ชาติชาย พยุหนาวีชัย
ชาติชาย พยุหนาวีชัย
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
“ทำงานให้เกินความคาดหมาย… ทำงานให้มีความสุข… สนุกกับการทำงาน”
เกิดในครอบครัวค้าขาย : ผมมีพี่น้องเยอะ เป็นลูกผู้ชายคนโตด้วย ตอนเด็กก็ไม่เข้าใจว่า เพื่อนๆ ที่เป็นลูกของคนทำงานประจำ ลูกข้าราชการ เขาไม่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานอะไร บ้านเราทำธุรกิจค้าขายขนเป็ดแบบที่ใช้ยัดหมอน แต่ผมกลับมีหน้าที่ วันหยุด เสาร์ อาทิตย์ ต้องตามพ่อแม่ไปช่วยทำงาน เดินทางไปทั่วประเทศ
สอนให้คิดแบบพ่อค้า : เมื่อได้เห็นการทำงานของผู้ใหญ่มาตลอด ก็เท่ากับได้รับการปลูกฝังเรื่องราวต่างๆ โดยไม่รู้ตัว พอโตขึ้นจึงได้เข้าใจว่า ประสบการณ์เหล่านี้ สอนให้เราคิดแบบพ่อค้า นั่นคือ ผมคิดแบบนักธุรกิจเป็นตั้งแต่เด็ก
ไม่อยากเป็นลูกจ้าง : ผมไม่ได้วางอนาคตตัวเองไว้ไกล คิดแค่ว่า อยากเข้ามหาวิทยาลัย เรียนสาขาที่จะต่อยอดในการทำธุรกิจได้ จึงเลือกเข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจะได้มีแนวทางในการทำงานในอนาคต ผมสนใจอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่ใช่เป็นลูกจ้าง
นักกีฬา นักกิจกรรม : ผมเป็นนักบาสเกตบอลของโรงเรียนทวีธาภิเศก พอเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เป็นนักบาสฯ ของคณะฯ ในช่วงปี 1 – ปี 2 หลังจากนั้นก็ไม่ได้เล่นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ส่วนใหญ่ทำกิจกรรมเยอะ ไม่ค่อยเรียนมากเท่าไหร่ แต่มีเพื่อนเยอะ ระหว่าง ปี 3 – ปี 4 ก็ยังได้ช่วยญาติๆ ทำธุรกิจส่งออกไปญี่ปุ่น และมีโอกาสทำบริษัทจำลอง หรือที่เรียกกันว่า Dummy Company ตั้งเป็นบริษัทภายในมหาวิทยาลัย บริหารจัดการกันเอง หาสินค้ามาขาย เป็นเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ สมัยนั้นยังเป็นของใหม่ ราคาค่อนข้างสูง ยังไม่รู้จักกันแพร่หลายมากนัก แต่เราก็ทำยอดขายได้เยอะมาก เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนได้หลายล้านบาท นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก การได้ทำงานเหล่านี้ ทำให้ผมได้ฝึกงาน ได้ลงมือปฏิบัติจริง เลยมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องการค้าค่อนข้างมาก
อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง : ตอนเรียนจบปริญญาตรี มีความตั้งใจอยากทำธุรกิจของตัวเองแล้ว แต่พอดีว่าธนาคารกสิกรไทยไปเปิดรับสมัครงานที่มหาวิทยาลัยฯ ผมก็ไปสมัคร แล้วได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาทำงานฝ่ายสินเชื่อ ตั้งใจว่าจะทำงานบริษัทแค่ 3 ปี เพื่อสร้าง Conection สร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ดูลู่ทางก่อนจะออกมาทำเป็นของตัวเอง
