Just Say Know

บริจาคเลือดเติมเข้าคลังกันเถอะ

บริจาคเลือดเติมเข้าคลังกันเถอะ

จากข่าวอาการป่วยของพระเอกหนุ่ม ปอ ทฤษฏี สหวงศ์ ทำให้ความตื่นตัวในเรื่องของการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้เลือดออก ที่ผู้เกี่ยวสข้องด้านสาธารณสุข เพียรบอกกล่าวมานาน ประสบผลได้เร็วขึ้น มีข้อมูลความรู้ความเข้าใจ วิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกออกสู่ประชาชน ในหลายๆ ช่องทาง ทั้งทาง โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็ปไซต์ รวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ ด้วย  และอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้หลายคนให้ความสำคัญ และกระตือรือร้นมากขึ้นก็คือการ บริจาคโลหิต

จากจุดเริ่มต้นที่หลายๆ คนต้องการบริจาคโลหิต เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่เรารู้จักแบบระบุผู้รับโดยตรง แม้ว่าจริงๆ แล้วเลือดที่บริจาคไปนั้นจะไม่ได้ส่งไปถึงคนที่เราระบุโดยตรง แต่ก็ทำให้ยอดการบริจาคโลหิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดีต่อผู้ที่เราระบุ และผู้ป่วยที่ต้องการเลือดรายอื่นๆ ด้วย เพราะกรณีที่ผู้ป่วยคนดังกล่าวต้องการใช้เลือด แต่เลือดชนิดนั้นมีอยู่ในคลังเลือดน้อย การบริจาคแบบระบุผู้รับซึ่งมักจะระบุชนิดเลือดที่ต้องการด้วย นั่นก็เป็นการไปเพิ่มเติมเลือดชนิดที่มีอยู่ในคลังเลือดน้อยให้มากขึ้นจากยอดรับบริจาคปกติ และจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้รับเลือดชนิดนั้นอย่างเพียงพอด้วย โดยในกรณีนี้ โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาอาการอยู่ จะเบิกโลหิตมายังศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ซึ่งทางศูนย์ฯ จะจ่ายโลหิตสำรองในคลังเลือดให้ไป ส่วนโลหิตที่ผู้บริจาคระบุมาถูกทดแทนเข้าไป โดยไม่มีการระบุถุงโลหิตว่าจะจ่ายให้ผู้ป่วยคนใด

สำหรับโลหิตที่ได้รับการบริจาคมา ก่อนจะนำไปให้ผู้ป่วยนั้น ก็ต้องผ่านขึ้นตอนต่างๆ มากมาย ซึ่งเริ่มจากต้องผ่านการตรวจตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือ การตรวจหาหมู่โลหิตระบบ ABO และ Rh, ตรวจไวรัสตับอักเสบบี, ตรวจไวรัสตับอับเสบซี, ตรวจไวรัสโรคเอดส์ และตรวจเชื้อซิฟิลิส จากนั้นยังต้องนำโลหิตไปแยกส่วนประกอบเพื่อให้เหมาะสม และใช้ได้ตรงตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเม็ดโลหิตแดง นำไปให้กับผู้ป่วยที่เสียโลหิตโดยฉับพลันและให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจาง, เม็ดโลหิตขาว นำไปให้กับผู้ป่วยที่มีเม็ดโลหิตขาวต่ำ เพื่อเสริมความต้านทานในการฆ่าเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย, เกล็ดโลหิต นำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกไม่หยุด ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และโรคไขกระดูกฝ่อ และพลาสมาหรือน้ำเหลือง ใช้รักษาผู้ป่วยที่ถูกน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ได้ดี ในพลาสมามีโปรตีนอยู่หลายชนิดที่สำคัญและแยกใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เช่น แอลบูมิน ใช้ในการรักษาโรคที่ขาดโปรตีน เช่น โรคบวม โรคตับ โรคไตบางชนิด และโรคขาดสารอาหารในเด็ก, อิมมูโนโกลบูลิน ใช้รักษาและป้องกันโรคติดต่อต่างๆ เช่น โรคอีสุกอีใส โรคตับอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า ไครโอปรีซิปิเตท ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด, สารโปรตีนไฟบรินโนเยน ใช้ในผู้ป่วยที่มีบาดแผลแล้วเลือดไหลไม่หยุด เป็นต้น

แม้ว่าจะมีผู้บริจาคมาก แต่ด้วยอัตราส่วนในการใช้งาน ผู้ให้ต่อผู้รับที่แตกต่างกันมาก โดยปกติผู้ป่วยคนหนึ่งจะใช้ครั้งหนึ่งประมาณ 6 ยูนิตขึ้นไป อาจจะถึงเป็นสิบๆ ยูนิตในบางกรณี (1 ยูนิต ได้มาจากผู้บริจาค 1 คน) บวกกับข้อจำกัดในการเก็บรักษา โดยเฉพาะเกล็ดเลือดนั้นมีอายุแค่ 5 วัน เก็บสำรองไว้ไม่ได้นาน หมดอายุก็ต้องทิ้ง ทำให้การหาเลือดเข้าสำรองในคลังนั้นก็สำคัญ ที่จะเพียงพอและทันท่วงทีในการรักษาผู้ป่วย

จนถึงขณะนี้คาดว่าการต้องการเลือดของ คุณปอ ทฤษฏี น่าจะคงทีแล้ว แต่เรายังคงไปบริจาคเลือดเพิ่มเติมที่สภากาชาดได้โดยไม่ต้องระบุผู้รับ เพื่อให้เลือดในคลังมีพอต่อความต้องการใช้อยู่ตลอดเวลา ยิ่งโดยเฉพาะอีกไม่นานนี้ จะเข้าสู่เทศกาลหยุดยาวแล้ว เป็นช่วงที่มีสถิติความต้องการเลือดสูงจากอุบัติเหตุต่างๆ ยิ่งถ้าบริจาคเลือดกันเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ จะได้ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนเลือดในยามฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี

    ที่มา : www.redcross.or.th , bloodbank.md.kku.ac.th, yrh.moph.go.th