อมยิ้มริมกรีน

ว่าวป่านคม..การต่อสู้บนนภากาศ อันแสนคลาสสิก

ว่าวป่านคม..การต่อสู้บนนภากาศ อันแสนคลาสสิก

จากฉบับก่อน ผมเขียนถึง ช่วงเวลาแห่งความหฤหรรษ์หน้าร้อนของเด็กสมัยก่อน หลายคนบอก อ่านแล้ว คิดถึงความหวังสมัยยังเด็กๆ เอาไปเล่าให้ลูกหลานฟัง มันอ้าปากค้าง..อย่างนี้ก็มีหรือ

ผมมีอีกบทความหนึ่ง แห่งความหฤหรรษ์หน้าร้อนในวัยเด็ก คือ “การเล่นว่าวป่านคม”

เขียนลงใน “สยามกีฬา” (ผมหาอ่าน เช็คใน วิกิพีเดีย แล้ว แม้จะมีผู้เขียนถึง ว่าวป่านคม..แต่ก็ไม่ละเอียดเท่ากับผม ซึ่งเขียนจากความทรงจำประสบการณ์จริง) สนุก จนเสียดาย ถ้าแฟน “กอล์ฟไทม์”รุ่นเก่าแก่ รุ่นปู่รุ่นพ่อจะไม่ได้อ่าน เพื่อทบทวนความหลัง และเอาไปเล่าให้ลูกหลานฟังต่อ

เขียนแล้ว ก็อดอมยิ้มไม่ได้ เพราะ โดนแม่ฟาดด้วยไม้เรียวไม่รู้กี่ทีต่อกี่ที ทุกปีหน้าร้อน ด้วย ไม่เคยเข็ด ก็ไอ้เรื่อง ..ทำป่านคม นี่แหละ

สุดยอดว่าวของเด็กผู้ชาย คือ ว่าวป่านคม ครับ

มันคือการสร้างเครื่องบินรบ ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด เพื่อจะเป็น ผู้ยิ่งใหญ่แห่งห้วงนภากาศในถิ่นตนเอง

ตัวว่าวที่ใช้เล่น ว่าวป่านคม คือ ว่าวอีลุ้ม เป็นว่าวทรงข้าวหลามตัด มีพู่ข้างไม่มีหาง ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัว ปราดเปรียวที่สุด เหมือนเหยี่ยวอีลุ้ม (อีลุ้ม เป็นชื่อเหยี่ยวนักล่า หาปลาตามแหล่งน้ำ หาหนูตามท้องนา คนชนบทรู้จักดี)

ว่าวอีลุ้ม เพื่อการเล่นป่านคมนั้น ถือว่าเป็นว่าวพิเศษ คือถ้าไม่มีปัญญาเหลาเอง ก็ต้องซื้อโครงจาก ครูว่าว ในราคาแพงกว่าว่าวปรกติ ต้องใช้ไม่ไผ่แก่ค้างปี ที่เนื้อไม้แห้งแข็ง เหลาได้เรียว เพรียว โครงยิ่งบางเบา ปีกมีความยืดหยุ่น

มีสมดุลกินลมเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้สามารถบังคับได้ปราดเปรียวดังใจ ดังนกเหยี่ยวโฉบเหยื่อจริงๆ

เด็กสมัยก่อน เพียรพยายามที่จะเหลาโครงว่าวอีลุ้มเพื่อเล่นป่านคมเอง

โดยไปเรียนการเหลาโครงว่าว การผูกว่าวจากครูว่าว ที่ทำว่าวขาย ตามแผงว่าวท้องสนามหลวง ด้วยเป็นความภาคภูมิใจ เมื่อว่าวที่สร้างมากับมือ เหลาโครงเอง ปะแป้งเปียกกระดาษว่าวเอง ลอยผงาดอยู่ในนภากาศ

