Interview

แก้ปัญหาทีละขั้น เหมือนเล่นกอล์ฟทีละช็อต – น.พ.วสุ กาญจนหัตถกิจ

นายแพทย์วสุ กาญจนหัตถกิจ
ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ และ เวชศาสตร์ฟื้นฟู
โรงพยาบาลวิภาราม พัฒนาการ
“แก้ปัญหาทีละขั้น เหมือนเล่นกอล์ฟทีละช็อต”

คุณพ่อเป็นศิษยเก่า โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา เลยปลูกฝังเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ฝึกให้เล่นกีฬา ทำให้เจอกับคนหลายๆ ประเภท ต้องรู้จักทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อปรับตัวให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ผมจึงคิดว่าถ้าไปเป็นเรียนอยู่ที่นั่นน่าจะได้ประโยชน์ การอยู่โรงเรียนประจำสำหรับผมไม่เป็นเรื่องลำบาก เพราะช่วงนั้นยังเด็ก ติดเพื่อน เพื่อนอยู่ที่ไหนกันเยอะๆ ก็อยากไปอยู่ที่นั่น อยู่ได้ ไม่มีปัญหา นอกจากเรื่องเรียนแล้ว กิจกรรมหลักคือการเล่นกีฬาเกือบทุกอย่าง ที่ชอบที่สุดคือฟุตบอล แล้วก็ยังเป็นนักวิ่งอีกด้วย

โรงเรียนประจำสอนเรื่องวินัย ให้รู้จักจัดเวลา รับผิดชอบตัวเองเยอะมาก ต้องรู้จักการทำงานเป็นทีม ย่ิงเล่นกีฬาเยอะต้องรู้จักข้อดีข้อเสียของคนอื่น และยอมรับเขาได้ เพื่อการทำงานเป็นทีมจะได้ดีขึ้น

เด็กประจำจะมีทุกประเภท ตั้งแต่เฮี้ยวสุดๆ ไปจนถึงเด็กเรียบร้อย ต้องรู้จักการเอาตัวรอดในการอยู่ด้วยกันแบบหลายๆ วัย ในโรงเรียน รุ่นพี่รุ่นน้องไม่มีคำนำหน้าเรียกกันว่าพี่เลย แม้กระทั่งตอนผมอยู่ชั้นประถม เรียกรุ่นพี่มัธยมปลาย ยังเรียกแค่ชื่อเฉยๆ ไม่มีคำนำหน้า ถ้าหากจะมีเรื่องมีราวก็ต้องรู้จักหารุ่นพี่มาคุ้มครอง หาใครมาช่วย

ผมอยู่ในกลุ่มเด็กที่ชอบเล่นกีฬา ไม่ค่อยได้นั่งอ่านหนังสือเหมือนพวกเด็กเรียน ชอบออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ว่างเมื่อไหร่ก็ซ้อมฟุตบอล เล่นเยอะแต่ไม่ติดทีมโรงเรียนเพราะตัวเล็ก เลยไปเป็นนักวิ่งระยะสั้นจนได้รางวัล เคยอยู่ในทีมวิ่งผลัด เป็นตัวแทนอำเภอ ตัวแทนจังหวัด พอช่วงหลังโตขึ้นเลยได้เล่นตำแหน่งปีกมาตลอดจนถึงมหาวิทยาลัยก็เล่นให้กับคณะฯ

โรงเรียนจัดเวลาให้เราดีอยู่แล้ว ถึงเวลานี้ต้องอ่านหนังสือ ถึงเวลานั้นต้องไปซ้อมกีฬา เราก็แค่ทำตัวไปตามระบบที่วางไว้ ตอนนั้นยังไม่คิดเลยด้วยซ้ำว่าจะไปเป็นอะไร แค่ที่บ้านบอกว่าถ้าเรียนดีก็ต้องไปเป็นหมอ แล้วผลการเรียนของผมก็อยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอดตั้งแต่เด็ก มีมาแผ่วอยู่บ้างในช่วง ม.ปลาย เพราะรู้สึกเรียนแล้วไม่ค่อยเข้าใจ โดยเฉพาะวิชาคำนวณ เลข ฟิสิกส์ สุดท้ายก็อาศัยวิธีท่องจำเอาไปสอบ

