มงคล ศิริพัฒนกุล
มงคล ศิริพัฒนกุล
ประธานบริหาร
ห้างหุ้นส่วนจำกัด สระบุรีวณิชชากร
บริษัท ไมล์สโตน คอนสตรัคชัน จำกัด
บริษัท กิจวาณิช คอนกรีต จำกัด
“เวลาดีให้แหงนมอง ดูท้องฟ้า เวลาด้อยค่า ให้ก้มหน้าดูดิน”
เกเรเยอะ : แต่เมื่อย้อนคิดแล้ว มันเป็นเครื่องช่วยทำให้ผมมีวันนี้ เพราะมีเพื่อนเยอะ เครือข่ายเยอะ และไม่กลัวอะไรเลย ขนาดปีนหน้าสูงก็ผ่านมาแล้ว
เด็กสายวิทย์ : ผมชอบวิชาท่อง หรือวรรณคดีต่างๆ เคยทำคะแนนชีววิทยา ได้ 78 เต็ม 80 สูงที่สุดของโรงเรียน ตอนจบ ม.ศ. 3 คิดจะไปเรียนศุลกากร ไปสมัครสอบ แต่เขาไม่รับ เพราะอายุยังไม่ถึง ต้องกลับมาเรียนต่อจนจบ ม.ศ. 5 เด็กสมัยก่อนเรียนพร้อมกับความขาดทุกอย่าง อาจารย์แนะแนว คนชี้นำก็ไม่มี ก็เกิดระบบ เรียนตามเพื่อน
ขี่ม้าไปโรงเรียน : ตอนอยู่ประถมที่มิตรภาพ มีต้นแบบคืออาจารย์พลศึกษา ขี่ม้ามาสอนหนังสือ ผมรู้สึกชอบ เลยแอบเอาเงินเตี่ย 400 บาท ไปซื้อม้าซึ่งเป็นลูกของตัวที่อาจารย์ขี่ มาเลี้ยง ผมขี่ไปโรงเรียน ทั้งเพื่อน ทั้งอาจารย์ ฮือฮากันใหญ่
ทำงานห้องแล็ป : กลุ่มเพื่อนไปสอบเข้าวิศวะกันหมด ผมก็เลือกตาม แต่ไม่ได้ ก็กลับมาทำงานในห้องแล็ป โรงปูนนครหลวง ที่ทับกวาง สมัยก่อนเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ยังขาดแคลนทุกอย่าง ตอนไปทำงานที่ห้องแล็ป ผมก็ขี่มอเตอร์ไซด์ ล้อโตๆ ที่เรียกว่าสแครมเบิลไปทำงาน ความดื้อของผมคือชอบขี่ตามรถสิบล้อ เอามือแตะท้ายรถให้ดูดไปด้วย ทำอยู่ปีกว่าก็กลับมาบวช ก่อนจะเริ่มงานของตัวเอง
ระเบิดหิน : เป็นธุรกิจของพี่ชายที่ผมไปช่วย อยู่ที่หน้าพระลาน ส่งหินขายโรงโม่ เอาลงเรือไปขาย ช่วงนั้นมีความต้องการหินก้อนแบนๆ เพื่อไปทิ้งชายตลิ่ง แถว นนทบุรี ปทุมธานี วันไหนที่ลูกน้องขาด ผมก็ต้องขึ้นไปช่วยระเบิดหินเอง ตอนนั้นอายุยังน้อย ทำอะไรก็สนุก ยิ่งเสี่ยงยิ่งสนุก มัดเชือกเส้นเดียว ห้อยลงภูเขาที่เป็นหน้าผามาเจาะหิน น้ำหนักของอุปกรณ์ เครื่องเจาะ ที่ต้องห้อยติดตัวลงมาก็ร่วมสามสิบกิโล หนักเอาการอยู่ เพื่อเอาระเบิดไดนาไมต์ฝัง ต่อสายไฟไปกดระเบิดด้านบน
ไม่มีพ่อเหมือนทอหัก : เหมือนคำโบราณว่าไว้ ไม่มีแม่เหมือนแพแตก ไม่มีพ่อเหมือนทอหัก ครอบครัวเราในอดีตเคยมีฐานะ ที่บ้านขายข้าวสาร แต่พอคุณพ่อเสีย ทุกอย่างต้องใช้เงินเก่าที่สะสมไว้ เมื่อผมจะทำงานของตัวเอง มีทุนแค่สองหมื่นบาท แต่เป็นของตัวเองแค่ครึ่งเดียวที่เหลือแม่ยืมมาให้ ผมโชคดีในเรื่องลูกค้า หินที่ลงเรือไปขาย มีผู้ซื้อเยอะจนส่งไม่ทัน ต้องวิ่งรถกลางคืนบ้าน มีรถ 6 คัน แต่เดือนนึงชนไป 2 แล้ว ก็เริ่มแย่ จนในที่สุดต้องคืนรถไป
