จิตวิทยาการกีฬา

ทักษะในการอยู่ร่วม เข้าใจ และจัดการกับสังคม

Pyramid ของทักษะทางด้านจิตวิทยาการกีฬา
ในการเล่นกอล์ฟ ตอนที่ ๕
ทักษะในการอยู่ร่วม เข้าใจและจัดการกับสังคม

ทักษะพื้นฐานระดับต้นทางด้านจิตวิทยาการกีฬา คือทักษะในการอยู่ร่วม เข้าใจและจัดการกับสังคมได้ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่นักกีฬาควรมีเช่นเดียวกับทักษะทางจิตวิทยาการกีฬาอื่นๆ

อาจจะมองเป็นเรื่องที่ไม่สลับซับซ้อนอะไร แต่จะเป็นปัญหาและทำให้ระดับความเข้มแข็งทางด้านจิตใจของนักกีฬาลดลงได้ และนำไปสู่การไม่บรรลุจุดสูงสุดของการเป็นนักกีฬาได้ เมื่อนักกีฬามีทัศนคติที่ดี ที่ถูกต้องเหมาะสม รู้จักการสร้างและรักษาระดับของแรงจูงใจ และการมีทักษะในการกำหนดเป้าหมายการเล่นกีฬาเสมอ อันดับต่อไปคือทักษะการอยู่ร่วม เข้าใจสังคม และคนรอบข้างอย่างชาญฉลาด

กีฬาเป็นกิจกรรมสังคมของมนุษย์ที่นอกจากจะอยู่ร่วมกัน พูดคุยกัน ช่วยเหลือกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาไปด้วยกันแล้ว การเปรียบเทียบ การแข่งขันกันก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งในกิจกรรมสังคมนี้ด้วย ฉะนั้นในบรรยากาศของการทำกิจกรรมแบบนี้ จะส่งผลกระทบได้ทั้งในทางบวกและลบ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และการมีทักษะในการบริหารจัดการ

คนที่เกี่ยวข้องในการเล่นกีฬามีใครบ้าง แน่นอนว่านักกีฬาเป็นคนที่มีความสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีนักกีฬาเราคงไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นๆ คนอื่นๆ นักกีฬาต้องเข้าใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่รวมครอบครัว เพื่อน โค้ช เพื่อนร่วมทีม แม้แต่คู่แข่งขัน ผู้ตัดสิน และคนจัดการแข่งขัน นั่นแสดงว่านักกีฬาต้องมีทักษะที่ดีในการอยู่ร่วมกับคนเหล่านี้ เราพูดคุย ทักทายกันไหม เราถาม เราขอบคุณ คนรอบข้างเหล่านี้ด้วยดี อย่างจริงใจไหม มีการยอมรับ เคารพซึ่งกันและกันไหม เรามีความคิด ความรู้สึกและควบคุมอารมณ์ได้ถูกต้องเหมาะสมและเป็นเหตุเป็นผลไหม

การอยู่ร่วมและทำกิจกรรมด้วยกันหมายถึงเราพึ่งพาอาศัยกัน อาจจะได้บ้าง เสียบ้าง การอยู่ร่วมในสังคมที่ดีที่สุดและยั่งยืน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน นั่นหมายถึงว่าได้ประโยชน์บ้าง เสียประโยชน์บ้าง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน รวมทั้งการเข้าใจถึงเป้าหมายของการเล่นกีฬาอย่างแท้จริงตามที่เคยพูดถึงในเรื่องของการมีทัศนคติที่เหมาะสมในการเล่นกีฬามาตั้งแต่ต้น

จากหลักการที่พูดถึงดังกล่าว ผมหมายถึงว่านักกีฬาที่มีทักาะสังคมที่ดี ต้องรู้จักและเข้าใจว่าการสื่อสาร ไม่ว่าจะด้วยคำพูดและการกระทำ มีผลต่อการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายได้ และการสื่อสารที่ดีมีประสิทธิภาพนั้นควรเป็นการสื่อสารทั้งการรับและส่ง หมายถึงนักกีฬาต้องมีทักษะในการฟังที่ดีด้วย เราควรฟังพ่อแม่ ผู้ปกครอง ฟังโค้ช ฟังเพื่อร่วมทีม ฟังผู้ตัดสินและผู้จัดการแข่งขันเช่นเดียวที่เราพูดและสื่อสารออกไป