ทำงานแล้วได้ความรู้เยอะ : โชคดีที่ทำอยู่ฝ่ายการพิจารณาสินเชื่อ ทำให้รู้ว่านักธุรกิจเขามองยังไง การขอสินเชื่อเมื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนจะทำยังไง และโชคดีอีกอย่างที่ตอนเด็กได้สัมผัสกับการค้าขาย คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้มาก่อน จึงอยากจะทำงานเพื่อหาประสบการณ์ แล้วยิ่งทำงานก็ยิ่งได้ความรู้เยอะ
คบแต่ผู้ใหญ่ : ผมจบมาอายุยี่สิบต้นๆ แต่คบกับพี่ๆ รุ่นใหญ่กว่า ระดับหัวหน้า ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มีตำแหน่งสูงกว่าทั้งนั้น ขณะที่ผมเป็นเสมียน พี่ๆ ชวนไปไหนไปกัน เลิกงานก็ยังไม่กลับบ้าน ไปสังสรรค์ต่อกับเพื่อนรุ่นพี่ ทำให้มีความสนิทสนมกันมากขึ้น ผมเลยกลายเป็นเด็กที่มีบุคลิกสูงวัยเกินตัว คิดไม่เหมือนคนอื่นที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน
ประจบด้วยงาน : ตลอดชีวิตผมสอนลูกน้องเสมอว่า “ยิ่งเราสนิทกับเขา เขาก็ยิ่งจะรู้จักเรามากขึ้น” ทำให้เขาไว้วางใจเราได้ง่าย เราก็ยิ่งต้องทำงาน ถ้าเราทำงานมาก มีผลงาน แล้วผู้ใหญ่เขาเห็น ก็ยิ่งจะได้รับการผลักดัน แต่ถ้าเราไม่เก่ง แล้วไปสนิทด้วย ก็ยิ่งจะทำให้เขาเห็นชัดว่า เราทำงานไม่เป็น เราจึงต้องสร้างผลงาน ประจบด้วยงาน ถ้าเราทำงานเท่าคนอื่น เราก็ต้องได้เท่าคนอื่น แต่ถ้าเราทำงานมากกว่าคนอื่น เราก็ต้องได้มากกว่าคนอื่นด้วยเช่นกัน
ทำงานให้เกินความคาดหวังของเจ้านาย : มีครั้งหนึ่งหัวหน้าพาไปเยี่ยมลูกค้ารายใหญ่ ปกติก็จะพาคนที่ไว้ใจได้ว่าสามารถทำงานนี้ได้ไปด้วย ก็พาผมไปหาลูกค้าตั้งแต่บ่าย กลับมาก็เย็นได้เวลาเลิกงาน กิจวัตรประจำของพวกเราอย่างหนึ่งคือ เสร็จงานพากันไปทานข้าว กว่าจะกลับก็เที่ยงคืน เมื่อถึงบ้านผมก็เริ่มทำงานชิ้นนี้ทันที แต่กว่าจะเสร็จก็เกือบใกล้สว่าง พอเช้ามาถึงที่ทำงานก็ส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่พิมพ์รายละเอียด ราวเก้าโมงเช้าผมรองานพิมพ์อยู่ ใครเห็นก็นึกว่านั่งเล่นไม่ได้ทำอะไร รองผู้อำนวยการฝ่ายผ่านมาเห็นผม ก็ถามว่างานเสร็จแล้วหรือ ถึงมานั่งเล่นนั่งคุยได้ เพราะงานที่ให้ทำ ทั้งด่วน ทั้งสำคัญ ทำไมไม่รีบไปทำ ซึ่งปกติงานชิ้นนี้ถ้าเสร็จภายในสัปดาห์ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ผมก็บอกท่านว่า เสร็จแล้วครับ ส่งไปพิมพ์อยู่ ท่านก็แปลกใจ ไม่อยากเชื่อว่า งานที่คนอื่นทำกันทั้งอาทิตย์ ผมทำเสร็จในชั่วข้ามคืนได้ ยิ่งเมื่อคืนก่อนก็ยังนั่งกินข้าวด้วยกันจนดึก แล้วงานก็ออกมาดีเรียบร้อยด้วย ไม่ใช่ว่าทำแค่พอเสร็จๆ
