผมวาดรูป นับว่าผมได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ซึ่งทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นครู โตมาอีกหน่อยก็ชอบวาดรูปเหมือน วาดการ์ตูน วาดจากสิ่งที่สนใจ มีประกวดอะไร ครูให้โจทย์มา ก็นึกจินตนาการก่อนว่าจะวาดอะไรแล้วจึงถ่ายทอด ออกมาเป็นผลงาน เคยได้รางวัลรางวัลการ ประกวดในหัวข้อ ยามเมื่อฉันนั่งดูดาวบนท้องฟ้า เมื่อประมาณ ป. 5 มีเพื่อนๆ ที่ชอบศิลปะเหมือนกันก็จะเกาะกลุ่ม วาดรูปเล่นด้วยกัน

ค้นหาเป้าหมาย : จบ ม.3 ได้โควต้าเรียนต่อ ม.4 สายวิทย์ – คณิต แต่ในใจก็คิดว่าเราชอบเกี่ยวกับศิลปะและการ ออกแบบ น่าจะเรียนอะไรสัก อย่างที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านนี้ ที่บ้านแนะนำให้เรียนสถาปัตยกรรม ผมก็รู้สึก สนใจ เพราะชอบทำพื้นที่ที่เราอาศัยให้น่าอยู่ จึงสมัครสอบเข้าเรียนที่สถาบัน เทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านการ เรียนการสอนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม พอเรียนไปได้สักระยะก็เกิดวิกฤตการณ์ การเงินในเอเชีย ปี 2540 (วิกฤตการณ์ ต้มยำกุ้ง) ทำให้งานเกี่ยวกับการสร้างอาคารลดลงระยะหนึ่ง พอเรียนจบสูตร ปวช. สถาปัตยกรรม จึงเปลี่ยนสายไป เรียนนิเทศศิลป์เพราะมีความสนใจในงานกราฟิกดีไซน์ เรียนอยู่ 1 ปีในหลักสูตร ปวส. ก็เกิดความคิดที่ว่าอยาก ทำอะไรบางอย่างที่ทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน มีชีวิตที่สุขสงบกับงานที่ตนเองทำ แล้ววันหนึ่งก็มี โอกาสดูสารคดีเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานของศิลปินเซรามิค จึงเกิดความสนใจและตัดสินใจมาสอบที่ ภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ศิลปากร : ใจอยากจะมาเรียนศิลปากรอยู่แล้วเพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มีศาสตร์สาขาทางด้านศิลปะและการออกแบบรวมถึงการเรียนการสอนด้านเซรามิค พอมีโอกาสสอบเอนทรานส์ ผ่านและได้เข้ามาเรียนเซรามิคที่ศิลปากร รู้สึกมีความสุขและเป็นอะไรที่น่า สนใจมาก ๆ เพราะศาสตร์ เซรามิคเป็นศาสตร์นำความคิดนำจินตนาการของเราสร้างสรรค์ออกมาให้เป็นรูปธรรม ด้วยมือของเราเอง อยากได้อะไร สนใจอะไรผมก็ปั้นขึ้นมารู้สึกมีความสุข จิตใจสงบเมื่อได้ปั้นดิน และในช่วงเวลาเรียนก็มีโอกาสเข้าศึกษา ในพิพิธภัณฑสถาแห่งชาติหลายๆ แห่ง เพื่อศึกษาเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของศิลปะไทย ทำเห็นว่างานเซรามิค
เป็นสิ่งที่อยู่ข้ามผ่านกาลเวลามาได้มากกว่าหนึ่งพันปีและเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความเจริญรุ่งเรื่องของมนุษย์

