นภัทร ภัทร์ธรเอก
นภัทร ภัทร์ธรเอก
NP SALLMON BALL
“ชีวิตนี้ไม่เคยมีเงินเดือน ไม่เคยมีงานประจำเลยค่ะ”… คุณนภัทร เปิดประเด็นชีวิต ถึงความเป็นหญิงแกร่งแขกรับเชิญของฉบับนี้
“ครอบครัวเรามีเชื้อสายจีน นภัทร เกิดมาก็เป็นลูกสาวแม่ค้า” ด้วยความเป็นลูกสาว คุณพ่อเลยไม่สนับสนุนให้เรียนหนังสือ “พอจบ ม.3 เตี่ย อยากให้ออก ไม่ส่งเรียน อยากให้มาช่วยงานบ้าน ถึงเวลาก็แต่งงาน แล้วออกไปสร้างครอบครัว” เธอเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวในอดีตที่ทำให้พลิกชีวิตจนเดินทางมาไกลเกินคาดฝัน
ด้วยความอยากเรียน แต่พ่อไม่ส่ง ก็ต้องหาทุนเรียนเอง แล้วความรู้แค่นี้ ถ้าไปทำงานเงินเดือนคงได้นิดเดียว หารเฉลี่ยแล้วคงได้ไม่เกินวันละสองร้อย แล้วไหนจะค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก อย่าว่าแต่จะไปเรียนต่อเลย เอาแค่เลี้ยงตัวเองก็ยากแล้ว
“นั่นคือจุดเริ่มของการคิดใหม่ ทำใหม่ ของนภัทร ว่าการจะหาเงินให้ได้อย่างน้อยสองร้อยบาท ไม่จำเป็นต้องไปทำงานประจำ แค่ไปรับของโน่นนี่มาขาย แบบที่เห็นกันตามฟุตบาท ตามแผง เราทำมาหมดแล้ว รายได้ต่อวันก็ทะลุห้าร้อยบาท เดือนนึงได้เป็นหมื่น ไม่ต้องมีค่าแต่งตัว ไม่มีค่าเดินทาง ตกเย็นยังไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่ได้อีกค่ะ” ชีวิตเส้นทางใหม่ได้เริ่มมีหนทางให้ไปต่อได้อีกครั้ง
พอได้วุฒิ ม.6 เธอก็เริ่มเก็บตังค์เรียนต่อ บัญชี ภาคค่ำ ปวส. “เป้าหมายตอนนั้นไม่ได้มีอะไรเลย นอกจากอยากเรียน ในเมื่อเตี่ยไม่ส่ง ก็ขอส่งตัวเองเรียน แถมระหว่างไปเรียนยังเป็นแม่ค้า ซื้อทองมาให้อาจารย์ที่สอนผ่อน จนเรียนจบ แต่ก็ต้องหยุดเรียนไปหลายปี เพื่อทำงานเก็บเงินไว้เตรียมเรียนต่ออีก”
ตามปกติเมื่อจบ ปวส. ไปต่อปริญญาตรี จะใช้เวลาแค่ 2 ปี แต่เธอใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะจบ เพราะต้องเรียนๆ หยุดๆ “มีทุนก็ไปเรียน ไม่มีก็หยุดพักไว้ก่อน ป่วย ก็หยุดเรียนอีก ในที่สุดก็เรียนจนจบ” คุณนภัทรเล่าถึงการเรียนแบบทรหดและอดทน
แต่เมื่อจบปริญญาตรี การจัดการทั่วไป จนจะได้รับปริญญา ก็มีเรื่องให้เสียใจเล็กน้อย.. “ไปบอกพ่อแม่ ว่าเรียนจบแล้ว แต่ไม่มีใครเชื่อ เพราะไม่เคยรู้ว่าลูกเรียน” คุณนภัทรจึงน่าจะเป็นบัณฑิต เพียงคนเดียว ในสวนอัมพร ที่ไปรับปริญญาตามลำพังโดยไม่มีญาติมาร่วมแสดงความยินดีเลย
จนเมื่อใกล้เวลาเข้าหอประชุม พ่อแม่ก็มาถึง แล้วถ่ายรูปด้วยกันแค่ไม่กี่รูป…
