เก่งกอล์ฟแบบยั่งยืน เป็นอย่างไร
เก่งกอล์ฟแบบยั่งยืน เป็นอย่างไร
ผมเข้ามาสู่วงการกอล์ฟตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นช่วงที่กีฬากอล์ฟกำลังเริ่มบูม ซึ่งเป็นช่วงที่ผมกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมปริญญาโท 1 ใบ ได้อบรมการดำนำ้แบบสคูบ้า ได้ไบเซอร์กีฬาเค้นโด้ดั้ง 2 และได้เรียนรู้กีฬากอล์ฟครั้งแรกในชีวิต
ที่เรียกว่ากีฬากอล์ฟบูม เพราะมีสนามกอล์ฟเกิดขึ้นมาก เรียกว่าเกิดเป็นดอกเห็ด ซึ่งส่วนมากยังคงอยู่ แต่มีหลายสนามเจ๊ง หรือเลิกลาไป สาเหตุที่เจ๊งเพราะมีนักกอล์ฟเข้าไปเล่นน้อย รายได้ไม่พอรายจ่าย เจ้าของก็สักแต่ว่ามีเงินทำแต่ไม่มีพื้นฐานการรักกีฬากอล์ฟ ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้การบริหารจัดการสนามกอล์ฟ ทำแบบตามใจฉัน พอมันไม่ดี เงินไม่มีส่งธนาคาร มันก็เลยเจ๊ง
หยุดพูดเรื่องนี้ดีกว่า เพราะสิ่งที่จะตั้งใจมาพูดไม่ใช่เรื่องนี้ แต่จะมาบอกว่า ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงวงการกอล์ฟบ้านเรา ตั้งแต่ตัวเองเป็นผู้เล่นในนักกอล์ฟสมัครเล่น จนเป็นโปร บางอย่างผมก็ได้มีส่วนลงมือทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ได้เห็นว่าสมัยตอนนั้นมีโปรแข่งขันประมาณ 180 คน ยังไม่มีทิชชิ่งโปร มีนักกอล์ฟเยาวชนเก่งๆไม่กี่คน เริ่มที่จะมีนักกอล์ฟเยาวชนดังๆให้ได้ยิน ซึ่งปัจจุบันหลายคนเลิกเล่น บางคนยังเล่นอยู่ แต่ปัจจุบันนี้มีนักกอล์ฟอาชีพแข่งขันร่วมๆ 700 คน มีทิชชิ่งโปรประมาณร่วม 1,000 คน มีนักกอล์ฟเยาวชนเก่งๆ มากมายจนจำไม่หมด แล้วก้าวหน้าจนถึงมีนักกอล์ฟอาชีพหญิงที่เล่นในแอลพีจีเอหลายคน รวมทั้งมีถึงเป็นมือหนึ่งของโลก
สิ่งที่จะสื่อให้ทราบก็คือ ผมได้พบเห็นนักกอล์ฟดังของไทยและของโลกมาร่วมๆเกือบ 30 ปี เห็นความเป็นไปของนักกอล์ฟต่างๆ โดยเฉพาะคนเก่งๆตั้งแต่เด็ก เก่งแบบเก่งมาก ตีอันเดอร์ เคยเป็นแชมป์ตอนเด็กๆ หรือเป็นแชมป์ขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลก แต่แล้วจู่ๆ ก็หายไปจากวงการ หรือบางคนยังอยู่ก็อยู่แบบขึ้นมาเป็นแชมป์เปี้ยนยาก
มันเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ว่าคนที่เคยเก่ง แต่ทำไมถึงไม่เก่งเหมือนเดิน มีจำนวนเยอะมาก จะไม่ขอยกตัวอย่างเพราะมาเยอะจริงๆ มีไม่กี่คนที่ยังคงความยิ่งใหญ่ไว้ได้ ยกตัวอย่างไทเกอร์ วูดส์ ถึงแม้จะหยุดเล่น หยุดการมีผลงานไปหลายปี ด้วยการบาดเจ็บและมีปัญหาชีวิต ซึ่งหลายๆคนก็วิจารณ์ว่า คงยากที่จะกลับมาได้อีก แต่เขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาก็กลับมาได้อีก
หรือเอาง่ายๆ ลิเดีย โค เด็กที่เคยเก่งตั้งแต่อายุ 15 เคยเป็นเจ้าของสถิติแชมป์แอลพีจีเอทัวร์ที่อายุน้อยที่สุด และกลายเป็นนักกอล์ฟที่อายุน้อยที่ประสบความสำเร็จมากจนถึงขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกตอนอายุ 17 แต่ตอนนี้เธอกลับไม่มีผลงานเหมือนเดิม แต่ยังเก่งอยู่ ก็พยายามจะกลับมา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เธอมีผลงานดร็อปไปก็เพราะการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างด้วยเวลาใกล้ๆกัน เช่นเปลี่ยนโค้ช เปลี่ยนแคดดี้ เปลี่ยนไม้กอล์ฟ ซึ่งคนที่มีบทบาทที่ช่วยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงก็คือ พ่อแม่ของเธอเอง
หรือแม้แต่ มิเชล วี นักกอล์ฟที่มีชื่อเสียง มีผลงานตั้งแต่อายุ 13 มีชื่อเสียงกับการตีไกลมาก ถึงขนาดถูกดันให้ไปแข่งขันกับผู้ชาย แล้วก็ล้มเหลว ต้องมาไต่ต่าวกับการแข่งขันกับผู้หญิงด้วยกันใหม่ เคยไกล เคยเก่ง แต่ปัจจุบันกว่าจะได้แชมป์สักรายการใช้เวลานานเป็นปี
จึงเป็นคำถามว่า คนที่เคยเก่งการเล่นกอล์ฟตั้งแต่เด็ก หรือตอนเป็นนักกอล์ฟอาชีพ ประเภทเก่งมากๆ แล้วอยู่ๆ ทำไมถึงไม่เก่ง
แล้วจะทำอย่างไรที่จะให้เก่งแบบยั่งยืน ไม่ถึงกับเป็นแชมป์ แต่ติดท็อปเท็นนานๆ เล่นมีผลงานนานๆ อะไรที่ทำให้คนเคยเก่ง เคยตีดี เปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถกลับมากได้ ซึ่งเป็นปัญหาให้น่าค้นหา คบคิดกับต่อไป
ทำให้เป็นสิ่งที่เตือนสติเราได้ว่า ตอนนี้เราตีเก่ง ก็อย่าประมาทหรือคิดว่าตัวเองเก่งจนไม่มีใครสู้ เพราะสักวันมันอาจจะถึงทางที่นักกอล์ฟที่เคยเก่งเป็นอยู่ขณะนี้ แต่ไม่รู้จะกลับมาได้อย่างไร
อย่างหนึ่งที่รู้ คือ “เราไม่ได้เป็นผู้วิเศษ คนอื่นก็มีสองมือ สองเท้า หนึ่งหัวสมองเหมือนเรา แล้วเราจะไปคิดว่าไม่มีใครมาสู้เราได้อย่างไร เพราะกีฬากอล์ฟมันเป็นกีฬาแห่งความผิดพลาด ใครผิดพลาดน้อยเป็นผู้ชนะ เราจะทำได้หรือที่จะผิดพลาดน้อยกว่าคนอื่นทุกครั้ง แพ้ ชนะ มันจึงเป็นเรื่องธรรมดา ต้องทำใจ ทำอย่างเต็มที่ แล้วมันจะชนะหรือแพ้ เราก็ต้องยอมรับ อยู่ให้ได้อย่างมีความสุขทั้งตัวเรา และคนรอบข้าง”
โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์