เรียนอย่างมีความสุข : ก่อนหน้านั้นก็เคยคิดว่า โตที่เชียงใหม่ ถ้าเรียนจบที่เชียงใหม่ ก็คงทำงานที่นั่นไม่ได้ไปไหน แต่พอมาเรียนที่ศิลปากร ทำให้ได้ออกจากบ้านเป็นครั้งแรก รู้สึกอยากเดินทาง ไปท่องโลกกว้าง สภาพแวดล้อมของ เชียงใหม่ผสมผสานกันระหว่างธรรมชาติกับเมือง ส่วนกรุงเทพฯ เป็นเมืองแทบจะทั้งหมด ทำให้ต้องปรับตัวอยู่บ้าง แต่ที่วิทยาเขตสนามจันทร์ สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยธรรมชาติ มีความคล้ายคลึงกันกับเชียงใหม่ ทำให้รู้สึกอบอุ่น คุ้นชิน ทำให้ได้ใช้ชีวิตนักศึกษาอย่างมีความสุข ได้ลองทำหลายสิ่งหลายอย่าง เวลาหันย้อนกลับมาดูตัวเองก็รู้สึกว่า ไม่เสียดาย กับการได้ใช้ชีวิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะได้ทำเต็มที่แล้วในช่วงเวลานั้น เป็นภาพความ ทรงจำที่ดีทุกครั้งเมื่อนึกถึงชีวิตนักศึกษาที่ศิลปากร

ครอบครัวแมว : ตอนย้ายมาอยู่นครปฐม เพื่อที่จะมาใช้สตูดิโอของภาควิชา ที่วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ต้องปรับปรุงบ้านที่เช่าอยู่นิดหน่อย โดยมีการกั้นห้องเพื่อให้เป็นสัดส่วนกับเพื่อนที่อยู่ด้วยกันสามคน จึงได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนสถาปัตย์มาทำการออกแบบห้องและกั้นห้องด้วยตนเอง มีอยู่วันหนึ่งออกไปทานข้าว ขากลับเห็นลูกแมวตัวเล็ก ๆ เดินอยู่ตัวเดียวข้างถนน ผมมองรอบ ๆ ก็ไม่เห็นแม่ของแมวและเจ้าของ เกรงจะเกิดอันตรายกับแมว ก็เลยเก็บไปเลี้ยงที่บ้าน เลี้ยงไปเลี้ยงมา ก็มีรุ่นลูก รุ่นหลาน ของแมวน้อย รวม ๆ แล้วนับสิบตัว ตอนปีสี่ จะต้องคิดหัวข้อเกี่ยวกับศิลปนิพนธ์ พยายามคิดอยู่หลายหัวข้อ จนในที่สุดมาจบที่เรื่อง เกี่ยวกับ ครอบครัวของแมว เพราะจากการเลี้ยงแมวทำให้เรา ได้เห็นวิวัฒนาการของแมวตั้งแต่เล็กจนโต มีลูก มีหลาน โตด้วยกัน เล่นด้วยกัน ผมก็ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ สู่ผลงานศิลปนิพนธ์ ชื่อผลงานชุด ครอบครัวแมว ซึ่งเป็นผลงานประติมากรรมเซรามิค ที่ถ่ายทอดความรัก ความอบอุ่นและควารู้สึกสนุกสนานที่ได้สัมผัสจาก ประสบการณ์การเลี้ยงแมว

กฎระเบียบสังคม : เรียนจบ ยังไม่รู้ตนเองว่าจะไปอยู่จุดไหนของสังคม แค่รู้สึกว่า เวลาเรียนมีความสุขกับการทำงาน การสร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังไม่รู้เกี่ยวกับระบบระเบียบการทำงานอย่างจริงจังในสังคม ทำให้อยากไปทำงานประจำ เป็นเวลา 1 ปี เพื่อเป็นประสบการณ์ แล้วค่อยไปหาที่เรียนต่อในระดับปริญญาโท โชคดีที่ผมได้รับความเมตตาจาก ท่านอาจารย์วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของ โรงงานเซรามิคเถ้าฮงไถ่ ที่มาเป็นอาจารย์พิเศษสอน ที่ศิลปากร ท่านเรียนจบจากเยอรมัน และนำแนวคิดร่วมสมัยด้านเซรามิคมาพัฒนางาน ทำให้ผมอยากเรียนรู้การ ทำงานอย่างเป็นระบบ การสร้างสรรค์ผลงาน และเรื่องอื่น ๆ ท่านให้โอกาส ให้อิสระ กับการออกแบบ ของเรา ที่เป็นลักษณะหัตถอุตสาหกรรม ผมได้ทำงานเกือบทุกอย่างที่โรงงานเถ้าฮงไถ่ ได้รู้ขั้นตอนการทำงานในระบบโรงงาน ได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมายและมีความสุขมากๆ ณ ช่วงเวลาที่ทำงานกับท่านอาจารย์วศินบุรี ต้องขอขอบ พระคุณท่านอาจารย์และทุกคนที่โรงงานเถ้าฮงไถ่ เมื่อทำงานได้หนึ่งปีตามความตั้งใจจึงลาท่านอาจารย์วศินบุรีไป เรียนต่อ