การสื่อสารที่ดี เราควรจะต้องตั้งใจฟัง เพื่อให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาที่แท้จริงของสิ่งที่ถูกส่งมา การฟังที่ดีต้องมีอาการของความอยากที่จะฟัง มีอาการของการตั้งใจฟัง มองตาผู้ที่พูดกับเรา สิ่งเหล่านี้เป็นหลักการที่อาจจะดูง่าย แต่เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่ยาก ลำบาก คับขัน แพ้ หรือเป็นลบ สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้ทำเพราะมีเรื่องอื่นๆ ในความคิด ความรู้สึกและอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องจนเราลืมสิ่งเหล่านี้ไป ผลคือเราได้รับประโยชน์ที่จะทำให้เราพัฒนาลดน้อยลง

แน่นอนว่าการรับฟังคนรอบข้าง ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำตามหรือเห็นด้วยทั้งหมด เราต้องนำสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ สังเคราะห์และไตร่ตรอง เพื่อนำมาพัฒนาตัวเราอย่างเหมาะสม และการสื่อสารตอบโต้ก็เป็นขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตามการมีทัศนคติเกี่ยวกับการอยู่ร่วมในสังคมที่ดี มีความสุขจะเป็นหลักการสำคัญที่จะทำให้เรามีแนวทางในการอยู่ร่วมในสังคม ในการเล่นกีฬาได้อย่างดี เมื่อเราตั้งใจฟัง เข้าใจเนื้อหา เราตอบสนองอย่างเป็นเหตุผล ด้วยจิตใจที่ยอมรับ เคารพในสิ่งนั้นหรือไม่ ถ้าเรายอมรับ คงไม่ยาก การกล่าวคำขอบคุณ เห็นด้วยหรือสนับสนุนสิ่งนั้นคงทำได้ง่ายและเกิดบรรยากาศที่ดี ในทางตรงข้ามหากนักกีฬาอยู่ในช่วงที่เป็นลบมากขึ้น ท่ามกลางการขัดแย้งและมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เราควรจะมีทักษะในการดำเนินการในการแก้ปัญหาอย่างไร

แน่นอนว่าการชี้แจง ให้เหตุผล การสอบถามด้วยอาการที่ปกติ นั่นแสดงว่าเราให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกัน ต่อสังคม มีคำกล่าวที่ว่า “การที่เราขอโทษอาจจะไม่ได้หมายความว่าเราผิด แต่เป็นเพราะว่าเราให้ความสำคัญกับความเป็นเพื่อนและมิตรภาพมากกว่า” ซึ่งตรงนี้จะตรงกับปรัชญาของโอลิมปิคก็ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า ของการเล่นกีฬาโอลิมปิค หมายถึงการเข้าร่วม ไม่ใช่ชัยชนะ เฉกเช่นเดียวกับสิ่งคัญที่สุดของมนุษย์ที่ไม่ใช่ความสำเร็จหรือชัยชนะ แต่คือ การต่อสู้ที่สวยงามและแท้จริง (Baron de Coubertin: The most important thing in the Olympic Games is not to win but to take part, just as the most important thing in life is not the triumph but the struggle. The essential thing is not to have conquered but to have fought well.” (https://www.olympic.org/olympic-games)

ทักษะในการอยู่ร่วม เข้าใจและจัดการกับสังคมจึงเป็นเรื่องที่นักกีฬาควรได้รับการปลูกฝังแต่ต้นของการเป็นนักกีฬา

สรุปว่าระดับของทักษะทางด้านจิตใจของนักกีฬากีฬา มีความสำคัญที่จะนำไปสู่ระดับที่สูงต่อไป (ระดับกลาง) ซึ่งมีองค์ประกอบย่อยอยู่ ๒ ทักษะ ในฉบับต่อๆไป เรามาทราบกันครับ ทักษะทางด้านจิตวิทยาการกีฬาสำคัญแค่ไหน เป็นอย่างไร และทำให้เกิดได้อย่างไร

อีกครั้ง ดูแลสุขภาพกันทุกคนครับ การ์ดไม่ตกจากภายใน (ดูแลสุขภาพกายและใจด้วยการทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนเพียงพอ) จะเป็นการตั้งการ์ดที่สำคญพอๆกับการตั้งการ์ดจากภายนอก (การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจอุณหภูมิตัวเองเป็นระยะๆ การล้างมือสม่ำเสมอ และเว้นระยะห่างตามมาตรการ) ทำทั้ง 2 อย่างนี้แล้วเชื้อไวรัสเข้ามาทำร้ายเรายากครับ

ผศ.ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย