จิตวิทยาการกีฬา

การจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยกับการพัฒนากีฬาชาติ (จบ)

การจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยกับการพัฒนากีฬาชาติ (จบ)

มาต่อกันครับจากเดือนที่แล้วว่าการจัดการแข่งขันอะไร แบบไหนที่จะทำให้เราพัฒนาความสามารถนักกีฬาในระดับมหาวิทยาลัย ที่ส่งผลกระทบที่หลากหลายกว่าการจัดการแข่งขันในปัจจุบัน

หากเราจัดการจัดการแข่งขันเย้าเยือนในแต่ละภูมิภาคแบบนี้ นักกีฬาและโค้ชจะมีประสบการณ์มากขึ้น ช่วยลดความขัดแย้งของคนเรียนกับคนสอน การดูแลสนามกีฬาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ รวมทั้งเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้นจากการเคลื่อนที่ของคนที่ไปแข่งขันในมหาวิทยาลัยที่ไปเยือน รวมทั้งการมีส่วนร่วมและสนับสนุนของสังคมรอบๆมหาวิทยาลัย

ฉบับนี้เรามาต่อกันอีกในหลายประเด็นอันเกิดจากการจัดการแข่งขันที่ได้นำเสนอมาจนถึงครั้งนี้

ประเด็นแรกคือ การมีส่วนร่วมและการปลูกฝังความรักและความผูกพันของนิสิตนักศึกษาและมหาวิทยาลัยที่เรียน สิ่งนี้หลายคนอาจจะมองไม่เห็นว่าการจัดการแข่งขันแบบเย้าเยือน และแบ่งเป็นกลุ่มแข่งขันจะช่วยเสริมสร้างสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร คำตอบคือ ถ้ามีการแข่งขันที่หมุนเวียนแบบพบกันหมดในกลุ่ม (ซึ่งอาจจะมีกลุ่ม/ภาค ละ 10 ถึง 15 มหาวิทยาลัย เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยต้องเป็นเจ้าภาพ 5-7 หรือ 8 ครั้งต่อปี และต้องแข่งขัน 9 ถึง 14 ครั้ง เท่ากับว่าเมื่อมหาวิทยาลัยต้องเป็นเจ้าภาพจำนวนหลายครั้ง ซึ่งการเป็นเจ้าภาพนั่นหมายถึง การได้ร้องเพลงสถาบัน การได้ร้องเพลงเชียร์ การเห็นธงมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนมากขึ้น เทียบกับการแข่งขันที่เป็นมหกรรมครั้งเดียว โอกาสที่จะได้ยินเสียงเพลงของมหาวิทยาลัยที่พี่ๆได้พยายามให้น้องๆ ได้ร้อง ได้ฝึกในปี 1 ไม่มีและเราไม่เคยได้ยินเพลงเชียร์ เพลงสถาบันในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเลย การได้ร้องเพลงมหาวิทยาลัยของตัวเอง ในการแข่งขันกีฬาปีละหลายๆครั้ง เป็นเวลา 4 ปี จึงน่าจะทำให้เกิดความรัก ความผูกพันของนิสิตนักศึกษาอย่างเป็นธรรมชาติและยาวนาน

นอกจากเรื่องของความผูกพันนี้แล้ว ประสบการณ์ของการแข่งขันของนิสิตนักศึกษา โค้ช รวมทั้งผู้ตัดสินก็จะมีมากขึ้น ยิ่งแข่งขันมากขึ้นเท่าไหร่ ความสามารถของทุกคนในทุกบทบาทก็จะเพิ่มขึ้น ทักษะจะมีมากขึ้น นักกีฬาจะมีทักษะในการเล่นกีฬามากขึ้น โค้ชจะมีประสบการณ์ในการเตรียมทีม ในการฝึกซ้อมและการแข่งขันมากขึ้น ในขณะที่ผู้ตัดสินที่อยู่ในพื้นที่ๆได้รับการฝึกฝน มีการรักษาสถานะและความสามารถของตนเองจากการมีรายการแข่งขันเพื่อให้เกิดประสบการณ์มากขึ้นเช่นเดียวกับนักกีฬา และโค้ช

แล้ววิทยาศาสตร์การกีฬาจะเป็นอย่างไร วิทยาศาสตร์การกีฬาก็จะถูกนำมาใช้ในการเตรียมทีม ในระหว่างการฝึกซ้อมและแข่งขันมากขึ้น เมื่อเทียบการแข่งขันแบบปัจจุบันที่แข่งขันภายใน 10 วัน บางชนิดกีฬาแข่งเพียงครั้งเดียว ตกรอบและไม่สามารถแข่งขันต่อ จึงไม่จำเป็นต้องกลับไปฝึกซ้อมและเตรียมตัวใดๆอีก ต้องรอจนการแข่งขันในครั้งถัดไป ขณะที่การแข่งขันแบบเย้าเยือน ที่เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดในปลายสัปดาห์นี้แล้ว ทีมกีฬานั้นก็ยังสามารถกลับไปฝึกซ้อม แก้ไขปัญหา มีการพักผ่อนตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา มีการกิน การฝึกร่างกายและจิตใจได้มากขึ้น ความสามารถของนักกีฬาโดยรวมก็จะสูงขึ้น และกลับมาแข่งขันในสัปดาห์ต่อไป ช่วยเสริมหรือเพิ่มระดับความสามารถของนักกีฬาที่แข่งขันในระดับที่สูงขึ้น หรือการแข่งขันในระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี นักกีฬาทีมชาติหรืออาชีพในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่เป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยมาเกือบทั้งหมด

การบาดเจ็บทางการกีฬาก็จะลดลงด้วย เนื่องจากความพร้อมของนักกีฬา ที่ได้มีทั้งการเตรียมตัวที่ดี มีการพักผ่อน (ระหว่างสัปดาห์) ที่เพียงพอ รวมทั้งการฟื้นคืนสภาพเดิมก็สามารถทำได้ดีและรวดเร็ว รวมทั้งการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลนักกีฬาที่บาดเจ็บที่มีจำนวนลดลง

ดังนั้นเมื่อประมวลภาพรวมในแนวทางนี้ (การจัดการแข่งขันที่เป็นกลุ่ม/ภูมิภาค และพบกันหมด) จะช่วยให้เกิดประสิทฺธิภาพในการส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษา ในการดูแลสุขภาพของคนในมหาวิทยาลัย พัฒนานักกีฬาให้สูงและมีมาตรฐานขึ้น การหมุนเวียนของรายได้ ความรักความผูกพันที่มากขึ้น การใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาตามหลักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการลดการบาดเจ็บลง จึงน่าจะเป็นอีกช่องทางที่ฝากไว้ให้คิดร่วมกันครับ

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย