Interview

ดร.พิทักษ์ ศิลป์ประสิทธิ์

ดร.พิทักษ์ ศิลป์ประสิทธิ์
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต,
นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย
“ตั้งใจจริง มุ่งมั่น ซื่อสัตย์ต่ออาชีพตนเอง”

โตมากับฟุตบอล : ครอบครัวผมเป็นนักฟุตบอลกันทั้งบ้าน พี่ชายสองคนเป็นตัวแทนจังหวัดนครราชสีมา ผมก็เล่นมาตั้งแต่รุ่นจิ๋ว รุ่นเล็ก รุ่นกลาง ได้แชมป์มาตลอด จนมีพี่ท่านหนึ่งเขาเรียนธรรมศาสตร์ เห็นผมเล่น ก็แนะนำว่าให้เข้ากรุงเทพฯ ฝึกดีๆ ติดทีมชาติแน่นอน จนได้มีโอกาสสอบเข้ามาเรียนพลศึกษา แล้วก็เล่นฟุตบอลจนติดทีมชาติจริงๆ

ตำแหน่งที่ถนัด : ตอนอยู่โคราชเล่นเซ็นเตอร์ฮาฟ มากรุงเทพฯ อ.สำเริง ไชยยงค์ ซึ่งท่านเป็นผู้ฝึกสอนคนแรกของไทย ที่ได้เรียนโค้ชมาจากประเทศเยอรมัน ให้ผมไปเล่น แบ็คซ้าย ทำให้ตำแหน่งด้านหลังผมยืนได้หมด พอกลับมาเล่นให้กับวิทยาลัยการพลศึกษา ก็มาเล่นฮาฟ เพราะประสบการณ์ มองเกมได้กว้าง

แมทช์ประทับใจ : เป็นแมทช์อุ่นเครื่อง ก่อนไปแข่งปรีโอลิมปิคที่ประเทศพม่า เราแข่งอุ่นเครื่องกับบราซิลที่มีดาราดังๆ ในยุคนั้น อย่าง ทอสเทา ร่วมทีมมาด้วย คนเต็มสนามศุภฯ ผมก็ลงเล่นในแมทช์นั้นด้วย ทีมเขาเหนือกว่าทีมเรามาก ผลการแข่งขันเราเสมอกับบราซิล 2:2
อีกแมทช์หนึ่งก็ในรายการปรีโอลิมปิค ซึ่งเราต้องตัดเชือกกับอิสราเอล แผนการเล่นวันนั้นเราขอเล่นแบบหลังแน่นๆ เพื่อลุ้นเสมอไปยิงลูกโทษ เพราะเราเป็นรองทุกอย่าง แต่ก็ทำได้ตามแผน เสมอในเวลา ต่อเวลา แล้วเราก็ชนะด้วยการยิงลูกโทษ

ลูกหม้อการท่าเรือ : ผมมาอยู่กับการท่าเรือได้ก็เพราะ พี่นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ มาชวนให้มาเล่นฟุตบอลที่นี่ พอดีทีมขาดแบ็ค ซึ่งตอนนั้นผมเป็นอาจารย์โท อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ต้องคิดหนักอยู่พักใหญ่ก่อนตัดสินใจเข้ามาทำงานที่ท่าเรือ โดยผมต้องทำหน้าที่เป็นผู้เล่น ฟุตบอล ถ้วย ก. เราก็ได้แชมป์ พร้อมกับเป็นโค้ชเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทยไปด้วย ก็ได้แชมป์ ฯลฯ ช่วงนั้นเราได้แชมป์กันเยอะมาก พร้อมกันกับต้องทำงานประจำที่ท่าเรือไปด้วย

อยู่กับท่าเรือฯ 34 ปี : เป็นคนบุกเบิกในเรื่องคอนเทนเนอร์เทอร์มินัล จากเดิมที่ไม่ค่อยมีระบบนัก ผมก็สอบได้ทุนจากรัฐบาลเบลเยี่ยมไปเรียนที่นั่น กลับมาก็นำความรู้มาใช้พัฒนาให้เป็นระบบ โดยมีองค์กรนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ESCAP ก็เข้ามาช่วยด้านวางโครงสร้าง มีหลักการ มีทิศทางที่ชัดเจน สากลให้การยอมรับ แล้วยังมี JICA ของญี่ปุ่น เข้ามามีส่วนร่วมอีก ผมก็ได้รับทุนของทั้งสององค์กรให้ไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาองค์กร ทั้งแต่เป็นระบบทำด้วยมือทั้งหมด มาเป็นเซมิออโตเมชั่น จนกลายมาเป็นระบบไอทีที่ทันสมัยอย่างในปัจจุบัน โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ ผมเป็นรองผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพฯ การท่าเรือแห่งประเทศไทย หลังจากก็ไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เป็นที่ปรึกษาอีกหลายบริษัท

