คิดอนาคต – สุชาติ อรุณแสงโรจน์
สุชาติ อรุณแสงโรจน์
กรรมการบริหาร ส่วนงานขาย บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด
“คิดอนาคต”
ผมใฝ่ฝันอยากไปต่างประเทศตั้งแต่เด็ก แรงบันดาลใจอย่างหนึ่งคือการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น และภาพยนต์สำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะเรื่อง เคนโด้ ที่มีเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของเด็กญี่ปุ่น ได้เห็นบ้านเมืองในหนัง ก็อยากจะไปเห็นด้วยตัวเอง ได้ดูภาพบรรยากาศในห้องเรียน สอนให้เห็นความพยายาม ก็อยากจะไปเรียนกับเขาแบบนั้นบ้าง แต่ทางบ้านไม่มีฐานะพอที่จะส่งให้ไปเรียนได้ ผมคิดว่าถ้าเราเก็บเงินได้มากพอ ก็น่าจะไปได้ คิดเองเออเอง แต่คนอื่นไม่มีใครเห็นด้วย
ผมเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่นที่บพิตรพิมุข พอขึ้นปีสามก็เลือกเรียนมัคคุเทศน์ เพื่อจะได้มีทักษะในการติดต่อสื่อสาร อาศัยเรียนพิเศษภาษาญี่ปุ่นเยอะ มุ่งมั่นที่จะไปเรียนต่อให้ได้ จบก็ไปเป็นไกด์ฝึกหัด เป็นผู้ช่วยไกด์ เพื่อจะได้ฝึกฝนกับเจ้าของภาษาโดยตรง ไม่ชอบไปเรียนในมหาวิทยาลัย แต่จะใช้ภาษาเป็นบันได และบันไดอีกขั้นคือการได้พบปะรู้จักกับผู้คน ภาษาของเราก็ดีขึ้น มีการพัฒนาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็สะสมทุนในการไปเรียน ทั้งหมดนี้คือการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วว่าปีหน้าจะไปเรียนต่อ
งบประมาณมีอยู่ได้แค่เพียงสองเดือน แต่ต้องเรียนเป็นปี แล้วก็จำเป็นต้องอยู่ให้ได้ วีซ่าก็ออกให้แค่ครึ่งปี แล้วยังเป็นการเดินทางครั้งแรก ทุกอย่างรู้สึกตื่นเต้นไปหมด ขนาดทำการบ้านไปล่วงหน้าแล้ว สมัยก่อนยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ต้องอาศัยศูนย์ข้อมูลที่มีอยู่น้อยนิด ว่าจะเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองยังไง โรงเรียนอยู่แถวไหน พอถึงสนามบินเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองถามว่ามาทำไม ก็เล่าไปตามความจริง เลยถูกกักตัว เพราะวีซ่าเราครึ่งปี แต่หลักสูตรที่เรียนหนึ่งปี กว่าจะคุยกันรู้เรื่องใช้เวลาไปหลายชั่วโมง แล้วก็ยังมิวายถูกแท้กซี่ขับพาไปวนอ้อม ผมไปถึงโรงเรียนก่อนกำหนดเปิดห้าวัน กะว่าต้องไปพักโรงเรียนระหว่างรอเข้าหอ โชคดีที่เจอรุ่นพี่คนไทย เข้ามาสอบถาม พอรู้ว่าเราไม่มีที่พักก็ชวนให้ไปอยู่ด้วยกัน แล้วพอคุยกันก็บอกเขาไปตามตรงว่าทุนเรามีพออยู่แค่สองเดือนเท่านั้น วันรุ่งขึ้นรุ่นพี่ก็พาไปสมัครงานล้างจานในร้านญี่ปุ่น ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้จักมาก่อนอาศัยอยู่มาแล้วหลายปี อ่านป้ายประกาศว่าที่ไหนรับคนงาน วันรุ่งขึ้นผมก็ได้ไปทำงาน มีที่กิน คิดว่าปีนี้ชีวิตรอดแล้ว