ผมสอบเข้าคณะแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ เมื่อที่บ้านอยากให้เรียนก็เรียน แต่ก็เรียนไปบ่นไป เพราะเรียนหนักมาก โชคดีที่ มช. มีที่เล่นกีฬาตอนเย็นเยอะ ก็ยังเล่นฟุตบอลเป็นหลัก เล่นกันทั้งสนามใหญ่และสนามเล็ก จนได้เป็นนักกีฬาของคณะฯ

จริงๆ ผมไม่เคยสนใจกีฬากอล์ฟมาก่อน แต่คุณพ่อท่านเล่นอยู่แล้ว และก็บอกว่าสักวันเราต้องใช้กีฬากอล์ฟ ถ้ามีโอกาสควรจะรู้จักไว้บ้าง พอเรียนปีสุดท้าย ผมก็ไปหัด โดยไม่ได้ชอบอะไรเลย แต่เมื่อที่บ้านบอกให้ไปหัดผมก็ไป เริ่มจากไปสนามไดร์ฟ แล้วนั่งดูโปรที่สอนว่ามีกี่คน วงโปรคนไหนเป็นอย่างไร สไตล์ผมจะชอบแบบเนิบๆ ไม่เน้นความรุนแรง จนในที่สุดก็เลือกโปรที่เหมาะที่สุดได้ แล้วก็เริ่มเรียน

ผมเดินหอบหิ้วไม้กอล์ฟจากหอพักไปสนามไดร์ฟทุกวัน เพื่อนๆ มองว่าเป็นตัวประหลาดด้วยซ้ำ สามเดือนแรกจะเลิกเรียนกอล์ฟให้ได้ รู้สึกว่ามันยากมาก ขนาดว่าเรามีทักษะทางด้านกีฬามาพอสมควร แต่ทำไมตีกอล์ฟไม่ได้ซะที จนกระทั่งเริ่มตีลูกให้ลอยได้ มีเสียงไม้กระทบลูกหวานๆ เกิดขึ้นบ้าง ทำให้มีกำลังใจ แต่ก็ยังไม่ได้ชอบ จนกระทั่งได้เริ่มออกรอบ

ขนาดซ้อมตีไป 10ลูก ดีซะ 8 ลูก เริ่มตีได้แน่นมากขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีความคิดว่าจะไปออกรอบ ไม่รู้ว่าจะทำยังไงด้วยซ้ำ เลยได้แต่ซ้อมในสนามไดร์ฟ ตีตามเบสิค ลูกตรง ได้ระยะ จนได้ออกรอบครั้งแรกกับคุณพ่อ เป็นรายการแข่งขันที่พลูตาหลวง ทีออฟครั้งแรกออกไปสวยงามด้วยไดร์ฟเวอร์ เหล็กก็ยังพอตีได้ แต่พอใกล้ๆ กรีนก็เท จบ9 หลุมแรกออกมา 71 พอรอบหลังลดลงเหลือ 61 คุณพ่อก็ให้กำลังใจว่า เล่นครั้งแรกได้ขนาดนี้ก็นับว่าดีแล้ว พอดีคุณพ่อเป็นเมมเบอร์ที่บางพระ เลยทำให้ได้เล่นบ่อยมากขึ้น คะแนนก็ค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ ตอนลดมาเหลือรอบละ 50 ใช้เวลาไม่นาน แต่กว่าจะลงมาต่ำกว่านั้นจนรอบเหลือละ 40 กว่าๆ ก็อีกพักใหญ่

หลังจากจบจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมมาเริ่มงานที่ โรงพยาบาลสมเด็จราชเทวี ณ ศรีราชา อยู่หนึ่งปี จริงๆ ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะเรียนต่อทางด้านกระดูก เนื่องจากพื้นฐานของเราเป็นนักกีฬา ส่วนใหญ่หมอกระดูกก็รักษาเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บ อย่างที่เกี่ยวข้องกับทางกีฬามีทั้งกระดูกและกล้ามเนื้อ

