กุมภาพันธ์ ปีนี้ มี 29 วัน
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ที่เกิดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ด้วย ที่ปีนี้จะได้ฉลองวันครบรอบวันเกิดแบบตรงเปะสักที หลังจากที่ต้องฉลองล่วงหน้ากันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์บ้าง หรือเลยไปฉลองย้อนหลังกันในวันที่ 1 มีนาคมบ้างถึง 3 ปี ซึ่งสาเหตุที่ปีนี้ได้ฉลองวันเกิดตรงกับวันที่ 29 กุมภาพันธ์นั้น นั่นก็เป็นเพราะ ปีนี้เป็นปีที่เรียกว่า ปีอธิกมาส ที่สีปีจะวนมาสักครั้งหนึ่ง
การกำหนดให้เดือนกุมภาพันธ์ มี 28 วัน หรือ 29 วัน นั้นมีมานานแล้ว ไม่ใช่หลักสิบหลักร้อยปี แต่ย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยโรมันกันเลยทีเดียว
การกำหนดรอบปีหนึ่งๆ ให้มีจำนวน 12 เดือนนั้น เริ่มเกิดขึ้นในสมัยของ จูเลียส ซีซาร์ แห่งโรมัน เมื่อ 46 ปีก่อนคริสตกาล โดยซีซาร์เห็นว่า ในแต่ละปีของโรมันดั้งเดิม นับเพียงแค่ 10 เดือน (มีนาคม – ธันวาคม) นั้นไม่เหมาะสม เพราะบางปีต้องมีการทดเดือนพิเศษเข้ามาเพื่อให้มีวันใกล้เคียงตามสุริยคติ ซีซาร์จึงได้เพิ่มเดือนขึ้นมาอีก 2 เดือน คือ มกราคม กับ กุมภาพันธ์ และให้แต่ละเดือนมีจำนวนวัน 30 และ 31 วันคละกันไป ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนใหม่ที่อยู่ท้ายสุด ให้มี 29 วัน ยกเว้นในปีอธิกสุรทิน (ปีที่ปฏิทินมี 366 วัน) ก็จะให้เดือนกุมภาพันธ์มี 30 วันได้ และในการปรับเดือนครั้งนี้ ซีซาร์ยังได้เปลี่ยนชื่อเดือนเกิดของตนเป็น July ตามชื่อตัวเองด้วย จึงได้เรียกปฏิทินนี้กันว่า “ปฏิทินจูเลียน”
ต่อมาในยุคของ ออกัสตุส ซีซาร์ ลูกบุญธรรมของ จูเลียส ซีซาร์ ที่อยากมีเดือนของตัวเองเช่นบิดาบ้าง จึงได้เปลี่ยนชื่อเดือนเกิดของตนเป็นชื่อ August เท่านั้นยังไม่พอ ทรงเห็นว่าเดือนนี้มี 30 วัน จำนวนวันเป็นเลขคู่ถือเป็นเดือนโชคร้าย จึงไปดึงวันจากเดือนเกิดใหม่อย่างกุมภาพันธ์มา ทำให้เดือนสิงหาคมมี 31 วัน และเดือนกุมภาพันธ์เหลืออยู่ 28 วัน และ 29 วันในปีอธิกสุรทินเช่นในปัจจุบัน
สาเหตุที่เดือนกุมภาพันธ์มีวันที่ 29 ในทุกๆ 4 ปีนั้น ก็เป็นเพราะ ปฏิทินจูเลียนอ้างอิงการนับวันตามระบบสุริยคติหรือดูจากตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก ซึ่งชาวโรมันที่คำนวณปฏิทินนี้ขึ้นมาใช้นั้นพบว่า โลกใช้เวลาทั้งหมด 365.25 วัน ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ จึงแก้ปัญหาโดยการให้เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วันไปจนครบ 4 ครั้ง เท่ากับว่าได้วันเพิ่มขึ้นมาเป็น 1 วันเต็มพอดี และก็ให้เดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้นมี 29 วันนั่นเอง
และในปี ค.ศ.1582 นายแพทย์คนหนึ่งพบว่า ที่จริงแล้วโลกใช้เวลาหมุนรอบดวงอาทิตย์ 365.2425 วัน ซึ่งช้ากว่า 365.25 ของปฏิทินจูเลียนอยู่เล็กน้อย หากใช้ปฏิทินจูเลียนไปครบ 134 ปี จะทำให้มีวันงอกเกินออกมา 1 วัน จึงได้เสนอการปฏิรูปปฏิทินขึ้นใหม่เรียกว่า “ปฏิทินเกรโกเรียน” ซึ่งมีการปรับให้ตรงกันแล้วเมื่อปี ค.ศ.1900 และในปี ค.ศ.2034 อาจจะมีการปรับวันอีกครั้ง
ดังนั้นก็ต้องเข้าใจผู้ที่เกิดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ หากเขาฉลองวันเกิดอย่างเอิกเกริกนั้น ไม่ใช่เพราะรอนาน แต่เพราะวันเกิดนั้นมีความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่และยาวนานต่างหาก