ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ
ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ
English React!
“ภาษา ทำให้เราเข้าถึงความรู้ทุกอย่างบนโลกใบนี้”
ครูส้ม (ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ) เอ่ยถึงความสำคัญของภาษา ที่นำพาให้ชีวิตของเธอก้าวออกไปสู่โลกกว้างจนไกลเกินฝัน..
“ส้ม สนใจด้านภาษาและการแสดงมากเลยค่ะ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษนี่ชัดเจนมาก
หนังสือตำราต่างๆ ที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ ก็ยังมีไม่มากพอกับความสนใจ ทำให้ส้มต้องเรียนด้านภาษา เพราะอยากจะเข้าถึงความรู้”…
ครูส้มรักและชอบหนังสือมาก จำได้ว่าตอนอายุ 12 มักจะไปห้องสมุดเพื่อยืมหนังสือ อยู่เป็นประจำ เพราะเธอ “ชอบถือหนังสือเล่มหนาๆ และชอบกลิ่นกระดาษหนังสือค่ะ”
การชอบแสดงแบบละครเวทีแนวคลาสสิคของครูส้มนั้น ย่อมต้องมาควบคู่กับภาษาอังกฤษ การเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นการเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของเธอ
“พอเข้าอักษรฯ จุฬาฯ ได้จับ ได้ถือ ได้อ่านหนังสืออย่างสมใจ ทั้ง บทกวี นวนิยาย ปรัชญา ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อหาคำตอบและทำความเข้าใจกับโลกใบนี้”..
ส้ม โตมากับวงการบันเทิง มีแต่ความวุ่นวาย “เป็นเด็กที่ถูกโยนเข้าไปในสังคมผู้ใหญ่” ทำงานตั้งแต่ 11 ขวบ นับว่าเร็วมาก แล้วก็ทำงานไม่ได้หยุดเลย
“ทุกอย่างไม่ เมคเซ้นส์ สำหรับส้ม” คำถามต่างๆ จึงพรั่งพรูเข้ามาในใจว่า “ทำไมคนนั้นพูดแบบนี้ ทำไมเขาต้องทะเลาะกัน ทำไมถึงต้องนินทากัน” ทำไม? ทำไม? ทำไม?…
ยิ่งเธอพยายามเข้าใจผู้ใหญ่ ก็ยิ่งรู้ว่า ภายในที่ลึกลงไปของแต่ละคนนั้น ล้วนแล้วแต่ต้องมี “หน้ากาก” เพื่อปกป้องสิ่งที่ตัวเองแอบซ่อนไว้ นั่นเป็นสิ่งที่ส้มไม่เข้าใจ ดังนั้น บทกวี นวนิยาย หรือ ฟิคชั่น เรื่องราวเหนือจริง ที่คณะอักษรฯ ช่วยได้บ้าง แต่นั่นก็ยังไม่พอ..