อินเดีย : ผมสนใจอยากไปเรียนอินเดียตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่ศิลปากร เพราะได้จำคำกล่าวของท่านรองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ชมุนี ในคาบเรียนวิชาสุนทรียศาสตร์ตะวันออก ว่า อินเดียกับจีนเป็นรากวัฒนธรรมของเอเชีย จึงทำให้ผมอยากไปดูไปรู้ไปเห็นว่าคำรากวัฒนธรรมเป็นอย่างไร มีสิ่งหนึ่งที่ผมคิดอยู่ในใจคือ อยากเป็นนักเรียนนานๆ และคาดหวังไว้ว่าจะเก็บเกี่ยวนำประสบการณ์ดีๆ ที่ได้จากการเดินทางมาใช้กับชีวิตของตนในอนาคต

ศานตินิเกตัน : มหาวิทยาลัย วิศวภารตี, ศานตินิเกตัน (Visva – Bharati University, Shantiniketan, West Bengal, India) ก่อตั้งโดย มหากวี รพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) ท่านเคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม คนแรกของเอเชีย และยังเป็นสถาบัน ที่อาจารย์ เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้รับคำแนะนำจาก ท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้ไปเรียนที่นี่ ห่างจากกัลกัตตาซึ่งเป็นเมืองใหญ่ไปราวร้อยสามสิบกิโลเมตร บรรยากาศคล้าย ๆ กับ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ร่มรื่น มีต้นไม้อยู่รายรอบ คณะวิชาต่างๆ อยู่รวมกันกับพื้นที่
ธรรมชาติ ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ ประกอบกับอาจารย์ที่ภาควิชาฯ ท่านไปเวิร์คชอปที่อินเดียพอดีทำให้มีการติดต่อ กับนักเรียนไทยที่โน่น มีอยู่วันหนึ่งท่านอาจารย์ศุภกาและท่านอาจารย์วรรณณา จะพานักเรียนไทยจากศานตินิเกตัน พี่ไมค์และพี่วาสนาไปทานข้าว และชวนผมไปด้วย เลยทำมีโอกาสได้สอบถามข้อมูลการไปสมัครเรียนที่ศานตินิเกตัน เพราะสมัยก่อนยัง ไม่มีการสื่อสารที่สะดวกแบบในปัจจุบันผมก็เลยฝากพี่ทั้งสอง ช่วยซื้อใบสมัครและส่งมาให้ทาง ไปรษณีย์ ส่วนจะได้คัดเลือกหรือไม่ก็ต้องรอลุ้น เพราะไม่มีการสอบ แต่จะให้นักศึกษาจากทั่วโลก ส่ง Portfolio ไปให้คณะกรรมการคัดเลือก

ไปด้วยตัวเอง : สาขาที่ผมสมัคร คัดเลือกด้วยการส่ง Portfolio รับนักศึกษาต่างชาติแค่เพียงคนเดียว เป็นหลักสูตร one year casual course in sculpture เป็นการเรียนภาคปฏิบัติงานอย่างเดียว ในใจคิดอยากไปลองดูบรรยากาศก่อน ด้วยการเรียนหลักสูตรนี้ ถ้าหากชอบอยู่อินเดียได้จะได้สมัครเรียนปริญญาโทต่อ แต่ว่าการสมัครเรียนในครั้งนี้ อาจไม่ได้การตอบรับและ เอกสารถ้าส่งไปรษณีย์ไปอาจจะหาย จึงตัดสินใจไปส่งใบสมัครและ Portfolio ด้วยตนเอง จะได้ถือโอกาสเดินทางไปท่องโลกกว้างในดินแดนที่เป็นรากเง้าอารยธรรมของเอเชียด้วย เมื่อส่งใบสมัครและ Portfolio แล้ว ก็เดินทางจากเมืองศานตินิเกตัน ขึ้นเหนือไปดาร์จิลิง เลยไปจนถึงเนปาล จากนั้นก็กลับมาเมืองไทย รอฟังผลตอบรับ สุดท้ายก็ได้รับข่าวดีโดยได้รับจดหมายตอบรับว่าได้เข้าเรียน จึงได้กลับไปอินเดียอีกครั้งเพื่อเข้าศึกษา ที่ศานตินิเกตัน สมใจฝัน

บะหมี่ผูกมิตร : เมื่อไปต่างแดน รูป รส กลิ่น เสียง ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยเลยในชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่เรารู้จัก ทำให้รู้สึกตื่นเต้นทุกอย่าง หาข้อมูลล่วงหน้า และจดใส่สมุดไว้ ทำให้รู้ว่า ไปถึงที่ไหน จะต้องทำอย่างไร อาจจะมีผิดแผนไปบ้างแต่ก็ยังอยู่ในโครงที่วางไว้ ทำให้การเดินทางตัวคนเดียวไปต่างประเทศถึงศานตินิเกตัน อย่างปลอดภัย ตอนนั้นมีคนไทยไปเรียนที่นั่นอยู่ประมาณสิบคน ผมเตรียมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปเป็นร้อยซอง ส่วนหนึ่งนำไปแจกจ่ายให้นักศึกษาไทย ที่เหลือเก็บไว้ทานเอง เพราะตอนแรกยังปรับตัวไม่ได้เรื่องอาหารการกิน แต่พอบะหมี่หมดก็ต้องเริ่มชิมโน่นชิมนี่ แรก ๆ รู้สึกแปลก แต่พอนาน ๆ ไปก็รู้สึกอร่อยปรับตัวได้ พอเรียนได้ 1 ปี ก็จบหลักสูตร one year casual course in sculpture ประกอบกับรู้สึกประทับใจในศิลปะและวัฒนธรรมของ อินเดีย ก็เลยตัดสินใจสมัครเรียนต่อปริญญาโทเป็นเวลาอีก 2 ปี ซึ่งระหว่างนี้ไม่ได้กลับมาเมืองไทยเลยเพราะ อยากเรียนให้จบทีเดียวค่อยกลับมาเมืองไทย

นักเรียนอินเดีย : ปีแรก ได้ทบทวนตัวเองในเรื่องของการทำงาน ในเรื่องชีวิต ได้มีโอกาสเดินทางตามที่สวยงามต่าง ๆ ของอินเดีย ทำให้ได้เห็นศิลปะวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เพื่อน ๆ ก็ดี น่ารัก แต่ละสาขาจะมีชาวต่างชาติเข้าไปเรียนด้วย ผมก็ใช้ชีวิตเหมือนกับนักเรียนอินเดียคนหนึ่ง มีกิจกรรมอะไรก็ไปเข้าร่วม โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ส่วนภาษา อินเดียก็ต้องฝึกพูด เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง หลักสูตรที่ไปเรียนนี้มีชื่อเต็มว่า one year casual course
in sculpture โดยตั้งใจอยากจะไปเรียนรู้ต่อยอดทางด้านศาตร์ประติมากรรมโดยใช้เทคนิคเซรามิคเป็นแนวทางใน การสร้างสรรค์

ผลงาน : ปีแรกที่เรียน เมื่อไปเก็บกวาดบ้านเช่า ผมเจอข้าวของเครื่องใช้ที่มีรูปร่างลักษณะไม่คุ้นเคยเหมือนบ้านเรา ซึ่งเก่าแล้วต้องนำไปทิ้ง ผมก็เกิดจินตนาการทำให้เป็นงานศิลปะ จึงลองหยิบมาสร้างเป็นผลงาน อยากทำให้ของใช้รูปร่างแปลกตานั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้งตามที่เราจินตนาการขึ้นมา ทำเป็นวัสดุสื่อผสม เพื่อนๆ นักศึกษาและอาจารย์ก็ชอบผลงานเรา จึงทำให้เราเข้ากับเพื่อนและอาจารย์ได้ง่ายขึ้น ทำไปได้สักพักก็คิดถึงดิน จึงหาดินมาปั้นเป็นผลงานถ่ายทอดสิ่งที่เราพบเจอเป็นความทรงจำและความประทับใจในสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ผู้คน สัตว์ ฯลฯ ที่อยู่รอบตัวเราโดยเฉพาะในสิ่งที่ใจเราสัมผัสได้ สร้างสรรค์ผ่านเทคนิคเซรามิค

