What Ever

สารพัน วันตรุษจีน

สารพัน วันตรุษจีน

วันตรุษจีน คือ วันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน เป็นประเพณีที่มีมานานมาก เชื่อกันว่าแต่เดิมจัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิหรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสม จึงเริ่มการเพาะปลูกใหม่อีกครั้ง การเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น ก็จะเริ่มตั้งแต่ เตรียมทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ ซื้อข้าวของต่าง ๆ เพื่อประดับตกแต่ง จัดเตรียมอาหารคาวหวาน รวมถึงสิ่งของต่างๆ หลายอย่าง เพื่อใช้ในพิธีสักการะเทพเจ้า กราบไหว้บรรพชน รวมถึงแจกจ่ายให้กับทุกคนในครอบครัว ที่จะมารวมตัวกันในวันสำคัญวันนี้

สำรับอาหาร

เรื่องหลักที่ต้องต้องนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เลยก็คือ สำรับอาหารที่ใช้สำหรับไหว้ ซึ่งก็มีทั้ง ไหว้เจ้าที่, ไหว้บรรพบุรุษ, ไหว้ผีไม่มีญาติ และ ไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยแบ่งเป็น เนื้อสัตว์ ผลไม้ ขนมหวาน กับข้าวคาว กับข้าวเจ พร้อมสุรา น้ำชา ข้าวสวย โดยจะจัดเรียงตามลำดับความสำคัญตามชนิดของอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ทั้งอาหาร ผลไม้ หรือขนม ที่ใช้ ล้วนมีชื่อหรือมีความหมายเพื่อเป็นสิริมงคลทั้งสิ้น เช่น ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์, เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย, ส้ม ออกเสียงตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า “กิก” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าความสุข หรือโชคลาภ ส่วนในสำเนียงฮกเกี้ยนและกวางตุ้ง เรียกส้มว่า “ก้าม” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าทอง, แอบเปิ้ล (ผิง) หมายถึง ปลอดภัย ความสันติสุข สันติภาพ, กล้วยหอม (เซียง) หมายถึง หอมหวน ส่วนขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต, ขนมเทียน เป็นขนมที่ชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย มีความหมายหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์, ขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่ คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู

กระดาษเงินกระดาษทอง

นอกจากอาหารคาว-หวาน และผลไม้ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องมีการเตรียมเพื่อไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ ก็คือ กระดาษเงินกระดาษทอง คนจีนจะมีความเชื่อว่า คนเราเมื่อตายไปแล้วจะไปยังอีกภพหนึ่ง ซึ่งลูกหลานก็ควรแสดงความกตัญญูด้วยการส่งเงินทองไปให้บรรพบุรุษ ผ่านการไหว้และเผากระดาษเงินกระดาษทองเป็นตัวแทนของเงินทอง

ซึ่งกระดาษเงินกระดาษทอง ที่จะใช้ในเทศกาลนี้ ก็มีมากมายหลายแบบ ทั้งแบบที่ใช้ไหว้เจ้า และแบบที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษ แต่ละแบบก็มีความหมายและวิธีการในการใช้ไหว้แตกต่างกันไป เช่น กอจี๊ หรือ จี๊จุ้ย เป็นกระดาษเงินกระดาษทองชิ้นใหญ่ มีกระดาษแดงตัดเป็นลายตัวหนังสือว่า “เผ่งอัน” เป็นคำอวยพร แปลว่า โชคดี ใช้สำหรับไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน, กิมจั้ว หรือ งึ้งจั๊ว หมายถึงกระดาษเงินกระดาษทอง เวลาจะไหว้จะทำเป็นชุด ก่อนไหว้ลูกหลานต้องนำมาพับเป็นรูปดอกไม้ ใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง, เพ้า คือ ชุดของเทพเจ้า เป็นต้น

อั่งเปา

เทศกาลตรุษจีนขาดไม่ได้เลยกับ อั่งเปา หรือ แต๊ะเอีย เป็นเงินของขวัญที่เด็กๆ หรือผู้น้อยทั้งหลายเฝ้ารอคอย “อั่งเปา” มีความหมายว่า “กระเป๋าแดง” หรือซองสีแดงที่ผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว จะใส่เงินให้กับเด็กๆ หรือผู้น้อย หรืออาจจะแลกเปลี่ยนกันในหมู่ญาติพี่น้อง สีแดงของซองเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความโชคดี และเงินที่บรรจุภายบางครั้งจะเป็นเลขนำโชค เช่น เลข 8 อ่านในภาษาจีนจะมีความหมายถึงความรุ่งเรือง หรือความร่ำรวย ส่วน “แต๊ะเอีย” นั้นมีความหมายว่า “ผูกเอว” มีที่มาจากในสมัยก่อน ชาวจีนจะใช้เงินเหรียญมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยเหรีญเงินเหล่านั้นด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และมอบให้เด็กๆ ในเทศกาลตรุษจีน แล้วพวกเด็กๆ ก็มักจะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว เป็นที่มาของคำเรียกว่า “แต๊ะเอีย” ซึ่งปัจจุบันทั้ง อั่งเปา และ แต๊ะเอีย ก็หมายรวมถึงเงินของขวัญเหมือนกัน