ในการฝึกการผ่าตัด ก็ต้องมีการฝึกฝนและปฏิบัติ ว่าไปแล้วก็คล้ายกับกีฬาเช่นกันที่ต้องมีการฝึกฝนและใช้ทักษะ แล้วการรักษาอาการเกี่ยวกับกระดูกจะใช้เวลานานกว่า ไม่รีบ ไม่เป็นศัลยกรรมเร่งด่วนที่ต้องแข่งกับเวลา ส่วนใหญ่เป็นการรักษาต่อเนื่องหลังพ้นจากอาการวิกฤติไปแล้ว ซึ่งตรงกับนิสัยของผมที่ชอบการทำงานแบบใจเย็นๆ

ช่วงเรียนปีสุดท้าย เอ็นไขว้หน้าเข่าข้างขวาขาด จากการเล่นฟุตบอล ผมต้องไปผ่าตัดที่ศิริราช และต้องทำกายภาพบำบัดที่แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งดูแล้วน่าสนใจ จึงสอบถามรายละเอียด ซึ่งทางแผนกฯ ได้ถามว่าสนใจมาเรียนเลยรึเปล่า ถ้าจะเรียนก็มาได้เลย ทำให้ผมทำงานแค่ปีเดียวก็มาเรียนต่อ

เวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นแนวทางการรักษาเดียวกันกับที่ผมสนใจ แต่ไม่ใช้การผ่าตัด และผมยังได้เรียนเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอใช้ทุนให้ครบกำหนดก่อน พอเรียนจบหลักสูตร 3 ปีแล้ว ผมก็ยังคาใจ อยากจะเรียนผ่าตัดทางด้านออร์โธปิดิกส์ ขอเรียนต่ออีก 4 ปี ที่ วชิระ จนจบหลักสูตร แล้วเริ่มงานที่ โรงพยาบาลสิรินธร อ่อนนุช อยู่ที่นั่นอีก 2 ปี ก็ย้ายมาที่ โรงพยาบาลวิภาราม พัฒนาการ จนถึงปัจจุบัน

การรักษาส่วนใหญ่ที่พบในช่วงแรกก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระดูกทั่วๆ ไป อุบัติเหตุ ปวดหลัง ปวดคอ ปวดเข่า

ในเวชศาสตร์ฟื้นฟู จะแยกออกเป็นหลายประเภท เช่น หัวใจ ระบบประสาท เด็ก และมีแผนกหนึ่งรักษาอาการปวด โดยเฉพาะการปวดกล้ามเนื้อ เลยได้วิธีการรักษาตรงนี้มา ซึ่งทางศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ไม่ได้เรียนลงลึก เนื่องจากไปสนใจในเรื่องการผ่าตัดเป็นหลัก แล้วกลายเป็นว่าเมื่อเจอคนไข้ ส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการปวดต่างๆ ทำให้ได้ใช้วิชาการรักษาทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูมากกว่า

คงไม่มีใครอยากผ่าตัดหากไม่จำเป็นจริงๆ ดังนั้น ต้องรักษาแบบไม่ผ่าตัดให้ถึงที่สุดก่อน จนเมื่อไม่ได้จริงๆ แล้วจึงจะไปถึงขั้นวิธีรักษาแบบผ่าตัด ซึ่งสำหรับผม ทำไปทำมาเป็นการรักษาที่มากกว่าการผ่าตัด

ดุลพินิจเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาว่า คนไข้ควรจะผ่าตัดหรือไม่ บางกลุ่มอาจจะบอกว่า ถ้าผ่าเร็ว อาการก็จะหายเร็วกว่าปล่อยให้เป็นเยอะ บางกลุ่มอาจจะบอกว่า ผ่าตัด อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ขอรักษาแบบไม่ผ่าจนถึงที่สุดก่อน ซึ่งอาการที่อยู่ในโซนนี้ อาจจะเรียกว่าเป็นพื้นที่สีเทา จะแนะนำให้ไปทางไหนก็แล้วแต่ผู้วิเคราะห์ จะบอกว่าใครถูกใครผิดก็ยาก แล้วแต่ดุลพินิจของแต่ละคน