ปีต่อมาผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ คณะบริหารธุรกิจ แต่พอเรียนๆ ไปค่าเล่าเรียนก็สูงขึ้น งานล้างจานอย่างเดียวไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย ผมต้องทำงานเพิ่ม ตั้งแต่สี่ทุ่มจนถึงตีห้า กลับมาได้นอนแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องไปเรียนหนังสือตอนเช้า พอเรียนเสร็จ ยังต้องไปซ้อมบาสฯ ต่อจนสองทุ่ม กลับมาตอนค่ำได้พักนิดหน่อย ก็ต้องนั่งรถไฟไปทำงานรอบกลางคืนอีก วนเวียนแบบนี้เป็นปี อยู่ในโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ ทำหน้าที่คอยโกย คอยแพ็ค จัดให้รถบรรทุกนำไปส่ง งานหนักแต่รู้สึกว่าสนุก เหนื่อยแต่ก็สู้ เพราะรู้ว่างานนี้จะทำให้ชีวิตเราอยู่รอดได้ที่นี่
ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยจนรู้สึกไม่ไหวจริงๆ ในช่วงที่ยังมีวีซ่าอยู่ ก็ตัดสินใจไปเป็นไกด์พาคนไทยที่มาญี่ปุ่นไปเที่ยว พอหมดก็กลับมาต่ออายุแล้วไปอีก ทำงานเพื่อเก็บเงินอย่างเดียวเลย แต่ก็เก็บไม่ได้มากเพราะมีความสุขที่ได้เห็นได้เที่ยว คิดแค่ว่า เราไม่ได้เอาอะไรมา ก็ไม่ต้องเอาอะไรกลับ ขอแค่ประสบการณ์อย่างเดียวก็พอแล้ว
พอกลับมาเมืองไทยก็ลองทำธุรกิจส่วนตัวดูบ้าง เมื่อราวสามสิบปีก่อนสังเกตว่าคนไทยชอบทานผลไม้ที่ขายตามรถเข็น ก็คิดว่าถ้าทำบ้างก็คงจะพอมีช่องทางทำกำไรได้ เลยลองทำ 2 คันแรก ผมเข็นขายเองด้วย เพื่อจะให้ทราบถึงวิธีการ ปัญหาต่างๆ จริงๆ กำไรต่อคันไม่ได้เยอะมาก ได้แค่คันละราวสามพัน ถ้ามี 10-20 คัน ก็น่าจะได้กำไรหลายหมื่น พอทำๆ ไปถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะขยายธุรกิจ กลับมามองเห็นปัญหาว่า ถ้ารถเข็นเรามีเยอะๆ มองไปทางไหนก็จะรู้สึกแปลกๆ อาจจะไม่เชิดหน้าชูตาสำหรับคนต่างประเทศนัก ทั้งๆ ที่รถต้นแบบของผมก็พยายามทำให้ออกมาสวยงาม มีจานรอง ไม้จิ้ม ทุกอย่างทำมาอย่างดี กำไรก็พอได้ การบริหารงานก็ลงตัวแล้ว ผมตื่นตั้งแต่ตีสี่ ไปซื้อผลไม้ที่ตลาดมหานาค กลับมาทำความสะอาด ปอก จัด ใส่รถออกขาย แต่ก็ยังติดอยู่ในใจว่าเราจะทำบ้านเมืองให้ไม่น่ามอง ถึงจะมีกำไร แต่ถ้าทำแล้วไม่สบายใจก็อย่าทำดีกว่า เลยล้มโครงการไป
จากนั้นก็ไปดูขนมเด็ก รับซื้อจากโรงงานไปขายต่อร้านขายส่ง ครั้งแรกก็ดี ทำจนรู้วิธี รู้ตลาด จนคิดว่าจะขยาย พอเริ่มสั่งซื้อเยอะขึ้น เจ้าของโรงงานก็ขึ้นราคาอีก ทำให้รู้สึกช็อคกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราทำการตลาดได้ แต่ก็มาติดปัญหากับผู้ผลิตอีก คิดว่าถ้าเราไม่ใช่เจ้าของโรงงานเองก็คงควบคุมอะไรไม่ได้
