พระราชบิดาแห่งอักษรไทย
เขียน.. เมื่อมีลมหายใจ ๒
พระราชบิดาแห่งอักษรไทย
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือขุนรามราช พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์สุโขทัย และยังเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “มหาราช” อีกด้วย ด้วยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรสุโขทัยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1826 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอักษรไทยที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบันสืบทอดกันมากว่าแปดร้อยปี ตามหลักฐานศิลาจารึกที่ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมบรมกษัตริย์ของราชวงศ์สุโขทัย มีมเหสีชื่อ พระนางเสือง พระราชโอรสองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่วัยเยาว์ พระราชโอรสองค์กลาง พระนามว่า บานเมือง ต่อมาพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหรือ เจ้าราม มีพระชันษาได้ 19 ปี ทรงทำยุทธหัตถีชนะขุนสามธน เจ้าเมืองฉอด พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงพระราชทานนามว่า “พระรามคำแหง” เมื่อสิ้นรัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพ่อขุนบานเมืองแล้ว พ่อขุนรามคำแหงก็ขึ้นครองกรุงสุโขทัย พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอัจฉริยภาพด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนาและศิลปวิทยาต่างๆ ที่สำคัญยิ่งกว่าอันใด พระองค์ทรงทำให้คนไทยได้มีอักษรไทยใช้เป็นของเราเองมากว่า 800 ปี และถือเอาวันที่ 17 มกราคม ของทุกๆ ปี เป็นวัน “พ่อขุนรามคำแหง” เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงค้นพบหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นครั้งแรก
วันนี้ฉันจึงเตรียม ดอกไม้ ผลไม้ น้ำ เพื่อขึ้นถวายพระบิดามารดา เทพกษัตริย์ และสวดมนต์ กรวดน้ำ เพื่อนำบุญกุศลอุทิศถวาย พ่อขุนรามคำแหง พระราชบิดาแห่งอักษรไทย ผู้มีคุณาคุณอันยิ่งใหญ่ต่อแผ่นดินไทย พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า
“ขอให้ข้าพเจ้า นางสุชาภา ผลชีวิน ได้นำอักษรไทยมาร้อยเรียงเรื่องราว เพื่อเป็นธรรมทานได้สำเร็จสัมฤทธิ์ผล ด้วยเทอญ”
วันนี้จึงเป็นวันมงคลอีกวันหนึ่งที่เราชาวไทย ที่ควรน้อมรำลึกถึงและจดจำว่าไว้ชั่วกัลปาวสานว่าประเทศไทย มีอักษรไทยใช้เป็นของเราเอง จากความเป็นผู้มีอัจฉริยะของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชพระองค์นี้
สุชาภา ผลชีวิน