ทุกครั้งที่ต้องหยุดเรียนเพื่อไปทำงาน คุณแม่จะจ้างครูพิเศษมาสอนเพื่อให้เรียนทันคนอื่น เวลาไปทำงานก็ไม่มีเวลาท่องหนังสือ ยิ่งช่วงเรียนที่อักษรฯ มีถ่ายละครหนักมาก บางวันถึงตีห้าก็มี ครูส้มต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ต้องหอบหนังสือไปอ่านในกองถ่าย ท่องตำราวิชาต่างๆ ท่องแมธเธโลจี ที่ปกติก็สุดแสนจะยากเย็นอยู่แล้ว บางครั้งถ่ายละครตั้งแต่เย็นถึงเช้า ช่วงว่างเที่ยงคืนถึงตีสาม “คนอื่นได้พัก แต่ส้มต้องรีบท่องตำรา ทุกอย่างผสมปนเปกันไปหมด”
ที่คณะอักษรฯ ส้มเลือกเรียน รัฐศาสตร์ เป็นวิชาโท ทั้งๆ ที่เพื่อนส่วนใหญ่ไม่มีใครเลือกกัน จนต้องขออาจารย์ไปเรียน เพราะคาดว่ารัฐศาสตร์จะช่วยตอบคำถามให้กับตัวเองได้ เพราะเธอค่อนข้างใส่ใจในเรื่องการเมือง ประกอบกับในยุคนั้นสังคมรอบข้างกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง การประท้วง แต่นั่นก็ยังไม่จบสำหรับเธอ เพราะยิ่งเรียนยิ่งมีความสงสัย ประชาธิปไตยคืออะไร อิสรภาพคืออะไร…
ครูส้มไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกาทั้งในเรื่องการแสดง ที่ Stella Adler Academy of Acting & Theatre และ St.John’s College, Santa Fe สาขาปรัชญาตะวันตก เพราะชอบในเรื่องโบราณ เก่าๆ อย่าง เทพปกรณัม บทกวีกรีก เช็คสเปียร์
“ลอส แองเจิลลิส เป็นเมืองแห่งความฝันของนักแสดง ทุกอย่างจึงเหมือนโลกแห่งความฝัน แต่ความจริงนั้นก็ไม่ได้สวยหรูอย่างภาพที่เห็น ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองสมหวัง” เมื่อส้มต้องไปตามความฝันบ้าง ก็ต้องผ่านด่านสุดหฤโหดนี้เช่นกัน จากเด็กที่อยู่กับครอบครัวไม่เคยห่าง มีแต่ความรักความอบอุ่น ต้องออกมาใช้ชีวิตลำพัง ต้องทำงานพิเศษ แล้วยังต้องเรียนเพื่อให้ได้ทุน และยังต้องรักษาทุนนั้นไว้ให้ได้อีก เป็นการเรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตัวเองให้อยู่รอดให้ได้ และ สิ่งสำคัญที่สุดที่เธอยึดมั่นโดยตลอดก็คือ “ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม จะขอทำทุกอย่างด้วยความใสสะอาด” และเธอก็ทำตามความตั้งใจนั้นจนสำเร็จ
เมื่อชีวิตเจอแต่ความวุ่นวาย เธอก็พบกับแสงสว่างเล็กๆ ที่ส่องเข้ามา นั่นคือการได้ไปปฏิบัติธรรม ณ พลัม วิลเลจ ซานดิเอโก้ เป็นวัดนิกายเซน ของหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ “ส้มโกนหัวเลยค่ะ ไปปฏิบัติธรรมอยู่สามเดือน”
“ความทุกข์ของเราอย่างหนึ่งคือ เมื่อเล่นละคร แล้วเราไปติดอยู่กับจิตวิญญาณของตัวละครนั้น ทำให้เกิดความทุกข์ ความเจ็บปวด ซึ่งมันมากกว่าตัวตนที่แท้จริงของเราอีก จึงคิดว่าต้องลองไปปฏิบัติธรรมบ้าง เผื่อจะได้พ้นทุกข์นี้ได้”
เมื่อได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับวัย ณ เวลานั้น แต่ก็ยังคิดว่า ตัวเองยังขาดในเรื่อง เชาว์ปัญญาในเรื่องปรัชญา..
“ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน เมื่อมนุษย์เรามีความคิด แล้วแสดงออกมา ก็จะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับโลกใบนี้ ส้มอยากรู้เรื่องตรงนั้น”
“ส้มไม่ค่อยวางแผนอะไรล่วงหน้ามากนัก แต่จะฟังเสียงของหัวใจตัวเอง ว่า ณ เวลานั้น อยากทำอะไร หรือบังเอิญว่ารับรู้อะไร แล้วตอนนั้นสะดุดกับคำว่า Santa Fe บ่อยมาก”
เมื่อไปที่นั่น ก็พบว่า เป็นสถานที่สวย สงบ ราวกับเมืองในความฝัน จนได้เจอกับ St.John’s College ที่เมือง Santa Fe ตั้งอยู่บนเนินหญ้าสีเขียวขจี แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ มีกวางมาเดินรอบๆ จนเธอรู้สึกราวกับว่า “นี่เป็นมหาวิทยาลัยในฝันชัดๆ เหมือนกับอยู่บนสรวงสวรรค์” คนที่นี่เขาเรียนอะไรกัน แต่ละคนอ่านหนังสือ อยู่ในโลกของตัวเอง คุยกันเบาๆ อยู่กันอย่างสงบ ไม่มีความวุ่นวาย หรือรีบร้อนทำอะไรให้เห็นเลย..