ง่ายกว่านั้น ก็ใช้การซื้อว่าวอีลุ้มตามแผงว่าว ดูตัวที่ดีที่สุด สัดส่วนดี โครงดี เอามารื้อใหม่ เหลาปีกให้บางลง ดัดให้เนี๊ยบ ใช้ด้ายหลอดตราสมอที่บางเหนียวเป็นด้ายผูกโครง แปะกระดาษว่าวใหม่ ทดสอบจนกว่าจะพอใจ ก็เหมือนกับการโมดิฟายอะไรๆให้มันพิเศษขึ้นนั่นแหละ

ว่าวอีลุ้ม เล่นป่านคม ต้องเพรียวจัด ว่องไว ขยับได้ดังใจหมาย ถ้าขึ้นไปตัวหนาๆ ทื่อๆ หนัก ป่านย้อยตกท้องช้าง ก็เรียบร้อย ขึ้นไปก็ม่อยกระรอก เป็นเหยื่อโดนตัดขาดแน่นอน

ว่าวอีลุ้ม เป็นว่าวของลูกผู้ชาย ชักขึ้นไปกินลมตรงๆ มันก็จะเชิดหัวตรงเป๊ะ กินลมนิ่งไม่มีสั่น (หากมีกินซ้ายกินขวาเล็กน้อย ก็ใช้เด็ดพู่ ภาษาโบราณเรียกว่า คัด เอา) ต้องการให้โฉบ ก็กระตุกป่าน (ให้ไปซ้ายกระตุกขวา ไปขวากระตุกซ้าย)

หัวว่าวจะเอียงไปทางที่ต้องการ พอสาวป่าน มันจะโฉบพุ่งไปพรืดๆเลย แม้แต่จะกลับหัว ปักดิ่งพุ่งลงมา เหมือนนกอีลุ้มโฉบปลาก็ทำได้ จังหวะที่ ต้องการให้ตั้งลำหัวตรง ก็กระตุกข้อมือนิดนึงแล้วจับนิ่ง อีลุ้มจะเชิดหัว ก็สาวป่านไวๆ มันก็จะขึ้นทะยานแนวดิ่งพรืดๆขึ้นไป ก็ติดลมก็ผ่อนป่าน ลอยนิ่งโดดเด่น เพื่อรับคำสั่งจากการกระตุกป่านที่นิ้วคนชักต่อไป

มีเรื่องเล่าว่า เซียนว่าวอีลุ้มเก่งๆ ยืนเล่นว่าวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถส่งอีลุ้มไปโฉบหมวกกุยเล้ย (หมวกสานปีกว้าง) คนพายเรือกลางแม่น้ำ ยังกับเหยี่ยวขยุ้มเหยื่อได้อย่างแม่นยำ อันจะต้องใช้ความชำนาญอย่างสุงสุด ที่ทำให้ ว่าวนั้น “มีชีวิต” ปฏิบัติตามใจหมายได้ปานนั้น

จากตัวว่าว ก็มาถึง ป่านคม ครับ

ว่าวประเภทอื่น เชือกด้าย ระหว่างตัวว่าวกับคนเล่น ก็เป็นเพียงสายระโยงส่งว่าวไปลอยบนฟ้าตามหลักพลศาสตร์ แต่พอเป็น “ป่านคม” ก็เป็น เชือกด้ายที่เป็นอาวุธ ในการเชือดเฉือน ต่อสู้สัปประยุทธกันบนฟ้านภากาศ อันมีความพิเศษยิ่ง

ป่านคม นั้นถึงมีขาย พันกระป๋องนมไว้ตามแผงว่าว ก็แค่แป้งเปียกมารูดกับด้ายให้มีผิวสัมผัสหยาบๆเท่านั้น..กระจอก

