Interview

ผศ.ดร.อนุพงษ์ อินฟ้าแสง

รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา
มหาวิทยาลัยธนบุรี
“ให้ความสำคัญกับทีม ให้ความไว้วางใจ ไม่ก้าวก่าย ไม่ล้ำหน้า”

สายเลือดศิลปะ : คุณพ่อผมเป็นจิตรกร จบเพาะช่างรุ่น 1 ป.ป.ช. (แผนกประโยคครูประถมการช่าง), ป.ม.ช. (แผนกประโยคครูมัธยมการช่าง) เขียนภาพที่วัดพระแก้ว สานต่อจากคุณปู่ อีกที ทำให้ผมเกิดความสนใจงานศิลปะโดยสายเลือด และมีการฝึกเตรียมตัว ฝึกฝีมือ เพื่อเตรียมเข้าเพาะช่าง แล้วก็เดินตามทางที่คุ้นเคยตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ แล้วผมกลับคิดว่า นั่นไม่ใช่ งานจิตรกรรมสำหรับผม ใช้หากินไม่ได้ โอกาสมันน้อย ไม่เหมือนกับการออกแบบ ซึ่งจะมีงานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ผมก็เลยฉีกออกมา

ครอบครัวครู : ทั้งคุณพ่อคุณแม่เป็นครู เวลาท่านไปสอนก็พาเราไปด้วย ไปอยู่หลังห้อง ท่านสอนอะไรก็เห็นก็ได้ยิน จนคุ้นเคยกับวิถีของการเป็นครู ส่วนผมเองพอโตขึ้น ได้เป็นครูบ้างก็เคยให้ลูกนั่งหลังห้องตอนผมสอนตั้งแต่เด็ก ตอนนี้เขาก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมือนกัน

อาจารย์สอนศิลปะ : ผมจบเพาะช่าง ป.ม.ช. จิตรกรรมสากล แล้วไปเป็นอาจารย์สอน Drawing Painting ที่โรงเรียนวิจิตรศิลป์ ต่อมาไปเรียนต่อครุศาสตร์บัณฑิต ศิลปศึกษา วิทยาลัยครูสวนสุนันทา แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ มีความรู้สึกว่า น่าจะมีอะไรที่แตกต่างไปจากครุศาสตร์

จากศิลปะสู่บริหารธุรกิจ : เดิมทีสอบปริญญาโทด้านการศึกษาได้แล้ว แต่คิดว่าคงเหมือนเดิม จึงตัดสินใจเปลี่ยนแนวทาง เลิกสอนศิลปะ ไปเรียนทางด้านบริหารธุรกิจบ้าง มาเน้นในแผนกพาณิชยการ ธุรกิจ รู้เรื่องเกี่ยวกับการบริหารคน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การจัดสรรคน อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร จึงเข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต สาขาองค์การและการจัดการ ทำให้รู้วิธีการจัดการทางธุรกิจ รู้วิธีการกู้เงิน การเขียนโครงการ และต่อมาก็เรียนต่อปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอดัมสัน ประเทศฟิลิปปินส์

จุดเปลี่ยนชีวิต : เดิมทีครอบครัวทำโรงเรียน ทำสถาบันการศึกษาเอกชน ผมก็เตรียมตัวเพื่อจะเข้ามารับหน้าที่สานต่อในธุรกิจของครอบครัว แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เราได้เลิกกิจการไป ทำให้ผมซึ่งคุ้นเคยกับการสอน และอยู่ในแวดวงการศึกษามาตลอด ก็กลายมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตั้งแต่เมื่อปี 2542

ชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัย : ความรู้ที่สะสมมาขณะนั้น ทำให้เมื่อปิดกิจการ จึงย้ายมามหาวิทยาลัยเอกชนได้ทันที โดยในความรู้และประสบการณ์มาใช้ในระดับอุดมศึกษาได้อย่างเต็มที่ และสอนตามมหาวิทยาลัยเอกชนต่างๆ หลายแห่ง ซึ่งมีแตกต่างจากนักเรียนระดับอาชีวะหลายอย่าง เป็นการต่อสู้ชีวิตที่สนุกมาก ได้ประสบการณ์อะไรที่แปลกใหม่ การศึกษาในประเทศไทย ของเอกชนและภาครัฐ แตกต่างกัน แต่คุณภาพของนักศึกษาไม่แตกต่างกัน เท่าเทียมกัน การสอนในระดับอุดมศึกษา เป็นการเปลี่ยนมุมไปเลย เป็นการสอนองค์ความรู้เพื่อให้เด็กคิดเป็น เป็นนักคิด การแต่งกายภายนอกเขาอาจจะดูไม่เรียบร้อยนัก แต่จริงๆ ตัวตนเป็นคนเรียบร้อย เราเน้นเรื่องผลลัพธ์ของการกระทำ มากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก

มหาวิทยาลัยธนบุรี : ผมมาร่วมงานกับมหาวิทยาลัยธนบุรีตั้งแต่เริ่มเปิดเป็นปีที่ 2 ต่อสู้กับปัญหา ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อย่างมีความสุขมาก ครั้งแรกมาเป็นอาจารย์ผู้สอนประจำหลักสูตร วิชาสาขาการจัดการ ต่อมาได้ รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และเมื่อยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2550 จึงได้เป็นรองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานักศึกษา

เติบโตไปด้วยกัน : การเปลี่ยนแปลงที่นี่มีเยอะมาก มหาวิทยาลัยธนบุรีเติบโตเร็วมากใน 20 ปีที่ผ่านมา ผมมาอยู่ครั้งแรกมีนักศึกษาอยู่ราว 300 คน ยังเป็นแค่ วิทยาลัย ขณะที่ปัจจุบัน มีนักศึกษา 8,000 คน ซึ่งไว้เนื้อเชื่อใจในสถาบัน ทีมงานสอนทุกคนทุ่มเทให้ความรู้กันเต็มที่ นี่คือจุดแข็งของเรา ผู้บริหารมีความเข้าใจในตัวคณาจารย์ ตัวนักศึกษา ว่ามีอะไรบ้างที่ควรจะจัดให้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับตัวบริบทของนักศึกษาที่มาเรียนกับเรา

University for all : มหาวิทยาลัยเพื่อทุกคน เป็นวิสัยทัศน์ของเรา ท่านอธิการบดี ดร.บัญชา เกิดมณี สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ในเรื่องของชุมชน การอยู่ร่วมกัน การจัดกิจกรรมก็จัดใกล้ๆ กับชุมชน ใกล้กับสถาบัน ดึงมวลชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกลุ่มกับมหาวิทยาลัย สนามกีฬาของเราก็มีความพร้อมสมบูรณ์ ชุมชนเข้ามาใช้ได้ มีชมรมฟุตบอล มีสถานที่สวยๆ ให้บริการสังคม เช่นการแต่งงาน การประชุม และอนาคตจะพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ

การเรียนการสอน : คณะที่มีนักศึกษาเรียนมากที่สุด คือบริหารธุรกิจ เพราะมีสาขาที่หลากหลาย ส่วนคณะบัญชี มีสาขาเดียวก็มีจำนวนนักศึกษาเกือบเท่ากัน สำหรับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ ก็มีจำนวนน้อยลงไป แต่เด็กของเราก็ได้รับรางวัลต่างๆ เยอะแยะมากมาย มีความหลากหลายเฉลี่ยกันไป แล้วแต่ความนิยมในช่วงนั้นๆ ภาพรวมทั้งหมดก็คือ เราได้รับความไว้วางใจจากทั้งตัวนักศึกษาและจะสังคมภายนอก แล้วยังมีเปิดสอนในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ บริหารการศึกษา ซึ่งมีจำนวนผู้ต้องการเข้าเรียนมากกว่าจำนวนที่เราเปิดรับ จำนวนนักศึกษาก็ไม่ลด ทั้งนี้เป็นเพราะ ทีมงานของเราตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่

การสอน กับ การบริหาร : ผมชอบทั้งสองอย่าง เพราะว่าถ้าบริหารแต่ไม่สอน จะไม่รู้จักเด็ก ถ้าถ้าสอนไม่บริหาร ก็จะไม่รู้จักคณาจารย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สนุกทั้งคู่ ในสถาบันการศึกษา ถ้าผู้บริหารได้สอนหนังสือด้วย รับรองว่าเจริญ มีการพัฒนาไปในแนวทางที่ดีอย่างแน่นอน เพราะจะรู้ถึงข้อเท็จจริงทั้งสองด้าน แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เพราะไม่ได้รับฟังข้อมูลจากการรายงานเพียงอย่างเดียว

