ศุภวิศว์ ภวะกุล – ความซื่อสัตย์สุจริต คือคาถาป้องกันภัยที่ดีที่สุด
ศุภวิศว์ ภวะกุล
สรรพากรพื้นที่ปทุมธานี 1
“ความซื่อสัตย์สุจริต คือคาถาป้องกันภัยที่ดีที่สุด”
ผมเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลตั้งแต่ชั้น ป.5 จนถึง ม.ศ.3 ที่ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ช่วงขึ้นเรียนชั้น ม.ศ.4 – ม.ศ.5 มีเหตุการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2516 พอดี ผมและเพื่อนๆ เป็นกลุ่มที่สนใจทางด้านข่าวสารบ้านเมือง ทำให้ทั้งกลุ่มไม่ค่อยเรียนเท่าไหร่ จนอาจารย์เป็นห่วงว่าจะเรียนไม่จบ
ที่โรงเรียนมีการประท้วง นำโดยรุ่นพี่ชั้น ม.ศ.5 ขณะนั้นผมอยู่ ม.ศ.4 ก็ไปกับเขาด้วย ตอนนั้นประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเราในโรงเรียน มีการขับไล่อาจารย์ใหญ่ ซึ่งก็เป็นพ่อของเพื่อนที่เรียนอยู่ห้องเดียวกัน เป็นครั้งแรกที่พวกเราต้องนั่งรถมากรุงเทพฯ เพื่อทำเรื่องร้องเรียนที่กระทรวงศึกษา จนอาจารย์ต้องถูกย้ายไป
ผมชอบวิชาคณิตศาสตร์เพราะอาจารย์ที่สอนท่านเป็นเหมือนพ่อ ให้ความเอาใจใส่กับลูกศิษย์มาก คอยดูแลพวกเราตลอด พาไปสมัครสอบ ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ พวกเราก็รักมีความผูกพันกับท่านมาก ซึ่งความสัมพันธ์ครูกับศิษย์แบบนี้ในปัจจุบันคงจะหาได้ยาก
จริงๆ ผมชอบกีฬาทุกประเภทมาตั้งแต่เด็ก แต่เล่นไม่เก่ง เลยได้แค่เชียร์เป็นหลัก จะเล่นบ้างส่วนใหญ่ก็ฟุตบอล วอลเลย์บอล เพราะอุปกรณ์กีฬาไม่ได้มีมากมาย สมัยเรียนวิชาที่จะทำให้ผมไม่ได้คะแนนเต็ม 4.00 ก็มีแค่ พลศึกษา วิชาเดียว เพราะเล่นแล้วมันทำไม่ได้ ทั้งที่ชอบ เป็นเพราะร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง เทอมไหนถ้าวิชาพละได้เกรด 4 วิชาอื่นก็ไม่ต้องไปดูเลย
ผมเป็นคนขี้เกียจ แต่อาศัยทำความเข้าใจ บางทีก็ดูไปก่อนอาจารย์ พอเข้าห้องเรียนก็รู้สึกว่าง่าย อย่างภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เจอแบบฝึกหัดหลักสูตรของโรงเรียนในอังกฤษ เห็นแล้วน่าสนใจก็มาฝึกหัดทำ แล้วก็ทำได้ เวลาเรียนก็สนุก แต่ช่วงหลังๆ อยากจะเปลี่ยนแนวให้ตัวเองบ้าง ก็เลยเลือกไปเรียนดนตรี อยากอยู่ในวงโยธวาทิต ฝึกเป่าทรอมโบน ก็สนุกดีเพลินๆ แต่พอเรียนไปได้แค่เทอมเดียว อาจารย์เห็นแววว่าไม่น่าจะเอาดีทางดนตรีได้ก็สั่งให้กลับมาเรียนคณิตศาสตร์ตามเดิม
กลุ่มพวกผมสนิทกันมาก จริงใจกัน กินนอนอยู่ด้วยกันข้างๆ โรงเรียน แล้วผมก็สอบเทียบได้ แต่ยังไม่ได้ไปเอ็นทรานซ์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเรียน ม.ศ.5 แต่ผมก็ยังไปโรงเรียนตามปกติเพื่อช่วยเพื่อนๆ ที่ยังเรียนไม่จบ พอเอ็นทรานซ์ ผมสอบติดที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เรียนอยู่แค่เทอมเดียวก็ออก เพราะรู้สึกว่าไม่เข้ากับชีวิต ไม่ชอบระบบ ทำให้มีปัญหากับรุ่นพี่ตลอด เวลาเรียนถูกแกล้งประจำ ทุกชั่วโมงพอเรียนเสร็จ จักรยานผมจะถูกแขวนไว้บนยอดไม้ ถูกปล่อยลมยางตลอด แต่ผมก็ไม่ค่อยยอม จนเกิดปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เลยคิดว่าไม่เอาดีกว่า
