Just Say Know

หมอกจางๆ และ ควัน

หมอกจางๆ และ ควัน

เมื่อช่วงต้นปี ปัญหามลพิษทางอากาศใน กทม. ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในวงกว้าง เมื่อเว็ปไซต์รายงานสภาพมลภาวะทางอากาศแห่งหนึ่ง แจ้งเตือนว่า กทม. เป็นเขตพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศอยู่ในขั้นอันตราย จนทำให้หลายฝ่ายออกมาชี้แจง และปรับปรุงการให้ข่าวสารกันไปแล้ว บวกกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อากาศใน กทม. ลดระดับความรุนแรงลง แต่ในขณะที่จังหวัดใหญ่ในภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ ซึ่งประสบปัญหามลภาวะทางอากาศอยู่เป็นประจำ ก็กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางขึ้นมาอีกครั้ง หลังนักเรียนมัธยมสะท้อนปัญหานี้ออกมาทางภาพวาด

สำหรับหมอกควันนั้น โดยหลักการแล้วมีสาเหตุการเกิดหลักๆ อยู่ 2 อย่างด้วยกัน ซึ่งมีชื่อเรียกไม่เหมือนกันก็คือ Smog และ Smoky haze

Smog มาจากคำว่า smoke (ควัน) + fog (หมอก) คือ ก๊าซโอโซน (ozone) ระดับพื้นดิน เป็นมลพิษทางอากาศชนิดที่เกิดจากฝุ่นควันจากกิจกรรมเผาไหม้ต่างๆ ทำปฏิกิริยากับแสงแดด และเกิดลักษณะคล้ายหมอกควัน โดยมีสารตั้งต้นก็คือ ไนโตรเจนออกไซด์ จากไอเสียรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อโดนแสงแดดและรวมตัวกับ VOCs หรือสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายจากน้ำมันเชื้อเพลิง กลายเป็น โอโซนระดับพื้นดิน

ความคุนชินกับคำว่าสูดโอโซน เป็ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จริงๆ แล้ว โอโซน (O3) เป็นรูปแบบที่เกิดปฏิกิริยาของออกซิเจน เป็นแก๊สสีฟ้าอ่อนที่เป็นพิษ ซึ่ง สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ให้คำจำกัดความไว้ว่า “ดีเมื่ออยู่สูง แย่เมื่ออยู่ใกล้” โอโซนในชั้นสตราโตสเฟรียร์ ช่วยป้องกันแสงอัลตร้าไวโอเล็ตที่ก่อความเสียหาย ไม่ให้ลงมาถึงพื้นโลก แต่เมื่อโอโซนเช่นเดียวกันอยู่ที่ระดับพื้นดินจะกลายเป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจที่รุนแรง สามารถสร้างความเสียหายให้กับเยื่อเมือกและเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจของมนุษย์ สัตว์ และพืชได้

ส่วน Smoky haze หรือ หมอกที่มีควันผสมอยู่ เป็นปรากฎการณ์ที่ฝุ่นและควันในอากาศรวมตัวกัน จากการเผาพื้นที่ทำการเกษตร หรือไฟป่า เกิดเป็นฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่ง PM เป็นคำย่อภาษาอังกฤษของคำว่า Particulate Matter หมายถึง ฝุ่นละอองหรืออนุภาคของแข็งหรือของเหลวที่อยู่ในอากาศ PM2.5 (Particulate Matter less than 2.5 micron, Fine particulate matter) ในอากาศจึงหมายถึง อนุภาคที่มีขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (หนึ่งในล้านเมตร) สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ขนาด PM 2.5 ที่ว่านี้ เป็นขนาดที่ขนจมูกเรากรองไม่ได้ มันจึงถูกส่งผ่านลมหายใจเข้าไปถึงขั้วปอดด้านในได้ลึกสุด และสะสมอยู่ในเนื้อเยื้อปอด รอเวลาก่อให้เกิดเป็นสาเหตุโรคทางเดินหายใจต่างๆ มากมาย

นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาองค์รวม ในเชิงต้นเหตุ ต้นทาง อาทิ ลดการเผาพื้นที่ทำการเกษตรหรือป่าไม้, เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนด, ลดการใช้รถยนต์ หันมาเดิน หรือใช้จักรยานในระยะทางใกล้ๆ รวมถึงมาตราการเพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งหลายแล้ว การป้องกันตนเองในเบื้องต้น คือการใช้หน้ากากป้องกันมาตราฐาน N95 เป็นอย่างน้อย เมื่ออยู่ภายนอกอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และสตรีมีครรภ์
เชียงใหม่ นับเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของใครหลายต่อหลายคนในช่วงสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ มาช่วยกันลุ้นว่าธรรมชาติจะเป็นใจปัดเป่าเอาอากาศดีๆ เข้ามาแทนที่ จะได้ไม่ต้องถึงขั้น ใส่หน้ากาก (N95) เล่นน้ำกัน