ตอนที่ 35 สาวน้อย (3)
๓๕.สาวน้อย ๓
หลังจากที่ พระนิรันตระฉันเพลเสร็จสรรพก็ให้พร พร้อมทั้งเลื่อนบาตรออกไปข้างหน้า
“โยมทั้งสองจงรับอาหารก้นบาตรของอาตมาเถอะ”
“เจ้าค่ะพระคุณเจ้า”
พระนิรันตระเห็นอากัปกริยาของราชาวดีแล้วรู้ดีว่า สาวน้อยคนนี้คงมีคำถามแก่เรามากมาย เราต้องรีบกำหนดตอบในทางที่ไม่ให้ราชาวดีหลงยึดติดในสิ่งใดเพื่อจะได้เดินทางในสายธรรม
รอจนยายหลานได้รับประทานข้าวก้นบาตรเสร็จเรียบร้อย ราชาวดีเก็บของจานชามเดินไปล้างที่ริมลำธาร ยายเอมมีโอกาสถามว่า
“พระคุณเจ้าเจ้าคะ อิฉันมีสิ่งที่อยากจะเรียนถามพระคุณเจ้าเกี่ยวกับวดีหลานของอิฉัน จะ
ได้ไหมเจ้าคะ”
“ได้ซิโยม ตามสบายเลยนะ”
“หลานของอิฉันมีอะไรเกี่ยวกับป่าแห่งนี้เจ้าคะพระคุณเจ้า”
พระนิรันตระมีสีหน้าเคร่งขรึม ในดวงตาเหมือนมีบางสิ่งเป็นกังวล
“ อืม อาตมาจะบอกได้เฉพาะที่บอกได้นะโยม”
“เจ้าค่ะ”
พระนิรันตระ…หลับตากำหนดนิ่ง แล้วพูดตอบยายเอม
“ยายคนเราที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้ถือว่าประเสริฐสุดแล้ว อยู่ที่แต่ละคนจะถูกกำหนดมา
ทำหน้าที่อะไร บางคนก็เกิดมาเพื่อชดใช้กรรมเก่าก็มีออกถมไป ราชาวดีหลานสาวยายเปี่ยมล้นไปด้วยเมตตากรุณาจึงเกิดมาเพื่อทำหน้าที่สร้างบุญบารมีต่อ สร้างสิ่งที่ทำไว้ค้างอยู่ให้สำเร็จ เพราะหมดอายุไปเสียก่อนเมื่อชาติที่แล้ว จึงต้องกลับมาเกิดอีก ไม่ต้องห่วงดอกยาย สิ่งที่ยายเห็นไม่ได้มีสิ่งใดเป็นเรื่องน่ากังวล ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ยายมองดูโน่นซิ หลานยายเขามีความสุขขณะที่อยู่ริมลำธาร อาตมาคิดว่ากำลังร้องเพลงอยู่นะยาย”…
พระนิรันตระมองไปทางธารน้ำที่ราชาวดีกำลังล้างภาชนะใส่อาหารอยู่ เสียงเพลงหวานพลิ้วลอยมาตามลม
“ยายกับหลานก็เคยอยู่ด้วยกันมามีสัญญาต่อกันและได้มาพบเจอกันอีกในชาตินี้”
ยายเอมพยักหน้า..
“เจ้าค่ะพระคุณเจ้า แล้วอิฉันต้องทำอะไรอีกมั้ย นอกจากงานบ้านงานเรือน เรื่องสอน
ธรรมะอิฉันคงสอนไม่ได้ มีแต่ทำบุญใส่บาตรอย่างที่ทำทุกวันนี้ อิฉันขออนุญาตมาเยี่ยมพระคุณเจ้าบ่อยๆ อยากให้พระคุณเจ้าให้ธรรมะกับเรายายหลานนะเจ้าคะ”
“ได้ซิโยม อาตมาจะออกไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านทุกๆวันพระ และจะอยู่ปฏิบัติภาวนาในป่านี่แหละ วันไหนที่โยมเข้ามาในป่านี้ ให้จุดธูป ๑๙ ดอก และท่อง.
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ๓ จบ
อิติสุคโต อะหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา พระภุมมะเทวา ขะมามิหัง ๓ จบ
อาตมาจะรู้เองแหละโยม”
“สาธุๆขอบน้ำใจพระคุณเจ้ามากเจ้าค่ะ ที่เมตตา เรายายหลาน”
สีหน้ายายเอมยิ้มแย้มอย่างมีความสุข
………………………………………………..