ผู้ใหญ่เชื่อในฝีมือและความรับผิดชอบ : ตอนที่ผมเริ่มขึ้นมาช่วงแรกๆ เขาบอกกันว่าผลงานดีแบบนี้ ตอนเกษียณ น่าจะได้เป็นถึง ผู้อำนวยการฝ่าย ตำแหน่งนี้ก็น่าพอใจมากแล้ว ซึ่งผมได้เลื่อนตำแหน่งเกือบทุกปีจากผลงาน เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมไม่ได้ออกจากธนาคารไปทำธุรกิจของตัวเองซะที เพราะหลังจากทำงานไป 10 ปี ตอนอายุแค่ 34 ก็ได้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายแล้ว จากที่เคยคิดว่าจะอยู่ทำงานบริษัทแค่ 3 ปี ก็กลายมาเป็น 30 กว่าปี ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวของการธนาคารอย่างลึกซึ้ง
ทำงานหนักต้องรู้จักผ่อนคลาย : ตกเย็นได้ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ กับรุ่นพี่กันบ้าง พอถึงวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ ไปเล่นกีฬา เล่นกอล์ฟ ซึ่งเล่นมาตั้งแต่ราวปี 2528 สาเหตุก็เพราะ วันหนึ่งเพื่อนร่วมงานเข้ามาที่ออฟฟิศ ผมเห็นเขาหน้าดำมากเลยไปทัก สอบถามได้ความว่าไปตากแดดตีกอล์ฟมา ผมก็สอบถามถึงเรื่องกอล์ฟ เขาก็ชวนให้ไปเล่น ไปออกรอบกัน ผมหัดกับโปรที่สนามรถไฟ คิดราคากันแบบเหมาจ่ายครั้งเดียวตลอดชีพ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว พอเล่นได้ ออกรอบได้ ก็ไม่มีใครไปหาโปรอีก ผมเองก็เช่นกัน ช่วงที่ติดกอล์ฟได้เล่นบ่อยหน่อย เคยเล่นจนได้ถือซิงเกิ้ลแฮนดิแคป
ชีวิตที่เกินคาด : ผมไม่เคยคิดว่าจะขึ้นมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ เพราะส่วนใหญ่ต้องเป็นญาติใกล้ชิด มีความผูกพันกับเจ้าของ ถึงจะขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ เป็นความสำเร็จของชีวิตการทำงาน ที่ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารออมสิน : ผมทราบว่าที่ธนาคารออมสิน เปิดรับสมัครผู้บริหาร เลยลองสมัครดู จะได้หรือไม่ ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนเต็มที่ โดยมีเหตุผลหลัก 3 ประการ นั่นคือ ข้อแรก ผมอยากไปช่วยชาติ ช่วงนั้นธนาคารของรัฐทุกแห่งมีสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก อยู่ในภาวะที่ไม่แข็งแรง ไม่อยากเห็นธนาคารรัฐอันดับหนึ่งของประเทศมีปัญหา, 2. นามสกุลของผมไม่มีใครรู้จัก ผมอยากชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล, และ 3 ผมอยากสร้างผลงานให้กับตัวเอง ได้เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร… ซึ่งท่านผู้บริหารของกสิกรไทยก็ได้ให้โอกาส ให้ผมไปสร้างความฝันให้เป็นความจริง และยังบอกว่า ถ้าไม่ได้ก็กลับมา จะเก็บตำแหน่งเดิมไว้ให้
มาคนเดียว แต่เชื่อมั่นในตัวเอง : ผมเชื่อว่า ความรู้ความสามารถของผมนั้นบริหารงานได้ เพราะผ่านประสบการณ์งานธนาคารมาแล้วทุกด้าน ไม่ว่า สินเชื่อ สาขา ผลิตภัณฑ์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ วิเคราะห์ ตลาด ฯลฯ ผมมาคนเดียว โดยไม่มีทีมงาน ส่วนใหญ่คนจะเป็นห่วงว่าผมจะรอดหรือไม่ มีคำเล่าลือต่างๆ ที่หลายๆ คนเอ่ยไว้ก่อนหน้า เช่นเรื่อง การเมือง สหภาพ วัฒนธรรมองค์กร ที่มีความแตกต่างจากที่อื่น แต่ผมก็ตั้งใจมาทำงาน ตามวิสัยทัศน์ที่แสดงไว้
