ความสุขของชีวิต เกิดจากการรักษาสุขภาพกายและใจ – พลเอกจรัล กุลละวณิชย์
พลเอกจรัล กุลละวณิชย์
ประธานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม
“ความสุขที่แท้จริงของชีวิต เกิดจากการรักษาสุขภาพกาย และ ใจ ให้มีความพร้อมสมบูรณ์”
ผมเกิดในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดมาได้ไม่กี่ปีก็มีสงครามอินโดจีน ในยุคที่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองจึงมีการปลุกระดมให้ประชาชนรักชาติ รักแผ่นดิน ร้องเพลงของหลวงวิจิตรวาทการ เช่น ใต้ร่มธงไทย แหลมทอง ฯลฯ ผมเป็นยุวชนทหาร แต่งเครื่องแบบนุ่งกางเกงขาสั้น เสื้อแขนสั้น ใส่หมวก เหมือนกับเด็กเล็กๆ แต่งชุดลูกเสือในสมัยนี้ ทุกเช้าต้องนั่งสามล้อไปโรงเรียน ถ้าระหว่างทางได้เวลา 8:00 น. พอดี ก็ต้องหยุดรถเพื่อยืนขึ้นเคารพธงชาติ ทุกคนร้องเพลงชาติไปด้วย สำนึกในความภาคภูมิใจ ในความเป็น “ชาติของเรา” ฟังแล้วเกิดความฮึกเหิม รักชาติเป็นอย่างที่สุด
สิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นในวัยเด็กบางสิ่งก็ยังไม่เข้าใจ ณ เวลานั้น แต่เมื่อโตขึ้น ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนกลับไป ก็ยิ่งทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยมากยิ่งขึ้น คนไทยในปัจจุบันอาจจะไม่รู้ว่า ประเทศไทยเป็นชาติเล็กๆ ชาติเดียวในเอเชียที่เคยรบกับชาติมหาอำนาจทางตะวันตกแล้วชนะในสงครามอินโดจีน สามารถยึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึกได้ อาจจะเป็นเพราะจังหวะนั้นโชคช่วยเราด้วยที่บ้านเมืองของเขาก็เกิดวิกฤติ จนไม่สามารถส่งกำลังสนับสนุนมาแก้ไขสถานการณ์ได้ นับเป็นความภาคภูมิใจที่คนไทยควรจะได้รับรู้ไว้ และนั่นคือที่มาของการก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2485 พวกเราเด็กๆ สนุกกันมาก ได้เล่นน้ำ ได้พายเรือที่ลานพระรูป ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือความทุกข์ยากของผู้คนจากนั้นอีกไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดย่านสำคัญๆ ของเมืองหลวง สมัยนั้นเรียกว่า ย่าน 4 ส ได้แก่ สาทร สีลม สุรวงศ์ สี่พระยา บ้านของผมอยู่ที่ ถนนนเรศ ทางเชื่อมระหว่าง สี่พระยา กับ สุรวงศ์ ลูกระเบิดเพลิงได้ลงข้างๆ บ้าน ซึ่งมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ โชคดีที่บ้านเรารอดมาได้ และเป็นบทเรียนว่า ต้นไม้ สามารถคุ้มครองป้องกันอัคคีภัยได้ ตอนเช้าวันเกิดเหตุคุณพ่อพาหนีหลบภัยไปยังสวนใกล้ๆ พอผ่านไปอีกคืน รุ่งเช้ากลับมาเก็บของ คุณพ่อก็คาดว่าบ้านเราคงถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว แต่ปรากฎว่าบ้านเรายังอยู่ รอดจากระเบิดเพลิงมาได้ ทั้งนี้เพราะหน้าบ้านหลังบ้านมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่ ช่วยกันไฟไว้ให้ แต่ก็ถูกความร้อนจากไฟจนแห้งตายไปทั้งคู่ โชคยังดีที่ไฟดับไปเอง มิเช่นนั้นเราคงไม่เหลืออะไรเลย บ้านไม้หลังคาสังกะสีรอดพ้นมาได้ พื้นไม้กระดานถูกไอความร้อนจนหดเป็นร่องกว้างอย่างเห็นได้ชัด