ถ่ายทอดความประทับใจ : สังเกตตัวเองว่า เวลาเจออะไรประทับใจแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน จะรู้สึกมีความสุขกับผลงาน อาจารย์ก็ชอบ ชมว่าน่าสนใจตั้งแต่งานชุดแรก การที่นำวัสดุเหลือใช้มาทำ หลังจากนั้นก็มีงานที่ปั้นขึ้นมา ถ่ายทอดชีวิตประจำวันที่เจอ อาจเป็นสิ่งธรรมดาที่เราใส่ความรู้สึกพิเศษลง ไปทำให้ออกมาเป็นผลงาน ครั้งหนึ่งผมนั่งรถไฟไปเมืองกัลกัตตา ระหว่างทาง มองวิวไปเรื่อยเปื่อย เห็นต้นไม้กลุ่มใหญ่ อยู่กลางทุ่งหญ้า มีนกบินวนไปมา สักพักนกกลุ่มใหญ่ก็บินหายเข้าไปในกลุ่มต้นไม้ รู้สึกว่า นี่คงจะเป็นที่พักของมัน เลยถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน นกกับต้นไม้ แต่ผมก็จะคลี่คลายรูปทรงออกมาให้ดูเรียบง่าย เข้าใจและรู้สึกได้ง่ายขึ้น งานอีกชิ้นหนึ่งเป็นรูปบ้าน ตรงช่องผนัง มีพระจันทร์ มีก้อนเมฆ เป็นความรู้สึกเมื่ออยู่ที่อินเดีย เหมือนเราได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ รู้สึกเหมือนที่นั่นเป็นบ้าน ผ่อนคลาย สบายใจ ในสถานที่ที่แวดล้อมไปด้วย ธรรมชาติ

ครั้งหนึ่งในชีวิต : ตอนใกล้จะจบรู้สึกว่า แรงบันดาลใจเริ่มจะหมด จากที่เคยอยากมาเจอรากวัฒนธรรม ได้เดินทางไปตามที่ต่าง ๆ พอรู้ว่าจะต้องกลับเมืองไทยหลังจากไม่ได้กลับมา 2 ปีกว่าๆ จึงอยากจะเดินทาง เก็บรายละเอียดหาแรงบันดาลใจในแผ่นดินอินเดียอีกสักหน่อย เพื่อนำแรงบันดาลใจนั้นมาใช้ในการสร้างสรรค์
ผลงานและใช้กับชีวิตต่อไปในอนาคต จึงคิดโครงการสร้างยานพาหนะ ที่จะเดินทางได้ด้วยกำลังของตัวเอง เพราะถ้าเดินทางด้วยมอเตอร์ไซด์ ก็ไม่รู้ว่าจะใช้น้ำมันแค่ไหน ฝนตกก็เปียก จะไปนอนตรงไหนก็ยังคิดไม่ออก แต่ถ้าสิ่งที่เดินทางไปกับเรา ไม่ต้องเสียเงินค่าน้ำมัน แล้วยังอาศัยอยู่ข้างในได้ ก็น่าจะดี