คิดว่าเริ่มถึงจุดสูงสุดของการเป็นนักฟุตบอล : ก็เริ่มหันเหไปจับเรื่องงานอย่างจริงจัง ไปเรียนปริญญาโทที่เกษตร จบมาก็ได้ทุนไปเบลเยี่ยมพอดี ในเรื่อง Roll On Roll Of หมายถึงการให้รถบรรทุกทั้งคันวิ่งลงไปจอดในเรือ แล้วไปลงที่ปลายทาง, เรือเฟอรี่ข้ามฝาก และ การบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ แล้วยังได้ไปเรียนที่ มารีนไทม์ ยูนิเวอร์ซิตี้ เมืองมาโม่ สวีเดน และยังได้ไปอีกทั่วยุโรป

เรียนรู้งานในท่าเรือสะสมประสบการณ์ : ผมใช้เวลาอยู่พักใหญ่ จนได้เป็นประธานจัดเรือเข้าเทียบท่า และยังได้วางระบบทั้งหมด ร่างระเบียบ เขียนคู่มือ ในเรื่องต่างๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้มีความชัดเจน ต้องมองทั้งระบบให้มีความสอดคล้องกัน ตั้งแต่เรื่องบุคลากร เครื่องมือทุ่นแรง ลักษณะของสถานที่ จะแบ่งหน่วยย่อยออกเป็นส่วนต่างๆ อย่างไร แล้วต้องมาเขียนหน้าที่ ความรับผิดชอบของแต่ละงาน ของแต่คน แต่ละหน้าที่อย่างละเอียด เปิดอบรมบุคลากรในงานใหม่ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากเมืองท่าระดับโลกมาเป็นวิทยากร เชิญเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมรับฟังด้วย เพราะนี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน
เมื่อไม่ได้เล่นฟุตบอลเอง : ผมก็ได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้จัดการทีม ในช่วงที่เริ่มจะเป็นกึ่งอาชีพ ซึ่งมีข้อระเบียบข้อบังคับของราชการคุมเอาไว้ ผมก็ต้องหาวิธีที่จะหาสปอนเซอร์มาช่วยเพื่อให้ผู้เล่นอยู่ได้ จนปัจจุบันฟีฟ่าบังคับให้เป็นนิติบุคคล ทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารงานอย่างที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน

เกษียณแล้วจะเรียนอีกทำไม : จริงๆ จะว่าผมหลวมตัวก็ได้นะ (หัวเราะ) ในช่วงทำงานเป็นที่ปรึกษากระทรวงคมนาคม มีเพื่อนชักชวนให้ไปเรียน หลักสูตรเสาหลักเพื่อแผ่นดิน ซึ่งสถาบันฯ ได้ทำ MOU กับ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ว่าใครที่จบปริญญาโทแล้วสามารถเรียนต่อปริญญาเอกได้ อยากลองดูสักตั้ง เรียนไปๆ ก็ได้อะไรเยอะ แต่พอมาถึงการดุษฎีนิพนธ์ก็ทำเอาเกือบท้อ หัวข้อที่ตั้งไว้ก็คือ “การพัฒนาการบริหารจัดการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ทำไปสักระยะหนึ่งจนได้ความคืบหน้าไปมาก ก็พอดี อาจารย์ที่ปรึกษาคนเดิมท่านเกษียณ ต้องเปลี่ยนใหม่ แล้วท่านนี้ก็แนะนำว่า น่าจะเพิ่มอะไรไปอีกสักหน่อย เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา ทำให้หัวข้อของผมเปลี่ยนไปเป็น “การพัฒนาการบริหารจัดการ ด้านการวางแผน ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” แค่เติมหัวข้อเรื่องเพิ่มมาอีกสั้นๆ ก็ทำให้โครงสร้างข้างในต้องปรับเปลี่ยนไปหมด ต้องออกแบบสอบถามใหม่ วิเคราะห์ใหม่ จนรู้สึกท้อ ถึงขนาดเคยคิดจะเลิกไปเลย แต่ในที่สุดก็ฮึดกลับมาสู้ จนเสร็จหมดทุกกระบวนการ
ผมโชคดีที่ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากน้องๆ ที่เคยร่วมงานกันมาที่การท่าเรือ ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงพนักงานเด็กๆ ผมเองก็รู้ระบบการทำงานอย่างละเอียด จึงทำงานได้สะดวก ส่งแบบสอบถามไปเท่าไหร่ก็ได้รับกลับมาครบถ้วน แล้วก็ทำกันจนถึงที่สุด ส่งงานแบบฉิวเฉียด กำหนดเส้นตายอยู่ที่ 16.30 น. ผมส่งงานและอาจารย์ลงนาม เมื่อเวลา 16.00 น. จากนั้นก็รอให้ดำเนินการไปตามกระบวนการจนเสร็จสิ้น ได้รับปริญญา

