ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม – ดร.บำรุง ชำนาญเรือ
ดร.บำรุง ชำนาญเรือ
รักษาราชการแทนคณบดีคณะศึกษาศาสตร์
“ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม”
ชีวิตวัยเด็กผมผูกพันกับวัด เวลาใครบวชใหม่ก็มักให้ผมไปอยู่เป็นลูกศิษย์ พอคนนี้ลาสิกขา มีคนใหม่มาก็ให้ผมอยู่ต่ออีก แทบจะไม่ได้อยู่บ้าน ผลการเรียนของผมก็ค่อนข้างดี คุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียนต่อ แต่ที่หมู่บ้านดอนตาเพชร ซึ่งเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์มีอดีตย้อนหลังไปนับพันปี อยู่ใน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ตอนนั้นยังอยู่ในเขตห่างไกล มีแค่ชั้น ป.4 ถ้าจะเรียนต่อ ป.5 ต้องเข้าไปที่ตัวอำเภอ
แต่พอเรียนจบ ป.4 คุณพ่อเกิดเปลี่ยนใจ เพราะขาดคนช่วยทำงาน ที่บ้านมีลูกเยอะถึงแปดคน ผมเป็นคนที่สาม เป็นลูกคนต้นๆ ถ้าจะส่งเรียนต่อคงไม่ไหว ซึ่งจริงๆ ครูใหญ่ของโรงเรียน เป็นคนที่ดุมาก แล้วก็เมตตาผมมากด้วย เห็นแววว่าผมรักการอ่าน ถึงกับให้กุญแจห้องไว้สำหรับเข้าไปอ่านหนังสือในห้องท่านได้ตามใจชอบ หน้าที่ตอนเช้าผมเลยต้องไปคอยทำความสะอาดห้องให้ท่านด้วย ตอนเรียนจบครูใหญ่ได้ขอผมไปเป็นลูกเพื่อจะส่งเรียน เจรจาอยู่หลายรอบ แต่คุณพ่อก็ไม่ให้ ผมต้องอยู่ช่วยงานบ้านไปเกือบปี จนเย็นวันหนึ่งพระอาจารย์จากวัดที่ผมไปอาศัยอยู่ด้วยมาคุยกับคุณพ่อที่บ้าน แต่ก็คงไม่สำเร็จเหมือนเดิม ผลสุดท้ายท่านก็ตัดบทจูงมือผมไปอยู่ที่วัดด้วยเลย
กำลังหลักของที่บ้านเป็นพี่ชายคนโต เพราะพี่สาวไปอยู่กับคุณยาย วันไหนมีงานแล้วพี่ชายไม่ว่าง ก็ต้องเป็นผมไปช่วย บางครั้งต้องขาดเรียนไปเลี้ยงควาย แต่คุณลุงที่บ้านคงเห็นแววว่าผมอยากเรียน ก็จะอาสาไปเลี้ยงให้แทน อยากให้ผมได้ไปเรียนมากกว่า ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เรียนหนังสือก็เพราะท่านมีเหตุผล เราอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบท ได้เห็นว่าบางบ้านที่พอจะมีฐานะส่งลูกไปเรียนกันได้ แต่ผลลัพธ์ออกมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จเลย ทำให้รู้สึกว่าถ้าส่งเรียนไปก็จะสูญเงินเปล่าเหมือนกับตัวอย่างที่เห็น สู้ออกมาช่วยงานบ้านเลยจะดีกว่า