การเรียนนั้นมีอยู่ด้วยกันสองแบบ คือ เรียนเพื่อประกอบอาชีพ ตามแต่ละสาขาวิชา และ เรียนเพื่อการเรียนรู้จริงๆ พอค้นคว้าเพิ่มเติมก็ทราบว่า ที่นี่เป็นการเรียนเพื่อการเรียนรู้ สอนแบบพูดคุย ผ่านบทสนทนากัน ไม่มีการเล็คเชอร์ใดๆ แต่ละห้องมีนักเรียนแค่ไม่กี่คน ทุกคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ที่เขียนขึ้นโดยผู้คิดค้นปรัชญานั้นจริงๆ ไม่ใช่เป็นของผู้ที่นำมาวิเคราะห์หรือตีความ ระหว่างเรียนก็ถามตอบกับอาจารย์ผู้สอนกันอย่างเต็มที่
“ส้มคิดว่านี่แหล่ะ ตอบโจทย์ โดยเฉพาะในเรื่อง แก่นของวัฒนธรรมตะวันตก วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญา เทวศาสตร์ ทำให้เราเข้าใจคนตะวันตกมากขึ้น เข้าใจอิทธิพลที่เขามีต่อประเทศเรามากขึ้น”…
“แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเรียนสักแค่ไหน คิดไปไกลอย่างไร ก็ไม่ทำให้หลุดพ้นจากความวุ่นวายที่มีในชีวิตไปได้ นอกจากการอยู่กับปัจจุบันและปฏิบัติธรรม หลักธรรมคำสั่งสอนต่างๆ เป็นแนวคิดของศาสนาพุทธ ปรัชญาตะวันออก ซึ่งคนตะวันตกให้การยอมรับ และนิยมปฏิบัติกันมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
นับเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามากจริงๆ ค่ะสำหรับส้ม”
“ทุกวันนี้ ส้ม ได้ทำงานที่มีความสุขที่สุดในชีวิตเลยค่ะ เมื่อก่อน ส้ม ได้ทำงานกับเด็กๆ ก็มีความสุขไปอีกแบบ เมื่อโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ส้มก็หวังว่าจะได้เลือกเส้นทางชีวิตเอง ได้นำแนวคิดของตัวเอง ผสมผสานกับความรู้ที่เรียน รวมถึงปรัชญาต่างๆ และประสบการณ์ชีวิต แล้วมาประยุกต์ถ่ายทอดให้กับนักเรียน ซึ่งตอบโจทย์ให้กับผู้ที่เราสอน หลายคนที่เข้ามาเรียน แรกๆ เขาอาจจะปิด ไม่ยอมเปิดใจ มีกรอบคอยกั้นขวาง หรือไม่เข้าใจความต้องการของสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเอง ส้มดีใจมากที่สามารถเปิดให้เขาได้แสดงความสามารถที่ซ่อนอยู่ภายในให้ออกมาได้ เป็นการค้นพบศักยภาพ ค้นพบตัวตนอันแท้จริง”
“ไม่ว่าการทำงานของเราจะช่วยเหลือสังคมหรือผู้อื่นได้มากหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม ส้ม ก็ดีใจ และภูมิใจ ที่ช่วยทำให้ทั้งเราและเขามีความสุข จากการค้นหาตัวตนที่แท้จริงจนเจอค่ะ”.