ประสบการณ์ที่ได้รับจากสองงานแรกที่ลองทำเอง ทำให้เกิดความคิดว่าอยากจะไปลองเข้าบริษัทใหญ่ๆ เพื่อเรียนรู้การทำงานดูบ้าง จึงเปิดหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อหาตำแหน่งงาน แล้วก็เจอประกาศของบริษัทฮอนด้า ผมก็คุ้นกับบริษัทญี่ปุ่นอยู่แล้ว เลยเข้าไปสมัคร แล้วก็ได้งาน
เมื่อราว 29 ปีที่แล้ว มอเตอร์ไซด์ ฮอนด้า เป็นรถที่ยังไม่ได้การยอมรับในตลาดไทย ขายไม่ค่อยออก เป็นยี่ห้อที่ไม่ค่อยมีใครซื้อ ตอนเปิดรับมีคนไปสมัครแค่ไม่กี่คน แต่จังหวะนั้นกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า เพิ่งเปิดพอดี จะทำแผนการตลาดใหม่ทั้งหมด มีการนำ R&D เข้ามา ผมก็อยู่ในช่วงอยากลองงานใหม่ๆ ตั้งใจว่าขอทำแค่สองปีก็พอ เพื่อจะได้กลับไปเปิดบริษัทของตัวเองบ้าง ที่ผ่านมาทำงานของตัวเองแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ เลยอยากจะเรียนรู้ว่าการแก้ปัญหาของบริษัทใหญ่เขาทำกันอย่างไร แล้ววันที่ต้องเลือกว่าจะอยู่ไหน ฝ่ายขายหรือผลิตภัณฑ์ เผอิญว่าเจ้านายญี่ปุ่นในแผนกนี้ก็เรียกให้ไปอยู่ด้วยก่อน ผมเลยไม่ได้เลือกแผนกเอง
เมื่อทำงานฝ่ายโปรดักก็รู้สึกสนุก ได้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสำรวจความคิดเห็นลูกค้า ว่าทำไมไม่ชอบสินค้าของเรา แล้วนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงพัฒนาสินค้า แล้วไปคุยกับฝ่ายออกแบบ เขาก็จะนำแบบรถรุ่นใหม่เป็นร้อยๆ มาให้เราเลือก เพราะเราเป็นผู้ลงไปสำรวจตลาดเอง ทราบถึงความต้องการของลูกค้าว่าอยากได้รถแบบไหน จากนั้นพอได้แบบที่ตรงใจมากที่สุด ก็จะนำแบบไปขึ้นตัวอย่างที่เป็นรถดินที่ญี่ปุ่น ก็จะตามไปดูอีกว่าแบบไหนใช่ที่สุด แล้วก็จะผลิตออกมาเป็นรถต้นแบบ เราก็จะตามไปติไปเลือกอีกว่าจะเอาแบบไหน แล้วก็มีทีมงานคอยสานต่อให้ เป็นงานที่สนุกและลุ้นมากว่าวิ่งที่เราทุ่มเทไปทั้งหมดนั้น ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร
สินค้าของเราเมื่อตั้งต้นกันนั้นในตลาดไม่ค่อยดีนัก เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว สินค้าเราถูกมองว่า เชย ล้าสมัย ไม่ถูกใจกลุ่มลูกค้า ครั้งแรกฟังแล้วรู้สึกตกใจ รู้สึกในใจว่าเราเข้าบริษัทผิดรึเปล่า สองปีแรกที่อยู่ เวลาใครถามว่าทำงานที่ไหนก็ตอบได้ไม่เต็มปาก แต่พอเราเข้าไปมีส่วนอยู่ในองค์กรจริงๆ เกิดความรู้สึกร่วม อยากจะเอาชนะ ต้องการเป็นที่หนึ่ง เห็นผลิตภัณฑ์ที่เรามีส่วนในการปรับปรุง ตอนนั้นคือ ฮอนด้า โนวา ผลิตออกมาแล้วตลาดให้การยอมรับ เป็นความรู้สึกที่ดีมาก เกิดกำลังใจในการทำงาน จากนั้นสินค้าขายดีตัวอื่นๆ ก็ตามมาอีกเรื่อยๆ เกิดความสนุกในการทำงาน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องรายได้แล้ว แต่เป็นเพราะเกิดความรู้สึกร่วม เกิดความท้าทาย อยากจะผลิกแบรนด์ให้กลับมาเป็นที่หนึ่งของวงการให้ได้ โดยเริ่มจากรถตระกูลโนวา ตั้งแต่เมื่อปลายปี 1987 หรือ พ.ศ.2530