พระอาจารย์มีน้องชายบวชเป็นพระที่วัดชนะสงคราม ก็ได้ฝากฝังให้ผมมาอยู่ด้วย เรื่องการเขียนอ่านไม่มีปัญหาเพราะทำได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่หลวงน้าต้องคิดหนักคือ จะให้ผมเรียนทางไหน ระหว่างทางโลกหรือบวชเรียน วันหนึ่งท่านก็ตัดสินใจโกนหัวผมแล้วพาเข้าไปหาเจ้าอาวาส สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นพระเทพโสภณ สนทนากันว่าอยากจะให้ผมบวชเณร ท่านเจ้าอาวาสก็บอกว่าผมยังเล็กไป อยากให้ไปเรียนหนังสือก่อน หลวงน้าก็กราบเรียนท่านไปว่าไหนๆ ก็โกนหัวมาแล้ว บวชให้หน่อยละกัน ผมจึงได้บวชเณรมาตั้งแต่ตอนอายุได้ราวสิบสองปี และเริ่มเรียนทางพระ สอบนักธรรมชั้นตรี โท และ เอก จนได้สูงสุดที่เปรียญธรรมเจ็ดประโยค (ป.ธ.7) วัดชนะฯ มีกฏเข้มอยู่ว่าผู้ที่จะไปเรียนทางโลกจะต้องสอบ ป.ธ.4 ได้ จึงจะมีสิทธิไปเข้าสมัครเรียนบาลีอบรมศึกษา ที่วัดสระเกศ แล้วพอจบเทียบ ม.ศ.3 ก็มาต่อ ม.ศ.4 ที่ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ต้องเรียนหนังทั้งบาลีและวิชาทางโลกควบคู่กันไปด้วย
ชีวิตมาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อสอบได้ ป.ธ.7 จากโรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา มีเพื่อนมาชวนไปสอบเอ็นทรานซ์ โดยใช้วุฒิฯ ของ ป.ธ.6 ซึ่งเทียบเท่ากับ ม.ศ.5 ที่จริงผมก็ไม่ได้ใส่ใจเท่าไรนัก เพราะสอบได้ ป.ธ.7 ทุกคนก็คาดหวังว่าจะเรียนจนได้ ป.ธ.9 แล้วจะได้เป็น นาคหลวง ซึ่งผมเป็นสามเณรรูปเดียวที่ไม่มีรุ่นแต่ก็อยู่ด้วยกันกับเพื่อนๆ จนได้เป็นประธานสามเณร มีหน้าที่ดูแลเณรทั้งหมดในวัดชนะฯ ครั้งแรกก็ไม่คิดจะสึก แต่เพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกันเป็นพระอยู่วัดระฆังฯ เขาอยากเรียนโบราณคดี เลยอยากให้ผมไปสอบเป็นเพื่อน โดยเขาดูแลทุกอย่างให้หมด ผมแค่เซ็นชื่อในใบสมัครอย่างเดียว ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไรเพราะคิดแค่ว่าจะเรียนให้จบ ป.ธ.9
ผลออกมาผมสอบติดเป็นอันดับ 1 ของคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยที่ตัวเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพื่อนเลือกคณะอะไรให้บ้าง ส่วนเพื่อนที่ชวนไปสอบกลับไม่ติดเลยไม่ต้องสึก ตอนนั้นเครียดเพราะต้องตัดสินใจกับชีวิตครั้งใหญ่ ทางด้านผู้ใหญ่ก็อยากให้เรียนต่อจนจบ ป.