คุณแม่เคยเป็นครู ทำให้ลูกๆ ทุกคนได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ทุกๆ วันต้องท่องศัพท์สะกดให้ถูกต้อง 10 คำ เริ่มจากง่ายๆ ไล่ไปจนถึงยาก ทำให้จดคำศัพท์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ตอนเช้าแม่ตื่นตั้งแต่ตีห้า ตั้งโต๊ะอาหาร ทอดไข่ดาว ชงน้ำชา กว่าลูกจะตื่นก็หกโมงเช้า ไข่ทอดอาจจะชืด น้ำชาอาจจะเย็น แต่ลูกๆ ทุกคนจะชมว่าอร่อยที่สุด เพราะพี่คนโตสอนไว้ว่าแม่เหนื่อยแล้ว อย่าทำให้ท่านต้องเสียน้ำใจ กินเสร็จก็ต้องเก็บล้างเอง กระดุมขาด ก็ต้องรู้จักทำเอง สนเข็มเอง เย็บเอง ทำให้ลูกผู้ชายรู้วิธีดูแลตัวเองในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เวลาที่ไม่มีใครช่วยเหลือ
ผมเป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 7 คน แต่ช่วงหลบภัยสงครามนั้นครอบครัวยังมีกันแค่ลูกชายสามคนแรก กับน้องสาวเล็กๆอีก 2 คน รวมเป็น 5 คน พวกเราไปอาศัยอยู่กับคุณปู่ที่เขตรอบนอกของจังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่มีโรงเรียนใกล้ๆ บ้าน ก็ย้ายไปอยู่บ้านป้าซึ่งใกล้โรงเรียนมากกว่า แต่ยังต้องเดินกันเป็นกิโล แม่ก็บอกไม่ไหวหรอกเพราะลูกยังเล็กเกินไป จึงต้องไปเช่าบ้านในอำเภอบางปะกงเพื่อให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ และนั่นทำให้ผมภูมิใจที่ได้เรียนจากโรงเรียนประชาบาล “บวรวิทยายน” จนจบประถม 4 ก็พอดีสงครามสงบ จึงย้ายกลับกรุงเทพฯ มาเรียนที่โรงเรียนศิริศาสตร์ ถนนสี่พระยา ที่รอดภัยระเบิดจากสงครามมาด้วยเช่นกัน ซอยที่บ้านเราอยู่ชื่อทางราชการว่า ตรอกหลังวัดหัวลำโพง คุณพ่อก็เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “ซอยสันติภาพ” ซึ่งเป็นคำที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ฟังดูแล้วไพเราะเข้ากับบรรยากาศของความสงบหลังสงคราม
ระหว่างที่อยู่บางปะกง ทำให้รู้จักคำว่า น้ำเค็ม ซึ่งคนกรุงเทพฯ ไม่เคยได้ยิน คือน้ำทะเลได้หนุนเข้าไปในแม่น้ำบางปะกง ทำให้เราไม่มีน้ำจืดใช้ ต้องพายเรือมาตามคลองเลียบถนนเส้นสมุทรปราการ-ฉะเชิงเทรา จะมีคลองข้างๆ เรียก หลุมหลา เราพายเรือมาทางฝั่งน้ำเค็ม หิ้วถังข้ามถนนมาตักน้ำจืดในคลองอีกฝั่งใส่ให้เต็มลำเรือ แล้วพายกลับไปตักใส่ตุ่มที่บ้าน แกว่งสารส้ม ให้ตกตะกอน ถึงจะต้มกินได้ ไม้ขีดก็หายาก เพราะโรงงานเสียหายจากลูกระเบิด ต้องใช้วิธีตีหินเหล็กไฟ นับเป็นประสบการณ์การใช้ชีวิตในช่วงสงครามอย่างแท้จริง
สภาพของสังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีการรับเอาวัฒนธรรมของตะวันตกเข้ามามากขึ้น เมื่อมีการเข้ามาสำรวจประเทศไทยก็พบว่าเรายากจน มีรายได้ประชาชาตินิดเดียว เหตุก็เพราะแต่ละบ้านใช้วิถีไทย นั่นคือเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตรงกับปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัจจุบัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือวิถีชีวิตอันแท้จริงของไทยแต่ดั้งเดิม
ผมเข้าเรียนที่กรุงเทพคริสเตียนฯ ทำให้ได้มีโอกาส 2 อย่างด้วยกัน นั่นคือได้เรียนภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกัน เพราะมีครูชาวอเมริกันมาสอน ครูไทยก็สำเนียงดีมาก อีกอย่างคือได้เข้าโบถส์แบบอเมริกันเพรสไบทีเรียลทุกวันศุกร์ เมื่อยังเด็กพ่อแม่พาไปวัดไทย ศึกษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมแบบไทยๆ พอมาเข้าโรงเรียนคริสฯ ก็ได้เข้าโบสถ์ร้องเพลง ทำให้รู้จักและเข้าใจว่า ศาสนาเป็นเรื่องดี กลับมาบ้านก็สวดมนต์ กราบเท้าพ่อแม่ก่อนนอน แม้กระทั่งเมื่อเรียนจบเป็นนายร้อยตรีแล้วยังเคยสงสัยว่าศาสนาอิสลามเป็นยังไง คนมุสลิมเป็นยังไง เลยเดินเข้าไปสุเหร่ามหานาค แถวตลาดโบ๊เบ๊ เพราะความอยากรู้ อิหม่าม เจ้าของสุเหร่าเห็นผมก็ทัก เพราะเป็นทราบว่าเป็นคนนอกศาสนา แต่ผมก็เรียนท่านไปว่าต้องการมาที่นี่เพื่อศึกษา ท่านเข้าใจแล้วก็กอดผมเลย และเราก็เป็นเพื่อนกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทำให้ผมได้ศึกษาว่าจริงๆ แล้วศาสนาแต่ละศาสนาเป็นอย่างไร และจุดมุ่งหมายของทุกศาสนานั้นเหมือนกันหมด คือต้องการให้ทุกคนเป็นคนดี
คำว่า คนไทย นั้น เราไม่ยึดถือในเรื่องของเผ่าพันธุ์ ถึงจะมีความแตกต่างกันราวหกสิบกว่าเผ่า แต่ยึดถือความเป็นไทยในการอยู่ร่วมกัน เป็นเรื่องที่คนรุ่นนี้จะต้องตระหนัก มิเช่นนั้นความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่นจะไม่มี เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้น เป็นเรื่องของการเมืองทั้งสิ้น ลองไปถามแต่ละฝั่งแต่ละฝ่ายดูสิ่ว่า เป็นคนไทยรึเปล่า คำตอบก็เหมือนกัน คือ คนไทย ประมุขของประเทศก็พระเจ้าอยู่หัวฯ นั่นแสดงว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกล้วนแล้วแต่ปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีร้อยสามสิบกว่าเผ่าแต่ไม่มีความปรองดองกันเลย เขาจึงไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ นับว่าประเทศเรายังมีความได้เปรียบที่ไม่ยึดติดเผ่าพันธุ์ เราสามารถสร้างความสามัคคีได้เพียงแค่ลบปัจจัยทางการเมืองเท่านั้นเอง
เมื่อย้อนไปตอนยังเป็นเด็กหนุ่ม ผมเคยเห็นจอมพลแปลก แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ขับรถฟอร์ดธันเดอร์เบิร์ดไปรับส่งลูกที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ดูแล้วรู้สึกว่าท่านสง่างามมาก ใจก็เริ่มคิดแล้วว่าอยากจะสมาร์ทอย่างนั้นบ้าง พี่ชายผมก็ไปเข้าโรงเรียนเตรียมนายร้อย กลับบ้านมาแต่ละครั้งก็ดูโก้ คุณลุงอยู่บ้านติดกันก็เป็นตำรวจ เห็นวิถีชีวิตแล้วก็อยากจะเป็นตำรวจ ผมจึงไปสมัครเรียนเตรียมนายร้อย ในเหล่าตำรวจ ด้วยความอยากเท่ห์ตามประสาวัยรุ่นที่ทำตามคนอื่นๆ เท่านั้นเอง ไม่มีมูลเหตุอื่น