เริ่มทำรับเหมา : เจ้าของโรงโม่ ชวนให้ไปทำรับเหมากับกรมทางฯ เป็นผู้รับเหมาขนส่งวัสดุ เริ่มซื้อรถเข้ามาวิ่ง พองานเยอะ วิ่งงานไม่ทัน ต้องเพิ่มกะกลางคืน ก็ประสบกับเรื่องอุบัติเหตุอีก เมื่อทุนไม่ดี แล้วยังเจอเหตุการณ์แบบนี้ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องเงิน
ได้รับโอกาส : อยู่ช่วงหนึ่งงานของกรมทางฯ ที่เป็นงานก่อสร้าง งานบำรุง ขนาดเล็ก ไม่มีผู้รับเหมาที่มีขนาดเหมาะสมลงมาทำ กรมทางฯ เลยเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาขนส่งวัสดุชั้นหนึ่ง ขึ้นไปทำเข้ามาทำ ผมจึงไปซื้อรถเกรดถนนเก่าๆ มาคัน แล้วเริ่มทำงานรับเหมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อัตราการขยายเครื่องจักรก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นผู้รับเหมาที่รับช่วงต่อมาอีกที ก่อนจะเริ่มมาจดทะเบียนเป็นผู้รับเหมาของกรมทาง เริ่มจากระดับชั้น 4 ที่รับงานขนาดเล็กสุด มูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท แรกๆ โอกาสการได้งานยังน้อยมาก ต้องไปเป็นผู้รับช่วงต่อจากบริษัทใหญ่ๆ ก่อน งานแรกที่ทำคือถนน เส้นโคกตูมทะลุสายที่ไปเพชรบูรณ์ จากนั้นก็ไปทำเส้น วังม่วง – ท่าหลวง
พลิกวิกฤติ : เมื่อขึ้นเป็นผู้รับเหมาชั้น 2 เป็นปีที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ผมไปทำโรงงานผสมแอสฟัลท์ติกคอนกรีต หลายๆ คนคิดว่าเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี งบการก่อสร้างก็ไม่น่าจะมีเยอะ ส่วนผมกลับลงทุนเพิ่ม มันเป็นเรื่องที่ขัดกับความรู้สึก แต่เหรียญมันมีสองด้าน ต้องคิดถึงอีกด้านหนึ่งด้วย เมื่อกรมทางฯ มีเงินน้อย แต่ถนนยังต้องให้รถวิ่ง กรมทางฯ มีลักษณะงานอยู่สองอย่างคือ ก่อสร้าง และ บำรุงรักษา ตามหลักการคือ เมื่อมีเงินน้อย ก็ต้องหยุดการก่อสร้าง แล้วมาใส่ในเรื่องการบำรุงรักษา เป็นงานรับเร็วจ่ายเร็ว ตลอดทั้งปีผมทำงาน 11 เดือน
ธุรกิจโต ลูกโต : เมื่อธุรกิจเจริญเติบโตขึ้น พร้อมๆ กับความเจริญเติบโตของลูกๆ ด้วย เราคิดจะยึดงานนี้เป็นอาชีพ จึงกำหนดทิศทางว่าลูกๆ ควรจะเรียนอะไร เพราะปัญหาอย่างหนึ่งที่เราเจอคือ บุคลากร พี่สาวคนโตให้ไปเรียนบัญชี ส่วนน้องชายให้ไปเรียนวิศวะ แต่พอจริงๆ พี่สาวไม่อยากเรียนบัญชี ขอไปเรียนวิศวะกับน้องด้วย เหตุผลคือจะได้ไปดูแลน้อง ทำให้ผมปฏิเสธไม่ได้ พอลูกเรียนจบ ก็คิดว่าเรามีบุคลากรเพิ่มเติม น่าจะพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาได้ แต่ลูกสาวขอไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านบริหารที่อเมริกา ส่วนลูกชายไม่อยากไปก็เริ่มทำงานเลย แล้วไปเรียนปริญญาโทกับมหาวิทยาลัยบูรพาที่มาเปิดสอนที่สระบุรี สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจก็คือ เขาเรียนเก่งจนอาจารย์ที่สอนขอตัวไปเป็นอาจารย์ แต่ผมก็ต้องปฏิเสธไป เพราะต้องทำธุรกิจ แต่เขาก็ยังได้เป็นติวเตอร์ เป็นอาจารย์พิเศษ นั่นทำให้ผมคิดได้ว่า เด็กผู้ชาย จะเรียนดี เมื่อรู้สึกว่าโตแล้ว แต่ถ้ายังเล็กๆ ไม่มีวุฒิภาวะ ยังสนุกกับการเที่ยวเตร่ เรื่องเรียนคงยาก ที่เข้าใจก็เพราะว่า ถ้าเทียบกันแล้ว ผมดื้อกว่าลูกอีก
คิดต่าง : ผมคิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่น เกือบทุกคนจะคิดว่า เมื่อแก้ปัญหาจบ จะเกิดความภาคภูมิใจ แต่สำหรับผมมันไม่จบ ต้องคิดต่อไปว่า ถ้าปัญหามาอีก แบบที่รุนแรงกว่า เราจะทำอย่างไร ปกติแล้วตำแหน่งผู้จัดการ ต้องแก้ปัญหาเก่ง เขาถึงจ้าง แต่ถ้าเราคิดเลยไปอีก เราก็น่าจะดีกว่าเป็นผู้จัดการ ถ้าผมคิดแบบคนอื่น ก็คงไม่มีวันนี้
สู้เพราะเป็นหนี้ : เมื่อราวเกือบยี่สิบปีก่อน ผมเป็นหนี้นอกระบบเยอะมาก ดอกเบี้ยสูงมาก ทำได้เท่าไหร่ก็ให้เขาไปหมด จนไม่มีใครเคยคิดว่าผมจะใช้หนี้ได้หมด ต้องมีการเจรจาต่อรองลดดอกเบี้ย เงินต้นก็ยังสูงอยู่ แต่ธุรกิจก็พอจะเดินต่อได้ มีแต่คนมาแนะนำว่าให้เลิก เพราะมองภาพรวมแล้วมันไม่มีโอกาสที่จะรอดได้เลย แต่ผมบอกว่า ผมเลิกไม่ได้ เพราะอาชีพผม มีแค่บาทผมทำเป็นหมื่น ถึงธุรกิจจะไม่ค่อยดี ก็ยังมีเครดิตอยู่ แต่ถ้าเลิกไปแล้วผมจะไม่เหลือเครดิตอะไรเลย และ ความสัมพันธ์กับหน่วยราชการต่างๆ ก็จะหายไป แล้วเงินต้นที่เป็นหนี้ จะใช้คืนได้อย่างไร ผมก็ดื้อทำมาตลอด แรงผลักดัน ก็คือ ยังมีความหวังว่าสักวัน ถ้าเราได้งานใหญ่ๆ สักงาน ผมก็น่าจะปลดหนี้ได้
อยู่ได้เพราะสายสัมพันธ์ : ไม่มีโรงแอสฟัลท์ติกไหนกล้าพูดว่า ทั้งปีทำงาน 11 เดือน เพราะปกติจะเปิดก็เมื่อมีงาน เสร็จงานก็ต้องหยุด แต่ผมทำได้เพราะตั้งแต่เมื่อเป็นผู้รับเหมาขนส่งวัสดุ ได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ซึ่งเมื่อผมโตขึ้นเขาก็โตขึ้นด้วย อายุมากกว่าผมเป็นสิบปี แต่เราเที่ยวด้วยกัน เป็นเพื่อนกันหมด ทำให้ผมกลายเป็นผู้ประสานระหว่างเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยซึ่งอายุใกล้ๆ กันกับผม กับเจ้านายเขาที่เราสนิทกันอยู่แล้ว ข้อด้อยทางอายุกลายเป็นข้อดี เป็นแต้มต่อที่ดี ผู้ใหญ่ก็เอ็นดูเด็ก