ประทัด

ประทัด หรือ เปียนเผ้า ใช้จุดเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งจุดประสงค์แรกเริ่มไม่ใช่เพื่อความเป็นสิริมงคลแต่อย่างใด หากจุดเพราะต้องการขับไล่ภูตผีปีศาจที่มารังควาญ มีตำนานเล่าว่า ในสมัยโบราณ มีตัวประหลาดเรียกว่า “ซานเซียว” รูปร่างคล้ายคนแคระแต่วิ่งเร็วมาก ทุกปีเวลาใกล้ปีใหม่ ซานเซียวจะมาขโมยของกินในหมู่บ้าน บ้างก็วิ่งจับไม่ทัน แต่ถ้าวิ่งทัน ผู้ที่จับถูกตัวซานเซียวก็จะเจ็บป่วย ทำให้ผู้คนหวาดกลัว วันหนึ่งซานเซียวกำลังจะเข้ามาขโมยของ ขณะเดียวกันกับที่ปล้องไม้ไผ่ที่ใช้ทำฟืนหุงข้าวเกิดปะทุเป็นเสียงดัง ตัวซานเซียวก็วิ่งหนีไปด้วยความหวาดกลัว ต่อมาก็ได้มีการนำดินประสิวบรรจุในปล้องไม้ไผ่เล็กๆ แล้วนำไปเผาไฟให้ระเบิด เพื่อขับไล่ตัวซานเซียวและภูตผีร้ายตลอดจนสรรพโรคภัยต่างๆ จนกลายมาเป็นประทัดในปัจจุบัน

ตุ้ยเหลียน

ตุ้ยเหลียน คือ โคลงคู่ ที่เขียนตามแนวยาวบนกระดาษสีแดงสองแผ่น สำหรับติดในบ้านหรือที่ประตูบ้าน ตุ้ยเหลียน แปลความหมายตรงตัวว่า “สัมผัสต้องกัน” โคลงทั้งสองบาทจะต้องมีจำนวนคำเท่ากัน เสียงสูงต่ำและการสัมผัสคล้องจองรื่นหู รู้จักเล่นคำ ที่สำคัญคือต้องมีคติสอนใจ มีความหมายที่เป็นมงคล ยกตัวอย่างเช่น “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” คำอวยพรที่คนไทยนิยมพูดกันในวันตรุษจีน ซึ่งมีความหมายว่า เดือนใหม่คิดสิ่งใดจงสมปรารถนา ปีใหม่ทรัพย์จงเพิ่มพูนหนักหนา ในสมัยก่อนเจ้าของบ้านมักโชว์ฝีมือแต่งเอง เขียนเอง โดยใช้หมึกดำหรือสีทองเขียนคำอวยพรลงบนกระดาษสีแดง และมักเปลี่ยนกระดาษกลอนคู่ใหม่กันในวันตรุษจีน ปัจจุบันเพื่อความสะดวก ก็มีทั้งจ้างเขียน และพิมพ์สำเร็จให้เลือกใช้กันหลากหลาย

โคมไฟ

โคมไฟ หรือ เติงหลง หรือ หงเติงหลง ซึ่งหมายถึง โคมไฟสีแดง สำหรับชาวจีน โคมไฟ สร้างขึ้นเพื่อเสริมความมีสิริมงคล เพราะโคมไฟนั้นให้แสงสว่างแก่มนุษย์ การประดับโคมไฟก็คือการให้แสงสว่างแก่สถานที่นั้นๆ และโคมไฟที่ตกแต่งด้วยสีแดง ก็เป็นความหมายถึงสีสัญลักษณ์มงคลด้วยเช่นกัน โคมไฟนี้ ทำขึ้นมาจากโครงไม้ไผ่ ปะติดรอบโครงด้วยกระดาษ ด้านในมีเทียนไขวางไว้ ส่วนด้านบนเจาะเป็นช่องระบายอากาศและความร้อน และยังใช้เป็นที่สำหรับแขวนประดับหรือยึดจับเป็นไม้ถือโคม ชาวจีนนิยมแขวนประดับไว้ ในช่วงที่มีพิธีการหรืองานเลี้ยงฉลองสำคัญๆ และหลังจากตรุษจีน 15 วัน ตรงกับวันที่ 15 ค่ำ เดือนอ้าย (เดือนหนึ่ง) ตามปฏิทินจันทรคติจีน จะมีเทศกาลที่เรียกว่า เทศกาลหยวนเซียว หรือที่รู้จักกันว่า เทศกาลโคมไฟ เพราะถือว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของปีใหม่เป็นคืนสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีน ในสมัยโบราณทุกบ้านจะนิยมแขวนประดับโคมไฟหลายรูปแบบหลากสีสันไว้ ทำให้คืนนี้ทั่วทั้งเมืองจะสว่างไสวด้วยแสงจากโคมไฟ และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับทุกงานมงคลมาจนถึงทุกวันนี้