ปัจจุบัน : ผมเป็นรองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต เป็นอาจารย์สอนเรื่องโลจิสติก ระบบการจัดการขนส่ง ระดับปริญญาโท ดูแลวิทยานิพนธ์ ของนิสิตที่จะจบทางด้านการวิจัย ทำให้ผมต้องกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา

สมาคมกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย : เราเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 5-6 คน มาช่วยกันคิดกันว่า จะก่อตั้ง สมาคมฯ เพื่อช่วยอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเก่าแก่แค่ไหน หรือปัจจุบันก็ตาม ทั้งที่เลิกเล่นแล้วหรือยังเล่นอยู่ ซึ่งสวัสดิการเหล่านี้ สมาคมฟุตบอลฯ อาจจะดูแลไม่ทั่วถึง เพราะงานของเขาเยอะมาก จึงเกิดช่องว่าง ในการช่วยเหลืออดีตนักฟุตบอลทีมชาติที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติก็ขาดหายไป เราจึงมาช่วยเติมเต็ม เสริมการทำงาน มีส่วนร่วมเพื่อช่วยอีกแรงหนึ่ง จึงจัดตั้งเป็น สมาคมกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย โดยจดทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทย

การเริ่มต้นย่อมเป็นเรื่องลำบาก : เป็นเรื่องธรรมดา ต้องบุกเบิก อะไรขาดก็ต้องหามาเติม ความเสียสละส่วนตัวและส่วนรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราได้ธนาคารออมสินเข้ามาช่วยเหลือ ให้ทุนจัดการแข่งขันฟุตบอลซีเนียร์ และเรายังได้ทำประกันชีวิตให้กับสมาชิก ที่อายุไม่เกิน 70 ตามเงื่อนไข ส่วนสมาชิกที่อายุเกิน เราก็มีโครงการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน จัดกิจกรรมหลายด้านเพื่อหารายได้เข้ามาเก็บและช่วยเหลือ ส่วนใหญ่จะเป็นฟุตบอลที่พวกเราคุ้นเคยกัน เรายังหาทุนเพิ่มด้วยการจัดฟุตบอลแมทช์พิเศษ, กอล์ฟการกุศล เพื่อเก็บเป็นกองทุนไว้ใช้ในการดูแลสมาชิกเพิ่มเติมในกรณีพิเศษ เช่น เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดเหตุไม่คาดฝัน เราก็จะไปเยี่ยมเยียนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ หรือมอบทุนบางส่วนให้ และอื่นๆ ที่เราจะทำให้ได้ในกรอบระเบียบของ กกท. และทุกสัปดาห์ เรายังมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีฟุตบอลเป็นหลัก ทั้งเล่นกันเองระหว่างอดีตนักกีฬาฯ และออกไปเล่นกระชับมิตรกับทีมอื่นๆ ตามโอกาสและวาระต่างๆ และยังโชคดีที่ได้รับการอนุเคราะห์ จาก ดร.ประเวศ รัตนเพียร ในเรื่องสถานที่ ในบริเวณ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต เป็นที่ทำการสมาคม