อาการเข้าข่ายที่ว่านี้ พบเยอะๆ ชัดๆ ก็เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ไม่ว่าเป็นที่คอ หรือ หลัง มีหลากหลายวิธีในการรักษา บางกรณีหมอนรองกระดูกทะลักออกมาทับเส้นไปกดเส้นประสาท จะมีอยู่จำนวนหนึ่งที่ ถ้าทนเจ็บให้ผ่านช่วงแรกๆ ไปได้ ระยะอาจจะเป็นเดือน ซึ่งมีงานวิจัยออกมาว่า ถ้าเวลาผ่านไปนานๆ แล้ว คนที่รักษาด้วยการผ่า กับคนไม่ผ่า อาการจะพอๆ กัน ซึ่งบางกรณีตรงนี้แหล่ะที่เป็นโซนสีเทา เพราะบางกลุ่มบอกว่าจะทนไปทำไม ผ่าเร็วก็หายเร็ว บางกลุ่มก็บอกว่า จะผ่าทำไม ทนอีกนิดเดียวเดี๋ยวก็โอเคแล้ว แต่ถ้ามีข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่าตัดชัดๆ เช่น มีการกดบริเวณควบคุมการขับถ่าย หรืออ่อนแรงในเวลารวดเร็ว หรือกดไขสันหลัง ก็ไม่ลังเลที่จะผ่าตัดโดยไม่ต้องรอนาน

ปัญหาของอาการนี้สามารถจะเกิดได้หมดกับทุกคน อาจเกิดจากทำอะไรผิดท่าทางที่เหมาะสม เช่นการก้มยกของหนักเกินกำลังผิดท่า แค่จังหวะเดียวก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว หรือนั่งทำงานผิดท่านานๆ หรือนั่งรถบางทีก็กระแทกสะสมทุกวัน ทุกโอกาสถ้าผิดจังหวะก็เกิดขึ้นได้หมด ฉะนั้นต้องระวังตัว เวลาจะยกอะไรต้องประมาณให้ได้ก่อนว่าเราไหวหรือไม่ ถ้าจำเป็นก็ควรหาคนมาช่วยจะดีกว่า

กล้ามเนื้อรอบลำตัวที่ห่อหุ้มแกนกระดูกสันหลัง ยิ่งแข็งแรงก็ยิ่งลดโอกาสการเกิดอาการบาดเจ็บ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อท้องและหลัง ดังนั้นจึงควรเสริมสร้างกล้ามเนื้อในส่วนนี้ให้แข็งแรงอยู่เสมอ

เฉลี่ยแล้วในช่วงหลังๆ มีคนไข้นักกอล์ฟเข้ามาบำบัดอาการปวดทั้งไหล่ หลัง แขน ศอก สะโพก ทั้งตัวเลยก็ว่าได้ บางอาการเป็นน้อยๆ แค่กินยาก็ดีขึ้นหรือหาย ถ้าหนักกว่านั้นกินยาแล้ว 2-3 วันยังไม่ดีขึ้นแปลว่าอาการไม่น้อยแล้ว ก็ต้องประเมินว่าเป็นที่กล้ามเนื้อ ข้อ เอ็น หรือกระดูก เช่นปวดไหล่ อาจเป็นที่ข้อไหล่เอง กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อไหล่ หรือทั้งคู่ เพราะบางครั้งเอ็นข้อไหล่อักเสบ แล้วปวด กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อไหล่เกิดอาการเกร็งจนปวด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ว่าจะปวดตรงไหนก็จะมีกล้ามเนื้อเกร็งเกิดขึ้นรอบๆ ร่วมด้วย ก็ต้องวิเคราะห์ประเมินแล้วรักษาไล่เรียงกันไป

อาการหนึ่งที่พบมากคือ Tennis Elbow ปวดที่ข้อศอก ฉีดยาแล้ว กินยาแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้นยังเล่นกีฬาไม่ได้ เมื่อประเมินแล้วพบว่า ตรงที่ฉีดยาไปได้รักษาอาการแล้ว แต่กล้ามเนื้อรอบๆ ยังเกร็งอยู่ ซึ่งถ้าไม่คำนึงกล้ามเนื้อ เมื่อฉีดยากินยาแล้ว อาการดีขึ้น แต่พอไปตีก็เจ็บขึ้นมาอีก

