จิตวิทยาการกีฬา

หลุมเล็กหลุมใหญ่ : กลวิธีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นกอล์ฟ

หลุมเล็กหลุมใหญ่ : กลวิธีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นกอล์ฟ

การเล่นกีฬาให้มีประสิทธิภาพ นักกีฬาต้องอยู่ในสภาวะที่ท้าทาย เป็นกลาง ไม่กังวล ผ่อนคลาย ไม่เครียดหรือกดดันเกินไป การเล่นกอล์ฟเป็นเกมส์กีฬาที่มีเรื่องของจิตใจ (ความคิด ความรู้สึก และอารมณ์) อยู่มากยิ่งมีผลมากหากเรารู้จักจัดการจิตใจให้เหมาะสม

วันนี้ขอเสนอแนะแนวทางของการเล่นกอล์ฟมีประสิทธิภาพ ท้าทาย สนุกและเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามหลักการนี้จะเกิดผลชัดเจนกับนักกอล์ฟที่สามารถการควบคุมการเล่นได้ระดับหนึ่งแล้ว

การตีกอล์ฟในทุกช้อต เรามีเป้าหมายทุกครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ช้อตแรก การ T-Off ของการเล่นไม่ว่าจะเป็น Par เท่าไหร่ ส่วนใหญ่คือกลาง Fairway (ยกเว้น Par 3 ที่เป้าหมายอาจจะเป็นบน Green แทน) ตามด้วยวางลูกไว้หน้า Green หรือบน Green และตามด้วยพัตต์ลงหลุม

เป้าหมายแบบนี้มักจะอยู่ในใจของคนที่เล่นกอล์ฟและเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเพื่อให้การเล่นกอล์ฟของเราเล่นได้ดีขึ้น ท้าทายขึ้น รวมทั้งเรามีความตั้งใจมากขึ้นภายใต้ความกดดันที่น้อยลง เราลองใช้หลักการของการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายขึ้นเพื่อเพิ่มการตีให้ได้ตามที่ต้องการนี้ คือ หลักการของการจินตภาพแบบ “หลุมเล็ก หลุมใหญ่

“หลุมเล็ก หลุมใหญ่” เป็นเรื่องของการจินตภาพของเราเพื่อให้ท้าทาย ลดความกดดัน ขณะเดียวกันก็เพิ่มความตั้งใจมากขึ้น

เริ่มตั้งแต่ช้อตแรกเลย เป้าหมายของ T-Off ส่วนใหญ่นักกอล์ฟจะมีเป้าหมายคือ กลาง Fairway ในหลักการ “หลุมเล็ก หลุมใหญ่” การปรับเป้าหมายให้มีความเหมาะสม ไม่กว้าง หรือแคบเกินไป ดังนั้นเป้าหมาย/หลุมของทุก T-Off จึงควรจะเล็กกว่าแค่กลาง Fairway เป้าหมายที่เราควรมีอยูในใจคือเป้าหมายที่เล็กกว่าความกว้างของ Fairway จริงๆ ให้ลองนึกถึงหลุมขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 หลา กลาง Fairway เมื่อเรามีเป้าหมายในใจแบบนี้จะส่งผลทำให้การตีของเรามีความชัดเจน มีความประณีตมากขึ้น ท้าทาย เพราะเมื่อเรานึกถึงหลุมใหญ่ขนาดนั้นกลาง Fairway โอกาสที่เราจะทำได้มีสูง แต่ก็ต้องมีการจัดการที่ชัดเจนขึ้น สรุปคือ เมื่อต้องตีในสถานการณ์ที่ไม่ยากและไม่ง่าย ซึ่งก็จะส่งผลให้เรามีความตั้งใจในการตี ประณีต และไม่เครียด ซึ่งจะต่างกับการตีให้ให้ลูกตกอยู่กลาง Fairway อย่างเดียว หลักการกำหนดเป้าหมายแบบนี้ ยิ่งจะมีผลมากเมื่อผู้ตีเป็นนักกอล์ฟที่ควบคุมการเล่นได้ระดับหนึ่งแล้ว

แล้วช้อตต่อไป เป้าหมายยังเป็นหลุมขนาด 100 หลาหรือเปล่า ไม่ใช่ หลุมต่อไปในใจนักกอล์ฟก่อนตีควรจะเล็กลง เพื่อให้เหมาะสมกับระยะที่จะตี เมื่อระยะลดลง การควบคุมลูกกอล์ฟก็จะมีมากขึ้น ดังนั้นหลุมในช้อตที่ 2 นี้จึงอาจจะมีขนาดที่เล็กลง เช่น มีขนาดครึ่งเดียว (50 หลา หรือเล็ก/ใหญ่กว่านี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน) หรือถ้าจะใช้หลักการของเป้าหมายที่เป็นอื่น ๆแทนหลุม เช่น รถบัสหรือรถตู้ที่มีขนาดที่ใหญ่ที่เหมาะสมกับระยะของการตีในครั้งที่ 2 ถ้านักกอล์ฟมีภาพของหลุม ภาพของรถบัสหรือรถตู้ที่จะตีไปโดน ก็น่าจะยังคงรักษาระดับความความท้าทาย ความชัดเจนและเหมาะสมของขนาดของเป้าหมายในการตีระยะนี้ได้

ในช้อตต่อไปหานักกอล์ฟอยู่ในระยะที่สามารถตีออน บน Green แล้ว หลุมนี้ก็จะลดขนาดลงอีก แต่ไม่ใช่หลุมจริง เช่น หลุมเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดคันธงหรือมอเตอร์ไซต์คันใหญ่ซักคัน การตีในเป้าหมายที่ลดลงเรื่อย ๆนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามระยะของการตี และคงหลักการเพื่อรักษาระดับความท้าทาย ความลดกดดันไว้

เป้าหมายต่อไปเมื่อลูกกอล์ฟอยู่บน Green แล้ว หลุมต่อไปที่ท้าทาย ลดความกดดัน คือหลุมที่มีขนาดใหญ่กว่าหลุมจริง เช่นหลุมขนาด 1 ฟุต หรือ 1 คืบ ถ้าเราสามารถพัตต์ให้ลูกกอล์ฟอยูในวงกลมขนาด 1 ฟุตหรือคืบได้ การพัตต์ต่อไปคงไม่มีปัญหา

จะเห็นได้ว่าทุกช้อตที่ตีตั้งแต่ T-Off ถึงพัตต์สุดท้าย จะอยู่ภายให้หลักการการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ท้าทาย มีความกดดันในระดับที่เหมาะสมที่นำไปสู่ความตั้งใจ และการคง Routine ของการตีได้ดี

ลองดูครับว่าทุกครั้งที่เราตีมีเป้าหมายที่ต่างกัน เหมาะสม ท้าทายใช่ไหม

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย