สุรพล อุทินทุ
สุรพล อุทินทุ
ผู้อำนวยการสำนักประสานงานภายนอก
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
“กีฬาหรือชีวิตจริง ถ้าเตรียมตัวดี จะประสบผลลัพธ์ที่ดีเสมอ”
ชอบการแข่งขัน ชอบชัยชนะ : ผมชอบออกกำลังกายมาตั้งแต่เด็กๆ จริงจังทุกเรื่องที่มีการแข่งขัน อย่างจะแข่งวิ่ง สำหรับเด็กคนอื่นอาจจะไม่มีใครซ้อมกัน ถือว่าเป็นพรสวรรค์ใครวิ่งเร็วก็ชนะ แต่เมื่อพบว่าเราวิ่งช้ากว่าคนอื่นแค่นิดเดียว ถ้าเราซ้อม น่าจะทำได้ดีกว่าเขา จึงต้อง ให้ร่างกายแข็งแรงก่อน ไม่ว่าจะเล่น ปิงปอง เทนนิส หรือกีฬาอะไรก็ตาม ทุกการแข่งขันผมคาดหวังชัยชนะเสมอ ผมชอบดูรายการทีวีกีฬา ชอบอเมริกันฟุตบอล ชอบระบบและการวางแผน เลยตามดูเพื่อศึกษาว่า ทำไมถึงทีมนั้นถึงชนะ เขาฝึกซ้อมกันอย่างไร พอชอบทีมชนะ ก็อยากเล่นกีฬาแล้วอยู่ฝั่งผู้ชนะบ้าง เราก็ต้องซ้อม
ชวนเพื่อนเล่นกีฬา : ผมอยู่ในครอบครัวราชการ เรียนโรงเรียนจิตรลดามาตลอด จากชั้นประถมจนจบมัธยมปลาย ผมเล่นฟุตบอลเยอะมาก ที่โรงเรียนมีผู้ชายน้อย เลยช่วยกันทำทีมขึ้นมา และผมยังเล่นแบดมินตันจริงจัง ชอบมาก ซ้อมบ่อย คิดว่าเล่นได้ดีพอสมควร จนถึงขั้นได้ไปคัดตัวเยาวชน แต่ก็รู้ว่ายังมีคนอื่นที่เก่งกว่าเราอีกเยอะ
ชอบความเร็ว : ผมชอบรถยนต์ การแข่งรถ แต่งรถ ชอบจนถึงปัจจุบัน ผมไม่มีรถที่เป็นมาตรฐานเดิมจากโรงงานเลย ต้องมีการปรับเปลี่ยนทุกคัน นั่นคือเหตุผลหนึ่งในการเรียนที่วิศวะเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปเรียนปริญญาโท วิศวะอุตสาหการ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ คาลามาซู มิชิแกน สหรัฐอเมริกา หัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ ถึงแม้วันหนึ่งอาจจะไม่ขับเอง ก็จะแต่งรถให้คนอื่น
เตรียมตัวเล่นกอล์ฟ : ก่อนหน้าที่จะไปเรียนต่อ ผมไม่มีกีฬานี้อยู่ในหัวเลย ยังมองว่ากอล์ฟเป็นกีฬาคนแก่ ใช้เวลาเยอะ ค่าใช้จ่ายสูง แต่เพื่อนที่อยู่อเมริกาบอกเลยว่า สนามกอล์ฟที่นั่นเยอะมาก และเป็นเมืองหนาว อย่างอื่นก็ไม่ค่อยมีอะไรทำ ผมจึงต้องไปซ้อมก่อนเดินทาง เพราะรู้ดีว่า กีฬาพวกนี้ถ้าไม่มีการซ้อม โอกาสแพ้สูงมาก แล้วผู้ชายเมื่ออยู่ในกลุ่ม เวลาแพ้จะถูกปรามาศ โดนประณามมาก ตรงนี้คือเรื่องสนุกของพวกเรา
เล่นกอล์ฟจริงจัง : เรียนหนังสือตอนกลางคืน กลางวันว่าง เมืองก็เหงาๆ ไปถึงเพื่อนก็ชวนเล่นกอล์ฟ เงินก้อนแรก ที่เตรียมไปซื้อหนังสือ ก็ไปซื้อชุดกอล์ฟก่อน เมื่อเริ่มเล่นด้วยกัน เขาก็ต่อให้ก่อน แบบ โด่ เร มี คือ พาร์ 3 ต่อ 1, พาร์ 4 ต่อ 2, พาร์ 5 ต่อ 3 ด้วยความเป็นคนชอบกีฬา แพ้กลับมาก็ซ้อม แก้ไขจุดอ่อนของตัวเอง เมื่อแพ้เพราะลูกสั้น ก็ซ้อมลูกสั้น แพ้เพราะไดร์ฟ ก็ซ้อมไดร์ฟ จุดอ่อนตรงไหน ก็ไปซ้อมตรงนั้น แล้วก็ไปแข่งอีก