เพื่อนที่ไปอยู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน เพื่อนที่อยู่บางมดก็ไปสไตรค์รุ่นพี่ เพื่อนที่นิเทศน์จุฬาฯ ก็มีปัญหา แต่เขาก็พยายามประคองตัว ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาก็เพราะความคิดไม่ตรงกันกับรุ่นพี่ แล้วไม่มีใครยอมใคร อย่างผมก็ตัดสินใจเลยว่าไม่อยู่เรียนจต่อแล้ว เลยไปอาศัยอยู่รวมกับเพื่อนๆ ที่มาจากแปดริ้วด้วยกันอีกหลายคน แล้วผมก็เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะเศรษฐศาสตร์ โดยใช้เวลาเรียนสามปีครึ่งก็จบ ทำให้ไม่เสียเวลา ได้จบพร้อมๆ กันกับเพื่อนในรุ่น
เพื่อนๆ ในกลุ่ม 5-6 คน ที่มาจากแปดร้ิวด้วยกัน แล้วไปสุมหัวรวมกันอยู่แฟลต ทางบ้านไม่เคยคิดว่าอนาคตของแต่ละคนจะไปกันไหวหรือไม่ เพราะดูแล้วน่าเป็นห่วงทั้งนั้น บางครั้งไม่มีเงินกันเลยก็พากันหาวิธีหลอกล่อคนอื่น จะเรียกว่าต้มตุ๋นกันตามประสาเด็กๆ ก็ว่าได้ นึกย้อนไปแล้วก็ขำในการหาวิธีเอาตัวรอด แต่พอโตขึ้นมาก็มีความรับผิดชอบจนได้ดิบได้ดี ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานกันทุกคน
ผมไม่ค่อยชอบวิชาท่อง ชอบวิชาเกี่ยวกับความเข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อได้เรียนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง เลยยิ่งต่อยอดความคิดของตัวเองเข้าไปใหญ่ แต่ที่ไม่เลือกเรียนรัฐศาสตร์ก็เพราะตอนนั้นคิดว่าการเรียนเศรษฐศาสตร์น่าจะมีโอกาสหางานทำได้ง่ายกว่า
ผมไม่ค่อยได้เข้าห้องเรียน แต่ส่วนใหญ่ชอบไปฟังการสัมนาตามมหาวิทยาลัยต่าง ได้ฟังความคิดเห็นจากอาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ มีเอกสารแจกก็นำมาอ่าน มาศึกษา การเรียนมหาวิทยาลัยสำหรับผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์จะสอนหลักสูตรของโครงการร่วมไทย-แคนาดา อย่างวิชาคณิตศาสตร์ ผมเคยเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปสอบแข่งขันของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย พอผมเรียนชั้น ม.ศ.3 ความรู้ความเข้าใจก็เทียบเท่ากับที่สอนในมหาวิทยาลัยแล้ว
การรับราชการ เป็นเรื่องที่ผมไม่อยากทำมากที่สุด ส่ิงที่เห็นมาตั้งแต่เด็กคือ เวลาไปติดต่อราชการ เห็นระบบการทำงาน เหมือนกับเจ้านายมาสั่ง ชี้หน้าตำหนิประชาชน เลยไม่เคยชอบ เกลียดด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นไม่มีทางเลือก เพราะเปิดสอบเข้าทำงานกรมสรรพากรพอดี ตอนนั้นรับเยอะ แล้วผมก็ติดลำดับที่ต้นๆ ได้รับการบรรจุที่ ชลบุรี
