การเล่นกีฬาให้เป็นเลิศ เป็นเรื่องของทีมเวิร์ค – สุวรรณา ศิลปอาชา
สุวรรณา ศิลปอาชา
นายกสมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย
“คุณเก๋” เป็นสาวนักกิจกรรมตั้งแต่สมัยอยู่โรงเรียนสตรีวรนาถ บางเขน ทั้ง ดรัมเมเยอร์ เชียร์ลีดเดอร์ แถมยังเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียนอีกด้วย เพราะเธอบอกว่า กีฬาอื่นๆ ดูแล้วผาดโผนไปหน่อย ขอเล่นแบบซอร์ฟๆ ที่เหมาะกับตัวเอง… แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ชีวิตที่เคยสบายๆ ก็เปลี่ยนไปทันที
“ไม่ได้ใช้ชีวิตสบายในต่างแดนเลยค่ะ… เพราะต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แรกๆ ก็อาศัยทางบ้านสนับสนุน แต่ช่วงปีสุดท้ายประเทศไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจตกต่ำ ทุกอย่างกลายเป็นต้องหาเองทำเองทั้งหมด เรื่องการเล่นพักผ่อนหย่อนใจลืมไปได้เลย เรียนก็หนัก ทำงานก็หนัก บางช่วงต้องทำกันถึง 2-3 งานเลยก็มี”
หนึ่งในแรงบันดาลใจของการเดินทางไปเรียนต่อไกลถึงประเทศอังกฤษนั้น น้อยคนนักที่จะทราบว่า คุณเก๋ มีความชอบ และผูกพันกับ “ฟุตบอล” โดยเฉพาะกับพรีเมียร์ลีค จากที่เคยกะไว้ว่าจะแค่เรียนภาษาอย่างเดียว ก็ขยับหาหนทางเพื่อจะเรียนต่อระดับปริญญาตรี เพื่อจะได้ทั้งเรียนเก็บดีกรีและยังได้เชียร์ทีมโปรดอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
“ที่ชอบฟุตบอลก็เพราะมีเพื่อนสนิทเป็นผู้ชายเยอะกว่าเพื่อนผู้หญิง ซึ่งจริงๆ ดูเผินๆ ก็เหมือนกับเด็กผู้หญิงที่ไม่ผาดโผน แต่ก็ไม่ถึงกับเรียบร้อย เวลามารวมตัวก็มักจะเล่นบอลกัน เราก็ตามไปเชียร์ ยิ่งพอขึ้น ม.ปลาย บางคนก็แยกย้ายไปตามโรงเรียนต่างๆ ที่มีชื่อเสียงทางกีฬาฟุตบอล เราก็เลยคุ้นเคยฟุตบอลไปด้วย พอไปอยู่อังกฤษประเทศต้นตำรับของฟุตบอลเลยยิ่งตื่นเต้นไปใหญ่ แล้วเมื่อได้มารู้กับกับพี่ท็อป (คุณวราวุธ ศิลปอาชา) ซึ่งเป็นเพื่อนกับพี่ป๊อก (คุณวิลักษณ์ โหลทอง) ได้เห็นพี่ๆ ส่งข่าวเกี่ยวกับฟุตบอลกัน ได้เข้าไปช่วยบ้าง ได้เห็นบ่อยๆ จนรู้สึกอินไปกับเขาด้วย โดยทีมที่ตามเชียร์มาตลอดก็คือ แมนยูฯ”
จุดหักเหที่ทำให้คุณเก๋ คิดจะอยู่เรียนต่อก็เนื่องจากสมัครเข้ามหาวิทยาลัยแบร์ดฟอร์ด สาขาบริหารธุรกิจได้ อยากจะลองเรียนที่นั่นดู เพราะถ้ากลับมายังไงก็ต้องเรียนต่ออยู่ดี ก็ขออนุญาตจากทางบ้าน อาศัยที่ทำอะไรด้วยตัวเองมาตลอด เลยไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตในต่างแดนยากลำบาก
ชีวิตการเรียนของเธอเริ่มแบบไม่สวยนัก เพราะประเดิมด้วยการ “ตก” เกือบทุกวิชา เรียนอะไรก็ไม่เข้าใจ ถามอะไรมา ก็ตอบไม่ได้
“ตอนนั้นสงสารพ่อแม่มาก เหมือนกับส่งเงินให้ไปเรียนแล้วเสียเปล่า เราทำให้พ่อแม่เสียใจ แต่นั่นก็คือจุดเปลี่ยน ทำให้ต้องกลับมาฮึดสู้”… และจากจุดนี้นี่เอง เธอจึงได้มุมานะ ขยับผลการเรียนขึ้นมาจนสู้กับคนอื่นๆ ได้อย่างภาคภูมิใจ ทั้งๆ ที่วิชาที่เลือกเรียนนั้นยากแสนเข็ญ