ผู้บริหารที่เข้าถึงได้ง่าย : การดูแลนักศึกษาต้องมีความจริงใจ ให้ความสำคัญ และคิดเสมอว่า เราต้องการอะไร เขาก็ต้องการสิ่งนั้นเหมือนกัน แค่นี้เอง ผมทานข้าวโรงอาหาร เข้าแถวกับนักศึกษา ทำตัวไม่แตกต่าง เขาจะหลบให้ก็บอกไม่ต้อง เรียงไปตามคิว แล้วพอจ่ายเงินเราก็จ่ายเผื่อให้กับเด็กที่อยู่ข้างบ้าง เลี้ยงเล็กๆ น้อยๆ เป็นน้ำใจกันไป ท่านใดที่ไม่เคยเข้าโรงอาหาร จะไม่กล้าเข้ามานั่ง เพราะมีอาการเขิน ไม่รู้จะวางตัวยังไง แต่ผมชิน ตรงไหนก็นั่งได้ ถ้ามีที่ว่างก็ขอนั่งกับเด็กๆ คุยกับเขา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เราก็รู้จักคุ้นเคยกับนักศึกษาเป็นกลุ่มๆ ไป ส่วนเขาก็จะคุ้นเคยไม่รู้สึกเกร็ง ไม่กลัวที่จะพูดคุยกับเรา เวลาเด็กไปคุยต่อกับเพื่อนๆ เขาก็จะบอกว่า ได้กินข้าวกับอาจารย์รองอธิการบดี เกิดการพูดคุย ตัดปัญหาเรื่องการห่างเหิน เพราะเราสร้างความเป็นกันเองกับเด็ก และยังได้รับทราบปัญหา ความต้องการที่แท้จริงของเขา จากการได้ไปสัมผัสอย่างใกล้ชิดด้วยตัวเอง

ไม่ล้ำหน้า : ต้องไม่ไปก้าวก่ายบทบาทหน้าที่ของคนอื่น ทั้งๆ ที่เราอาจจะรู้ว่าปัญหานั้นจะจัดการยังไง แต่ก็ต้องปล่อยให้เขาจัดการเอง อย่าไปทำแทนเขา ดังนั้น ทีมเวิร์คเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผมจะไม่ก้าวก่ายใคร มอบหมายให้ไปแล้วก็ต้องไว้วางใจ เชื่อใจ ปล่อยให้เขาทำ

ทุกคนคือฮีโร่ : มีคำพูดที่ได้ยินกันในบริษัทต่างๆ หรือแม้จากงานวิจัย ว่า ให้พวกผมเป็นพระเอกบ้างเถอะ อะไรๆ ก็หัวหน้าเป็นพระเอก คำพูดเหล่านี้มันสะท้อนว่า ทำไมไม่ให้ลูกน้อง ทีมงานของคุณ ได้มีโอกาสเติบโต เป็นที่รู้จัก นั่นเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะสื่อให้ผู้คนเข้าใจ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่าทำตัวเป็นฮีโร่คนเดียว ถ้าจะเป็นฮีโร่ ทุกคนก็คือฮีโร่ทั้งหมด ถึงแม้เราจะเป็นคนทำ เป็นคนคิด ก็อย่าไปแสดงตัว เพราะคงไม่มีใครที่มาชื่นชมว่าเราทำคนเดียว แล้วยังอาจจะเกิดคำถามด้วยว่า ถ้าไม่มีเขา ไม่มีคนอื่นๆ แล้วเราจะทำได้หรือไม่

มือกลองเก่า : สมัยเรียนเพาะช่างพวกเรารวมตัวกันตั้งวงดนตรี วัตถุประสงค์จริงๆ คือรวมตัวกันซ้อมเพื่อเล่นในงานรุ่นของเรา ผมได้เล่นกลองเพราะเพื่อนๆ เห็นเราเคาะจังหวะได้ แบ่งประสาทได้ เลยให้ลองเล่น ส่วนคนอื่นเขาพอเล่นกีต้าร์ เบส ได้กันอยู่แล้ว ก็เลือกเล่นกันตามถนัด ไม่ได้เรียนดนตรี อาศัยฟัง แล้วแกะเพลงตามที่ได้ยิน แนวที่เล่นก็เป็นเพลงสากลโดยเฉพาะของกลุ่มศิลปิน CCR เวลาไปซ้อมเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เล่นเองก็ช่วยสนับสนุนค่าห้องซ้อมฯ พอเวลามีงานแต่งงาน งานบวช งานรุ่น ก็ชักชวนกันไป ขอให้ได้เล่น ค่าตัวมีไม่มีก็ไม่เป็นไร แล้วพอเล่นงานรุ่นเสร็จ ต่างคนก็แยกย้าย ไม่ได้เล่นกันอีกเลย แต่คิดว่าทุกวันนี้ก็ยังตีกลองได้ ยังจำได้ เพราะช่วง 21-22 น. ต้องขึ้นไปฟังเพลงแนวที่ชอบทุกวัน