เป็นตัวกลางเพื่อประสานงาน : ทั้ง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ การกีฬาฯ ซึ่ง กกท. มี พรบ. ออกมา แต่อดีตนักฟุตบอล หรือนักกีฬาทีมชาติทุกประเภท ที่เคยแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่ง กกท. รับรอง อาจจะไม่รู้ ว่าตัวเขาเองมีสวัสดิการอะไรบ้าง ใครที่ไม่สามารถเบิกกับต้นสังกัดได้ ยิ่งถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการ เป็นพนักงานเอกชนที่ไม่มีรายได้ ทีมงานของเราก็จะเข้าไปประสานงาน ติดต่อ เพื่อตรวจสอบว่าเขามีสิทธิ์ หรือไม่ ถ้ามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดก็สามารถเบิกเบี้ยเลี้ยงจาก กกท. ได้ โดยสมาคมฯ เราจะช่วยประสานงานให้กับอดีตนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติ

ใครบ้างเข้ามาเป็นสมาชิก : สมาชิกสมาคมฯ ประกอบไปด้วย สมาชิกสามัญ ได้แก่นักกีฬาฟุตบอลที่เคยเล่นในนามทีมชาติ การแข่งขันที่ ฟีฟ่า รับรอง ฯลฯ, สมาชิกวิสามัญ คือใครก็ได้ที่รักและชื่นชอบในกีฬาฟุตบอล ก็มาสมัครกับเรา และ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอุปการะคุณ

กีฬากอล์ฟ : ผมได้รับทุนของ JICA ไปเรียนที่ ฮาตากาย่า ประเทศญี่ปุ่นอยู่สองเดือน แล้วด้านหลังมีสนามซ้อมกอล์ฟ เป็นตาข่ายให้ตีใส่ วันหยุดไม่มีอะไรทำก็ไปซ้อมเล่นแบบไม่มีใครจับวงให้ ตีจนเจ็บมือไปหมด จนกลับมาก็พบว่าบริษัทเรือต่างๆ เขาก็เล่นกอล์ฟกันอยู่แล้ว ก็พากันชักชวนให้ไปเล่นด้วย ผมก็ฝึกซ้อมจนพอเล่นเป็น เริ่มได้ถ้วยบ้าง เราก็เอาจริง ให้โปรที่เขาตีไกลจับวงให้ พอเหล็กอยากให้คมก็ให้โปรอำนาจ เกิดกระแสสินธุ์ ดูให้ จนแต้มต่อลงมาเหลือ 3 ถ้วยเต็มบ้าน มีการจัดแข่งขันกีฬาท่าเรืออาเซี่ยน เมื่อตอนเล่นฟุตบอลก็ไปแข่งได้แชมป์มาตลอด พอมาเป็นผู้บริหาร หันมาเล่นกอล์ฟ ก็ได้แชมป์อีก จนพวกท่าเรืออาเซี่ยนด้วยกันพอเห็นผมก็รู้กันเลยว่าต้องมาเอาแชมป์อีกแล้ว แต่ก็เป็นความสนุกที่สร้างความสนุกสนานและความสัมพันธ์อันดีระหว่างพวกเราชาวท่าเรือด้วยกัน

เคล็ดลับเล่นกอล์ฟดี : ใจเย็น ประณีต อย่าไปใสใจกับสิ่งรอบข้าง สนใจแค่ลูกกอล์ฟของเราเพียงอย่างเดียว ไม่วอกแวก ใครจะทำอะไร พูดอะไร เราก็ตีของเราได้

เคล็ดลับความสำเร็จ : ตั้งใจจริงในเรื่องนั้น ทำให้เต็มที่จนถึงที่สุด ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องเรียน แม้กระทั่งการใช้ชีวิต ต้องซื่อสัตย์ต่ออาชีพตนเองที่ทำอยู่ ให้ความเคารพครูบาอาจารย์ ให้เกียรติคนที่ทำงานด้วยกับเรา เป็นคนประนีประนอม ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เข้าใจในสถานการณ์ของเขา มีอะไรก็พูดจากันดีๆ มีอะไรไม่ถูกใจก็อาศัยความนิ่ง ทำเฉยไปก่อน พออารมณ์ดีๆ ค่อยกลับมาว่ากันอีกที แล้วปัญหาต่างๆ ที่เคยคิดว่ายาก ก็อาจจะกลับมากลายเป็นง่ายก็ได้ครับ