เลิกใช้ Cap Seal ภายใน 2 ปี
เลิกใช้ Cap Seal ภายใน 2 ปี
ไม่ต้องแปลกใจไป หากหลังจากนี้เวลาซื้อน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำเปล่า น้ำหวาน ต่างๆ แล้วไม่พบว่ามีการหุ้มฝาขวดด้วยแผ่นพลาสติกบางๆ หรือ Cap Seal แล้ว ไม่ได้เป็นเพราะการผลิตไม่ได้มาตราฐาน ไม่ใช่เพราะผู้ผลิตลดต้นทุน แต่เป็นเพราะ กรมควบคุมมลพิษ ได้ขอความร่วมมือกับผู้ผลิตน้ำดื่ม ยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมภายใน 2 ปี
หากย้อนเวลากลับไป เราจะพบว่า การใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2543 ใช้โฆษณาว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค จนทำให้ยอดขายดีขึ้น ซึ่งสร้างความได้เปรียบต่อคู่แข่งที่ไม่มีพลาสติกหุ้มฝาขวดได้ ทำให้แต่ละบริษัทหันมาใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดเหมือนกัน เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องความสะอาดให้กับผู้บริโภค
จนมาถึงปัจจุบันจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี มีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวด ซึ่งก่อให้เกิดขยะพลาสติกมากถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี ถ้าวัดเป็นความยาวก็ยาวถึง 260,000 กิโลเมตร ถ้านำมาพันรอบโลก ก็สามารถพัยได้ 6 รอบครึ่งเลยทีเดียว
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณเพียงอย่างเดียว ด้วยความที่พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มนั้นมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ทำให้ง่ายต่อการกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทะเล ไม่ว่าจะทิ้งแบบตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่ยากต่อการจัดเก็บ อีกทั้งไม่คุ้มทุนในการนำมารีไซเคิล เพราะเป็นขยะพลาสติกชิ้นเล็ก ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร หนักประมาณ 0.2 กรัม มีต้นทุนสูงถึง 10 สตางค์ต่อชิ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ และส่วนที่ลงสู่ท้องทะเล ก็สร้างผลกระทบต่อสัตว์ทะเลที่กินเข้าไปแล้วอันตรายถึงตายเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นหากแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ จะกลายเป็นไมโครพลาสติก ยิ่งถ้าโดนความร้อนก็จะมีส่วนก่อให้เกิดสารพิษในอากาศเพิ่มขึ้นด้วย
ในเรื่องความสะอาดของน้ำดื่มนั้น ก็เบาใจได้ เพราะพลาสติกหุ้มฝาขวดไม่เกี่ยวข้องกับความสะอาดของน้ำดื่ม และถือเป็นวัสดุส่วนเกินที่ไม่ได้กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของคุณภาพน้ำดื่มนั้น จะถูกควบคุมคุณภาพโดยองค์การอาหารและยา(อย.) ซึ่งเน้นฝาปิดขวดที่ปิดแน่นสนิทเป็นหลัก
แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายบังคับให้เลิกการใช้ แต่หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษได้หารือกับผู้ประกอบการน้ำดื่มต่างๆ แล้ว ผู้ผลิตน้ำดื่มส่วนใหญ่พร้อมลงนามความร่วมมือ ลดการใช้พลาสติกหุ้มขวดน้ำดื่ม เพื่อร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งหันไปเน้นที่ฝาปิดให้ได้มาตราฐาน เพื่อรักษาน้ำดื่มให้มีคุณภาพตามกฎกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, อังกฤษ, เยอรมัน, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์
ถ้าหลังจากนี้ ซื้อเครื่องดื่มมาแล้ว ไม่พบว่ามีการหุ้มฝาขวดด้วยแผ่นพลาสติกบางๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจไป แต่ถ้ายังพบอยู่ หลังจากแกะออกแล้ว ก็ช่วยกันเก็บให้เรียบร้อย เพราะขยะชิ้นเล็กๆ ชิ้นนี้ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้เล็กเลย