ชีวิตในโรงเรียนเตรียมฯ สองปี และโรงเรียนนายร้อยอีกเจ็ดปี ทำให้ชีวิตผมถูกสอนให้รู้จักว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นอย่างไร ชีวิตนี้คือต้องเพื่อชาติ สังคมคืออะไร ทำอย่างไรถึงจะช่วยเหลือได้ สิ่งที่สั่งสอนมาได้ถูกปลูกฝังเข้าไปในหัว การเรียนในสมัยก่อนนั้น ครู เป็นทั้ง ครู และ พ่อแม่ ท่านจะคอยให้ความเอาใจใส่ ดูแลเด็กนักเรียน เหมือนกับพ่อแม่ดูแลลูก สอนทั้งความกตัญญูกตเวที มารยาทผู้ดี ไม่ได้สอนแค่วิชาการอย่างเดียว โรงเรียนนายร้อยสอนเรื่องระเบียบวินัย สอนให้มีลักษณะผู้นำ รู้จักตัดสินใจ รู้จักออกคำสั่ง ถามว่าเรากลัวไหม แน่นอนเราก็กลัว แต่เราจะแสดงความกลัวให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นไม่ได้
ผมโชคดีที่ได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง เหมือนกับเป็ด เมื่อเป็นร้อยตรีไปประจำการที่นครราชสีมา วันหนึ่งเดินๆ อยู่หน้ากองบัญชาการ มีรถของนายพลตรีกฤษณ์ สีวะรา มาจอด แล้วบอกให้ผมไปพบท่าน ตอนนั้นผมเป็นกังวลมาก เพราะมีนายทหารยศสูงขนาดนั้นมาเรียกให้ไปหา เกรงว่าตัวเองจะทำอะไรผิด กลัวแทบตาย มารู้ทีหลังว่า ท่านเป็นเพื่อนกับคุณพ่อของผม แต่พอไปพบ ท่านก็แจ้งว่า จะมีการฝึกร่วมสนธิสัญญาป้องกันภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศในภูมิภาคนี้เข้าร่วม ผมได้รับมอบหมายให้ไปเป็นนายทหารติดต่อ ทำหน้าที่คอยประสานงานกับกองกำลังจากประเทศต่างๆ นับเป็นโอกาสดีที่ผมจะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากคนที่ไม่ได้มาจากประเทศอังกฤษ เช่นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งมีสำเนียงแปลกออกไป ทำให้ผมมีประสบการณ์ในการทำงานเพิ่มขึ้น
ต่อมาผมได้รับมอบหมายจากท่านรองฯ พลตรีกฤษณ์ อีกครั้ง เพื่อบรรยายภาระกิจให้กับพลเรือเอกเฟ้ลท์ ผู้บัญชาการหน่วยทหารแปซิฟิก ตอนนั้นตื่นเต้นมาก เพราะเราเป็นแค่นายร้อยตรีแต่ต้องไปพูดให้นายทหารระดับนายพลฟัง ผมเป็นเหล่าทหารปืนใหญ่ต้องไปแสดงการฝึกปืนใหญ่ให้คณะท่านดู ฝึกกันกลางสนาม อุปกรณ์ขยายเสียงก็ไม่มี บทก็ไม่มี ต้องตะโกนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกัน แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ ผู้บังคับกองพันมาบอกทีหลังว่าแอบลุ้นอยู่ว่าถ้าไม่ไหวจะเข้าไปช่วย แต่ผมก็เอาตัวรอดไปได้ ท่านรองแม่ทัพก็กล่าวชมเชยว่าผ่านงานนั้นไปได้ด้วยดี หลังจากเสร็จงานนั้น ผมเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในเรื่องการติดต่อประสานงาน การบรรยายที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ
เมื่อมีการแข่งขันกรีฑาระหว่างกองทหารชาติต่างๆ ที่สนามม้าหน้ากองทัพ ผมได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้บรรยาย ตอนนั้นยังไม่ทราบเลยว่ากรีฑาแต่ละชนิดภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร ต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลอย่างหนัก เพราะถึงแม้ผมจะเคยเล่นกีฬามาบ้าง แต่ถ้าให้เป็นผู้ประกาศภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะบรรยายการต่อยมวยที่มีรายละเอียดเยอะมาก แต่ก็เป็นความสนุกในอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วยังต้องไปประจำจุดการเล่นบิงโก ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับเราในตอนนั้น ต้องไปศึกษา เรียนรู้เพื่อจะมาเป็นผู้นำเล่นเกม โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย (สตรี) ที่ตรงหน้ากองทัพ ยังได้เชิญผมไปสอนภาษาอังกฤษ ตื่นเต้นน่าดู เพราะเรายังเป็นนายร้อยหนุ่ม เลยทำตัวไม่ค่อยถูกที่ต้องไปอยู่ท่ามกลางครูและนักเรียนหญิงแบบนั้น
ภาษา เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้เราเป็นที่รู้จักในสังคมนั้นมากขึ้น ต่อมาก็ยังมีการฝึกต่างๆ มีการบรรยายอีกหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งก็มีความสำคัญทั้งสิ้น แล้วเรายังเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยจะให้ไปคอยสอบถามข้อมูลหรือบทโดยตรงจากผู้บังคับบัญชาก็ทำไม่ได้ จึงต้องอาศัยวิธีหมั่นทำการบ้านล่วงหน้าและคอยสังเกตว่าผู้บังคับบัญชาจะให้ช่วยเหลือในเรื่องใด เพื่อเราจะได้ทำหน้าที่ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ซึ่งเรื่องการหัดเป็นคนช่างสังเกตนี้โรงเรียนนายร้อยได้ฝึกหัดปลูกฝังมาตลอด เมื่ออยู่โคราชปีแรก ผมไม่เคยเป็นผู้หมวดแต่ได้เป็นรองผู้บังคับกองร้อยเลย นำกองร้อยออกฝึกภาคกองร้อย ได้ที่หนึ่งในประเทศไทย ขณะนี้ยังมีการบันทึกไว้ที่กรมยุทธศึกษา จะได้รางวัลมาอย่างไรนั้นผมเองก็ยังไม่ทราบ รู้แต่ว่าลูกน้องเราเก่ง ส่วนเราอาศัยที่หมั่นคอยลักจำ วันแรกก็ออกไปดูว่าเขาฝึกกันอย่างไร สั่งการยังไง แล้วก็จดจำวิธีการเอาไว้ แม้กระทั่งการฟันไม้ไผ่ในป่า ครั้งแรกยังฟันไม่เป็นเลย ฟันไปตรงๆ ที่ลำต้นแล้วมีดก็กระเด้งกระดอนกลับแทบหลุดมือ จนเริ่มจะรู้สึกอาย แต่พอสังเกตเห็นพลทหารที่เขามาจากบ้านป่า ฟันฉับเฉียงๆ ทีเดียวขาด เราก็รู้วิธีเอาตัวรอดได้
ผมย้ายจากโคราชมาฝึกที่ศูนย์ปืน จังหวัดลพบุรี จอมพลสฤษดิ์ ก็ไปที่นั่น ผมก็ได้รับมอบหมายให้ไปต้อนรับท่านถึงที่รถ พอท่านลงจากรถลงมาเห็นผม ก็ทักว่า “เฮ้ย..เอ็งอยู่ที่นี่รึ” ผมไม่ได้ตอบอะไร แล้วท่านก็เดินไป แต่แค่นั้นผมก็รู้สึกปลาบปลื้มใจแล้ว เพราะนายทหารผู้ใหญ่จำเราที่เป็นเด็กได้ ท่านคงเห็นผมทำหน้าที่ที่โคราชมาก่อน