รวมตัวย้อนอดีต : เราได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพราะเพื่อนเป็นเจ้าของร้านอาหาร แล้วจัดพื้นที่ของร้านให้สำหรับเพื่อนๆ ศิษย์เก่าชาวเพาะช่าง หลายคณะหลายสาขา ให้มาพบปะสังสรรค์ ร้องเพลงคาราโอเกะกัน พอรวมตัวกันแล้วก็มีความรู้สึกว่า ยังเหมือนๆ เดิมอยู่ ทุกคนจะย้อนกลับไปเป็นเด็ก ผมเคยแต่งตัวเรียบร้อยไป เขาก็สงสัยว่าจะอยู่กันได้หรือเปล่า แต่พอเราถอดหัวโขน ทุกคนคือเพื่อน ก็สนุกสนานเฮฮากัน รำลึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ใครมีเครื่องดนตรีก็หยิบมาเล่นสนุกๆ เริ่มย้อนอดีต จนเคยคิดเหมือนกันว่า น่าจะลองไปเช่าห้องซ้อมดนตรี ลองเล่นกันบ้าง แต่โอกาสที่จะรวมตัวกันจริงๆ คงจะยากสักหน่อย เพราะต่างคนต่างมีภาระหน้าที่ คงต้องรอให้มีจังหวะดีๆ หรือมีที่ประจำก่อน

เล่นกีฬามาเยอะ : ผมเล่นกีฬาหลายประเภท ทั้ง ฟุตบอล บาสฯ ตะกร้อ และ กอล์ฟ เด็กๆ เลยก็เล่นฟุตบอล กับ บาสฯ พอมาเป็นครูก็เล่นตะกร้อ ส่วนกอล์ฟ เล่นเมื่ออายุ 35 กีฬาทุกอย่างเล่นกับเพื่อนๆ เพื่อความสนุก

กอล์ฟ : ผมเรียกว่าเป็นความลุ่มหลงเลยนะ ตื่นตั้งแต่เช้ามืด ตีห้าออกจากบ้าน กลับอีกทีค่ำมืด เพื่อมานั่นคุยกันต่อว่า ใครแพ้ใครชนะ วันนี้เล่นกันยังไง คุยกันต่อจนดึก ผมเล่นกอล์ฟกับก๊วนเดิมๆ ที่ต้องผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ชอบตรงความหลากหลายของสนาม ที่ไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยม เวลาขับรถไปตีกอล์ฟไม่เคยเหนื่อย ต้องตื่นแต่เช้าแค่ไหน ไกลแค่ไหนก็ไป รู้สึกว่าตื่นเต้น คึกคัก ยิ่งกว่าขับรถไปหาสาวๆ เมื่อสมัยยังหนุ่มๆ ด้วยซ้ำ จนภรรยาเคยสงสัยว่า เวลาไปเล่นกอล์ฟ ทำไมถึงหายไปทั้งวัน ก็เลยไปนั่งคอยตั้งแต่เช้าที่คลับเฮ้าส์ พอจบรอบแรกเดินผ่านมาก็ลุกขึ้นคิดว่าเล่นเสร็จแล้ว ทั้งๆ ที่ยังเหลืออีก 9 หลุม กว่าจะจบก็บ่าย ภรรยาผมเลยบอกว่าทีหลังไม่ต้องพามาด้วยแล้วนะ และเข้าใจธรรมชาติของกอล์ฟว่า ต้องใช้เวลาเยอะ อยู่ในสนามได้ทั้งวัน แล้วเล่นกันทุกอาทิตย์ สนามที่เล่นบ่อยสมัยก่อนก็ สนาม ทบ., สนามรถไฟ ส่วนที่ชอบ ประทับใจมากที่สุดก็ สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ความประทับใจอย่างหนึ่งก็คือ เคยทำโฮลอินวันได้ และเป็นครั้งเดียวในชีวิต