“ปีสุดท้าย ชีวิตพลิกผันมาก พิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเล่นงานจนทางบ้านส่งต่อไม่ไหว น้องชายที่เพิ่งเข้าโรงเรียนที่อังกฤษไปได้ปีนึงก็ต้องย้ายกลับ แต่เราอยู่ปีสุดท้ายแล้ว ก็ต้องกัดฟัน หาวิธีสู้เพื่อจะได้อยู่จนจบ ช่วงนั้นนักศึกษาคนไทยก็ได้เข้าไปคุยกับทางมหาวิทยาลัย เล่าถึงปัญหาที่พวกเราเจอ ซึ่งเขาก็เข้าใจ ยอมให้จ่ายค่าเล่าเรียนหลังสอบเสร็จ โชคยังดีอยู่นิดนึงที่ตอนไปคุณพ่อคุณแม่ซื้อรถคันเล็กๆ ไว้ให้ พอสอบเสร็จวันสุดท้ายก็รีบขายเอาเงินไปจ่ายค่าเทอม แต่ระหว่างนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนตัวทุกอย่างเราไม่มี ต้องใช้วิธีทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเอง ทั้งเสิร์ฟอาหาร เป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็ก ทำงานสารพัดเกือบทุกวัน บางครั้งถึงกับยอมขาดเรียนไปเลย เคยทำงานตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึง ตี 2 แต่ถึงจะหนักจะเหนื่อย ก็ดีใจที่สามารถทำให้อยู่รอดมาได้จนเรียนจบ” คุณเก๋ เล่าให้ฟังถึง “ความอึด” ที่ต้องกัดฟันในช่วงสุดท้ายก่อนจะได้รับปริญญา ทำให้เธอรู้สึกว่านี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดในชีวิต
พอเรียนจบคุณเก๋กลับบ้านแทบจะทันที เศรษฐกิจทางบ้านก็ยังไม่ดีขึ้น ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็ทำงานจนไม่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่น กลับมาก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นอีก เพราะต้องช่วยแก้ปัญหาต่างๆ มีคดีฟ้องร้องเยอะแยะมากมาย ขึ้นโรงขึ้นศาลจนจำได้
“น่าเสียดายที่ธุรกิจมีออร์เดอร์เยอะมาก แต่กลับไม่มีทุนมาผลิต เงินลงทุนอยู่ในเครื่องจักรหมด แล้วยังต้องคอยแก้ปัญหาเรื่องการเงินตลอดเวลา อยู่แบบนั้นเป็นปี จนมีเพื่อนมาชวนเรียนปริญญาโทของมหาวิทยาลัยรังสิต ก็คิดว่าคงจะดีเหมือนกัน อาจจะช่วยทำให้ได้อะไรแปลกใหม่ๆ บ้าง แต่เงื่อนไขของหลักสูตรสำหรับผู้บริหารนั้นอายุเรายังไม่ถึง ต้องทำเรื่องขอเป็นกรณีพิเศษเพราะมีความสนใจอยากเรียนจริงๆ ซึ่งหลักสูตรก็ทำให้เราได้ความรู้เพิ่มเติมอีกเยอะมาก”
เมื่อสมัยมีมือถือใหม่ๆ ที่อังกฤษ คุณเก๋ ทำเครื่องหล่นน้ำ บริษัทออร์เร้นจ์ก็ส่งเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ถึงที่บ้าน จนเกิดความประทับใจ เมื่อบริษัทนี้มาเปิดกิจการในไทย เธอก็ไม่ลังเลที่จะขอคุณพ่อไปสมัครงาน ทั้งความมั่นใจในตัวเอง ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ดีกับบริษัท ทำให้เธอได้งานในทันที แล้วเธอก็เริ่มงานด้วยความมั่นใจ 100% สนุกกับงาน เพื่อนเยอะ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ แต่หลังจากนั้นอีกไม่นาน คุณเก๋ ก็เข้าพิธีวิวาห์ แล้วคุณท็อป ก็ขอให้มาเป็นแม่บ้านเต็มตัว เพราะรู้ดีว่า ถ้าปล่อยให้ไปทำงานเหมือนเดิม คงยากที่จะได้เจอกัน เนื่องจากเธอขึ้นชื่อในเรื่องความมุมานะเอาใจใส่ในหน้าที่ ไปก่อน กลับทีหลัง