ต้องทำเองกับมือ แบบ “สูตรใครสูตรมัน” ถึงจะสุดยอด

ความคมอยู่ที่ ผงแก้วที่ละเอียดยิบยิ่งกว่าเม็ดทราย วัตถุดิบต้องหาเอง ตั้งแต่ หลอดไฟไส้ทังสเตน ตามเสาไฟสาธารณะข้างถนน(ผิวแก้วใสบางเฉียบง่ายต่อการตำละเอียด) ไปจนถึง แก้วน้ำมะเน็ด ( สมัยก่อน มีน้ำอัดโซดาซ่าเป็นขวดขาย คนรุ่นปู่เรียกว่า น้ำมะเน็ด เพี้ยนมาจาก เลมมอนเนด น้ำมะนาวซ่า ขวดสีเขียวแก่ จุกป็นลูกแก้วกลมๆปิดกระดาษตะกั่วแน่น การเปิดใช้การตบปากขวดแรงๆ ลูกแก้วจะหล่นไปติดตรงกระเบ้าคาคอขวด รินน้ำมะเน็ดออกมากิน เด็กสมัยโน้น จะทุบขวดน้ำมะเน็ด เอาแก้วไปทำป่านคม เอาลูกแก้วมาเล่น)

การทำป่านคมนั้น ขั้นตอนสารพัด ตื่นเต้น ตั้งแต่ใช้หนังสติ๊กสอยหลอดไฟสาธารณะ ขโมยครกสากในครัวมาตำเศษแก้ว ซึ่งมีอัตราเสี่ยงสูงจากการโดนตีน่วม แต่ก็ทำกัน

ส่วนพวกที่ใช้แก้วขวด ก็ใช้เครื่องบดหนัก คือ เอาเศษแก้วในถุงผ้าขาวมัดให้แน่น แล้วไปว่าให้รถรางทับ ซ้ำสักเจ็ดแปดเที่ยว เอาไปร่อนกรองด้วยผ้าขาวบาง ก็ได้แก้วป่นยังกับแป้งพอทำป่านคมแล้ว

ต่อไปก็หา เชือกด้าย ทำป่านคม สมัยก่อนนั้น ใช้ด้ายดิบ ด้ายสายสิญจน์ ขโมยหลวงอาที่วัด สมัยใหม่มาหน่อย ก็ใช้ด้ายตราสมอ ขโมยได้จาก กล่องสังกะสีขนมปังเก็บของทำงานการฝีมือของแม่หรือพี่สาว ที่มักมีด้ายหลอดหลายหลอดเก็บไว้เสมอ (ด้ายตราสมอมีความ บางเบา และเหนียวพิเศษเพราะผสมใยสังเคราะห์โพลิเมอร์ )

ป่านคมจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่กาวเป็นสำคัญด้วย

ของเหลวข้น ที่ผสมแก้วป่นละเอียดเพื่อไปรูดกับ เชือกด้ายให้เป็นป่านคมนั้น ต้องเคลือบด้ายติดผงแก้วอย่างแนบแน่นเนื้อเดียว ต้องแห้งสนิท ละเอียดยิบ ไม่มีปมสาก (ป่านคมที่มีปมตะปุ่มตะป่ำยิบๆ เป็นจุดอ่อน เพราะถ้าทาบติดกับป่านคมคู่ต่อสู้ตรงจุดนั้น จะมีแรงตึง ทำให้กระตุกขาดฝึงตรงนั้นเลย) สูตรใครก็สูตรใคร ตั้งแต่แป้งเปียก,ไข่ขาว,กาวหนังควาย ฯลฯ

กาวหนังควาย เป็นกาวโบราณ เอากระดูกและหนังควายมาเคี่ยวละลายเป็นเจลลาตินข้น ตากแข็งเป็นชิ้นๆ เวลาใช้ ก็เอามาต้มละลาย น้ำสีน้ำตาลแก่เหนียวหนับ เหม็นตลบกลิ่นศพตายซาก ต้องทำห่างไกลบ้าน

เด็กๆที่ต้มเคี่ยวกาวหนังควายทำป่านคมใกล้บ้าน มักโดนผู้ใหญ่ไล่ตีกระเจิง เพราะกลิ่นเหม็นตลบ ไปเกาะติดมุ้ง สร้างความเดือดร้อน ผู้ใหญ่ต้องเอามุ้งไปซัก อันเป็นงานใหญ่

