Just Say Know

ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ

จากข่าวการเสียชีวิตของพริตตี้สาวจากการร่วมงานปาร์ตี้แห่งหนึ่ง ซึ่งผลการชันสูตรร่างกายพบว่า เสียชีวิตเพราะพิษแอลกอฮอล์ โดยตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ นอกจากจะติดตามความคืบหน้าของคดีอย่างใกล้ชิดแล้ว หลายคนยังหันมาสนใจในรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษอีกด้วย

โดยปกติแล้วเมื่อเราดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมที่กระเพาะและลำไส้ จากนั้นก็จะถูกดูดซึมไปที่หลอดเลือด ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ที่ปะปนอยู่ในเลือดนั้นเรียกว่า Blood Alcohol Content (BAC) ผลที่ได้จะแสดงเป็นตัวเลขว่า ในเลือด 100 มิลลิลิตรมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่กี่มิลลิกรัม (mg/100ml หรือ mg%) เช่น 50 mg/100ml แสดงว่า ในเลือด 100 มิลลิลิตรมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ 50 มิลลิกรัม

ส่วนปริมาณของแอลกอฮอล์ในสุราแต่ละชนิดนั้น ก็มีปริมาณไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นหรือดีกรี(%) แต่ถ้าหากจะเทียบให้เท่ากัน ในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เขาจะนับเป็น ดริ้งค์ หรือ ดื่มมาตราฐาน โดยจะมีแอลกอฮอล์ราวๆ 10-14 กรัม ซึ่งหากคำนวณตามสูตร [(% alcohol) x (ปริมาตรเครื่องดื่มเป็น cc) x (0.789 ความถ่วงจำเพาะของ alcohol)] /100 ก็จะปริมาณแอลกอฮอล์หน่วยเป็นกรัม เช่น หากดื่มเบียร์ไป 3 กระป๋อง (320 ml) ก็จะได้ (5x960x0.789)/100 = 38g ก็นับเป็นราวๆ 3 ดริ้งค์

ทุกครั้งที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเร็วกว่าการดูดซึมสารอาหารมาก แต่สามารถขับออกได้เพียงชั่วโมงละ 1 ดื่มมาตรฐานเท่านั้น ซึ่งเมื่อร่างกายขับแอลกอฮอล์ออกจากเลือดไม่ทันก็จะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เมื่อดื่มสุราในปริมาณ 1-2 ดื่มมาตรฐาน หัวใจจะเต้นเร็ว หลอดเลือดจะขยาย มีความสนุกสนาน ยับยั้งชั่งใจน้อยลง, 4-6 ดื่มมาตรฐาน การตอบสนองของร่างกายช้าลงและทำงานไม่สัมพันธ์กันกับสมอง, 8-9 ดื่มมาตรฐาน เริ่มพูดช้าลง พูดไม่รู้เรื่อง และสายตาเริ่มมองเห็นภาพไม่ชัดเจน, 10-12 ดื่มมาตรฐาน เริ่มเข้าสู่ระดับที่เป็นพิษ ร่างกายจะขับแอลกอฮอล์ออกมาทันทีผ่านการปัสสาวะ ส่งผลทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ในเช้าวันถัดมาจึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ดื่มมีอาการปวดหัวอย่างหนัก ซึ่งความพิเศษของสมองมนุษย์ คือ เมื่อดื่มมาถึงช่วงนี้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมี BAC อยู่ที่ราวๆ 3-400 ml% สมองจะสั่งการให้ เกิดอาการ “ภาพตัด” ปลุกไม่ตื่น เพื่อไม่ให้เราสามารถรับแอลกอฮอล์เพิ่มอีก จนเป็นอันตรายต่อร่างกาย

แต่ถ้าหากยังคงข้ามเส้น หรือดื่มปริมาณมากๆ อย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ แอลกอฮอล์ก็จะเข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้นก่อนที่กลไกป้องกันร่างกายจะทำงาน จะทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (Alcohol poisoning) ขึ้น เมื่อตับไม่สามารถจะขับแอลกอฮอล์ออกจากเลือดได้ทัน จนเริ่มรบกวนระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ อาจส่งผลร้ายแรงทำให้ผู้ดื่มหมดสติและเสียชีวิตได้

เมื่อร่างกายเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ จะสังเกตได้ดังนี้ สับสน พูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่องอย่างหนัก อาเจียน หายใจผิดปกติ เช่น หายใจช้าลง หรือหายใจเร็วขึ้น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว รูม่านตาขยาย การเคลื่อนไหวของดวงตาเร็วกว่าปกติ ตัวเย็นผิดปกติ ผิวหนังซีด หรือกลายเป็นสีม่วง เกิดภาวะกึ่งโคม่า อาจพอรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองได้ หยุดหายใจ มีอาการชัก หัวใจวายเฉียบพลัน

หากพบผู้ที่กำลังมีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ให้รีบแจ้งหน่วยกู้ชีพ พยายามปลุกผู้ป่วยให้ตื่น และพยายามพยุงให้อยู่ในท่านั่ง หากยังสามารถดื่มน้ำได้ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเปล่าในทันที และห้ามให้ผู้ป่วยดื่มกาแฟ พยายามอย่าให้ผู้ป่วยหลับ ห้ามอาบน้ำให้ผู้ป่วย หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับผู้ป่วยนอนตะแคง หรืออยู่ในท่าพักฟื้น และคอยตรวจดูว่าผู้ป่วยยังคงหายใจอยู่หรือไม่ พยายามทำให้ร่างกายของผู้ป่วยอบอุ่น อยู่กับผู้ป่วยและคอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมา

ร่างกายแต่ละคนมีอัตราการดูดซึมและกำจัดแอลกอฮอล์ได้แตกต่างกัน ทั้งจาก เพศ, น้ำหนักตัว, อายุ, สุขภาพ, ระยะเวลาในการดื่ม, ประสิทธิภาพตับ ดังนั้นอย่าเปรียบเทียบหรือแข่งขันการดื่ม เพราะนั่นอาจจะพาคุณเข้าสู่ แอลกอฮอล์เป็นพิษแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว