Just Say Know

แสงสีฟ้า ผู้ร้ายที่ออกมาจากจอ

แสงสีฟ้า ผู้ร้ายที่ออกมาจากจอ

แสงสีฟ้า เหมือนผู้ร้ายที่ออกมาจากจอ ในที่นี้ แสงสีฟ้า ไม่ใช่ตัวละครในหนังหรือละครเรื่องอะไร แต่เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ออกมาจากความสว่างของจอ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวัน ทั้ง ทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต รวมถึงสมาร์ทโฟนเครื่องเล็กๆ ที่เราพกติดตัว และจ้องดูเกือบจะตลอดเวลา
เราก็ไม่ได้ดูอะไร สีฟ้า ตลอดเวลา แล้ว แสงสีฟ้า จะมาเป็นผ้ร้ายอยู่สีเดียวได้อย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้ว แสงที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันนั้น แบ่งออกเป็น 7 สี (ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม และ แดง) แต่แสงสีน้ำเงินเป็นสีที่ให้ความสว่างมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ทำให้ดวงตาเป็นอันตรายได้มากที่สุดด้วย เพราะมันสามารถทะลุทะลวงได้ถึงจอประสาทตา มีพลังทำลายกระจกตาหรือจอประสาทตามากกว่าแสงสีอื่นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าสีอื่นๆ จะปลอดภัยต่อดวงตา ต้องเรียกว่าทุกสีสามารถทำลายจอประสาทตาได้ทั้งหมด ผู้ที่ใช้จอต่างๆ เป็นเวลานาน หรือใช้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ในที่มืด ปิดไฟดูโทรทัศน์ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งสิ้น

อันตรายจากแสงสีฟ้า ไม่ได้เกิดขึ้นทันที่ทันใด แต่เกิดจากการสะสม การใช้จออุปกรณ์ต่างๆ เวลานานๆ จะทำให้ตาแห้งและกะพริบตาน้อยลง แสบตา จากนั้นการมองเห็นจะเริ่มผิดปกติ เห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด ปวดเบ้าตา กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า ซึ่งเหล่านี้เป็นอาการเริ่มต้นของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมและเป็นการกระตุ้นให้จอ ประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้นด้วย และถ้าหากมีพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ที่ให้แสงสีน้ำเงินสูง ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แสง ก็อาจเสี่ยงต่ออาการจอประสาทตาเสียหายหรือเกิดการไหม้ กระจกตาถลอก ปวดตาเรื้อรัง น้ำตาไหลตลอดเวลา ปวดกระบอกตา หรือร้ายแรงมากๆ ก็คือ มีรูทะลุที่จอประสาทตา หรือจนกระทั่งลืมตาไม่ขึ้นเลยทีเดียว

วิธีป้องกันเมื่อต้องรับแสงจากจออุปกรณ์ต่างๆ ก็คือ ไม่ควรใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรพักสายตาทุก 30-45 นาที ละจากอุปกรณ์ที่ให้แสง ด้วยการหลับตา หรือกะพริบตาซักครู่ และมองไปไกลๆ ที่พื้นที่สีเขียวสักพัก เพื่อบรรเทาความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อรอบดวงตา ในส่วนของผู้ที่ต้องจ้องมองจอต่อเนื่องนานๆ ควรใส่แว่นตาที่ป้องกันแสงยูวี หรือลดความสว่างหน้าจออุปกรณ์ลง แต่ก็ไม่หรี่ลงมากเกินไป เพราะดวงตาก็จะต้องเพ่งมองหนักขึ้น และอาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน ควรเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพหรือได้มาตรฐานการรับรองหน้าจอง หรือติดฟิล์มที่หน้าจออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยลดแสง UV400/UVA1 เป็นการป้องกันไม่ให้ดวงตาสัมผัสแสงเหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันอุปกรณ์ประเภทจอต่างๆ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การไม่ใช้จอเลย คงเป็นไปไม่ได้ แต่การใช้อย่างรู้ตัว ระมัดระวัง และหาทางป้องกันนั้น “เป็นไปได้” เพียงระวังอย่าปล่อยให้ผู้ร้ายที่ออกมาจากจอทำอันตรายพระเอกของเราได้ก็พอ