แม้แต่ไข่จิ้งจกตุ๊กแก ก็อยู่ในตำรา กาวป่านคม โคตรเหนียว พวกเซียนทโมนที่เชื่อสูตรนี้ ก็ลงทุนปีนขื่อ ปีนหลังคา เลาะซอกไม้กระดาน หาไข่จิ้งจกตุ๊กแกดังกล่าว

ที่สุด มันไม่ช่วยอะไร แต่จะหาเรื่องถูกตีละไม่ว่า (คงหลอกกันมากเป็นทอดๆ เพื่อให้ถูกแม่ตี)

เมื่อได้ปัจจัยครบ ผงแก้วละเอียดยิบ เชือกด้าย กาว ก็ลงมือทำ ป่านคม

หาเสาสองเสา หรือหลายๆเสา ที่มีระยะห่างกัน เพื่อการขึงป่าน ส่วนใหญ่จะเลือกเสาไฟฟ้าสาธารณะข้างทาง เพราะไม่มีใครมายุ่ง ถ้าใช้เสาราวตากผ้าในบ้าน มีสิทธิ์น้ำตาตก เพราะแม่อาละวาดทำลาย และยังตีซ้ำ(หลายกระทง) จะไปเสี่ยงทำไม

จุ่มแกนด้ายทั้งไจหลอดลงไปในกระป๋องกาวผสมผงแก้ว ผูกขึงจุดแรก แล้วใช้นิ้วชี้นิ้วหัวแม่มือ บีบเส้นป่านเบาๆ เดินถอยหลัง รูดสายป่านเคลือบกาว ระโยงไปยังเสาหลักอีกต้นหนึ่ง (พวกมือไม่ถึงกระจอก จะรูดด้วยผ้านิ่มชุบน้ำกาวผงแก้ว เพราะกลัวบาด แต่มือดีจริงๆ ต้องใช้สัมผัสของนิ้วล้วน ในการรูดป่าน ถึงจะได้ป่านคมเนื้อละเอียด เนี๊ยบที่สุด)

สายป่านยาวก็วนไปเรื่อย บรรจงทำจนกว่าจะด้ายจะหมดหลอดถอนหายใจยาวๆด้วยความภาคภูมิใจเมื่อเสร็จขั้นตอน

คราวนี้ ก็นั่งรอให้สายป่านคมแห้งสนิท เฝ้าป่านคมที่ระโยงรยางค์นั้นอย่างเดียว ไม่ต้องไปไหน จะไปฉี่อึ ก็ต้องผลัดเวรกันเฝ้า ด้วยกลัวว่า ฝ่ายตรงข้ามจะมาสอดแนมทำลาย กลัวว่านกกระจอกจะบินมาเกาะหรือชน จะเสียของเสียฤกษ์หมด

กลัวหมดแหละ แต่กลัวที่สุดคือแม่ถือไม้เรียวมาแต่ไกล ก็ต้องใช้แผนจั๊กจั่นลอกคราบ คือ วิ่งหนีแม่ไปในทิศทางอื่น ให้ไกลเสาตากป่านคม แล้วให้แม่จับตัวได้ ลงไม้เรียว ดิ้นพราดๆ น้ำหูน้ำตาไหล ทำท่าให้เจ็บที่สุดในโลก ดึงความสนใจจากแม่ให้มากที่สุด แม่จะได้ลืม ไม่เห็น เสาตากป่านคมไง

ทุกอย่างสามารถปกป้องได้หมด ยกเว้นอย่างเดียว คือ ฝนตก อันมักเป็นพายุฝนฤดูร้อน ที่มีลมพัดแรงด้วย

นั่นคือ หายนะของกระบวนการทำป่านคม เพราะ ทุกอย่างที่ทำมา จะหมดสิ้น ถ้าสายป่านเปียก กาวป่านคมก็จะละลายไปหมด.