หลังจากผ่านมรสุมลูกเล็กบ้างใหญ่บ้าง จนชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ มีอยู่วันหนึ่งที่ น้องเทมส์ ลูกสาวคนโตได้บัตรไปชม ดีสนีย์ออนไอซ์ ตอนอายุ 3 ขวบ พอเห็นแล้วก็อยากจะเล่นบ้าง ตอนแรกก็ไม่ให้เพราะรู้สึกลูกยังเล็กไป กลัวอันตราย พอปีที่สองไปดูกันอีก ลูกก็ขอเล่นอีก เลยลองพาไปเล่น ครั้งแรกก็คิดแค่อยากให้ลูกมีความสุข เล่นสนุกๆ เฉยๆ แต่ทำไปทำมาเขากับชอบมากขึ้นๆ เพราะกีฬานี้มีความท้าทาย เพราะทำได้ขั้นนี้แล้วก็จะมีขั้นต่อไปที่ยากกว่าให้ลองอีก ลูกก็เล่นไม่หยุด
จนเมื่อคุณท็อป ได้รับการทาบทามให้มาเป็นนายกสมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย แล้วคุณเก๋ ก็ต้องเข้ามาช่วยงานด้วยอีกแรง ซึ่งตามวิสัยแล้ว เมื่อต้องทำงานอะไรเธอก็ต้องรู้จริง… “จากเดิมที่เคยแค่เฝ้าลูกซ้อม ลูกทำท่าอะไรยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ปล่อยให้เป็นหน้าที่โค้ช แต่พอเริ่มต้องเข้ามาทำหน้าที่ ก็ขอไปเรียนรู้อย่างจริงจัง ทั้งวิจัย ค้นคว้า ไปเรียนเป็นกรรมการ เพราะคิดว่าถ้าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ก็ต้องตัดสินเป็นก่อน พอดูกีฬาเป็น เข้าใจในธรรมชาติของกีฬา อะไรที่ทำให้ได้คะแนน หรือไม่ได้คะแนน พอได้ไปเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มได้เครือข่าย รู้จักคนเยอะขึ้น อาศัยที่บุคลิกเป็นมิตรเข้ากับคนง่ายทำให้มีเพื่อนเยอะ พอมีอะไรก็ติดต่อกับเพื่อน ทุกอย่างก็กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น”
แล้ววันหนึ่งก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมาคมฯ คุณท็อป ต้องไปดูแลเรื่องฟุตบอล แล้วผู้ที่มีความเหมาะสมจะมาสานงานต่อก็เป็นใครไปไม่ได้ คุณเก๋ จึงได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกให้ทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมฯ มาตั้งแต่ปี 2556
“ความกังวลอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเราไม่สามารถเล่นเองได้ สิ่งที่ทำคือพยายามเรียนรู้ในกีฬานี้ให้ได้มากที่สุด ทุกวันนี้ยังเรียนไม่หยุด มีสัมนาที่ไหนต้องไป นับวันที่ผ่านไป ยิ่งรู้สึกว่าหลงไหลในกีฬานี้มากขึ้นๆ ได้เห็นว่าเด็กๆ ในแต่ละวันทำอะไรกันบ้าง เลิกเรียนเสร็จ มาถึงลานก็ทำการบ้าน เสร็จแล้วลงลาน เรียนออกกำลังกาย เรียนบัลเล่ต์ ชีวิตต้องทุ่มเทเพื่อความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาทักษะที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เรารู้ว่าทั้งหมดนี้เขาทำทั้งหมดเพียงลำพังไม่ได้ แล้วเราเองจะทำอะไรให้ได้บ้าง เขาเหล่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ”