ธ.9 ส่วนเพื่อนๆ ที่เป็นวัยรุ่นก็สนับสนุนให้ไปเรียนมหาวิทยาลัย พ่อแม่คงคิดว่าผมบวชมานาน อยากให้ลองใช้ชีวิตทางโลกบ้าง ผมเองก็ตัดสินใจยังไม่ได้ ขอให้พ่อแม่เดินทางจากบ้านขึ้นมาหาเพื่อขอคำปรึกษา จนเมื่อท่านจะขึ้นรถกลับบ้าน ก็ได้ขอให้คุณพ่อช่วยตัดสินใจขั้นสุดท้ายให้ ท่านก็บอกให้สึกเถอะ เพราะคงคิดว่าผมอยากสึก แต่จริงๆ แล้วผมไม่ได้คิดอยากสึกเลย รู้สึกเฉยๆ เหมือนกับความคิดของตัวเองอยู่ตรงกลางพอดี พอส่งคุณพ่อคุณแม่กลับ ผมไปหาหลวงพ่อทันที เรียนแจ้งให้ท่านทราบ พอท่านถามซ้ำว่าตัดสินใจดีแล้วหรือ ก็ตอบไปว่าคิดดีแล้ว และขอสึกในตอนนั้นเลย เพราะกลัวว่าถ้าช้าไปกว่านี้ตัวเองจะเปลี่ยนใจ
ผมสึกหลังจากสอบสัมภาษณ์ ทำให้งงกับการใช้ชีวิตในทางโลกเป็นอย่างมาก ทำอะไรก็ลำบาก รีดผ้ายังไม่เป็นเลย อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้เพื่อนช่วยรีดให้ก่อน เวลาซักตากก็ค่อยๆ อย่าให้ยับมาก เสื้อผ้าจะได้ดูดีบ้าง นึกไปแล้วก็ขำ ต้องปรับตัวอีกพักใหญ่กว่าจะเข้าที่เข้าทาง พอดีมีพระผู้ใหญ่ที่เรียน ป.ธ.7 มาพร้อมๆ กันอยู่ที่วัดพระงาม ผมก็มาขออาศัยอยู่กับท่านจนเรียนจบ วัด จึงเป็นแหล่งสร้างคน ให้โอกาสกับเด็กต่างจังหวัดที่ขาดแคลน ชีวิตผมจึงเป็นหนี้บุญคุณวัด ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านที่ได้ดิบได้ดีกัน ก็มาจากชีวิตเด็กวัด
ผมเลือกเรียนเอกภาษาไทยตามคำแนะนำของอาจารย์ว่ามีพื้นความรู้อยู่แล้ว และยังได้เรียนบาลี สันสฤต สมัยก่อนเป็นภาควิชาตันติภาษา ได้ประโยชน์ตรงที่เรียนได้อย่างสบายๆ เพราะเป็นสิ่งที่ถนัดอยู่แล้ว และได้ช่วยติวให้กับเพื่อนๆ แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ ภาษาอังกฤษ เนื่องจากมีพื้นฐานไม่ค่อยดีนัก อาศัยพยายามขวนขวายเอาเอง ไปไหนก็มีดิกชินนารีติดตัว พกจนดิกฯ ขาดเป็นเล่มๆ อาศัยความจำดี อ่านมาก รับศาสตร์ได้ไว จับใจความสำคัญได้ แล้วผมก็เลือกวิชาโทประวัติศาสตร์ ซึ่งจริงๆ ตั้งใจจะเลือกเป็นวิชาเอกเพราะมีทุนการศึกษาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพให้จนจบปริญญาเอก ผมอยากช่วยทางบ้านก็ไปสมัคร แต่อาจารย์ก็เข้าใจแล้วก็ถามตรงๆ ว่าเลือกเพราะมีทุนใช่ไหม.. ผมก็ตอบว่าใช่ ซึ่งท่านคิดว่าผมเหมาะกับเอกภาษาไทยมากกว่า
บรรยากาศของศิลปากรในสมัยก่อนร่มรื่น ยังไม่เป็นเมืองมาก มีแค่ 3 คณะ อักษรศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ คนยังน้อย เรียนด้วยกัน รู้จักกันหมด คุ้นเคยกันหมด อาจารย์ใช้ร่วมกัน ผมจึงชอบที่นี่ ได้ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย สบายๆ ชีวิตเป็นกันเองเหมือนอยู่ในบ้าน แล้วความที่อยู่วัดมานาน พอทำกิจกรรมก็เป็นรองประธานฯ ชมรมพุทธ มีการจัดอบรม สร้างศาลาธรรมที่เกาะนก นิมนต์พระที่มีชื่อเสียงมาเทศน์ และกิจกรรมของชมรมอื่นๆ ก็ไปเข้าร่วมด้วย เช่นค่ายอาสาพัฒนา เป็นนิสัยส่วนตัวที่ชอบเฮฮา ไม่เครียด เพื่อนไปไหนก็ไปด้วย