เสี่ยงกับไม้เรียวสารพัด กลับมาตกม้าตาย เพียงแต่ฝน..น้ำตาไหลแน่นอน

การตากป่านคม ที่ระโยงเสาไว้นั้น ต้องตากแดดจัดๆสักสองวัน เพื่อให้ป่านคมแห้งสนิท ก็สามารถพันม้วนไว้กับกระป๋องนมที่ห่อกระดาษหุ้มด้านนอกไว้ดูดี ป่านคมนี้เรียกว่า ป่านคมนอก ถือว่าใช้การได้แล้ว

แต่ก็ยังมีกระบวนการเสริมแต่งอีกขั้นหนึ่ง เรียกว่า ป่านคมใน

คือการเคลือบผิวภายนอกอีกชั้นหนึ่ง โดยไม่ต้องใส่ผงกระจก บ้างก็ใช้น้ำข้าวมาเคี่ยวให้ข้นขึ้น (คนโบราณหุงข้าวเช็ดน้ำ ทุกบ้านจึงมีน้ำข้าว ที่เทออกหลังดงข้าวสวย อุดมด้วยวิตามิน คนกิน สุนัขกิน) บ้างก็ใช้ไข่ขาว เดินลูบด้วยนิ้วชี้ นิ้วหัวแม่มือรูดไปอีกรอบหนึ่ง แล้วรอจนป่านคมแห้งสนิท ก็ครบสูตรทั้งสิ้น

การเคลือบเปลือกนอกอีกชั้น มีจุดประสงค์คือ เวลาป่านคมทาบกับคู่ต่อสู้ เชือดเฉือนคมกัน เปลือกนอกที่หนากว่าจะทำให้ป่านคมคู่ต่อสู้หมดคม แล้วก็เจอป่านคมในของเราตัดขาดผึง เป็นสเต็ปต่อไปนั่นเอง

แต่ป่านคมใน ก็ใช่จะ ไม่มีจุดอ่อน คือ สายป่านแข็งกระด้างมากกว่า ไว้นานจะกรอบ น้ำหนักมากกว่า มีผิวที่ด้านขรุขระมากกว่า ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ สายป่านขาดผึง ในเสี้ยววินาทีที่ทาบกันก็ได้

บางที ป่านคมใน นั่นแหละ ที่ไปก่อน ป่านคมนอก ด้วยซ้ำ

ทุกอย่างพร้อม ก็สามารถนำ ว่าวอีลุ้มป่านคม ขึ้นสู่ท้องฟ้านภากาศได้

หากเป็นการทดสอบว่าวก่อน จะขึ้นด้วยป่านขาวธรรมดา ก็จะไม่มีใครมาวอแว ท้ารบ ถือเป็นมารยาทของนักเล่นว่าวป่านคม

แก้เอียง แก้คอซุง ให้รับลมตามที่ต้องการแล้ว ค่อยดึงเอาว่าวลง และขึ้นไปใหม่ พร้อมสายป่านคม สีของป่านคม ออกสีคล้ำ ไม่ขาว นั่นแหละคือการพร้อมแล้ว ที่จะประฝีมือสัปประยุทธกับใครก็ได้

การเล่นว่าวป่านคม สอดคล้องกับ ชื่อถิ่นวิถีไทยชนบทสมัยก่อน ตำบลชื่อเดียว บางเดียวกันนี่แหละ แต่มี บ้านเหนือ บ้านใต้ ไม่ได้หมายถึง ทิศเหนือกับทิศใต้นะ แต่หมายถึง เหนือลมกับ ใต้ลม

นักเลงว่าวบ้านเหนือ จะขึ้นว่าวป่านคม ท้าทาย บ้านใต้

นักว่าวบ้านใต้ก็จะ ขึ้นว่าวของตนเช่นกัน แต่คนชักนั้น จะเดินขึ้นมาเหนือลม ในทิศทางลมเดียวกับบ้านเหนือ

ด้วยกฎที่ไม่ให้ฝ่ายใดเสียเปรียบ สายป่านที่ชักว่าวขึ้นไป ต้องยาวพอๆกัน ไม่ใช่อีกฝ่าย ใช้ระยะยาวไกลกว่า เพื่อย้วยเข้าไปหา ป่านยิ่งยาว ตัวว่าวก็ยิ่งรับน้ำหนัก ทำให้ป่านตกท้องช้าง ตัวว่าวก็เคลื่อนตัวช้า โดนเชือดป่านคมแน่ ทำให้ นักเล่นว่าวคนละบาง บางทียืนอยู่แทบไม่ห่างกัน ขนานกันด้วยซ้ำ

ว่าวอีลุ้มตัวเก่ง ถูกส่งขึ้นไปสูงติดลมบนแล้ว เมื่อเชิดโฉบเฉี่ยว การต่อสู้บนนภากาศก็เริ่มต้น

สายตาจับจ้องบนท้องฟ้า แน่วแน่ที่ว่าวของตนเองและว่าวคู่ต่อสู้ ประสาทสัมผัสทุกส่วน ข้อมูลละเอียดยิบ จากครรลองจักษุ สู่ประสาทสั่งงาน บังคับกล้ามเนื้อ ประสาทสัมผัสต่างๆมารวมอยู่ที่ ปลายนิ้ว ที่สัมผัสส่งต่อไปยังสายป่าน ถึงตัวว่าว (การเล่นว่าวป่านคม หากหนังมือไม่หยาบกร้านเก๋าจริง ต้องใส่ถุงมือหรือมีผ้าพันมือไว้ เพราะบางครั้งการครูดของสายป่านคมโดยแรง สามารถบาดแบบมีโกนเฉือนได้เลยทีเดียว)

ตัวว่าวก็พลิกพลิ้วโฉบเฉี่ยว หาจังหวะตีกินได้เปรียบให้เหนือกว่าคู่ต่อสู้ เป้าหมายคือการทาบ ป่านคม ใครจะเหนียวกว่ากัน ใครจะขาดลอย..ใครคือผู้พิชิต ก็อยู่ที่เทคนิกความสามารถแต่ละคนละ

เทคนิกมาตรฐานคือ จะต้องส่งว่าวตัวเองให้อยู่เหนือว่าวคู่ต่อสู้ให้ได้ เรียกว่า ทาบบน ซึ่งจะมีจังหวะการตัดสูงมากกว่า ไม่ว่าป่านคมไปทาบโดนด้ายคอซุงที่เป็นด้ายธรรมดา ก็ขาดคอซุง จบเลย

หรือพอทาบได้ปั๊บ เสี้ยววินาทีนั้นก็ผ่อนสายป่านที่ปลายมือ ลมบนจะดึงตัวว่าวขึ้นสูงวืดๆ เท่ากับว่าสายป่านคมเรา เฉือนฉับที่ป่านเขา คนที่โดนทาบอ่านขาดก็สามารถแก้สถานการณ์ได้ในพริบตา คือปล่อยสายปานไปด้วยกัน ว่าวตีคู่ขึ้นไป สายป่านก็ไม่เสียดสีกัน

ความที่โฉบสู้กัน บางครั้งสายป่านพันกัน มีทั้งถ้อยทีถ้อยอาศัย ค่อยๆชัก บังคับว่าว แกะออกจากกัน แล้วว่ากันใหม่ เพราะสายป่านคมเยินกันหมดแล้ว

หรือพวก หักดิบ กระชากกระตุกสายป่านเข้าสู้ แบบใครเหนียวใครอยู่ เป็นมวยหมัดน็อคกันไปเลย

หากกระชากแล้วตกผางลงกลางทุ่งด้วยกัน ต่างฝ่ายก็ต่างไปแกะว่าว แกะปมป่านตัวเอง ถือว่าเสมอกัน

