หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง จำเป็นจริงหรือ
หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง จำเป็นจริงหรือ
คนมีรถยนต์ก็ต้องรักรถยนต์เป็นธรรมดา ดังนั้นอะไรที่ว่าดี โดยเฉพาะกับเครื่องยนต์ ช่วยเพิ่มสมรรถนะ ยึดอายุการใช้งาน ลดภาระค่าใช้จ่าย ย่อมต้องหามาใช้กัน ซึ่งอย่างหนึ่งที่กำลังเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันในวงกว้างก็คือ “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง”
โดยปกติแล้ว น้ำมันเครื่อง ที่ทำหน้าที่หล่อลื่นเครื่องยนต์นั้น จะประกอบไปด้วยสาร 2 ตัวด้วยกัน นั่นก็คือ น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Oil) และ สารเติมแต่ง (Additives) โดยที่น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน จะเป็นตัวบ่งชี้คุณสมบัติหลักของน้ำมันเครื่องแต่ละชนิด ส่วนสารเติมแต่งนั้นก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับน้ำมันเครื่องอีกต่อหนึ่ง ซึ่งแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นก็จะมีสูตรของสารเติมแต่งที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ความต้องการใช้งานของลูกค้าในกลุ่มต่างๆ เช่น สารทำความสะอาด ช่วยลดการสะสมตัวของตะกอนและสิ่งเจือปนที่อยู่ในน้ำมันเครื่อง, สารป้องการความเป็นกรด ที่เกิดจากการสะสมตัวน้ำมัน ที่จุดระเบิดไม่สมบูรณ์, สารปรับแต่งความหนืด ช่วยทำให้น้ำมันเครื่องสามารถรักษาความหนืดไว้ แม้จะอยู่ในภาวะอุณหภูมิและความดันสูง
หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง ก็คือสารตัวเดียวกันกับสารเติมแต่งเหล่านี้นั่นเอง ซึ่งถ้าหากน้ำมันเครื่องที่ใช้อยู่ มีสารเหล่านี้อยู่แล้ว การเติมหัวเชื้อคุณสมบัติที่ซ้ำซ้อนลงไป ก็ไม่ได้ทำให้สารต่างๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่าปกติเท่าไหร่ แต่ถ้าหัวเชื้อที่ใช้ มีสารที่มีคุณสมบัติเพิ่มเติมจากสารเติมแต่งในน้ำมันเครื่องที่ใช้อยู่ ก็ถือว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำมันเครื่องได้ในระดับหนึ่ง
และด้วยความที่สารเหล่านี้ต้องอยู่ภายในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงมาก ความดันสูงมาก สลับกับสภาวะปกติเวลาดับเครื่องยนต์ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน คุณภาพของสารเติมแต่งที่ต่ำ อัตราส่วนของสารเติ่มแต่งที่ไม่เหมาะสม รวมถึงคุณสมบัติทางเคมีที่อาจจะเกิดขึ้นจากสารที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างเพียงพอ นั่นอาจจะส่งผลตรงกันข้าม ทั้งในเรื่องของการหล่อลื่นและระบายความร้อน รวมถึงอาจจะเกิดคราบ ตะกอน หรือสารที่ไม่ต้องการตกค้างอยู่ในระบบ กลับกลายเป็นการบั่นทอนสมรรถนะการทำงานของเครื่องยนต์ แถมทำให้อายุการใช้งานของเครื่องยนต์ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเสียหายในที่สุด
โดยเฉพาะหัวเชื้อน้ำมันเครื่องสูตรบ้านๆ ที่ไม่ได้ผ่านการค้นคว้าวิจัยตามมาตราฐาน หลายสูตรทำมาจากสารเคมีหล่อลื่นที่ใช้กับเครื่องจักรขนาดใหญ่ ที่ใช้ภายนอกและล้างทำความสะอาดประจำ เมื่อเจอความร้อนและแรงดันในเครื่อง วนซ้ำไปซ้ำมา ในที่สุดก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นเหนียวหนืด ไหม้เป็นตะกรันหรือยางเหนียว และทำให้เครื่องพังในที่สุด
สำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์ปกติทั่วไป แค่เลือกใช้เกรดน้ำมันเครื่องตรงตามคู่มือที่ระบุไว้ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตามระยะเวลาที่กำหนด ก็เพียงพอแล้ว