ผมตีเหล็กกลางได้เร็ว กับพัตต์ได้ค่อนข้างดี อาจจะเป็นเพราะชอบเล่นโยนของที่ต้องให้น้ำหนักมาก่อน พอเล่นไปได้แค่เดือนกว่า ผมก็เล่นแต้มเท่ากับเพื่อนได้ กีฬาทำให้มีเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตอยู่ตลอดเวลา และทำให้เรียนรู้มาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงทุกวันนี้ว่า “การใช้ชีวิตจริง หรือการเล่นกีฬา ถ้ามีการเตรียมตัวดี เราจะประสบกับผลลัพธ์ที่ดีเสมอ”
กอล์ฟเป็นกีฬายากที่สุดที่เคยเล่น ที่ผ่านมาอะไรที่จับอยู่ในมือผมควบคุมได้ แบดฯ เทนนิส ปิงปอง ใช้ไม้เดียวเล่นทุกสโตรค แต่พอมาเป็นกอล์ฟ มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ทักษะที่ไม่เหมือนกัน ด้วยความท้าทายทำให้รู้สึกสนุกไปใหญ่
ชีวิตต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง : ถึงแม้จะชอบเล่นกอล์ฟมากแค่ไหน แต่ชีวิตต้องทำอย่างอื่นไปด้วย เลยเลือกทำสิ่งที่ชอบอย่างอื่นบ้าง เคยขับรถเที่ยวกับเพื่อนเป็นเดือนไปทั่วอเมริกา และยังทำงานระหว่างเรียน ทำหมดทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ร้านอาหารจีน ส่งหนังสือพิมพ์ ส่งพิซซ่า ห้องสมุด แต่ที่สนุกที่สุด ได้บทเรียนชีวิต ได้ประสบการณ์มากที่สุด ก็เมื่อไปทำงานในอู่ซ่อมรถ ที่มีแต่คนจีนกับแขกเป็นเจ้าของ เขาจะจ้างเด็กนักเรียนอย่างเราเข้าไปทำงาน เพราะค่าแรงถูก ทำกันแบบไม่ค่อยถูกกฎหมายแรงงานเท่าไหร่ เรื่องงานเราก็รู้ ถนัดอยู่แล้ว เพราะเรียนทางนี้มาโดยตรง โดยผมจะทำในส่วนที่เสร็จภายในไม่เกิน 2 ชั่วโมง พวกเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนผ้าเบรก ดูแลรถทั่วๆ ไป
ชอบเสียงเพลง : ชอบเพลงแจ๊สเก่าๆ ผมสะสมแผ่นเสียงไวนิล ตามเก็บแผ่นที่หายากมากๆ บางแผ่นมีคุณสมบัติพิเศษที่นักสะสมต้องการครอบครอง ผมเคยขับรถสิบกว่าชั่วโมงเพื่อไปตามซื้อแผ่นจากบ้านที่ลงประกาศ เพื่อนอีกคนที่สะสมอยู่ก็ไป แต่เราไม่ได้นัดกัน ต่างคนต่างไป ผมไปถึงก่อนหน้าแค่นิดเดียว พอซื้อเสร็จ ออกจากบ้าน เพื่อนก็เพิ่งมาถึง ถามหาแผ่นที่จะขาย เจ้าของบ้านบอกว่า มีคนไทยเพิ่งซื้อไปเดี๋ยวนี้เอง มารู้ทีหลังว่าเพื่อนก็ตามหาแผ่นนี้ด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นเรื่องเล่าที่สนุกสนาน ความสนุกของการสะสมแผ่นหายากอยู่ที่บางแผ่นมูลค่าหลักหมื่น แต่เราไปค้นเจอตามแผงซื้อมาได้แค่หลักสิบก็ยังเคย แล้วแต่ละแผ่นก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจต่างกันไป ผมหอบกลับมาประเทศไทยเป็นพันแผ่น เสน่ห์ของการเครื่องเสียงแบบนี้อยู่ที่ มันมีความบกพร่องเฉพาะตัวที่เสียงไม่ชัดจนเกินไปอย่างพวกดิจิตอลยุคใหม่ๆ เหมือนถ่ายรูปด้วยฟิล์มกับดิจิตอล ที่ความสุขในการชื่นชมย่อมแตกต่างกันไป
ชอบฟังเพลง ชอบเพลงแจ๊สเก่าๆ