ร่ายกายคนเราเวลาใช้กล้ามเนื้อเยอะๆ จะมีการหดเข้าและคลายออก แต่จะมีบางจังหวะที่หดเข้าไปแล้วไม่คลายออก จนรวมกันเป็นก้อน เรียกว่า Trigger Point เมื่อหดตัวนานๆ ก็จะขาดเลือด จนบางส่วนอาจจะตายไป กลายเป็นพังผืดเล็กๆ แล้วช่วงที่ขาดเลือดร่างกายก็หลั่งสารที่ทำให้เจ็บปวดมากขึ้น ยิ่งปวด กล้ามเนื้อก็ยิ่งหดเข้าไปอีก วนเวียนอยู่แบบนี้ จนอาจจะขยายจากมัดเดียวเป็นหลายมัด จากหัวไหล่ ลงมาแขน ข้อศอก เหนี่ยวนำกันไปเรื่อยๆ ข้อสังเกตคือ คลำแล้วเป็นก้อน กดแล้วเจ็บร้าวไปที่อื่น มีรูปแบบเช่น กดตรงสะบักจะรู้สึกร้าวลงไปแขน

การรักษา Trigger Point มีหลากหลายวิธี ใจความสำคัญคือ ทำให้กล้ามเนื้อตรงจุดนั้นได้คลายตัวออก วิธีง่ายๆ ตั้งแต่การยืดเหยียด พยายามทำให้กล้ามเนื้อกลับไปสู่ที่เดิม เช่นบริเวณคอ การใช้ความร้อน ถ้าระดับตื้นๆ ก็เช่นลูกประคบ ถ้าลึกไปกว่านั้นก็ใช้อัลตร้าซาวน์ ช่วยให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดขยายตัว พอมีเลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงก็จะคลายตัว แล้วทำการยืดเหยียดเพื่อให้กล้ามเนื้อกลับเข้าที่ซึ่งต้องทำร่วมด้วยเสมอไม่ว่าจะใช้วิธีใดรักษาก็ตาม, การนวด กดจุด, การฉีดยาชาที่ไม่ผสมอะดรินาลีน ซึ่งให้ผลหลายแบบ เช่นตั้งแต่ตัวเข็มเองก็ทำให้กล้ามเนื้อคลายได้ ยาชามีฤทธิ์บรรเทาปวด ขยายหลอดเลือด ตัวสารละลายของยาชาก็ช่วยระบายของเสียที่เกิดจากการผลิตของร่างกายที่ทำให้เกิดอาการปวด แต่ก็อาจจะมีอาการแพ้ยาในบางราย หรือหากฉีดแล้วต้องคอยดูดไม่ให้เข้าเส้นเลือด เพราะมีฤทธิ์ต่อการเต้นของหัวใจ

อีกวิธีที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบันคือการใช้เข็มขนาดเล็ก แบบเดียวกับที่ใช้ฝังเข็ม มีหลายเหตุผลที่เลือกใช้แทนการฉีดยาชา เช่น เข็มมีขนาดเล็กกว่าเข็มฉีดยามาก เทคนิคอย่างหนึ่งในการใช้เข็มรักษา Trigger Point คือใช้เข็มขนาดเล็กมากๆ ค่อยๆ เขี่ยบริเวณที่เกิดอาการได้อย่างสบายใจกว่า ลดการเกิดอันตรายกับอวัยวะภายใน ซึ่งเข็มฉีดยาทำไม่ได้ เพราะขนาดที่ใหญ่กว่าจะกลายเป็นการทำลายมากกว่ารักษา และไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้ยาซึ่งบางคนมีอาการแพ้ ส่วนอาการตอบสนองของการใช้เข็มรักษาจะมีการกระตุกเมื่อเข็มเข้าไปกระตุ้นบริเวณที่กล้ามเนื้อหดตัวอยู่ แต่ในบางตำแหน่งเช่นที่บริเวณบ่า อาการตอบสนองเพิ่มเติมอาจจะเกิดขึ้นไม่เหมือนกัน บางคนมีอาการคลื่นไส้ เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม หรือบางคนมีอาการแปลกๆ อย่างเรอตลอดเวลา ซึ่งเป็นการตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติ แต่มีเกิดขึ้นเป็นจำนวนน้อย แล้วก็สบายใจตรงที่อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการแพ้ยาแน่ๆ เพราะเราไม่ได้ใช้ยาใดๆ ในการรักษาเลย แค่พักสักครู่อาการก็ดีขึ้น