กีฬาผมก็ไม่เคยเล่นมาก่อน มาที่นี่ได้เล่นยูโด เพราะมาเรียนกับอาจารย์ที่คณะศึกษาฯ คณะอักษรฯ ไม่มีคนเล่นกีฬานี้เลย คู่ซ้อมของผมก็เป็นเพื่อนผู้หญิงคณะศึกษา ไม่ได้ฝึกเพื่อเป็นนักกีฬา แต่ก็ได้เล่นจริงจังนานที่สุด ที่สนใจยูโดก็อาจจะเป็นเพราะสมัยเด็กจริงๆ แล้วเกเรพอสมควร มีเรื่องชกต่อยกับเด็กวัดด้วยกันเป็นประจำ กับเพื่อนที่โรงเรียนก็บ่อย โดนครูใหญ่ตีเป็นประจำ ท่านรักมากก็ตีมาก ส่วนกิจกรรมอื่นที่ถนัดก็หมากรุกไทย เพราะคุ้นเคยมาตั้งแต่เป็นเด็กวัดต่างจังหวัด ได้เห็นเจ้าอาวาสทำกระดานเอง แกะตัวหมากรุกเอง ตกเย็นก็มีคนเฒ่าคนแก่มาเล่นหมากรุก ผมก็ทำหน้าที่คอยเก่าไฟต้มน้ำชงชา ดูเขาเล่นจนซึมซับโดยไม่รู้ตัว ทุกวันนี้ก็ยังเล่นกับลูกชาย
ตอนใกล้เรียนจบปริญญาตรีก็มีความหวังว่าจะได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พอดีสอบได้สองแห่งพร้อมกันคือที่ศิลปากร คณะโบราณคดี และที่ จุฬาฯ ภาษาบาลี สันสกฤต อาจารย์ที่นี่ก็สนับสนุนให้ผมเรียนต่อที่จุฬาฯ อยากให้เรียนสายตรงไปเลย แต่ชีวิตก็ผันผวนอีก พอผมเรียนจบรายวิชาครบ ช่วงนั้นมีสมัครสอบครู สมัยนั้นจบอักษรฯ ยังเป็นครูได้ ผมก็ไปสอบติดที่ จ.สงขลา ตอนนั้นยังไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาก็ส่งเสริมให้ไปทำงานก่อน ถ้ามีงานมีข้อมูลก็ค่อยเขียนส่งมา คงอยากเห็นผมมีรายได้บ้าง ช่วงที่เรียนท่านก็ช่วยขอทุนจากราชกรีฑาสโมสรให้ แล้วผมก็ช่วยงานให้ภาควิชา เนื่องจากทางบ้านไม่พร้อมส่งเรียน ลำพังทุนอย่างเดียวก็ไม่พอ ส่วนหนึ่งผมก็เป็นหนี้บุญคุณน้องสาว ที่ต้องมาอยู่โรงงาน จ.นครปฐม ทำงานเพื่อส่งผมเรียนโดยเฉพาะ
ทำงานจนใกล้ถึงกำหนดจบแต่วิทยานิพนธ์ยังไม่คืบหน้า เพราะเมื่อทำงานอะไรแล้วผมจะทำอยู่อย่างเดียว ทุ่มเทอยู่ตรงนั้น ทำงานหลายหน้าพร้อมๆ กันไม่เป็น สอนจนลืมวิทยานิพนธ์ไปเลย พอดีภรรยาย้ายกลับเข้ามาสอนที่กรุงเทพฯ ผมก็ขอย้ายตาม แต่ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน พอย้ายมาก็มุ่งทำงานอีก ผลงานออกมาดี แต่ก็ทำให้เวลาไม่เหลือพอทำงานส่วนตัว ผมก็ขอผู้อำนวยการให้มีโอกาสได้ทำวิทยานิพนธ์บ้าง ท่านก็ใจดีให้ผมได้มีเวลาไปทุ่มเท แต่จนแล้วจนรอดยังไงก็ไม่เสร็จทันตามกำหนด เครียดมาก จนต้องโทรไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอลาออก อาจารย์ก็ปลอบใจยังไม่ให้ลาออก แล้วขอให้ผมไปพักผ่อนให้สบายใจก่อน แล้วค่อยมาว่ากันอีกที