“คนข้างบ้านไปถามว่า ทำไมไม่ไปงานรับปริญญาลูก ท่านถึงได้มางานกัน มาถึงในนาทีสุดท้ายพอดี เป็นคนอื่นคงร้องไห้ไปแล้ว แต่สำหรับเราตอนนั้น มันชาจนไม่รู้สึกอะไร”…
คุณนภัทร เข้าวงการวิทยุจากไม่มีความรู้อะไรเลย เรียกว่าเริ่มจากศูนย์จริงๆ “ไปถามเค้าว่า ทำไงถึงจะจัดรายการวิทยุได้ พอรู้ว่าต้องไปขอซื้อเวลาจากสถานีวิทยุชุมชนก่อน ก็ติดต่อซื้อเลย แล้วก็เริ่มจัดรายการ ศึกษาว่าเขาทำกันอย่างไร เตรียมตัวแบบไหน เขียนสคริปเอง หาคอนเทนท์เอง ทำทุกอย่างเองหมด” นี่คือการเริ่มงานสายวิทยุแบบวิ่งสู้ฟัดของแท้
“จัดใหม่ๆ เราทำรายการได้แข็งมาก จนมีคนทักว่า นภัทรไม่เหมาะกับอาชีพนี้ ให้ไปทำอย่างอื่นดีกว่า” แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ ค่อยๆ ถาม ค่อยๆ ศึกษา ค่อยสะสมความรู้ จนมีใบประกาศ มีใบอนุญาต ครบตามมาตรฐาน และในที่สุด คุณนภัทรก็จัดรายการจนได้รับรางวัล เป็นบุคคลดีเด่น สาขาวิทยุกระจายเสียง มีหลายรายการ เช่น OTOP อาชีพเพื่อคนไทยวันนี้ ซึ่งถือเป็นรายการที่เกี่ยวกับ OTOP ตั้งแต่ยุคแรกๆ เลย, โตไม่หยุด ฉุดไม่อยู่, เคล็ดไม่ลับ กับ นภัทร ฯลฯ จนเมื่อได้มีโอกาส นำ OTOP อาชีพเพื่อคนไทยวันนี้ จากรายการวิทยุ ให้เป็นรายการทีวี เธอก็ตอบรับทันที “เพราะเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้จัก และอยากรู้จัก ประกอบกับช่วงนั้นเริ่มอิ่มตัวกับรายการวิทยุพอดี จนได้ผลิตรายการทีวีแนวสารคดีเกี่ยวกับชุมชนออกมา โดยต้องทำเองทั้งหมดเกือบทุกอย่าง”
“การได้อยู่กับชุมชนเป็นจิตวิญญาณของเราอย่างหนึ่ง ได้เห็นตัวตนของแต่ละคน ได้เข้าไปคลุกคลี ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ได้เห็นผู้ผลิตที่แท้จริงซึ่งเป็นรากเหง้าจากต้นทาง ซึ่งปกติแล้ว เราจะเห็นแค่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นปลายทาง เป็นงานที่ทำแล้วมีความสุขมากที่สุด” ด้วยเหตุนี้ทำให้ คุณนภัทร มีความผูกพันกับเรื่องของชุมชนมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเหตุให้ได้เข้ามาเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหิดล
“คิดว่าตัวเองน่าจะไปต่อได้อีก ตอนนั้นก็ทำงาน วิทยุ โทรทัศน์ อยู่แล้ว พอดีมีรุ่นพี่มาแนะนำว่า เนื้อหาที่เราทำอยู่นั้น ตรงกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เปิดสอน (สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย) ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบว่า มหิดลไม่ได้มีหน้าที่แค่เพียงผลิตหมอรักษาคนไข้ แต่ยังได้ผลิตหมอที่รักษาชุมชนอีกด้วย”