จากเดิมหน่วยงาน R&D เป็นส่วนเล็กๆ ในบริษัท คราวนี้ก็จะเปิดเป็นบริษัทใหญ่ มีระบบ มีหน่วยค้นคว้า ออกแบบ ผมก็สนุกกับงานจนลืมไปเลยว่าจะอยู่แค่สองปี ก็ย้ายไปทำงานที่ใหม่แล้วก็อยู่ในแผนกนี้อีกพักใหญ่ ที่เราขึ้นมาเป็นที่หนึ่งในตลาดได้ก็เพราะสินค้าเราเป็นที่ยอมรับ จนเมื่อจะมีการขยาย R&D อีกครั้ง ผมก็ขอมาทำงานฝ่ายขายบ้าง เลยกลับมา เอ.พี.ฮอนด้า แต่เขาก็ยังคงให้ทำ R&D ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยควบคู่ไปด้วย จนประธานท่านได้มาให้คำแนะนำว่า เราไม่ควรจะทำงานด้านวิจัยนานเกินไป เพราะความคิดต่างๆ อาจจะไม่ทันความต้องการของตลาดที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆ ก็เลยปรับให้ไปเป็นผู้จัดการทั่วไปฝ่ายโฆษณา ไปดูกลยุทธ์ทางการขาย ว่าจะสื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของเราอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
วันหนึ่งก็มีโครงการให้ไปทำงานที่ฮอนด้ามอเตอร์ประเทศญี่ปุ่นสามปี ทำงานกลืนไปกับคนญี่ปุ่น ดูแลโซนอาเซี่ยนทั้งหมด เน้นหนักการทำตลาดที่มาเลเซียมากหน่อย เรามีองค์ความรู้จากประเทศไทย เอ.พี.ฮอนด้า ตอนนั้นถือว่ามีความแข็งแกร่งในเรื่องนี้มาก ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นมาสเตอร์แพลนของฮอนด้าทั่วโลก ทุกคนในฮอนด้าจากทั่วโลกจะต้องมาดูงานว่าเราทำงานกันอย่างไร ต้นแบบของร้านตัวแทนจำหน่ายก็มาจากเรา พอครบกำหนดก็กลับมาอยู่เอเชี่ยนฮอนด้าสำนักงานใหญ่ที่เมืองไทย แล้วก็กลับมาดูงานฝ่ายขายที่ เอ.พี.ฮอนด้า ซึ่งต้องสะสมประสบการณ์อันยาวนาน ผ่านงานหลากหลายแผนกของฮอนด้ามาก่อน ถึงจะได้มาอยู่ในฝ่ายขาย และดูแลในเกือบทุกส่วนของบริษัทได้
ในปัจจุบันสินค้าของฮอนด้าในตลาด เกิดจากการคิดค้นและผลิตขึ้นในประเทศไทยเกือบทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ขายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก ตั้งแต่รถตลาดรุ่นเล็กๆ จนกระทั่งรุ่นที่มีเทคโนโลยีสูงๆ จะมีแค่บางรุ่นที่พิเศษจริงๆ ถึงจะนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น แล้วรถทั้งหมดนี้ เอ.พี.ฮอนด้า ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย
ที่เราประสบความสำเร็จได้เพราะมีการพัฒนาตัวเองตลอด ลูกค้าไม่ได้อยู่กับที่ เรารู้ว่าลูกค้าชอบแบบไหน ต้องการอะไร ก็ต้องปรับให้ทัน จะทำการค้าขายแบบเดิมๆ ไม่ได้ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนเพื่อให้ทันตลาด ต้องคิดตลอด มีอะไรให้ทำอยู่เสมอ หยุดนิ่งไม่ได้ ฮอนด้ามีความถนัดเป็นพิเศษในเรื่องนี้ เรามองไปข้างหน้าอยู่เสมอ แม้ในขณะนี้เราก็มองตลาดข้างหน้าปีอีก 5-10 ปี คาดเดาอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปัจจุบันเราอาจจะเป็นที่หนึ่ง แต่ก็ไม่เชื่อว่าอนาคตจะเป็นที่หนึ่งได้ ถ้าไม่พัฒนาไม่ปรับเปลี่ยน ซึ่งเป็นงานหนักของผู้บริหารที่ต้องพยายามคิดหาวิธีการต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
เมื่อย้อนไปสมัยเป็นนักเรียน ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อย รู้จักแต่คำว่าสนุก มานึกดูแล้วก็ยังงงกับตัวเองเหมือนกันว่าทำไปได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปเรียนต่อโดยไม่รู้จักใครเลย แต่ผมก็มุ่งมั่นที่จะไป เนื่องจากการไปเรียนที่ญี่ปุ่นคือความใฝ่ฝันของผม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรผมก็รู้สึกสนุก ชอบไปหมด นั่นจึงเป็นพื้นฐานทำให้ผมอยู่ที่นั่นได้โดยไม่รู้สึกลำบาก ไม่ท้อ ไม่เหนื่อย
สิ่งหนึ่งที่ต้องการจะทราบก็คือ เขาพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างไรจากประเทศที่แพ้สงครามให้พลิกกลับมาทันสมัย จนเมื่อได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองก็ทราบว่ามันมีปัจจัยต่างๆ เยอะแยะมากมาย แต่เรื่องสำคัญๆ คือ การคิดอนาคต เขาไม่ได้คิดอยู่แค่ปัจจุบัน แต่จะมองอนาคตไปด้วยเสมอ อย่างเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การถอดรองเท้าตอนเข้าบ้าน เขาก็จะวางกลับข้างเตรียมไว้ให้ใส่สะดวกสำหรับขาออก ก่อนจะออกจากบ้านก็ต้องดูพยากรณ์อากาศ ถ้าจะมีฝนก็เตรียมพกร่มติดตัวไปด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเสมอ รวมถึงการทำงานเขาก็ฝึกให้รู้จักการคิดล่วงหน้า งานปัจจุบันคือการทำตามแผนที่วางไว้ในอดีต แต่ก็ต้องปรับแก้ให้ทันกับสถานการณ์ แล้วก็เตรียมคิดแผนในอนาคตไว้ นั่นคือต้อง เน้นวันนี้ และ เน้นวันพรุ่งนี้ด้วย
เนื่องจากชีวิตของคนญี่ปุ่นจริงจังมาก เขาจึงไม่ชอบคนที่ไม่จริงจัง ชีวิตจึงเคร่งเครียด เป็นการเป็นงานตลอด นำหนักชีวิตในเรื่องเฮฮาของเขาจะมีน้อย ซึ่งกลับกันกับของเรา เวลาผมไปทำงานในร้านอาหารทุกอย่างต้องเป๊ะๆ งานต้องทำไม่หยุด อยู่เฉยๆ ไม่ได้ คุยเล่นไม่ได้ ถ้าไม่มีจานล้าง ก็ต้องหาอะไรเช็ดไปเรื่อยๆ เราก็เข้าใจเขาว่า เมื่อจ้างแล้วก็ต้องให้ได้งานเต็มที่ สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆ ซึมเข้าหาจนเราเข้าใจว่านี่คือวัฒนธรรมของเขา ซึ่งคนไทยเราอาจจะไม่ชิน ก็ต้องมีการปรับตัวกันบ้าง แต่บางครั้งเมื่อได้ออกไปต่างจังหวัด ได้สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตของชนบท ซึ่งก็คล้ายกับบ้านเราที่ผู้คนไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ซีเรียสกันมาก มีน้ำใจให้กัน ยิ้มแย้ม ทักทายปราศัย ซึ่งหาไม่ได้ในเมืองใหญ่ ก็เกิดความประทับใจว่า มุมแบบนี้ของประเทศเขาก็มีเช่นกัน