“การเล่นกีฬาให้เป็นเลิศ การจะไปให้ถึงดวงดาว ไม่ใช่เรื่องของบุคคล แต่เป็นเรื่องของทีมเวิร์ค เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน สมาคมฯ ต้องให้ความช่วยเหลือนักกีฬาเต็มที่ การได้อยู่กับสิ่งที่เรารักเราหลงใหล ให้รู้สึกว่า ยิ่งทำยิ่งมีความสุข อยากจะสร้างประวัติศาสตร์ ให้เด็กนึกถึงได้ว่า เราได้ทำเพื่อเขา ความอยากทำเป็นแรงขับเคลื่อนให้งานก้าวไปข้างหน้าได้ ทุกวันนี้ก็ทำแทบทุกอย่างด้วยตัวเอง บางครั้งทำเกินหน้าที่ก็มี เพราะฉะนั้นเรื่องราวทั้งหมดที่นี่ ถามมาได้เลย มีคำตอบให้”
“ทุกวันนี้กีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้ง ในภูมิภาคของเรา ถือว่าเราเป็นเบอร์หนึ่ง ถึงบ้านเราภูมิอากาศอาจจะไม่เป็นใจ ถ้านึกถึงอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น เขาเล่นมาก่อนเราร่วมสามสิบปี เกาหลี ร่วมยี่สิบปี ส่วนของเราเพิ่งเริ่มจริงจังได้ไม่กี่ปี แล้วเราสร้างนักกีฬา พัฒนาฝีมือได้ขนาดนี้ นับว่าเราก้าวได้เร็วกว่าเขา เรามี น้องปาล์มมี่ นักกีฬาที่ควอลิฟายก้าวเข้าไปสู่ระดับโลก ซึ่งยากมากที่จะทำคะแนนให้ได้สูงพอ เคยไปแข่งได้เหรียญทองที่ดูไบ และยังมี น้องพร้อม ที่มีผลงานโดดเด่นเช่นกันในกลุ่มเทียร์ 2 และยังมีที่จะก้าวขึ้นมาอีกเยอะแยะมากมาย ที่ยิ่งน่าภาคภูมิใจมากที่สุดก็คือ นักกีฬาทั้งหมดนี้ คือเด็กที่เกิดและโตในประเทศไทย ซึ่งเราได้สร้างและดูแลฝึกฝนมาตั้งแต่เริ่ม”
“ก่อนหน้านี้เราเคยมุ่งไปที่การแข่งขันระดับกรังปรีซ์ เก็บคะแนนไปเวิลด์ฯ ที่เราข้ามระดับซีเกมส์ เยาวชน ก็เพราะยังไม่มี ซึ่งเราทำงานกันหนักมากเพื่อจะได้เห็นกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตในกีฬาเยาวชนแห่งชาติปีหน้า ที่ สุพรรณบุรีเกมส์ และถัดไปก็จะเป็น ซีเกมส์ ซึ่งมีทั้ง ฟิกเกอร์ และ ช็อตแทรค เป็นการทำงานร่วมกันของ 5 ประเทศที่มีลานสเก็ต ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ วันที่ประกาศว่าจะมีการแข่งขันในซีเกมส์ น้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัวเลย”
ก่อนจบบทสนทนา คุณเก๋ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการขอแรงสนับสนุนกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตจากแฟนกีฬาชาวไทยว่า
“อยากให้คนไทยส่งแรงใจร่วมเชียร์เด็กๆ กับกีฬาชนิดใหม่… ฟิกเกอร์สเก็ต อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับประเทศเรามากนัก กำลังใจและแรงสนับสนุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเราต้องคอยเติมให้กับเด็กๆ ของเรา… สักวันหนึ่ง เราอาจจะมีนักกีฬาจากประเทศไทย ที่เป็นเมืองร้อน โลดแล่นไปสู่วงการกีฬาเมืองหนาวระดับโลกในอนาคตอันใกล้นี้ก็เป็นได้ค่ะ”