Just Say Know

Craft Beer อีกรสชาติของคนชอบดื่ม

Craft Beer อีกรสชาติของคนชอบดื่ม

จากกรณีที่มีข่าวหนุ่มนักดื่มคนหนึ่งถูกตำรวจเข้าจับกุมฐานคิดสูตรและผลิตเบียร์ไว้ดื่มเอง นั่นทำให้กระแสถกเถียงกันเรื่อง Craft Beer ดังขึ้นในวงกว้าง หลังจากที่กระแส คราฟเบียร์ นี้ค่อยๆ ได้รับความนิยมในกลุ่มนักดื่มเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ สักระยะหนึ่งแล้ว สำหรับนักดื่มทั้งหลายคงจะไม่ต้องบรรยายสรรพคุณของคราฟเบียร์กันให้มากนัก แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่นักดื่ม อาจจะกำลัง งง-งง ว่า คืออะไร ยังไง วันนี้เรามาทำความรู้จัก Craft Beer กัน

อย่าสับสนระหว่าง Craft Beer กับ Draft Beer หรือ Drought Beer หรือที่รู้จักกันว่า เบียร์สด ซึ่งไม่เหมือนกัน เบียร์สด เป็นเบียร์ที่ใช้ระยะเวลาหมักสั้นและไม่มีการเติมสารเพื่อรักษาอายุ ส่วน Craft Beer ที่เรากำลังพูดถึงกันนี้ก็คือ คำนิยามของเบียร์ที่ใช้วิธีการแบบดั้งเดิมในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการหมัก บรรจุขวด รวมถึงการขายด้วย อีกทั้ง Craft นอกจากจะหมายถึงการทำมือแล้ว คราฟท์เบียร์ ยังมีความหมายถึงความพิถีพิถัน ในการเลือกสายพันธุ์ ข้าวมอลต์, ดอกฮอปส์, ยีสต์ และน้ำ ซึ่งเป็น 4 องค์ประกอบหลักของเบียร์ในหลายรูปแบบ ที่มาพร้อมๆ กับความสร้างสรรค์ในการผลิต มีการปรับเปลี่ยนปรุงสูตรใหม่ๆ เสริมแต่งด้วยวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ผลไม้, ดอกไม้, กาแฟ, ช็อคโกแล็ต ที่ทำให้เกิดกลิ่นและรสเป็นเอกลักษณ์

ผู้ผลิตอาจจะใส่ทั้งข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีในการหมักครั้งเดียว ใส่ขิงเพิ่มเพื่อความเผ็ดซ่า ใส่ฮ็อบส์มากกว่าปริมาณปกติเพื่อให้ได้รสขมเข้ม และอีกสารพัดสูตร ทำให้นักทำเบียร์ทั้งเสี่ยงและสนุกไปกับการหมักโน่นผสมนี่ไปเรื่อยๆ กว่าจะได้รสชาติของเบียร์ที่ลงตัว เกิดเป็นตัวเลือกที่หลากหลาย

แต่เบียร์แบบนี้ไม่ค่อยทำในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เนื่องด้วยการทำให้รสชาติและกลิ่น สนองคนเฉพาะกลุ่มไม่เหมาะกับการทำเครื่องดื่มในอุตสาหกรรมใหญ่ แต่ใครจะรู้หากสูตรที่คิดขึ้นเกิดถูกปากนักดื่ม ก็อาจจะกลายเป็นเบียร์พรีเมี่ยมคุณภาพสูง ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายก็ได้ นั่นทำให้ปัจจุบันเกิดผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายใหม่ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา สกอตแลนด์ เบลเยียม เยอรมนี เดนมาร์ก ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็ตาม

ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ที่ติดขัดกันอยู่ก็คือ ข้อกฏหมาย ข้อจำกัดเรื่องกฏหมายของการผลิต คราฟเบียร์ในบ้านเราก็คือ วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2543 ซึ่งมีเนื้อหาว่า ผู้ขออนุญาต ทำโรงงานสุราต้องเป็นบริษัทจำกัด มีเงินลงทุนที่ชำระแล้ว ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยในกรณีที่เป็นโรงงงานเบียร์ขนาดใหญ่จะต้องมีปริมาณการผลิต ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าผู้ใด จะทำโรงงานเบียร์ขนาดเล็กก็ต้องเป็นโรงเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต ต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี ผู้ผลิตหลายรายจึงใช้วิธีการนำออกไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วส่งกลับเข้ามาเป็นสุรานำเข้าอย่างถูกกฏหมาย นั่นก็ทำให้คราฟเบียร์ของไทยขยับขยายไปได้อย่างช้าๆ

ซึ่งในบ้านเราตอนนี้ก็มี ร้านอาหาร โรงเบียร์ ที่ให้บริการ คราฟเบียร์ อยู่หลายร้าน ใครอยากลิ้มลองก็ลองหาข้อมูลแล้วแวะเวียนกันไป นอกจากนั้นถ้าสังเกตุกันดีๆ จะเห็นได้ว่า ในระยะหลังๆ นี้ มีเบียร์แบรนด์แปลกตาเข้ามาให้เลือกดื่มกันมากขึ้น แน่นอนว่าหากพบชื่อแบรนด์ฟังคุ้นๆ แบบไทยๆ ก็อาจจะเป็น คราฟเบียร์ ของคนไทย กับวัตถุดิบแบบไทยๆ ที่ไปผลิตกันที่อื่น แล้วนำแบบสำเร็จรูปกลับเข้ามาให้นักดื่มได้ลิ้มรสกันก็เป็นได้