เป้าหมายของผมไม่ใช่การได้ไปอยู่อาศัย แต่ต้องการไปเรียนรู้ แล้วนำกลับมาใช้ มาทำอะไรที่อยากทำ จริงๆ จะอยู่ยาวก็ได้ ถ้าดิ้นรนต่ออีกแค่นิดหน่อย ก่อนกลับยังเคยไปสมัครงานที่นั่น แต่อยากกลับบ้านมากกว่า หลังจากนั้นก็มารู้ว่า บริษัทได้เรียกตัวเราจริงๆ แต่ใจเราไม่อยู่แล้วเลยไม่รอฟังผล
ประสบการณ์เรียนรู้อย่างหนึ่งที่สำคัญคือการได้เป็นนักกีฬาบาสเกตบอล ซึ่งผมชอบกีฬานี้อยู่แล้ว เคยเล่นตั้งแต่ยังเด็กๆ แต่การฝึกของเขามีความแตกต่างกับบ้านเราอย่างเห็นได้ชัด การวอร์มอัพก็วอร์มจริงจังตามแบบที่วางไว้ วิ่งไปก็ผลัดกันร้องเรียกความมั่นใจเหมือนกับที่เห็นในหนัง แรกๆ อายไม่กล้าส่งเสียง รุ่นพี่ก็มองจนเราก็ต้องร้องดังๆ เหมือนคนอื่น เวลาไปแข่งกับทีมมหาวิทยาลัย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะต้องประชุมกัน พูดคุยกันว่าเกมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ทุกคนจะมาขอโทษกันว่าตัวเองเล่นผิดพลาดตรงไหนบ้าง เช่นส่งพลาด ไม่ฟิตพอ แม้กระทั่งคนที่เล่นเด่นกว่าคนอื่น ยังต้องมาขอโทษเพื่อนๆ ว่ายิงมากเกินไป ไม่ส่งให้คนอื่น แล้วทุกคนก็จะพยายามไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีกในครั้งต่อไป ซึ่งวิธีการนี้ผมก็นำมาปรับใช้ในการทำงาน หลังจากที่เสร็จกิจกรรมต่างๆ ก็จะมาพูดคุยกันในลักษณะนี้ ช่วยให้ทุกคนมีความเข้าอกเข้าใจกัน ร่วมมือกันแก้ปัญหา สร้างความสามัคคีให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี
ส่วนกอล์ฟ ผมได้มาเริ่มเล่นเมื่อราวยี่สิบปีก่อน เพราะเห็นประธานบริษัทเล่น ก็อยากจะเล่นบ้าง อยากเล่นกอล์ฟให้ชนะท่าน เพราะคิดว่าเราตัวใหญ่กว่า เป็นนักกีฬาด้วย แต่พอไปลองแล้วกลับยากกว่าที่เห็น ก็ยังคิดว่ากีฬานี้ต้องซ้อม เลยเข้าคอร์สไปเรียนกับโปรฝรั่ง เพราะคิดว่าตัวเราค่อนข้างใหญ่ ฝรั่งอาจจะเข้าใจในสรีระได้ดีกว่า หลังจากนั้นก็ซ้อมทุกวัน มีโอกาสเมื่อไหร่ออกรอบ ไปเล่นกับเพื่อนที่บริษัทตั้งแต่เช้ายันมืด อยากเอาชนะท่านประธานให้ได้ บางวันเช้าซ้อมก่อนเข้างาน หลังเลิกงานก็ซ้อมอีก จริงจังมาก สกอร์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังสู้ไม่ได้สักที ก็บอกท่านอยู่เสมอว่าจะต้องเอาชนะให้ได้ ท่านก็หัวเราะ จนกระทั่งผมต้องเปลี่ยนสายงานมาดูเรื่องโฆษณา เริ่มทำงานไม่เป็นเวลา วันหยุดก็ต้องทำงาน กอล์ฟ พอห่างๆ ไปก็ไม่สนุก ยิ่งท่านประธานย้ายไปอีก เป้าหมายที่จะเอาชนะก็หายไป เลยแทบจะหยุดเล่นกอล์ฟไปเลย เหลือแค่เล่นบาสฯ อย่างเดียว