ทั้งๆ ที่ตัวเองรู้สึกว่ายังไม่พร้อมสำหรับที่นั่น แต่เธอก็พยายามเตรียมตัวไปให้ดีที่สุด จนสอบผ่านเข้าไปเรียนได้ ก็รีบโทรไปบอกแม่เป็นคนแรกด้วยความดีใจ และได้รับคำอวยพรกลับมา และนั่นคือกำลังที่สำคัญที่ผลักดันให้ไปต่ออีกขั้น
“เราต้องการทำให้เห็นว่า ที่บอกว่าอยากเรียน คืออยากเรียนจริงๆ ไม่ใช่แฟชั่น หรือแค่ตามเพื่อน อยากพิสูจน์ตัวเอง ถึงแม้จะไม่ได้รับความช่วยเหลือก็ไม่ว่าอะไร แต่จะเรียนให้จบ จะทำให้ได้”
แต่ชีวิตก็ไม่ได้เรียบหรู เพราะเธอต้องต่อปริญญาโทแบบ เรียนไปร้องไห้ไป… “เรียนก็หนัก แต่ทำงานยิ่งหนักกว่าอีก เราไม่มีงานประจำ ทำให้ต้องวิ่งหางาน แล้วบริหารให้รอด”… เพราะเรื่องเรียนไม่ได้จบแค่ในห้องเรียน ยังมีงานให้ทำต่ออีก ต้องลงพื้นที่ ออกต่างจังหวัด
“อีกแค่ไม่กี่เดือน รถที่ใช้ประจำอยู่จะผ่อนหมด แต่ก็ต้องยอมปล่อยให้ถูกยึด เพราะไม่ได้ส่งเลยหลายเดือน เราต้องไปทำวิจัย ถ้าไม่ไปก็ไม่จบ อะไรที่เฉือนทิ้งได้ก็ทิ้งไป มาถึงขนาดนี้แล้วยังไงก็ต้องเลือกเรียนให้จบก่อน ทรัพย์สินนอกกายอย่างอื่นเดี๋ยวหาใหม่ได้”
“แรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้เราเรียนจบมาได้คืออาจารย์ผู้สอน (ดร.พัชร สุวรรณภาชน์) ท่านให้กำลังใจ และพูดอยู่เสมอว่า ผมเชื่อว่า นภัทร ทำได้ ค่อยๆ คิด ตั้งสติ”
“เมื่อก่อนเคยคิดว่าชีวิตนี้เคยติดลบมาตลอด แต่พอเรียนจบคิดว่าทุกอย่างในชีวิตคือกำไรหมดเลย เพราะมันเกินความคาดหวัง ชีวิตนี้ไม่มีอะไรจะเสีย สิ่งที่เราทำมา มีแต่ได้กับได้”
ด้วยความเป็นห่วง พ่อแม่อยากให้ไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือ อยากให้มีงานประจำ เพื่อความมั่นคง เธอก็ไปสมัครให้ท่านเห็น แต่บอกว่า “ไม่ทำนะ เพราะชีวิตนี้ไม่ต้องการ ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ต้องการเลี้ยงชีวิตให้รอด พร้อมจะดูแลพ่อแม่ได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี” นั่นคือความสำเร็จในแบบของเธอ
นอกจากทำงานทางด้านวิทยุโทรทัศน์แล้ว คุณนภัทร ยังเป็นนักเขียนให้กับกระทรวงมหาดไทย เป็นเรื่องเกี่ยวกับชุมชนเช่นเดียวกัน แต่เมื่อทำงานที่เริ่มซ้ำๆ จนรู้สึกว่า อยากหาอะไรที่เป็นเรื่องแปลกใหม่บ้าง และเป็นคนชอบประวัติศาสตร์มาก จึงเริ่มเขียนเรื่องลงในเฟสบุ้คของตัวเอง เป็นการเล่าเรื่องราวในอดีต โดยต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อน และ ไปดูสถานที่จริง ถ่ายรูป แล้วเอามาเล่า จนมีแฟนคลับบอกว่า “นภัทร เล่าเหมือนกับเขาได้ตามไปเที่ยวด้วยตัวเองจริงๆ และคอยติดตามว่าเมื่อไหร่จะลงเรื่องใหม่อีก”..