เจ็บป่วยหนัก : ช่วงอายุ สี่สิบกว่าๆ ผมป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ล้างไตอยู่ประมาณสี่ปีกว่าๆ หมอก็บอกว่าถ้าไม่เปลี่ยน คงอยู่ได้ไม่นาน ลูกๆ ทุกคนก็ยินดีให้ แต่ผมไม่เอา เพราะรู้ว่าถ้าเขาให้ผมแล้ว ในอนาคตการใช้ชีวิตจะลำบาก จนในที่สุดผมก็ได้เปลี่ยนไต ทำให้ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ
ฟื้นตัวเร็วเพราะกีฬา : ผมเชื่อว่าคนกีฬาที่เล่นหนักๆ จะเกิดระบบการรักษาตัวเองได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้เล่นกีฬา เมื่อตอนเปลี่ยนไต หมอบอกให้พักสามเดือน เพราะกลัวการติดเชื้อ แต่ผมนอนอยู่แค่อาทิตย์เดียว ก็ลุกไปทำงานแล้ว ครั้งสุดท้ายลำไส้ใหญ่แตก ต้องผ่าตัด เข้าโรงพยาบาลวันศุกร์ เสาร์หน้าออก อาทิตย์นอนอีกวัน จันทร์ไปทำงาน หลักการคิดของผมก็คือ อวัยวะทั้งหมด หัวใจเหมือนเครื่อง ร่างกายคือโครงสร้างรถ ถ้าเครื่องติดได้ ถึงรูปลักษณ์ภายนอกจะดูไม่สวย แต่ก็ไปได้ พ้องกับคำว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว
ตัวเล็กใจสู้ : ตั้งแต่อนุบาลผมก็เตะฟุตบอล ตีกระบี่กระบอง แต่กีฬาที่ชอบที่สุดคือ เบสบอล พอมาอยู่ สระบุรีวิทยาคม ผมเป็นหัวหน้าทีมบาสฯ แข่งชนะที่ 1 ของจังหวัด เป็นหัวหน้าทีมวอลเลย์บอล ได้ที่ 2 ตอนที่อยู่โรงเรียนมิตรภาพ มีคัดตัวนักบาสฯ ด้วยการวิ่ง, กระโดดขีดชอล์ค วิ่ง ผมชนะที่ 1, กระโดดขีดชอล์ค ก็ทำได้สูงกว่าคนอื่น แต่ตัวผมสูงแค่ 138 ซม. ขณะที่นักกีฬาต้องสูง 140 ซม. ขึ้นไป เขาก็ไม่รับ ทำให้ผมเดินร้องไห้ออกมาเลย แต่หลังจากนั้นอีกสองวันเขาก็มาตามให้ไปเป็นหัวหน้าทีม ตำแหน่งที่เล่นคือ การ์ด กับ เซ็นเตอร์ ปกติต้องโดดสูงที่สุด และมีไหวพริบ ผมก็เล่นกีฬาจนจบ ม.ศ. 5 และยังไปเป็นนักบาสฯ ของทีมโรงเรียนจีน เคยไปแข่งงานฤดูหนาวที่ลพบุรี โดดขึ้นไปแล้วโดนเข่าเสียบ ร่วงกลางอากาศเลย เพราะตัวไม่สูง แต่พยายามโดดให้สูง เวลาลงก็กระแทกหัวเข่าสะสมมาเรื่อยๆ ทำให้มีปัญหาเรื่องปวดหัวเข่าส่งผลมาถึงตอนนี้
กอล์ฟ : ผมเล่นกอล์ฟเพราะข้าราชการกรมทางฯ ชักชวนให้ไปเล่น ผมซ้อมอยู่สามวันแล้วไปแข่งที่สนามหัวหิน เป็นรายการของกรมทางหลวงแข่งกับรถไฟซึ่งเป็นเจ้าภาพ แข่งครั้งแรกผมก็ได้รางวัลที่ 3 ไฟลต์ ซี อาจเป็นเพราะคนเล่นยังน้อย และเราก็เล่นกีฬามาตลอด ทักษะต่างๆ จะเข้าใจได้เร็ว สมัยนั้นหัดกอล์ฟเอง เพราะยังไม่มีโปร อาศัยตีไกลเลยได้เปรียบบ้าง ส่วนการเล่นกอล์ฟจะขึ้นอยู่กับฐานะ ช่วงไหนไม่ค่อยมีก็ห่างไปบ้าง