เมื่อกลับไปที่บ้าน ได้คุยกับพ่อกับแม่ สักราวอาทิตย์จนรู้สึกสบายใจ สมองโล่ง ก็กลับมาใหม่ เร่งเขียนวิทยานิพนธ์รวดเดียวจบ งานออกมาก็ดี ทันเวลาที่กำหนดไว้ ทำจนถึงวันสุดท้ายพอดี แล้วก็ทำงานอยู่ที่โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญอีกประมาณ 8 ปี
เวลาทำงานผมมักจะมุ่งทำโดยไม่สนใจว่าจะได้รับสิ่งใดตอบแทน หรือจะมีใครเห็นผลงานหรือไม่ ขอแค่ได้ทำให้เต็มที่ เต็มความสามารถ ท่านผู้อำนวยการได้เรียกผมเข้าไปพบ อยากจะให้ไปอบรมผู้บริหาร ท่านบอกว่า ถ้าอยากจะทำงานด้านบริหาร ผมต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ ต้องทำงานกับคนให้มากขึ้น ทำงานกับงานให้น้อยลง ซึ่งก็คิดว่าตัวผมเองคงไม่ถนัด เลยไม่ได้ไปสมัคร จนเมื่อรู้สึกว่าอยากจะกลับบ้าน เลยติดต่อกับเพื่อน จนทราบว่ามีตำแหน่งว่างที่ราชภัฏที่กาญจนบุรี ผมก็ทำเรื่องย้ายไป แล้วระหว่างนั้นที่ ศิลปากร ก็เปิดรับสมัครพอดี ผมก็มาสอบแล้วได้ พอปรึกษากันเพื่อนก็บอกว่าอยู่ที่นั่นดีแล้ว อยู่ครึ่งทางพอดี ทุกอย่างลงตัว แล้วผมก็มาอยู่ที่ศิลปากรตั้งแต่เมื่อปลายปี 2539
อยู่ที่นี่ก็เหมือนได้กลับมาบ้านอีกครั้ง มาเป็นอาจารย์ประจำวิชาสาขาการสอนภาษาไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมถนัด ได้สอน ได้พูดคุยกับเด็กๆ แต่ความแตกต่างอย่างหนึ่งคือเวลาสอนเด็กๆ ในโรงเรียนเราต้องทำตัวเป็นผู้ปกครองไปด้วย แต่ที่มหาวิทยาลัยจะเป็นอีกแบบ เด็กเขาโตแล้ว ดูแลตัวเองได้ บางเรื่องจะไปยุ่งกับเขาไม่ได้เหมือนกัน สมัยก่อนยังมีการให้เด็กมาพบกับอาจารย์ที่ปรึกษาก่อนลงทะเบียน แต่เดี๋ยวนี้ลงทะเบียนผ่านระบบ โอกาสที่จะได้เจอกันก็น้อยลงไปอีก
เมื่อราวปี 2545 ผมเริ่มเข้ามาเป็นประธานสาขาการสอนภาษาไทย ซึ่งเป็นระบบเวียนกันรับตำแหน่ง มีวาระ 1 ปี พอครบกำหนดก็ต้องไปเรียนต่อตามเกณฑ์การประกันคุณภาพ ผมก็ได้ทุน UDC ไปเรียนปริญญาเอกที่คณะโบราณคดี ซึ่งเป็นแห่งเดียวที่มีสาขาบาลีสันสกฤต อยากจะเรียนให้สุดทางด้านนี้ไปเลย