ผมเริ่มทำหน้าที่เป็นนักวิชาการ ดูเรื่องภาษีการค้า ควบคุม วิเคราะห์ ตรวจสอบเวลาภาษียื่นมา ดูว่าต้องประเมินหรือไม่วันแรกที่รับราชการยังคิดเลยว่า เราจะอยู่ได้แค่ไหน เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมา ก็สอนให้เป็นนักคิด นักวิชาการ ไม่ใช่เรื่องที่จะจับต้องได้ง่ายๆ ถ้าออกไปแล้วจะทำอะไร มีคนเคยบอกว่า อุดมการณ์จะค่อยๆ เลือนหายไปภายในเวลา 10-15 จะถูกกลืนโดยสภาพแวดล้อมให้กลายเป็นข้าราชการเต็มตัว แต่สำหรับผมแล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตของเราได้
สมัยรับราชการใหม่ๆ เมื่อเกิดปัญหา ผมไม่เคยกลัวเลย เพราะคิดว่าเมื่อคิดดีทำดีแล้วก็ไม่มีอะไรจะต้องไปกังวล พร้อมที่จะให้ตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงได้ตลอด หากผิดจริงก็พร้อมที่จะออกจากราชการ เนื่องจากไม่ค่อยรักอยู่แล้ว ทำให้กล้าเผชิญหน้ากับปัญญาทุกเรื่อง เพราะคิดเสมอว่าสิ่งที่เราทำลงไป มั่นใจได้ว่ามีเหตุผลที่เหมาะสมเพียงพอ
ผมเป็นคนที่ได้สองขั้นน้อยที่สุด บางครั้งนายให้ก็ไม่เอา เพราะคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรจนต้องได้ขนาดนั้น บางครั้งทำงานให้นายทั้งวัน นายก็บอกตรงๆ ว่าให้สองขั้นไม่ได้ เพราะงานที่ทำมันเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้ผลงานของเราอย่างเป็นทางการไม่มี ซึ่งผมรู้ดีและก็ไม่เคยอยากได้ บางครั้งผมก็ทำตัวเหมือนจะขวางโลกก็มี รีบไปทำงานแต่เช้า รีบทำงานให้เสร็จ เพื่อจะได้ไม่ต้องเจอกับผู้คนที่ไม่อยากเจอ
ในการทำงานก็มีการโยกย้าย เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามวาระ อยู่ในสายงานวิชาการมาตลอด จนกระทั่งเปลี่ยนมาขึ้นเป็นหัวหน้าบริหารที่พัทลุง ผมมองว่าทุกพื้นที่ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก อย่างเช่นเมื่อไปภาคใต้ ที่หลายคนมีความกังวลใจ แต่เมื่อไปจริงๆ ก็พบว่า ถึงแม้จะพูดกันเสียงดัง โผงผาง ดูแล้วออกนักเลง แต่นั่นคือการพูดจาตรงๆ จริงใจ ชัดเจน ไม่ต้องอ้อมค้อม ทำให้พูดง่ายคุยง่าย
ชาวบ้านที่เสียภาษี ผมจะให้ความสำคัญกับเขามากกว่าตัวเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นลูกน้องของเรา เมื่อเป็นผู้บริหาร ผมบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อประชาชนทำผิด อย่ามองว่าเขาเจตนา ถึงแม้จริงๆ แล้วจะตั้งใจทำหรือไม่ก็ตาม เราต้องให้ความช่วยเหลือเขาเป็นอันดับแรกจะดีกว่า หลายๆ กรณีมองแล้วเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้สูงอายุบางคนเสียภาษีมาทั้งชีวิต แต่ผิดพลาดแค่ครั้งเดียว ระบบจะเอาให้เขาตาย คนเราไม่มีใครอยากโกงภาษี เพราะทุกคนมีสำนึกว่าประเทศชาติต้องใช้เงินภาษี แต่บางครั้งเขาไม่มีจริงๆ ธุรกิจอาจจะประสบปัญหา จะไปยึดทรัพย์ ฟ้องล้มละลาย เมื่อมองดูแล้วผมก็รู้สึกเจ็บปวดใจ