เมื่อเข้ามาอยู่ กองพล ปตอ. ที่ กรุงเทพฯ แต่ไม่นานนักก็ถูกเรียกตัวให้ไปช่วยงานที่ทำเนียบรัฐบาล ตอนนั้นยศขึ้นมาเป็นร้อยโท มีโอกาสได้เข้าไปในที่ประชุมระดับชาติ โดยมีจอมพลสฤษดิ์ นั่งเป็นประธาน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ส่วนผู้น้อยอย่างผมก็นั่งอยู่แถวหน้าด้านใน ระหว่างที่รัฐมนตรีพูดกล่าวรายงานไป ผมกลับเห็นท่านนายกฯ วาดรูปการ์ตูน ตอนนั้นในใจนึกตำหนิว่า ทำไมท่านไม่ฟังเลยว่าใครเขาพูดอะไรบ้าง มัวแต่นั่งทำอะไรก็ไม่รู้ จนกระทั่งเมื่อทุกคนพูดเสร็จ ท่านนายกฯ ก็ถามว่า มีใครจะพูดอะไรอีกรึเปล่า ที่คนนั้นพูดอย่างโน้น คนนี้พูดอย่างนั้น โดยที่ท่านสามารถจดจำได้อย่างละเอียด โดยไม่ต้องเงยหน้าขึ้นมามอง ก็ทราบว่าใครคนไหนพูดอะไรไปบ้าง แล้วท่านก็ยังว่าผมตกลงใจดังนี้ ต่อจากนั้นท่านก็ถามว่าที่กล่าวมานั้นใครมีความเห็นอย่างไรบ้าง ถ้าไม่มีจะถือว่านั่นคือมติ ให้ไปทำตามคำสั่งนั้น ทำให้ความคิดผมเปลี่ยนไป จากที่รู้สึกตำหนิท่านในตอนแรกก็กลับมาชื่นชมในทันที ได้เรียนรู้ว่าผู้นำมีวิธีตัดสินใจ วิธีสั่งการแบบนี้ ซึ่งผมโชคดีที่ได้เห็นตั้งแต่เป็นทหารยศร้อยโท
ผมเรียนจบโรงเรียนเสนาธิการทหารเมื่อปี 2511 พลโทฉลาด หิรัญศิริ ได้มาสั่งให้ผมไปเวียดนามกับท่าน แต่ผมได้ขอความกรุณาปฏิเสธท่านไป เพราะตอนนั้นผมสอบได้ที่ 1 ของโรงเรียนเสธฯ แล้วมีโอกาสได้ไปเรียนต่อเสธฯ ที่สหรัฐอเมริกา อาจารย์ที่สอนบอกว่าห้ามปฏิเสธเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะอับเฉาไปทั้งชีวิต ฟังดูเหตุและผลแล้วก็เห็นด้วยกับคำแนะนำ จึงขอไปเรียนต่อที่อเมริกาก่อนแล้วกลับมาค่อยได้ไปเวียดนาม
เมื่อปี 2514 จอมพลถนอม ได้ปฏิวัติ ตอนนั้นผมได้รับยศเป็นพันตรีแล้ว ก็ได้รับคำสั่งให้ไปเป็นนายทหารติดต่อ ทำงานกับคุณพจน์ สารสิน ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าคณะปฏิวัติ มารู้ทีหลังว่าหน้าที่นี้ต้องติดต่อกับต่างประเทศเยอะมาก แล้วเขาก็คงรู้จักกันว่าผมเคยทำงานด้านนี้มาก่อนจึงเรียกไปใช้ ซึ่งการทำงานกับคุณพจน์ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องระดับชาติอีกมากมาย ทั้งเรื่องการเข้าที่ประชุมระดับนานาชาติที่ผมต้องจดหมดทุกคำ แม้กระทั่งเรื่องการแต่งกายสากลที่ผมไม่คุ้นเคยมาก่อน ก็ต้องค่อยๆ ลักจำไปเรื่อยๆ งานแรกที่ต้องออกไปทำหน้าที่คือ การปฏิญาณตนครั้งที่ 3 ของประธานาธิบดี เจียง ไค เช็ค ที่ไต้หวัน คณะของเรามีทั้งหมด 6 คน ผมเป็นคนที่ 6 ต้องนั่งรถตรวจพลสวนสนาม รู้สึกเป็นเกียรติมาก และหลังจากนั้นยังต้องเดินทางไปทำหน้าที่สำคัญๆ ยังอีกหลายประเทศ ผ่านงานทางด้านต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ผ่านการรับใช้ผู้บังคับบัญชาท่านต่างๆ จนมีเรื่องราวเป็นประสบการณ์ในชีวิตที่ประทับใจอีกมากมายหลายครั้ง