เมื่อผมเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์เรื่องพระปัจเจกพระพุทธเจ้า เป็นการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำว่าให้ทำเรื่อง จักรวาลวิทยา ของศาสนาเชน มีคำภีร์อยู่ในศูนย์สันสกฤตแต่ยังไม่ใครไปศึกษา อยากให้ผมไปเรียนรู้เพื่อเปรียบเทียบกับศาสนาพุทธ เมื่อผมไปเปิดดูก็ไม่เข้าใจ เพราะเป็นภาษาปรากฤต อยู่ในกลุ่มเดียวกับภาษาบาลี พอดีมีอาจารย์ชาวอินเดียมาสอน ผมก็เข้าไปหาท่าน ขอให้ช่วยเปิดสอนภาษาปรากฤต ซึ่งมีในหลักสูตร แต่ไม่เคยเปิดสอนเพราะไม่มีคนเรียน ทำให้วิชานี้มีผมเรียนกับอาจารย์อยู่คนเดียว
พอเรียนจบก็เริ่มอ่านคำภีร์ ไล่อ่านดูแล้วก็ไม่พบสิ่งที่เราต้องการศึกษา เมื่อไปหาอาจารย์ชาวอินเดียสอบถามว่าเนื้อหาในคำภีร์เหล่านี้มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำวิทยานิพนธ์ของผมหรือไม่ ท่านดูแล้วก็พบว่าไม่มีเลย ตอนนั้นผมอยู่ปี 3 ตกใจเลยว่าเนื้อหาที่ต้องการไม่มีเลย เริ่มเครียดหนัก แล้วผมต้องสอบหัวข้อให้ได้ภายในปี 3 ด้วย ถ้าสอบไม่ได้ก็จะพ้นสภาพ จนอาจารย์ที่ปรึกษาถามว่า ไปอินเดียไหม
ครั้งแรกคิดว่าจะแค่สัปดาห์เดียว พอได้คำภีร์ก็จะนำกลับมาอ่าน แต่ตระเวนไปทุกที่ยังไงก็ยังหาไม่เจอ ทั้งวัดเชน ทั้งร้านหนังสือ อยู่จนเกือบ 6 เดือน เดินทางไปเกือบทั่วประเทศ ผจญภัยมาทุกรูปแบบก็ยังไม่ได้ สุดท้ายติดต่อไปที่รัฐคุชราตเพื่อให้ส่งมาให้ ซึ่งก็ยังไม่ตรง กำหนดวีซ่าก็หมดต้องกลับบ้าน ข้อมูลก็ยังไม่พอ ดูไปแล้วคงทำวิทยานิพนธ์ไม่สำเร็จ พอกลับมาแล้วพอดีที่มหิดลมีการอบรมศาสนาเชน ผมก็ไปเข้าร่วมงาน ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เยอะมาก ระหว่างอบรมมีการประกวดการเขียนบทความ ผมก็ส่งและได้รางวัลชนะเลิศมา ได้ทุนไปอินเดีย ไปอยู่กับวัดเชน นิกายทิคัมพร ที่เดลลี มีนักศึกษาจากทั่วโลกที่สนใจในเชนมารวมตัวกัน แล้วก็มีโปรเฟสเซอร์มาคอยดูแล ไปศึกษากันแบบละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งถ้าไปเองไม่มีทางทำได้ เพราะ เชน มีการปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก แล้วยังได้ขออนุญาตถ่ายภาพเก็บข้อมูลต่างๆ ตามที่เราต้องการ ได้ศึกษาเกี่ยวกับจักรวาลวิทยา นรก สวรรค์ ได้ไปชมรัฐราชสถาน ที่ ชัยปุระ ถือว่าเป็นเมืองของเชน ได้พบกับ ศ.ดร.โสกาณี ซึ่งสอนวิชาภาษาปรากฤต ผมก็ได้ชื่อท่านจากหนังสือที่อ่านแล้วไปหาเพื่อขอเรียนกับท่าน แต่พอวัดพื้นฐานกันแล้วท่านก็บอกว่าผมไม่ต้องเรียน เอาตำรานี้ไปศึกษาก็เพียงพอแล้ว ให้กลับไปอ่านเอง จนในที่สุดผมก็ทำวิทยานิพนธ์เสร็จ เรียนจบได้รับปริญญาเอกเมื่อปี 2553