ชีวิตเริ่มเปลี่ยนเมื่อต้องหาเงินเอง : มันเป็นเส้นกั้นระหว่างความเป็นเด็กกับเป็นผู้ใหญ่ ชีวิตในเมืองนอกช่วยสอนให้รู้จักการดูแลตัวเอง การบริหารเงิน การใช้ชีวิต เมื่อถึงวันที่ต้องเริ่มทำงานก็ตกใจเหมือนกันว่า เส้นทางในการเที่ยวของเรามันจบแล้ว ต้องหางานทำ เมื่อกลับบ้าน นอกจากปริญญา และ ประสบการณ์ชีวิตแล้ว ผมก็เอากอล์ฟกลับมาจากอเมริกามาด้วย ทั้งอุปกรณ์และฝีมือ
ทำงานในสายที่เรียนน้อยมาก : ผมเริ่มงานด้วยความบังเอิญ ทำเกี่ยวกับระบบการบำบัดน้ำเสีย แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ดีกว่าคือการก่อสร้างบ่อบำบัด จนได้มาเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เริ่มจากรับงานเล็กๆ หลักแสน ขยับขึ้นไปจนมีมูลค่าเป็นสิบล้าน ถือว่าไปได้ด้วยดี จนกระทั่งเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดของชีวิตครั้งหนึ่ง จนต้องไปปรึกษาคุณพ่อเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งท่านก็ยินดีจะใช้หนี้ให้ แต่ขอให้ผมกลับเข้ามาทำงานในระบบ….
ร่วมงานกับไทยเบฟฯ : หลังจากที่งานมาหลากหลายพอสมควร ผมก็ได้มาร่วมงานกับไทยเบฟฯ เป็นครั้งแรก รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่อง การประสานงานภายนอก มีกีฬาบ้างแต่ยังน้อยมาก และยังได้โอกาสให้ไปรับหน้าที่สำคัญๆ กับองค์กรอื่นอีก จนเมื่อถึงจุดนึงที่ต้องวางแผนอนาคต การเปลี่ยนงานของผมจึงเป็นการเปลี่ยนงานครั้งสุดท้าย ต้องอยู่ยาวๆ จนเกษียณ เป็นงานที่เรารักเราชอบ ถ้าหากเลือกสายวิศวะ คงจะไม่ถนัดเพราะไม่ได้จับมานาน ผมทำงานสายบริหารมาตลอด แล้วเมื่อถามตัวเองว่าเรื่องไหนที่ชอบที่สุด ก็น่าจะเป็นเรื่องการบริหารกีฬา…
ผมได้รับโอกาสจากไทยเบฟฯ ให้เข้ามาทำหน้าที่ โชคดีที่ได้รับการเมตตาจากผู้ใหญ่ ให้ดูแลเรื่องกีฬามาตลอด ตอนนั้น ไทยทาเล้นท์ยังไม่มีใครตามอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผมจึงได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องการทำกีฬาให้เป็นระบบ รวบรวมการสนับสนุนกีฬาทั้งหมดของไทยทาเล้นท์ แล้วนำไปไว้ภายใต้การดูแลของบริษัททศภาค ทำหน้าที่บริหารสิทธิประโยชน์ ต่อยอดในการขาย บริหารความสัมพันธ์กับพันธมิตรต่างๆ ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดีขึ้น และระหว่างนั้นก็ยังได้รับคำสั่งให้ไปดูเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายควบคู่กันไป และยังเปิด บริษัท โฮเรก้า แมเนจเม้นท์ นำสินค้าพรีเมี่ยมมาขายให้กับเอ้าท์เลตต่างๆ