จักรยานช้างน้อย : ผมจึงสร้างสรรค์จักรยานสามล้อโดยทำให้เป็นเหมือนบ้านเคลื่อนที่ มีรูปทรงได้รับแรงบันดาลใจมาจากช้าง ลักษณะคล้ายรถตุ๊กตุ๊ก เวลาเดินทางก็นอนปั่นอยู่ข้างใน เวลาจอดพักก็ถอดล้อให้พื้นรถที่เอียงราบลงเป็นระนาบเดียวกับพื้นโลกเพื่อให้สามารถนอนได้สบาย ทั้งหมดนี้เหมือนเป็นการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มา เมื่อครั้งได้เรียน สถาปัตย์ นิเทศ เซรามิค ประติมากรรม จริงๆ แล้วผมก็เคยเรียนซ่อมคอมพิวเตอร์มาด้วยแต่งานนี้ไม่ได้นำความรู้ส่วนนี้มาใช้ ตอนเด็กๆ ผมชอบไปนั่งสังเกตลุงของผมที่เป็นช่างซ่อมรถ เวลาผมเกิดไอเดียอะไรก็จะวาดแล้วให้ลุงช่วยทำให้ เราก็ชอบที่จะนั่งดูทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้านช่างไปในตัว รถช้างน้อยที่สร้างมานั้นทำด้วยวัสดุเหลือใช้ บางอย่างก็หาซื้อจากร้านจักรยานที่ศานตินิเกตัน แล้วนำมาประกอบ เวลาออกแบบก็วัดขนาดร่างกายตัวเอง เพื่อจะได้รถที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไปและพอดีกับการใช้งาน

ผจญภัยในโลกกว้าง : จุดมุ่งหมายคือเทือกเขาหิมาลัย ก่อนออกเดินทาง เมื่อรู้ว่าเรียนจบแน่ ๆ ผมก็ไปกราบลา คณาจารย์ที่ศานตินิเกตัน แจ้งให้ทราบว่าผมจะออกเดินทางไปผจญภัยแล้ว แต่ละท่านก็อวยพรให้เดินทางด้วยความ สวัสดิภาพ ผมมีความกังวลใจเรื่องการ จราจรในอินเดียบ้าง แต่ก็คิดว่าความอยากเดินทางเพื่อสร้างความทรงจำ หาแรงบันดาลใจทำให้คลายความกังวลใจไปบ้าง เส้นทางที่ผมเลือกเดินทางนั้นเป็นเส้นทางรอง เป็นถนนระหว่าง หมู่บ้าน เพื่อเลี่ยงถนนใหญ่ที่รถสิบล้อเยอะ แต่ก็ต้องเจอกับความลาดชัน ขึ้น ๆ ลง ๆ บางครั้งก็ต้องเข็นรถกันครึ่ง ค่อนวัน ตอนเริ่มเดินทาง ระบบเบรกก็ยังไม่ค่อยดีนักแต่ก็พอใช้งานได้ แต่ถ้าออกเดินทางช้ากว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะวีซ่าใกล้จะหมด คิดว่าขับไปโมดิฟายไปก็แล้วกันจะได้มีกิจกรรมทำระหว่างการเดินทาง ผู้คนที่พบเห็นก็มองว่า เป็นยานพาหนะประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อน ผมมีสมบัติติดตัวไปน้อยมาก มีเงินติดตัวราวพันบาท สิ่งสำคัญที่สุดคือ กล้องถ่ายรูป เพื่อเก็บข้อมูล, ความกลัวทำให้ระวังตัวมากเป็นพิเศษ ระหว่างทางมีคนมาดูด้วยความสนใจ มาให้ความช่วยเหลือ ไปไหนก็เจอแต่รอยยิ้ม ผมแอบมองจากในรถก็รู้สึกดี มีกำลังใจ ได้เจอแต่คนดี ๆ ที่มีไมตรีให้ เราก็ได้ท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ ตอนจะพักค้างคืนก็สำรวจดูว่าแถวนั้นมีสิ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เราแค่ไหน ไปอาศัยอยู่ตามปั๊มน้ำมัน หน้าบ้านผู้คน ในโรงพัก หน้าศาลเทพฮินดู ฯลฯ ไปเรื่อย ๆ แรก ๆ เตรียมเสบียงไปทำกับข้าวกินเอง หลัง ๆ ก็ไปกินตามร้านที่ขายกับข้าวให้กับคนขับรถบรรทุก พอเขาถามว่าจะไปไหน ก็ตอบไปว่า พุทธคยา, สารนาถ และ หิมาลัย ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับผู้แสวงบุญนิยมเดินทางไป พอจะจ่ายตังค์เกือบทุกร้านเขาก็ไม่เก็บเขาคงคิดว่าผมเป็นนักพรตที่กำลังเดินทางไปแสวงบุญ(ตอนนั้นผมยาวและเดินทางผมก็ใส่เสื้อสกรีนรูปพระศิวะตรงหน้าอก) ก็เลยไม่มีใครเก็บเก็บตังค์ผม ผมก็ขออนุโมทนาในความเมตตานี้ที่ทุกท่านมีให้ ผมเดินทางด้วยจักรยานช้างน้อยไปได้ประมาณ
700 กิโลเมตร ค่ำไหนนอนนั่นเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน

หน้าที่การงาน : หลังจากกลับมาเมืองไทย คิดว่าอยากจะทำสตูดิโอเซรามิค และงานศิลปะอื่น เป็นของตัวเอง, อาจจะทำการเกษตร ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ควบคู่ไปด้วย คิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะทำ ให้เรามีความสุขกับชีวิต พอดีอาจารย์ที่เคยสอนสมัยเรียน ม.ศิลปากร ชวนให้มาเป็นอาจารย์พิเศษ ผมก็ยินดีเพราะ เป็นสถาบันที่เราเรียนมา อยากจะตอบแทนพระคุณสถาบันอยู่แล้ว และก็ได้มีจังหวะสอบบรรจุเป็นอาจารย์ประจำ ในสถาบันที่เราเรียน ระหว่างทำงานเป็นอาจารย์ ผมมีโอกาสเรียนต่อระดับปริญญาเอก สาขาศิลปะการออกแบบ หลักสูตรนานาชาติ ของคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แรงบันดาลใจสำหรับงานวิจัยนั้น ผมมองเห็นเรื่อง ขยะจากผลไม้ เช่น ทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ ที่ร่วงหล่นตามพื้น กากกาแฟ มังคุด ฯ จึงลองนำมาทำเป็นน้ำเคลือบ ที่ใช้กับงานเซรามิค และนำหัวข้อนี้ไปเสนอหลักสูตร การนำผลไม้เมืองร้อนมาทำเป็นน้ำเคลือบเซรามิก และสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมเซรามิคเพื่อเป็นกรณีศึกษา ผลงานวิจัยนี้ได้รับคำชื่นชมจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายใน
และภายนอก ต้องขอยกคุณความดีนี้ให้บูรพาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาและผู้มีพระคุณแด่ชีวิตผม ในปัจจุบันนอกจากเป็นอาจารย์ประจำแล้ว ยังทำหน้าที่รักษาการรองคณบดีพระราชวังสนามจันทร์ คณะมัณฑนศิลป์ และ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ความสุขที่แท้จริง : การได้ใช้ชีวิตที่สงบ ดูแล ตอบแทน ประพฤติปฏิบัติดีกับผู้มีพระคุณ เช่น พ่อแม่ ทำให้ท่านสบายใจ เมื่อท่านมีความสุขก็จะทำให้ผมมีความสุขไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือครอบครัว สิ่งใดที่ทำแล้วมีความสุข ก็อยากจะทำให้คนรอบข้างมีความสุขไปด้วย อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นกับทุกคน

สมดุลชีวิต : พยายามรักษาให้ชีวิตมีความสมดุล บางครั้งอาจจะมีเรื่องราวหรือภารกิจ ที่ต้องใช้กำลังกายและกำลังใจ มาก ๆ ต้องยิ่งรักษาความพอดีความสมดุลให้เกิดขึ้น ยามเหนื่อยก็ต้องรู้จักพักผ่อนทั้งกายใจ (บางทีก็มีเวลาพักน้อย) พอพักแล้วก็ลุยต่อ มีปัญหาอะไรก็พยายามแก้ไขไปตามสถานการณ์ ด้วยเหตุและปัจจัยที่ควรจะทำ พยายามคิดและ หาหนทางการแก้ปัญหาหลาย ๆ วิธี ไว้เป็นทางเลือก เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ทั้งในเรื่องการทำงานและชีวิตส่วนตัวครับ.