วัคซีนใบยา วัคซีน โควิด-19 สัญชาติไทย
“วัคซีนใบยา” วัคซีน โควิด-19 สัญชาติไทย
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้น “วัคซีน” เป็นหนึ่งในความหวังที่จะช่วยชะลอและลดการแพร่ระบาดของโรคและอัตราการเสียชีวิตได้ นอกจากวัคซีนบางชนิดที่ผลิตออกมาแล้ว ยังมีทีมวิจัยอีกมากมายที่กำลังคิดค้นวัคซีนชนิดและรูปแบบต่างๆ เพื่อต่อกรกับ โควิด-19 เช่นกัน รวมถึงทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มาโดยตลอด ทั้ง ChulaCov19 วัคซีนชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ วัคซีนใบยา จาก บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพแห่งจุฬาฯ ภายใต้ CU Enterprise
วัคซีนใบยา เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตจากใบพืช พัฒนาโดยสองนักวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ
ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ CEO และ Co-founder บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด เปิดเผยว่า วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนชนิด subunit vaccine ซึ่งต่างประเทศมีการผลิตวัคซีนชนิดนี้มานานแล้ว โดยผลิตจากหลายแหล่ง เช่น พืช แมลง สำหรับวัคซีนใบยาใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ดั้งเดิมจากออสเตรเลีย ทำหน้าที่เสมือนโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไวรัสซึ่งไม่ก่อให้เกิดโรค เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกาย จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเรา หากติดเชื้อโควิด-19 ก็จะป้องกันได้
ภายหลังได้รับวัคซีนต้นแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะผู้วิจัยได้ทดสอบวัคซีนกับสัตว์ทดลองเสร็จในเดือนสิงหาคม 2563 จึงเริ่มสร้างสายการผลิต จนแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 นับเป็นโรงงานผลิตวัคซีนจากพืชสำหรับใช้ในมนุษย์แห่งแรกในเอเชีย บนเนื้อที่ 1,200 ตร.ม. มีกำลังการผลิตวัคซีนได้ถึงเดือนละ 1-5 ล้านโดส
และในเดือน สิงหาคม 2564 จะเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทดสอบวัคซีน โดยจะเริ่มทดสอบในกลุ่มผู้มีอายุ 18-60 ปีเป็นกลุ่มแรก และจะทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 60-75 ปี ต่อไป นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้พัฒนา วัคซีนใบยา รุ่นที่ 2 เพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งน่าจะทดสอบกับอาสาสมัครได้ในช่วงปลายปี 2564 คาดว่าวัคซีนใบยาจะพร้อมฉีดให้คนไทยช่วงกลางปี 2565 ในราคาต้นทุนโดสละ 300- 500 บาท
วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนฝีมือคนไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้นักวิจัยคนไทยกว่า 50 ชีวิต และผู้สนับสนุนอีกมากมาย การผลิตวัคซีนโควิดได้เองส่งผลให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพ และยังเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยด้วย ผู้สนใจบริจาคเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนใบยา โปรดดูรายละเอียดได้ที่ www.cuenterprise.co.th หรือ Facebook: CUEnterprise