วิกฤติเป็นโอกาส : เป็นความบังเอิญที่เข้ามาก็เจอการประท้วง มีการต่อต้าน ทำให้ฝ่ายบอร์ดบริหารเปิดโอกาสให้ผมทำงานได้อย่างเต็มที่ เพื่อทำความเข้าใจ ทำให้เขารู้จักเราให้มากขึ้น สิ่งแรกที่ทำคือ จัดโครงสร้างองค์กรใหม่ให้เป็นแบบเข้าใจความรู้สึกของลูกค้า หรือ Costomer Centric ออกผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น แบ่งกลุ่มเป็นบุคคล เด็ก ผู้มีรายได้ปานกลาง รายได้สูง, กลุ่มฐานราก คนจน กองทุนหมู่บ้าน, กลุ่มธุรกิจ เป็นต้น ตอนเด็กๆ เขาเป็นลูกค้าเรา แต่พอเข้าสู่วัยรุ่นก็หายไป เพราะภาพลักษณ์เราคือผู้ใหญ่เกินไปที่เขาจะมาใช้
สร้างแบรนด์ : ออมสิน เป็นธนาคารเพื่อการออม เน้นการออมตั้งแต่เด็ก เป็นธนาคารประชาชน ดูแลพ่อค้าแม่ค้า เรื่องราวยังเป็นเหมือนเดิม แต่สีสันของภาพจะต้องปรับให้มีความสดใส มีความทันยุค แล้วจึงนำผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัย ค่อยๆ ใส่เข้าไป เช่นบัตรเดบิท ก่อนหน้าเคยมีแค่ 2 – 3 แบบ ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยแบบ ใช้เวลาเริ่มต้นอยู่ราวครึ่งปี บัตรเครดิตก็ทำออกมาได้เป็นใบแรก จากนั้นก็มี Mobile Banking ทำให้เชื่อได้แล้วว่า ออมสิน มีความทันสมัย และหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้า เมื่อมีการเปลี่ยนภาพลักษณ์แล้ว คนในองค์กรก็ต้องเปลี่ยนด้วย เราฝึกพนักงานในเรื่องต่างๆ ปีละสามหมื่นคน เมื่อก่อนมีผู้ถือใบอนุญาตในการซื้อขายหุ้น กองทุน การลงทุน ฯลฯ อยู่ราวไม่ถึงร้อยคน ปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นเป็นสามพันกว่าคนที่สอบ Single Licence ผ่าน ทำให้องค์กรมีคนรุ่นใหม่ๆ ที่ตื่นตัวกับการทำงานมากขึ้น พนักงานที่อายุต่ำกว่า 30 ปี มีมากถึง 51% ทรัพยากรบุคคลในเรื่องต่างๆ ก็ดีขึ้น ทั้งมีความรู้และอายุน้อยลงเรามีโครงการเฟ้นหา น้องๆ พนักงานเป็นผู้หญิง 10 คน ผู้ชาย 4 คนคัดเลือกมาเพื่อเป็น Brand Ambassador ตัวแทนของคนออมสินรุ่นใหม่ สร้างความสดใส ผลิตภัณฑ์เราทันสมัย พนักงานสดใส ผู้บริหารก็ต้องดูดี ทุกมิติเราต้องทำให้สมบูรณ์
มีธรรมมาภิบาลที่ดี : ความโปร่งใส คุณธรรม จริยธรรม เป็นสิ่งที่เราต้องมีอยู่เสมอ ออมสินเป็นธนาคารที่ทำ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร มากที่สุด เราทำบุญมากที่สุดในประเทศไทย
ออมสินกับกีฬา : เราทำเรื่องกีฬา ดนตรี วิชาการ มาหลายปี แต่ไม่เป็นโครงการ เรามีกีฬาธนาคารโรงเรียน ให้เด็กแข่งขันกีฬาในประเภทต่างๆ เล่นกันกระจัดกระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค จัดการประกวดดนตรี งานวิชาการ เราจึงจุดประกายว่า ทำไมไม่ทำลีคฟุตบอลให้มีชื่อเสียงขึ้นมา จริงๆ เราไม่ได้ต้องการทำลีค แต่ต้องการให้เด็กมีอนาคต มีที่ยืน มีการฝึกทักษะ ถ้าเก่งจนเป็นนักกีฬาอาชีพได้ เราก็จะส่งเสริมขึ้นไป อีกทั้งกีฬายังส่งเสริมให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง มีจิตใจที่ดี มีความสามัคคี เราจึงดำเนินจัดการแข่งขันทั้งกีฬาและกิจกรรมกันทั้ง 6 ภูมิภาค แล้วนำมาชิงชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ปีนี้ประเทศไทยจะเห็นชัดเจนว่าออมสินสนับสนุนกีฬาไทยเพื่อไปสู่สากล เพื่อสร้างชื่อเสียงอย่างจริงจัง เรามีการเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดไปเรื่อยๆ ไม่อยู่นิ่งกับที่ โดยปีนี้จะเน้นในเรื่องกีฬาซึ่งเราให้การสนับสนุนหลายชนิดทั้งในระดับสมัครเล่นและระดับอาชีพ อีกทั้งดนตรีเราก็ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
ธนาคารสู่ความเป็นเลิศ : เราพยายามทำให้ธนาคารออมสินเป็นเลิศในทุกๆ ด้าน เราประกาศว่าจะเป็น The Best and Bigest Local Bank in Thailand ในปลายปีที่แล้วเรามีขนาดเงินฝากและสินเชื่อใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ดังนั้นเราจึงต้องรักษาแชมป์ไว้ให้นานที่สุด แล้วการเป็น Bigest ไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับการเป็น The Best ดังนั้นเราจึงต้องทำให้คนในสังคมเห็นว่า เราเป็นธนาคารที่ดีที่สุด ซึ่งเราเชื่อว่า หลายๆ ด้านเราดีที่สุด เช่น ธนาคารสำหรับเด็ก ธนาคารสำหรับผู้สูงวัย ผู้มีรายได้น้อย SME Start Up ธนาคารที่มี นวัตกรรม เรื่อง Digital Banking ที่ดีที่สุด ธนาคารที่ทำเพื่อสังคมมากที่สุด
เคล็ดลับในการทำงาน : หลายคนสงสัยว่าทำไมผมถึงมีแรงทำงาน ผมนอนดึกไม่ต่ำกว่าตีสองเกือบทุกวัน เช้าก็รีบตื่นมาทำงาน เรื่องสำคัญคือ สุขภาพจิต เมื่อเด็กๆ เราเคยได้ยินกันมาว่า จิตที่แจ่มใจ อยู่ในกายที่สมบูรณ์ เรื่องนี้จริงและสำคัญมาก เรารักงาน สนุกกับงาน มีความสุขกับการทำงาน ก็ทำงานไม่เหนื่อย มีพลังไปทำงานได้ เหมือนกับเราเล่นกอล์ฟ ถึงจะนอนดึกหรือเหนื่อยแค่ไหน แต่ก็ลุกไปเล่นตั้งแต่เช้ามืดได้
เคล็ดลับความสุข : ผมไม่มองงานเป็นงาน แต่มองงานเป็นเรื่องที่ทำแล้วมีความสุข เป็นของเล่นของเรา ไปทำงานต่างจังหวัด ก็มองว่าได้ไปเที่ยว ออกไปนอกออฟฟิศบ้าง รักษาชีวิตให้สมดุล ต้องไม่เครียด ปล่อยวางได้ ถ้ามัวแต่เอาอะไรมาใส่หัว คุณก็เครียดตลอดเวลา ถ้ามีปัญหา ก็จะคิดบวก มองวิกฤติเป็นโอกาส เวลาแก้ปัญหาจะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ แล้วต้องรู้จักผ่อนคลาย สังสรรค์กับเพื่อนฝูงบ้าง วันหยุดได้เล่นกอล์ฟ ทำชีวิตให้ไม่เครียด Work – Life Balance ของผมก็คือ ทำงานให้มีความสุขครับ.