ลูกน้องจะรักหรือไม่รักผมไม่รู้นะ เพราะผมยืนอยู่ข้างชาวบ้านที่เสียภาษี เจ้าหน้าที่เรารู้กฏหมาย แต่ชาวบ้านไม่รู้ ฉะนั้นผมจึงเถียงแทนชาวบ้าน แล้วดูว่าจะชนะได้หรือไม่ ถ้าแพ้ จำนนด้วยเหตุผล ชาวบ้านก็จะยอมรับโดยดี เนื่องจากเราอยู่ข้างเดียวกับเขา ทำให้เขาแล้วเต็มที่ ถ้าไม่สำเร็จนั่นแสดงว่า เหตุผลต้องสู้ไม่ได้จริงๆ
หน้าที่หลักของสรรพากรคือการจัดเก็บภาษี เมื่อก่อนอาจจะใช้วิธีที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรมากนัก ซึ่งชาวบ้านโดยทั่วไปกลัวข้าราชการอยู่แล้ว ย่ิงเป็นสรรพากร บางคนบอกว่ากลัวยิ่งกว่าตำรวจเสียอีก แต่ต่อมาก็เปลี่ยนบทบาทจากที่เคยจัดเก็บอย่างเดียว ก็กลายเป็นเพื่อนที่คอยให้คำปรึกษา เปลี่ยนจากระบบตรวจสอบเป็นกำกับดูแล และสิ่งใดที่กรมสรรพากรสามารถให้คืนกลับสู่สังคมได้ก็ทำ ทำให้ภาพลักษณ์ของชาวสรรพกรไม่น่ากลัวเดิมเหมือนอย่างในสมัยก่อน
การจัดเก็บภาษีนั้นจะจัดเก็บได้ตามเป้าที่กรมฯ กำหนดมาหรือไม่นั้นมีด้วยกันหลากหลายปัจจัย ซึ่งเราก็ต้องทำให้ได้ดีที่สุด นโยบายที่ออกมาจะทำได้หรือไม่ได้ ในความคิดของผมคือต้องมีความชัดเจนและพร้อมทั้งกำลังสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้กับเรา ส่ิงสำคัญคือการขยายฐานภาษีให้ได้มากที่สุด แล้วปัญหาที่เกิดขึ้น เราต้องเอาเรื่องจริงมาคุยกัน ไม่ใช่การตกแต่งข้อมูลให้สวยหรูแต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ อย่างเช่น รายได้ที่แท้จริงของประชาชนเราไม่อาจจะรู้ได้เลย เพราะเขาก็ต้องแจ้งให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อจะเสียภาษีให้น้อยลง ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึงเรามีอัตราภาษีที่สูงหรือเปล่าเขาจึงต้องทำแบบนี้ และถ้าหากเราจัดเก็บด้วยอัตราที่เหมาะสมแล้วเขาจะแจ้งรายรับที่แท้จริงหรือไม่ แล้วเรื่องภาษีก็มักจะมีความซับซ้อน จนชาวบ้านธรรมดาทั่วไปยากจะทำความเข้าใจ ทำให้เขากลัวสรรพากร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ไขไม่ได้ง่ายๆ ต้องอาศัยการให้ความรู้ความเข้าใจ และค่อยๆ พัฒนาระบบควบคู่กันไป