กลับมาคราวนี้ผมก็ยังไม่ชอบงานด้านบริหาร แต่พอดีน้องๆ ช่วยกันสนับสนุน อยากให้มาทำงานช่วยคณะ ผมเลยตอบรับสมัครเป็นหัวหน้าภาค แล้วก็ทำหน้าที่ตั้งแต่ปี 2553 ทำงานบริหารเรื่อยมาหลากหลายตำแหน่ง จนหมดวาระหัวหน้าภาคหลักสูตรและวิธีสอน คณะศึกษาศาสตร์ เมื่อปลายปี 2557 ในการทำงานนั้นผมให้ความสำคัญกับบุคลากร รวมไปถึงเด็กนักศึกษา นอกจากฟังความคิดเห็นของเขาแล้ว ยังต้องนำเขามามีส่วนร่วมในการบริหารอีกด้วย เด็กคนไหนที่เก่งเรื่องอะไรเราจะมีรายชื่อไว้หมด เมื่อถึงโอกาสที่เขาจะได้แสดงความสามารถก็เรียกมาได้เลย ทำให้เด็กของเราได้รับรางวัลต่างๆ เยอะมาก ซึ่งถ้าใครได้รับรางวัลจากความสามารถในด้านต่างๆ กลับมา เราก็จะมีรางวัลสนับสนุนเพิ่มให้อีกพร้อมกับประกาศกิตติคุณมอบให้ ส่งกลับไปให้กับโรงเรียนเก่าเพื่อเชิดชูอีกด้วย
ปัจจุบันผมปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ต่อจากท่านอาจารย์ รศ.ดร.คณิต เขียววิชัย ก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาคณะในช่วงที่รักษาการนี้ ผมเรียนกับ อ.คณิต ไปแล้วว่า ถึงผมจะรักษาการ แต่จะไม่รักษาการเฉยๆ ผมจะทำงานเต็มที่ ถือคติตามที่ท่านว่าไว้คือ ถ้าใครอยากทำงาน ต้องได้ทำ แล้วก็ทำเลยโดยไม่รอ ที่เห็นได้ชัดคือการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีสภาพที่สวยงาม พยายามให้นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วม มีข้อเสนอแนะอะไรเราก็รับฟังเขา ถ้าทำให้ได้ก็ทำเลยเต็มที่ ถือว่าเราก็เป็นรุ่นพี่ของน้องๆ เหล่านี้เหมือนกัน
ผมจะไม่วางแผนล่วงหน้าไว้ยาวนัก เวลาทำก็จะทำวันนี้ให้ดี ชอบอยู่กับปัจจุบัน อะไรที่ทำได้ ต้องทำวันนี้ เมื่อวานผ่านมาแล้ว พรุ่งนี้ยังมาไม่ถึง วันนี้จึงเป็นวันที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขปรับปรุง หรือจะทำอะไรก็ตาม ผมไม่เป็นคนซีเรียส ไม่กังวลอะไรมาก อะไรที่ค้างคาก็ค่อยๆ แก้ไขไป เมื่อทำให้ดีที่สุดแล้วก็อย่าไปกังวล เราทำเต็มที่แล้ว ผลจะเป็นยังไงก็ไม่ต้องไปสนใจ ถ้าใครจะว่า ผมก็บอกทำเต็มที่แล้ว จะให้ทำกว่านี้คงไม่ได้ ซึ่งก็คิดว่า ถ้าทำเต็มที่จริงๆ คนก็รับกับ
ผลงานที่ออกมาได้ เห็นกับความตั้งใจของเราอย่างแน่นอน
ปัญหามีเข้ามาเยอะเสมอ แต่ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ไม่มีปัญหา ปัญญาก็ไม่เกิด บารมีก็ไม่เกิดครับ