ดูแลตัวเองน้อย : ผมมักถูกต่อว่า เรื่องการดูแลตัวเอง เพราะผมเคยเป็นประธานกู้ภัยสว่างรัตนตรัยฯ แล้วงานกู้ภัยส่วนใหญ่จะมีตอนกลางคืน เลยทำให้ผมนอนเที่ยงคืนกว่า ตื่นตีห้าทุกวัน เพื่อคอยฟังรายงาน แรกๆ ฟังเพราะอยากรู้ ต้องเรียนรู้ แต่หลังจากที่รู้แล้วก็พบว่า กู้ภัยต่างๆ มักจะมีปัญหากัน เวลามีอะไรก็จะโทรมาหาตอนกลางคืน ผมก็คอยแก้ปัญหา ไม่ได้หลับไม่ได้นอนกัน ทำให้คนรอบข้างเป็นห่วงกับสุขภาพของผม
งานเพื่อสังคม : ผมทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด หลากหลายตำแหน่งหน้าที่ ได้รับเชิญให้ไปเป็น กต.ตร. (คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ) อ.เมือง สระบุรี, กต.ตร.จังหวัด, ที่ปรึกษาผู้บัญชาการภาค 1, ประธานผู้ประนีประนอม ศาลแรงงาน ภาค 1, ผู้ประนีประนอมศาลจังหวัด และด้านอื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ ถ้ามาไล่เรียงงานทั้งหมดที่ผมทำมันหลากหลายมิติมาก อย่างการไปทำงานศาลฯ นับเป็นความภูมิใจมาก เพราะได้ทำงานภายใต้พระปรมาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเมื่อไปทำงานศาลฯ ทุกคนให้เกียรติซึ่งกันและกัน เวลาไกล่เกลี่ย ต้องใช้ประสบการณ์ ความคิด การสังเกต ใช้เทคนิคทุกอย่างให้คู่กรณีตกลงกันได้ โดยไม่ต้องส่งเรื่องขึ้นไปถึงศาล ถ้าเราทำสำเร็จก็มีความสุข
ให้คนรู้จักที่ผลงาน : ผมคิดว่า ถ้าประชาชนรู้จักเราเพราะผลงาน ดีกว่าที่จะไปใส่เสื้อที่มีตราหน่วยงาน ให้คนเขารู้จักเรา อย่างงานที่ร่วมทำกับตำรวจ ผมจับงานการแก้ไขปัญหาจราจร สายถนนพิชัย เมื่อก่อนรถจะจอดสองข้าง ทั้งๆ ที่มีป้ายห้ามจอด วันคู่ วันคี่ ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดอย่างหนัก เราก็ต้องใช้ข้อบังคับของกฎหมายมาบังคับใช้ให้เกิดผล ผมต้องไปยืนทุกวันในช่วงเย็น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ คลี่คลายปัญหาจราจรได้ จนเราได้รับรางวัลที่ 1 ของภาค
คติประจำใจ : เมื่อก่อนผมเคยยึดมั่นก็คำร้องของบทเพลงว่า ต้องสู้ๆ ถึงจะชนะ… แต่ตอนหลังมายึดคำว่า “เวลาดีให้แหงนมอง ดูท้องฟ้า เวลาด้อยค่า ให้ก้มหน้าดูดิน” หมายถึง เวลาที่เราเงยขึ้นไป ท้องฟ้ามันสูง เราก็อยากขึ้นสูงไปอีก, แต่เวลาที่ไม่ดี เราก้มหน้า มองลงไปข้างล่าง ดูว่าคนที่ลำบากกว่าเรา ยังมีอีกตั้งเยอะแยะ เราก็จะไม่เสียกำลังใจครับ