และโครงการล่าสุด เป็นการสานฝันของตัวเธอเอง นั่นคือการทำรายการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ “ตั้งใจทำเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน จุดประกายให้คนได้เห็นความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยของเรา เมื่อทุกคนมีความรักประเทศชาติ ความสามัคคีก็ย่อมเกิดขึ้น จุดประสงค์สำคัญก็คือ ให้คนได้ดูได้เห็นรายการที่เรานำเสนอ แล้วเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่จริงบ้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความผูกพันกับชาติบ้านเมืองได้อีกทางหนึ่งค่ะ”
เมื่อเป็นผู้หญิงทั้งเก่งและแกร่ง บางครั้งต้องสู้กับศึกรอบด้าน ปัญหาที่รุมเร้าย่อมมีมากเป็นธรรมดา…
“ช่วงเครียด หรือไม่สบายใจ จะเดินเข้าครัว เข้าไปอยู่ในนั้นได้เป็นวัน ออกมาหายเครียด ชอบตำน้ำพริก ทำน้ำยาลูกชิ้นปลาแซลมอน ทำเสร็จก็แจกจ่ายให้เพื่อนๆ แล้วก็ฝันว่า สักวันจะได้เปิดร้านอาหารใหญ่ๆ แต่ไม่ใช่ใช้ธุรกิจนำหน้า ต้องการให้คนได้กินของอร่อย ของดีมีคุณภาพ ในราคายุติธรรม”
เพราะความชอบทำอาหาร ชอบทำกับข้าว เธอเลยสนใจอยากจะลองทำลูกชิ้นปลาแซลมอน คนก็ชอบกินปลาชนิดนี้กันมาก เมื่อทดลองทำจนได้สูตรที่ลงตัว และเริ่มผลิตออกมาจำหน่าย ก็ได้กระแสตอบรับที่ดี จึงเริ่มผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยช่องทางในโซเชี่ยล และประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปากจนเป็นที่รู้จัก
“วันหนึ่งมีเพื่อนกำลังจะออกจากงาน แล้วเขารู้สึกกลัวว่า เมื่อไม่มีเงินเดือนแล้วจะอยู่ได้ยังไง ซึ่งเราก็บอกกับเขาว่า ถ้าเรื่องแค่นี้ทำให้ตาย เราตายไปก่อนเขานานแล้ว เพราะชีวิตนี้ไม่เคยมีเงินเดือน อย่าไปกลัว ก็เลยทำน้ำส้มไปให้เขาชิม เพื่อจะเป็นไอเดียว่า ถ้าทำดี ทำอร่อย ต้องขายได้ แล้วเพื่อนๆ ก็เริ่มบอกต่อ สั่งซื้อขยายวงไปเรื่อยๆ ยอดขายก็เพิ่มขึ้น จนกลายมาเป็นผลิตเพื่อขายส่งไปเลยค่ะ” เธอพูดถึงโอกาสที่สร้างขึ้นได้เสมอ…
และหลังจากได้ข้อคิดดีๆ มามากมายจากบทสนทนาข้างต้น คุณนภัทร ยังได้ฝากบทสรุปของเธอไว้อย่างน่าสนใจทิ้งท้าย…
“ถึงแม้หนทางอาจจะไม่ราบเรียบ เต็มไปด้วยอุปสรรค แต่มันก็มีทางไปเสมอ และไม่ว่าเราจะเป็นใคร จะทำงานอะไร หรือมีต้นทุนชีวิตแค่ไหน มันไม่สำคัญเท่ากับว่า เราจะทำให้ชีวิตตัวเอง มีประโยชน์ ต่อตัวเราเอง ต่อครอบครัว ต่อคนอื่นอย่างไร ดังนั้นขอให้ใช้ชีวิตที่มีอยู่ตั้งใจทำความดีให้มากที่สุด เพื่อจะได้รู้ว่าก่อนตายเรามีคุณค่ากับแผ่นนี้แค่ไหนค่ะ”.