เกร็ดชีวิตที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การเอาตัวรอด รักษาตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ เช่นเมื่อไปศึกษาที่ไต้หวันหลายปีต่อมา เวลามีงานปาร์ตี้แต่ละครั้ง เราจะถูกเชิญให้ดื่มราว 40 จอก ถ้าดื่มทั้งหมดก็อาจจะถึงตายได้ แต่ถ้าไม่ดื่มก็จะเสียมารยาทมาก ก็ต้องหาวิธีอาตัวรอด คนจีนเขาจะใช้ผ้าเช็ดปากแทนกระดาษ เวลาหยิบผ้ามาเช็ดปากทีก็แอบบ้วนเหล้าใส่ พอผ้าชุ่มก็ทิ้งไปเปลี่ยนผืนใหม่ แล้วเราก็ต้องรู้ด้วยว่า เหล้าเหล่านี้จะสำแดงฤทธิ์ในเวลาสองชั่วโมง ปกติทานข้าวแค่ไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ หลังจากนั้นคือการแสดงที่จะต้องไปชม ถ้านานเป็นชั่วโมงเราก็จะเมา ซึ่งถึงแม้จะเมาแต่เราก็ต้องเชิดเอาไว้ทรงตัวให้ได้ ขึ้นรถก็ต้องผึ่งผายเอาไว้ พอถึงที่พักไม่มีลิฟต์ต้องเดินขึ้นไปอีกสี่ชั้นก่อนจะถึงห้อง ก็ต้องแข็งใจเดินขึ้นบรรได จะให้คนอื่นเห็นว่าเมาไม่ได้ แต่พอเปิดประตูห้องได้ผมคลานเลย นอนทั้งชุดทั้งรองเท้าไม่ถอด รู้สึกตัวอีกทีก็ตอนเช้า แต่ไม่มีใครเห็นเรามันก็ไม่เป็นไร เพราะนั่นคือการธำรงเกียรติของตัวเองเอาไว้ให้ได้ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครสอน แต่ต้องสังเกตรู้สังขารของตัวเอง
คนเรานั้นถึงแม้ว่าจะมียศตำแหน่งหรือร่ำรวยสักแค่ไหน สุดท้ายแล้วก็หนีเรื่องกฎธรรมชาติหรือกฎแห่งกรรมไปได้ ใครทำอย่างไรก็ย่อมได้รับผลแห่งกรรมตามนั้น ตลอดทั้งชีวิตผมยึดถือ ยึดมั่นในเรื่องการทำความดี รักประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อุทิศตนเพื่อสังคมส่วนรวม ตั้งใจทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ถึงแม้บางช่วงจังหวะของชีวิตจะไม่เป็นดังที่คาดหวัง ก็ต้องรู้จักทำใจ ชีวิตมีผิดหวังบ้าง แต่ก็ต้องมีสมหวังบ้างเช่นกัน วนเวียนกันไปแบบนี้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดอีกเรื่องก็คือ ความสุขที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งเกิดจากการรักษา สุขภาพกาย และ ใจ ให้มีความพร้อมสมบูรณ์ ปัจจุบันผมก็ยังออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำวันละราวหนึ่งชั่วโมงเพื่อรักษาสุขภาพกายให้แข็งแรง แล้วก็ทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน ไม่ทำให้มีทุกข์ติดตัว
ผมยึดมั่นในความสุขที่แท้จริงเหล่านี้ ซึ่งตรงกับ ส.ค.ส. พ.ศ.2559 ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชนชาวไทยว่า “ให้มีกำลังกายที่แข็งแรง มีกำลังใจที่เข้มแข็งหนักแน่น และมีสติรู้เท่าทันอยู่เสมอ” เป็นคำอวยพรที่สามารถนำมาใช้เตือนสติการดำเนินชีวิตของพวกเราทุกคนได้เป็นอย่างดีว่า ทรัพย์อันใดก็ไม่ประเสริฐเท่ากับทรัพย์อันเกิดจากความสุขกาย สุขใจ ของเราเอง และการที่เราจะมีความสุขอยู่ได้นั้น ก็ต้องหมั่นตรวจสอบสติสัมปชัญญะให้มีความพร้อมอยู่เสมอ แล้วเราก็จะพบกับความสุขที่แท้จริงได้อย่างแน่นอนครับ