พอเล่นบาสฯ ไปนานๆ ขาก็เริ่มเจ็บ พอมาคิดๆ ดูว่าเมื่อก่อนเราเคยเล่นกอล์ฟดี ทำไมตอนนี้เล่นไม่ได้เลย แล้วเพื่อนๆ ก็ไปซื้อสมาชิกกอล์ฟกันหลายคน ผมก็ตั้งเป้าใหม่ ประกาศแบบขำๆ กับกลุ่มเพื่อนๆ ที่เล่นกอล์ฟด้วยกันว่า ผมจะเป็นที่ 1 ในกลุ่มก๊วนที่เล่นด้วยกันให้ได้ จากนั้นทุกวันเสาร์ก็ไม่พลาด ตื่นเตรียมตัวไปเล่นตั้งแต่ตี 4 บางครั้งมีวันอาทิตย์ด้วย ถึงจะยังไม่เก่งก็ขอประกาศตั้งเป้าเอาไว้ก่อน มีการไปจับวงกับโปร เพื่อต้องการเบสิกที่ถูกต้อง เพราะคิดว่าถ้าอาศัยแค่ทักษะส่วนตัวอย่างเดียว ฝีมือก็จะพัฒนาได้ไม่มาก และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ทำให้เห็นวงสวิง ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาด ก็ยิ่งทำให้สนุกและเข้าใจ เพราะผมอยู่ในสายงานที่มีแนวทางแบบนี้อยู่แล้ว
การทำงานทั้งหมดทั้งสิ้น ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือครอบครัว ถ้าเรากับครอบครัวไม่มีความสุข มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย ทำงานเก่ง แต่ครอบครัวไม่ดี แล้วจะทำไปเพื่ออะไร บางครั้งการงานอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ครอบครัวก็คอยให้กำลังใจ ยิ่งถ้างานไปได้ด้วยดี แล้วครอบครัวร่วมยินดีไปด้วย ยิ่งถือว่าเป็นความสุขที่เหนือความสุขขึ้นไปอีก อย่างเรื่องกอล์ฟ ผมเล่าทุกอย่างที่ทำ ปรึกษาภรรยา เล่าให้ฟังถึงความตั้งใจ และเป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วภรรยาก็จะคอยให้กำลังใจ สนับสนุน เข้าใจคนชอบกอล์ฟ แค่ไม่ห้ามในสิ่งที่เราอยากทำ ผมก็ว่าโชคดีมากๆ แล้ว เล่นกอล์ฟอย่างมีความสุขไม่เครียด ไปเล่นแต่เช้า บ่ายก็รีบกลับมาให้เวลากับครอบครัว
ผมชอบกอล์ฟเพราะมีเป้าหมาย เช่นเดียวกับงานที่ทำ เมื่อมีเป้าหมายแล้วก็ต้องไล่ล่า เราต้องเอาชนะเขา ต้องขายให้ดีขายให้ได้ มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ท้าทายความสามารถในการทำให้บรรลุเป้าหมาย เหมือนกันกับเล่นกอล์ฟ บางครั้งผลงานที่อาจจะดูไม่ดีนัก แต่เราก็อาจจะพอใจว่าทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว หรือบางครั้งผลงานคนอื่นดูว่าออกมาดี แต่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่า จริงๆ แล้วเราอาจจะทำได้ดีกว่านี้ถ้าตั้งใจให้มากขึ้นอีก และถ้าอยากจะเป็นที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือกอล์ฟ ก็ต้องท้าทายตัวเอง ถ้าเล่นกอล์ฟแล้วตีเบาๆ เพราะกลัวลูกจะไปไม่ตรง ยังไงก็ทำเรกูล่าร์ออนไม่ได้ เพราะผมไปเจอกับคำพูดที่ว่า กอล์ฟคือกีฬา เมื่อเล่นแล้วก็ต้องใส่ให้เต็มที่ ถ้าหากจะทำผลงานให้ดีก็ต้องหมั่นฝึกซ้อม ถึงจะได้ทั้งทิศทางและระยะ ถ้ามัวแค่เล่นแบบเหนียมๆ ตีตามวงไปเรื่อยๆ ยังไงก็ไม่ได้เป็นที่ 1 ครับ