การต่อสู้บนฟ้า ย่อมมีผู้แพ้ผู้ชนะ วินาทีที่ป่านคมว่าวชนะตัดผึง ก็ดังเส้นเลือดหัวใจ เส้นประสาทสั่งการขาดสิ้น

ว่าวผู้แพ้ดั่งราว ตายในทันที คือ สายป่านร่วงโรย ตัวว่าวกลายเป็นกระดาษกงเต้ก ที่ลอยไปตามสายลม และตกลงสู่ดิน

วลี คมเฉือนคม ก็มาจาก การเล่นว่าวป่านคมนี่แหละ

โดยกติกาชนบทแล้ว ว่าวขาดลอย ถือว่า ขาดจากเจ้าของไปแล้ว ตกลงดินเมื่อไหร่ ก็เป็นของของคนที่เก็บได้เป็นคนแรก

หากข้ามไปตกคนละถิ่น จะเอาคืนก็ไปไถ่เอา หากข้ามคืน ยังไม่ไปเอา วันรุ่งขึ้น อีลุ้มผู้พ่าย ก็จะกลายเป็นว่าวตัวเมีย ปั๊กเป้าหางยาว เป็นว่าวไร้พิษสงให้เด็กเล่นกัน ขึ้นหราบนฟ้าบ้านผู้ชนะ

ส่วนใหญ่ เจ้าของว่าวผู้พ่าย มักจะส่งเด็กไปขอไถ่คืน เพราะโครงว่าวอีลุ้มตัวเก่งไว้เล่นปานคมนั้น ไม้ดี เหลามาอย่างดีแล้ว แค่เอามาปรับบุกระดาษใหม่ ทำอีลุ้มตัวใหม่ขึ้นไปสู้กันต่อ

ด้วยแพ้ชนะ อย่าไปโทษตัวว่าว ฝีมือคนชักต่างหากที่ต้องปรับแต่ง เอาบทเรียนแพ้มาศึกษา แก้ไขเพื่อชนะบ้าง

การเล่นว่าวป่านคม ในสมัยก่อน ถือเป็นการสอนบทเรียนลูกผู้ชายที่ดี

ว่าวป่านคม จะปะทะกับ ป่านคมเท่านั้น ไม่รังแก ไปตัดว่าวธรรมดาๆของคนอื่น

คิดจะเล่น ต้องคิดการใหญ่ ต้องเริ่มจากจินตนาการ การเรียนรู้ และลงมือทำด้วยตนเองด้วยความอุตสาหะ มีแรงกระหายในความสำเร็จ ในชัยชนะ

ทำจนว่าวขึ้นฟ้าได้ ก็ฮึกเหิม แต่ยังไม่ใช่ความสำเร็จ

อาจจะเพียรทำตั้งนานเป็นอาทิตย์ แล้วไม่ถึงสามนาที โดนสอยร่วงจากฟ้า เป็นผู้ปราชัยในสองสามพริบตา..ด้วยยังมีคนเก่งกว่า

จะสู้ต่อ ก็ต้องทำมาใหม่ สู้อีก..จึงจะเป็นลูกผู้ชาย

น่าเสียดาย ที่ การเล่นอย่างนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว

ยุคนี้มีแต่เด็ก นั่งกดคีย์สติ๊กคอมพิวเตอร์เกม ตาถลนหน้าจอทีวี

แพ้ก็แพ้ไม่เป็น เพราะ game over ก็แค่กดปุ่ม start ใหม่ ก้เริ่มต้นได้แล้ว..ง่ายๆ

ในสังคมปัจจุบัน เราจึงมีเด็กที่เอาแต่ชนะ..แต่แพ้ไม่เป็น

ไม่ได้อะไรดังใจ ก็กระทืบตีนดิ้นเร่าๆ ข่มขู่พ่อแม่

ลูกผู้ชาย ธรรมชาติสร้าง แบบรุ่นปู่รุ่นพ่อ จึงไม่ค่อยมี

…น่าเสียดายนะครับ

ยอดทอง