เคยเจอกับเหตุการณ์ที่ต้องอาศัยความเข้าใจ อดทน เพื่อทำให้ชาวบ้านยินดีกับสิ่งที่เราต้องการจะให้เขาทำ มีป้าท่านหนึ่งโกรธมาก โวยวายว่าอยู่ดีๆ จะให้ไปจ่ายค่าปรับ แกก็ไม่ยอม โวยวายจะไปร้องกับนายอำเภอ ผมก็เข้าไปพูดคุยกับป้าดีๆ แล้วก็บอกกับแกว่า ยังไงผมก็ไม่ปรับป้าหรอก แต่จะขอให้ช่วยเสียเพิ่มอีกสักนิดจะได้รึไม่ พอป้าได้ยินแบบนี้ก็รู้สึกสบายใจขึ้น ยินดีจ่ายตามที่เราร้องขอ ทั้งๆ ที่มันก็คือค่าปรับนั่นแหล่ะ แล้วผมก็บอกกับลูกน้องว่า ป้าเขาไม่ชอบได้ยินคำว่าปรับ เพราะรู้สึกว่าเหมือนความผิดของเขาเป็นเรื่องใหญ่โต เราก็ต้องหาวิธีคุยกับเขาดีๆ ทำให้เขาสบายใจ แล้วเราก็จะบรรลุความต้องการได้ หากทำอะไรแบบทื่อๆ โดยไม่รู้จักสนใจความรู้สึกของคนอื่น การทำงานก็จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีแต่ศัตรูไม่มีมิตร
ในชีวิตการทำงานผมไม่เคยเอาเปรียบราชการ ไม่เคยคิดว่าจะได้มาอยู่ตำแหน่งตรงนี้ ถือว่าทุกอย่างคือกำไรชีวิต ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเหมือนคาถาที่คอยคุ้มครองป้องกันภัยให้เราได้ทุกอย่าง อย่าทุจริตเงินหลวง ผมไม่ใช่นักการเมือง แต่ก็มองเห็นความสำคัญของชาวบ้านมาตลอด ให้ความเห็นอกเห็นใจเขา แล้วเราก็จะได้มิตร ผมจึงจะยืนอยู่ข้างชาวบ้านมาตลอด ซึ่งวิธีนี้ถูกหรือผิดก็ไม่รู้ จนบางคนคิดว่าผมมีมีนอกมีใน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ผมทำงานยังต้องเสียเงินให้กับผู้เสียภาษีหลายรายเลย
เมื่อผมอยู่ตรังเคยมีกรณีที่ผู้รับเหมารายหนึ่งไม่ได้ยื่นเสียภาษี เมื่อเรียกมาเขาก็รับผิดทุกอย่าง แต่สาเหตุที่ไม่สามารถชำระภาษีได้ก็เพราะ ทั้งเมียและลูกป่วยหนักอยู่โรงพยาบาล วันนั้นเขาเอาเมียมาด้วยเพื่อให้เราเห็นว่าเขาป่วยจริง ข้าวก็ไม่มีกิน แล้วถามว่าผมจะใจดำกับเขาแค่ไหน วันนั้นผมบอกไปว่า คงช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่จะให้เงินไปซื้อข้าวสารไว้ประทังชีวิต ส่วนกับข้าวให้ไปหาเองละกัน แทนที่จะเก็บเงินเขา ผมกลับให้เงินช่วยชีวิตเขาไปอีก เพราะจะให้อยู่นิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลย หรือไปเรียกเก็บจากคนที่เขาเดือดร้อนซำไปอีก ก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งการกระทำแบบนี้จะถูกหรือผิดก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แค่ว่าทำแบบน้ีแล้วสบายใจผมก็ทำ
ผมเป็นคนที่จบเวลางานแล้วคือจบความเครียด เลิกงานแล้วก็ไปพักผ่อนออกกำลังกายบ้าง เป็นคนที่ชอบเล่นกีฬา ฟุตบอล เตะกันตั้งแต่ไม่มีรองเท้าใส่ เล่นไม่เก่งเพราะร่างกายไม่แข็งแรง จะเล่นตำแหน่งไหนก็ดูติดขัดไปหมด แต่เรื่องข่าวสารวงการกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลอังกฤษนี่ติดตามมาตั้งแต่เด็กจนโตเข้ามหาวิทยาลัย ซื้อหนังสือเกี่ยวกับกีฬามาอ่านตลอด ชอบเชียร์แต่ไม่เคยเล่นพนัน ในครอบครัวก็แบ่งข้างกันเชียร์ทีมต่างๆ อย่างสนุกสนาน ผมกับลูกชายเชียร์ปืนใหญ่ อาเซน่อล ส่วนแม่บ้าน เชียร์ หงส์แดง ลิเวอร์พูล