ทำงานหลากหลาย : หน้าที่หลักที่รับผิดชอบมีอยู่ 3 ส่วน เป็นการบริหารกีฬาทั้งหมดของทศภาค ซึ่งมีหลายประเภทชนิด เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ สนุกเกอร์ วอลเลย์บอล เทนนิส แบดมินตัน เรือยาว ขี่ม้า สเกต มวย ว่ายน้ำ รักบี้ มอเตอร์สปอร์ท ฯลฯ, ไทยเบฟ (มหาชน) ดูแลในเรื่องการประสานงานภายนอก CSR การศึกษา ใบอนุญาต และ ส่วนของกลุ่มธุรกิจกอล์ฟ ที่ผมสามารถทำงานหลากหลายแบบนี้ได้ เพราะมีทีมงานที่ดีคอยช่วยเหลือในทุกๆ สายงานที่รับผิดชอบ ทำให้งานเดินก้าวหน้าไปได้ และมีผู้ใหญ่คอยเมตตาให้โอกาส คอยติติงให้คำแนะนำอยู่เสมอ
ดูแลสนามกอล์ฟ : ผมยังได้รับหน้าที่บริหารสนามกอล์ฟในเครืออีก 6 แห่ง เพราะผู้บริหารเห็นว่า ผมทำงานด้านกีฬาให้ทางกลุ่มอยู่แล้ว มีโครงการต่างๆ ค่อนข้างเยอะมากอยู่ในมือ และผมเองชอบเล่นกอล์ฟ เมื่อผู้บริหารเดิมที่ทำหน้าที่อยู่ได้รับการมอบหมายงานให้หลากหลายมากขึ้น ผมก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่มีความพร้อมงานนี้
บริหารสนามกอล์ฟ ไม่ใช่เรื่องสนุก : เพราะเป็นเรื่องความรับผิดชอบ ตั้งแต่เข้ามาดูแลสนาม ผมได้เล่นกอล์ฟน้อยมาก จากเดิมเมื่อมาสนาม จะต้องคอยดูว่ามีส่วนไหน เรื่องใดที่ขาดตกบกพร่อง แล้วบอกกับทางสนามให้ไปจัดการดูแลแก้ไข แต่พอมาวันนี้ บทบาทนั้นกลับกัน ทุกคนที่มีปัญหาจะวิ่งเข้ามาหา แล้วแจ้งเรื่องต่างๆ กับผมให้ไปแก้ไขปัญหานั้น
มีวินัยกับตัวเอง : คนมักจะบอกว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน อยู่ที่คุณจะเลือกทำอะไรมากกว่า จะว่าคุณมีเวลาน้อยกว่าผมก็คงไม่ได้ เพราะผมทั้งทำงาน ทั้งดูแลครอบครัว แต่ละวันต้องไปงาน 2-3 ที่ทุกวัน ทำงานจนดึกบ่อยมาก แต่ผมสัญญากับตัวเองว่า ถ้าวันไหนกลับบ้านก่อนสี่ทุ่ม วันรุ่งขึ้นผมจะตื่นตีสี่ครึ่ง เตรียมตัวออกจากบ้านไปออกกำลังกาย และพยายามให้ไม่ซ้ำกันถ้าทำได้ หรือมีเวลาพอ ตั้งแต่ วันจันทร์ เข้ายิม ยกน้ำหนัก, อังคาร เล่นเทนนิส, พุธ วิ่ง ซ้อมกอล์ฟ, พฤหัส ว่ายน้ำ เข้ายิม, ศุกร์ เล่นเทนนิส เสาร์ ขี่จักรยานที่สุวรรณภูมิ และคืนวันเสาร์ วันอาทิตย์ เป็นวันของครอบครัว
รักในงานที่ทำ : ผมทำให้ชีวิตมีความสุขที่จะทำงาน ทั้งๆ ที่อาจจะเป็นงานหนักกว่าหน้าที่อื่น เช่น การติดตามดูผลการแข่งขันของกีฬาซึ่งมีอยู่มากหลากหลายชนิด แต่เมื่อเป็นสิ่งที่เรารักเราชอบ งานที่ว่าหนักก็กลายเป็นเรื่องสนุก ทำแล้วมีความสุข ตื่นเต้นที่จะทำ และพยายามแก้ปัญหาทุกอย่างให้เต็มที่…
เมื่อเจอปัญหา ผมไม่รู้หรอกว่าจะแก้มันได้หรือไม่ แต่ผมจะค่อยๆ แก้ ค่อยๆ ทำบนพื้นฐานของการยึดมั่นในความถูกต้องและความดี พยายามทำอะไรเพื่อตอบแทนสังคมส่วนรวม เพราะท้ายที่สุดแล้วมันจะมีทางออกเสมอ…
ตลอดชีวิตที่ผมทำงาน คำว่า “แค่ไหนก็คือแค่นั้น” ไม่เคยทำให้ผมเสียหาย ไม่ว่าผลจะออกมายังไง ก็ไม่เป็นไร เพราะทุกคนรู้ดีว่า สิ่งที่ทำลงไปทั้งหมดนั้น เราได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้วครับ.