ส่วนข้อเสียที่เกิดจากการรักษาด้วยเข็มขนาดเล็กก็คือ เกิดอาการระบม 1-3 วัน เหมือนไปนวดมาแรงๆ บางรายอาจจะมีไข้ขึ้นด้วย แต่บางคนที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง เช่นกลุ่มนักกีฬา ที่อาจจะบาดเจ็บเพราะแค่ผิดจังหวะ เมื่อรักษาจะฟื้นตัวหายได้เร็วมากบางคนใช้เวลาแค่ภายใน 24 ชั่วโมง แล้วถ้าไม่ไปบาดเจ็บซ้ำอีกก็จะหายขาด

และถ้าเกิดอาการจากกล้ามเนื้อล้วนๆ ไม่มีอย่างอื่น เหตุผลตรงไปตรงมา อย่างไปใช้กล้ามเนื้อผิดจังหวะ โอกาสที่จะหายเลยก็สูงโดยปกติทั่วๆ ไปถ้าเป็นกล้ามเนื้ออย่างเดียว จะใช้เวลารักษาไม่ค่อยเกิน 4 ครั้ง ส่วนใหญ่จบที่ 2 ครั้ง หรือจบที่ครั้งเดียวก็มี, แต่ถ้าเป็นมาเรื้อรัง โอกาสหายก็จะช้ากว่า หรือหายไม่หมด แต่ก็จะดีขึ้น ยิ่งถ้าหากไม่ได้เป็นที่กล้ามเนื้ออย่างเดียว มีเหตุนำมาก่อน เช่น หมอนรองกระดูกคอทับเส้น อาการจะปวดบ่าลงมาแขนเหมือนกันเลย แต่ส่วนใหญ่ประวัติคนไข้จะมีอาการชานิ้วไหนชัดๆ แสดงว่ามีเรื่องเส้นประสาทปนด้วยแน่ๆ ซึ่งการรักษาก็ต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ทั้งใช้เข็ม กินยา กายภาพบำบัด และต้องลดความคาดหวังในการรักษาว่าจะหายภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะต้องค่อยๆ ดูอาการกันไป หรือบางครั้งนอกจากอาการทางกายแล้วก็อาจจะมีเรื่องของสภาวะจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องค้นหาเหตุผลที่แท้จริงควบคู่ไปกับการรักษาทางกายด้วย

ผมยังเล่นกีฬาอยู่เป็นประจำ ทุกวันเสาร์เย็นจะไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ ส่วนวันอาทิตย์เช้าจะไปออกรอบ เมื่อก่อนเคยมีช่วงที่เลิกงานก็เข้าสนามซ้อมทุกวัน ตอนนั้นเล่นได้ค่อนข้างดี ลูกไดร์ฟกับเหล็กพอใช้ได้ แต่จะไปเสียที่เหล็กสั้นช็อตขึ้นกรีนทุกประเภท โดยเฉพาะขึ้นจากทราย เผลอตกไปเมื่อไหร่เพื่อนยิ้มแน่นอน สาเหตุจากเป็นเพราะผมไม่เข้าใจว่าจะเล่นลูกสั้นชนิดต่างๆ ยังไงบอกไม่ถูกเหมือนกัน อยากจะเข้าไปเรียนลูกสั้นเป็นเรื่องเป็นราวด้วยซ้ำ