เลิกเล่นแบบหักดิบ : ผมเคยเล่นจนได้แต้มต่อ 14 ก่อนจะหยุดเล่นตอนเลิกกิจการ เพื่อนๆ ก็ไม่เชื่อว่าจะเลิกเล่นกอล์ฟ เลยบอกให้ขับรถตามไปที่บ้าน แล้วยกถุงกอล์ฟให้ไปเลย เขาก็ตกใจ ไม่คิดว่าผมจะเลิกเล่นกอล์ฟได้จริงๆ และตัดใจได้ง่ายขนาดนั้น ท่านอธิการฯ ก็เคยชวนผมไปเล่นกอล์ฟ แต่ผมก็ปฏิเสธเพราะติดสอน จนเมื่อชวน 2-3 ครั้ง ท่านก็เข้าใจ รู้ว่าผมต้องการใช้เวลาไปกับการทำงาน ทำให้เลิกชวนไปโดยปริยาย

มีอะไรให้ทำเยอะ : ผมมีกิจกรรมอย่างอื่นมาชดเชย ผมสนุกกับงานเขียนบทความ เขียนตำรา เขียนงานวิจัย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินผลในงานวิจัย ได้สอนหนังสือทางด้านการจัดการ ได้แต่งหนังสือ 3 เล่ม ทั้ง ภาวะผู้นำ, พฤติกรรมองค์การ และ สถิติและวิจัยทางเศรษฐกิจ และส่วนใหญ่ผมยังจัดกิจกรรมให้กับนักศึกษา มีกีฬาเบาๆ ให้เล่น สมัยก่อนผมตีปิงปองกับเด็กๆ จนมีการจัดปิงปองชิงแชมป์บุคลากร แล้วผมก็ได้แชมป์ประเภทเดี่ยว

งานวิจัย : ผมทำวิจัยมาหลายชิ้น อย่างเช่นในเรื่องธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย ว่าจะพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทได้อย่างไรบ้าง เพราะไม่ใช่แค่เพียงการดูแลทางด้านกายภาพ แต่จะดูว่ามีอะไรอีกที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยดีขึ้น มิใช่แค่เพียงรอวันสุดท้าย น่าจะมีกระบวนการอะไร ที่เข้าไปปรับสภาพ ทำให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านของตัวเองได้ เพื่อให้มีความสุขในชีวิตบั้นปลาย

ออกกำลังกายตามวัย : ผมเดินออกกำลังกายทุกวัน ตอนเย็นๆ เดินรอบหมู่บ้าน ระยะทางราว 1 กิโลเมตร ก็เดิน 3 รอบ แต่มีบ้างที่รู้สึกว่าจะเดินไม่ครบ 3 รอบ เพราะพอเริ่มเหนื่อยก็อยากกลับเข้าบ้าน ต้องใช้วิธีเดินยาวๆ ไปห้างฯ เป็นจุดหมายที่ไกลหน่อย พอพักหายเหนื่อย หรือหาอะไรทานเล็กๆ น้อยๆ แล้วเดินกลับ เพื่อบังคับตัวเอง ระยะทางรวมก็ราว 3 กิโลเมตร แต่ถ้ากลับบ้านค่ำหน่อย ไม่สะดวกไปห้างฯ ก็เดินรอบบ้านบ้าง ก็ทำให้พอได้เหงื่อ

ใช้สติคุมอารมณ์ : เคยขับรถไปกับภรรยาในช่วงที่เริ่มมืด มองอะไรไม่ค่อยชัด ผมก็ขับช้าๆ มีรถคันหลังขับมาใกล้ๆ แล้วเปิดไฟกระพริบใส่ ใจนึงก็รู้สึกหงุดหงิด อยากจะไปลุยให้รู้เรื่อง แต่เมื่อคิดอีกทีด้วยสติ คิดถึงใจเขา ว่าสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่แสดงออกมา อาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดก็ได้ เขาอาจจะมีความจำเป็น มีผู้ป่วย หรือต้องเร่งรีบในเรื่องสำคัญ หรือเตือนภัยบางอย่างให้ ไม่ได้ต้องการมารบกวนเรา เมื่อคิดได้แบบนี้ เราก็ไม่รู้สึกโกรธ รีบแอบรถซิดซ้าย ปล่อยให้เขาขับผ่านไป คิดเสมอว่าอย่าใจร้อน พยายามพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลก่อน นิ่ง สงบ สยบสติอารมณ์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ได้ แค่นี้ชีวิตก็ไม่เครียดแล้วครับ