ราชาวดีเก็บถ้วยชามใส่ตะกร้าเดินกลับเข้ามาที่กลด และก้มลงกราบพระนิรันตระ
“ยายคุยอะไรกับหลวงตาอยู่จ๊ะ ดูยายยิ้มสดชื่นจริง”
เอาหน้าซบที่แขนยายเอม ผู้เป็นยายโอบกอดอย่างแสนรัก
“สนทนากับพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าให้ธรรมะกับยาย ยายเลยขออนุญาตมาฟังอีก วดีจะมากับยายไหมล่ะ”
ยายเอมแกล้งถามหลานสาวและอดยิ้มไม่ได้
“โธ่ ยายไม่น่าถามเลย วดีมาอยู่แล้วนะคะหลวงตา วดีชอบที่นี่ เห็นไหมยายต่างหากที่ไม่ยอมพาวดีมา กลัวโน่นนี่นั่น”
ชายหางตาต่อว่ายายเอมอย่างน่าเอ็นดู
“ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัวสักหน่อยจริงไหมคะหลวงตา”
พระนิรันตระอดหัวเราะไม่ได้..
“ถ้าโยมมากันสองคนก็น่าเป็นห่วงอยู่หรอกนะ เป็นผู้หญิงทั้งคู่ ยิ่งแต่ก่อนอาตมาว่า
สิงสาราสัตว์ป่าคงมาเดินเพ่นพ่าน แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านแถวหมู่บ้านใกล้เคียงแถวนี้ก็เดินผ่านมาบ้าง เพราะละแวกนี้มีผลไม้ป่าเยอะทีเดียว เอาล่ะๆยังไงเสียอาตมาอนุญาตแล้วก็มากันเถอะ อาตมาจะได้สอนหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้”
ยายเอม ราชาวดี รับคำพร้อมๆกัน…
“ขอบพระคุณเจ้าค่ะ”
“วันนี้ก่อนโยมทั้งสองจะกลับออกจากป่าไป อาตมาจะให้ธรรมะ เรื่องการเจริญเมตตา ซึ่งโยมทั้งสองมีเมตตาอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพื่อจะได้ปลูกฝังให้เติบโตเหมือนเราจะปลูกข้าว เราก็ต้องเตรียมถากถางพื้นที่นาไว้ปลูกต้นกล้าเล็กๆในแปลงนานั้น เช่นเดียวกับการที่โยมเข้ามาสู่สถานที่ที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ของอาตมา ทำให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ซึ่งเอื้ออำนวยให้หัวใจของโยมทั้งสอง พร้อมที่จะรองรับเมตตาที่จะเจริญขึ้น จากนั้นก็จะหว่านเมล็ดพันธุ์เมตตาด้วยการฟังธรรมและฝึกปฏิบัติ”
“ประการแรกเลย อาตมาอยากกล่าวว่า ความเมตตานั้นเป็นสิ่งที่โยมทั้งสองมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามความหนาแน่นของ นิวรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องปิดกั้นหรือกิเลสในใจของคนเรานั้นแตกต่างกันไป หากเราสามารถหยั่งลึกลงไปในจิต และขจัดกิเลสเหล่านี้ออกไปเสียได้ มนุษย์เราก็จะกลับสู่สภาพธรรมชาติของหัวใจอันบริสุทธิ์และกอปรด้วยเมตตา”
“ในพระพุทธศาสนามีคำเจริญเมตตา ๔ ประโยค ดังนี้
อะหัง อะเวโร โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร
อัพยาปัชโฌ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคภยันตราย
อะนีโฆ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ ขอให้ข้าพเจ้าจงรักษาตนได้อย่างมีความสุข
เหล่านี้คือคำเจริญเมตตาให้กับตนเอง เมื่อเจริญเมตตาให้ผู้อื่น คำเจริญเมตตาจะเปลี่ยนไป ดังนี้
อะเวรา โหนตุ ขอให้ท่านเขาทั้งหลายจงปราศจากเวร
อัพยาปัชฌาโหนตุ ขอให้ท่านเขาทั้งหลายจงอย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
อะนีฆาโหนตุ ขอให้ท่านเขาทั้งหลายจงปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ขอให้ท่านเขาทั้งหลายจงรักษาตนได้อย่างมีความสุข
แต่ที่อาตมาใช้ง่ายๆมีดังนี้
๑. ขอให้ข้าพเจ้าจงปลอดภัยจากทุกข์ทั้งภายในและภายนอก
๒. ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขความสงบ
๓. ขอให้ข้าพเจ้าจงมีสุขภาพดีและแข็งแรง
๔. ขอให้ข้าพเจ้าสามารถดูแลรักษาตนได้อย่างเบิกบานเป็นสุข
เอาล่ะวันนี้เอาแค่นี้ คราวหน้าอาตมาจะอธิบาย เพราะเดี๋ยวจะค่ำ”
ยายเอมกับราชาวดี ก้มลงกราบพระนิรันตระด้วยความอิ่มเอมหัวใจ
มณีจันทร์ฉาย