ก่อนหน้านั้นผมดื่มบ่อยมาก มีอยู่ครั้งไปดื่มที่บ้านเจ้านายจนท่านให้นอนที่บ้าน ผมก็ดื้อจะกลับให้ได้ จนขับรถไปชนสะพานพังเสียหายหนัก แต่ยังฝืนขับกลับมาจนถึงบ้าน แล้วนายก็มาเตือนว่าให้ผมเลิกดื่มเถอะ มิเช่นนั้นอาจจะไม่โชคดีแบบครั้งนี้ ซึ่งผมก็หักดิบ ตัดสินใจเลิกดื่มเด็ดขาดตั้งแต่วันนั้นเลย แต่ผมก็ยังไปร่วมวงดื่มน้ำเปล่ากับเขาได้ เพื่อนๆ ก็สงสัยนึกว่าผมป่วย เพราะอยู่ดีๆ เลิกดื่มดื้อๆ แต่ผมว่าดีซะอีกไม่ต้องไปเสียเงินเสียทอง สุขภาพก็ไม่ทรุดโทรม
ชีวิตผมเกลียดอะไรมักจะได้เจอกับสิ่งนั้น เมื่อก่อนรู้สึกไม่ชอบกอล์ฟ เกลียดเลยก็ว่าได้ เพราะเขาบอกว่าเป็นกีฬาของผู้ดี แล้วอะไรที่เป็นผู้ดีผมจะไม่ชอบ คนตีก็เรื่องมาก ต้องมีผู้ติดตาม วุ่นวาย เสียเวลามาก เวลาเห็นคนอื่นไปตีกอล์ฟก็จะรู้สึกไม่ชอบ
ผมมีโปรที่รู้จักกัน ชวนให้ผมไปหัดเล่นครั้งแรกที่พัทลุง ไปซ้อมชิพ พัตต์ พอเล่นๆ ไปก็รู้สึกเพลินๆ โปรเขาก็หลอกล่อเราสอนให้ทีละนิดๆ ทุกวัน จนเรารู้สึกว่าการไปซ้อมกอล์ฟเหมือนเป็นนิสัย วันหยุดต้องไปสนามซ้อมตั้งแต่เช้าตรู่ ซ้อมกันวันละเป็นสิบถาด ถ้าชิพไม่ลงตระกร้าไม่ต้องกินข้าว ไม่ต้องกลับบ้าน ทำให้เล่นลูกชิพได้ค่อนข้างดี พอเล่นเป็นแล้วถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็เดินอยู่ในสนามทั้งวัน ลืมไปเลยว่าเคยเกลียดกอล์ฟ ฝึกเล่นอยู่พัทลุงเป็นปี ก็มาแข่งกอล์ฟของกรมฯ ครั้งแรก ตอนนั้นยังใช้หัวไม้ไม่เป็นเลย ออกด้วยเหล็กตลอด แต่ก็ทำผลงานได้ดีพอสมควร
ผมรักกอล์ฟเล่นกอล์ฟมานาน จนได้พบกับกลุ่ม นกธ. (นักบริหารระดับสูง กอล์ฟ ธรรมศาสตร์) เมื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทำให้ผมเห็นความสำคัญของกีฬากอล์ฟมากขึ้น จึงอยากจะเรียนรู้ และทำความเข้าใจในกอล์ฟ จึงตัดสินใจเข้าร่วมหลักสูตรนี้ทันที
การเล่นกอล์ฟนั้นก็ทำให้เราได้เห็นความเป็นจริงของคนถึงเนื้อแท้ ชีวิตในสนามกอล์ฟเป็นอย่างไรก็พอจะสะท้อนให้รู้ถึงตัวตนของเขาได้ ใครชอบเอาเปรียบ ชอบโกง เห็นแก่ตัว มีน้ำใจ เจ้าอารมณ์ ไปที่อื่นอาจจะไม่เห็น แต่มาที่สนามกอล์ฟทุกคนเผลอแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาหมด แล้วเวลาไปเล่นกับคนอื่น ผมก็ไม่ทำตัวให้เป็นภาระใคร อะไรที่ดูแลตัวเองได้ก็ต้องรีบจัดการให้เรียบร้อย
เล่นกอล์ฟก็ได้สัจธรรมเหมือนกับคำสอนของพระ เราต้องมีสติ อยู่กับปัจจุบัน ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด อดีตที่ผ่านไปแล้วอย่าไปคิดถึง เพราะแก้ไขอะไรไม่ได้อีก ค่อยๆ ตั้งใจเล่นไปทีละช็อตๆ อนาคตข้างหน้าหลังจากตีไปแล้ว ถึงจะวางแผนมาดีแค่ไหน ตีออกไปดูดียังไง ก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะมีปัญหาอะไรอีกก็ค่อยตามไปแก้ไข ว่ากันไปตามสถานการณ์ กอล์ฟไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ต่างจากชีวิตคนเราเลยครับ