เรื่องกินผมก็ชอบ เคยมีบางช่วงเผลอตัวปล่อยน้ำหนักขึ้นไปมาก พอส่องกระจกแล้วรับตัวเองไม่ได้ ต้องหันมาควบคุมน้ำหนักอย่างจริงจัง ทั้งอาหารการกิน และออกกำลังกาย แต่จะไม่ชอบเข้าฟิตเนส เพราะเบื่อที่จะทำอะไรอยู่กับที่ ต้องเป็นกีฬากลางแจ้งโดยเฉพาะการว่ิงเล่นฟุตบอลที่ถึงไหนถึงกัน

ผมให้ความสำคัญกับคนรอบตัวเสมอ ต้องรู้จักระมัดระวังในคำพูด เพราะเราสามารถทำให้คนที่ได้ฟังทั้ง เจ็บใจ เสียใจ เกลียด กับตัวเราได้ทั้งนั้น จึงควรเลือกใช้คำพูดที่ทำให้ผู้อื่นสบายใจ บางครั้งคำพูดที่อาจจะทำให้ไม่สบายใจกำลังจะหลุดออกไป ก็ต้องรู้จักอมไว้ ผมชอบทำให้คนยิ้มกับหัวเราะมากกว่าจะไปทะเลาะด้วย

บางครั้งต้องเจอกับคนไข้ คิดง่ายๆ ว่าถ้าสบายดีเขาคงไม่มาหาเรา แล้วไหนยังต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดก่อนมาถึงอีก บางทีโกรธตั้งแต่เรื่องรถติดเมื่อออกจากบ้าน ก็ต้องปรับอารมณ์กันก่อน ทักษะในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ทำให้เขารู้สึกสบายใจก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะการหาคำตอบให้ได้ว่าเขาป่วยเป็นอะไรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ยิ่งถ้าอาการตรงกับสิ่งที่เราถนัดก็สร้างความมั่นใจได้เพิ่มขึ้น แต่หากไม่ใช่ ก็ต้องบอกไปตามข้อเท็จจริง เพราะคนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำกันมาจากคนรู้จัก จึงต้องมีการติดต่อพูดคุยเพื่อสอบถามอาการกันก่อน ถ้าแอบอ้างเกินจริงก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลงไปด้วย

ผมไม่ค่อยเครียด เป็นคนขี้ลืม ลืมง่ายจนนึกไม่ออกว่าโมโหอะไร ความโกรธมันเข้าตัว อาการเกร็ง ปวดไปทั้งตัว หายใจไม่ออก จะเกิดขึ้นเวลาเราโกรธ ถ้าควบคุมได้ เราก็ไม่ต้องมีอาการเหล่านี้ ผมยังชอบจินตนาการ โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาขณะขับรถบนท้องถนน บางทีโดนขับปาดหน้าแล้วเขามาด่าเราอีก ก็งงว่าใครผิดกันแน่ แต่ถ้าเราโมโหลงไปทำร้ายเขา เขายิงกลับ เราตาย ชีวิตนี้จบแล้วนะ ไม่ได้อะไรกันเลย แต่ถ้าปล่อยวาง ช่างมัน ให้ผ่านๆ ไป เดี๋ยวชีวิตเราก็กลับมาเป็นปกติสุขแล้ว

เคยคิดเหมือนกันว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิตเราจะทำยังไง ถ้าต้องจากไปจริงๆ จะรับได้หรือไม่ แต่ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า อย่ากังวลในสิ่งที่วิตกไปก็ยังแก้อะไรไม่ได้ หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดก็ไปวิตกกังวลล่วงหน้า ชีวิตเลวร้ายที่สุดก็คงไม่เกินความตาย ซึ่งทุกคนหนีไม่พ้นอยู่แล้ว ดังนั้นต้องค่อยๆ ใช้ชีวิตกันไปแก้ปัญหากันไปเรื่อยๆ เหมือนกับเล่นกอล์ฟ เล่นให้ดีที่สุดแค่ทีละช็อตก็พอแล้วครับ

CODE Cafe of Dessert Enthusiasts, The Jas Ramindra เอื้อเฟื้อสถานที่

0816_int Exc 2

0816_int Exc 3