อานิสงส์ครั้งสุดท้าย
อานิสงส์ครั้งสุดท้าย
วันนี้ขออนุญาตไม่เขียนเรื่องกีฬากอล์ฟนะครับ
สืบเนื่องมาจาก เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชาติชาย เชี่ยวน้อย วีรบุรุษยอดนักชก อดีตแชมป์โลกมวยรุ่นฟลายเวทของไทย ได้เสียชีวิตลงในวัย 76 ปี โดยสงบ ตามวาระเวลาและสังขาร ที่ทราบกันว่า เขาเป็นโรคพาร์กินสัน แบบเดียวกับ มูฮัมหมัด อาลี จากการที่สมองกระทบกระเทือนมาหนักในอาชีพค้ากำปั้น
สิ่งหนึ่งที่ ชาติชาย เชี่ยวน้อยได้สั่งเสียให้ครอบครัวปฏิบัติคือ ขอให้ส่งร่างอุทิศกับโรงพยาบาลจุฬาฯ ตามที่เจ้าตัวได้ตั้งใจไว้
นั่นเป็น อานิสงส์สุดท้ายแห่งโลกนี้ ของ วีรบุรุษยอดนักชก
ผมได้เขียนระลึกถึง ชาติชาย เชี่ยวน้อย ลงใน นสพ.สยามกีฬา และเขียนถึง “สิ่งที่ดี” อานิสงส์สุดท้ายของเขาด้วย
จึงอยากถ่ายทอดลงใน กอล์ฟไทม์ ด้วยครับ
ด้วยเป็นเรื่องที่ดีงาม เป็นแนวคิดที่ควรกระจายออกไปในวงกว้าง ว่า การบริจาคร่างกาย เพื่อเป็น “อาจารย์ใหญ่” ได้ต่อยอดความรู้ให้กับ นิสิต นักศึกษาแพทย์ เพื่อจะรักษายังชีวิตให้กับคนไข้อีกมากมายอย่างไร..
*****
การบริจาคร่างกาย หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ให้กับ โรงพยาบาลหรือ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อใช้ในการศึกษาภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ภาษาชาวบ้าน ที่เรารู้จักคือ ได้เป็น “อาจารย์ใหญ่”
อาจารย์ใหญ่ ที่จะทอดร่าง ให้กับนักศึกษาแพทย์ได้ศึกษากายวิภาคศาสตร์ ด้วยการกรีดดู เนื้อเยื่ออวัยวะทุกองคาพยบของร่างกาย นอกจากโครงกระดูกที่เป็นสัญฐาน ยังละเอียดไปด้วย กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท อวัยวะภายในไส้พุงตับไต กะโหลก สมอง ประสิทธิ์ประสาทวิชาด้วยร่าง ต่อยอดให้กับนิสิตแพทย์จุฬาฯ (หรือนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยอื่น) นำองค์ความรู้ไปรักษาชีวิตคนอื่นอีกเป็นร้อยเป็นพัน
ร่างที่บริจาค โดยพื้นฐาน ยิ่งเร็วยิ่งดี คือประกาศเสียชีวิต แล้วรีบแจ้ง เพื่อเจ้าหน้าที่จะมารับศพทันที ร่างนั้น จะมีคุณภาพ เนื้อนิ่มนาน เนี้อเยื่อไม่สลายสภาพเร็ว สามารถเป็น อาจารย์ใหญ่ ได้นานถึง2ปี อันเป็นคุณูปการต่อการศึกษาอย่างยิ่ง หากผ่านการเสียชีวิตยิ่งนาน เซลล์ก็ยิ่งเสื่อมสภาพเร็ว อาจเป็นอาจารย์ใหญ่เพียงไม่กี่เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกับสภาพเนื้อเยื่อร่างกายต่างๆว่าใช้การได้แค่ไหน ( คือจะแข็งแห้งไปเรื่อยๆ จนหมดสภาพ)
จึงเป็นความสำคัญประการหนึ่ง สำหรับญาติผู้บริจาคควรทราบ ส่วนใหญ่จะประวิงเวลา เพื่อการทำใจ หรือปล่อยเวลาผ่านไป จนร่างใช้การไม่ได้เท่าที่ควร
มากเลยที่บอกว่า ทำใจไม่ได้ กับการสวด ที่รู้ว่ามีแต่โรงเปล่า ไม่มีร่าง
และความเชื่อที่ทำให้ การบริจาคร่างไม่ได้ผล คือ กลัวว่า ในชาติหน้าของผู้ตายจะขาดองคาพยบ ร่างกายไม่ครบสามสิบสองประการ หากถูกนำไปผ่าไปกรีดในสภาพต่างๆ ควรจะเผาไปครบๆดีกว่า
บางคนฟังมา ก็กลัวและสงสารร่างคนที่ตนรัก เช่นจะต้องโดนดองในอ่างซีเมนต์ จมทับถมกันอยู่ในน้ำยาดองศพ ฟอร์มาลีน,ฟอร์มาลดิไฮด์,ปิโตรเลียม เป็นสิบๆร่าง ดองกันนานเป็นปี ถึงช้อนขึ้นมาเป็นอาจารย์ใหญ่ ทำให้นึกถึงก้อนเนื้อเขละๆ เวลาฌาปนกิจ ก็เผารวมๆ กลับมาคืนเป็นอัฐิในถุงผ้าดิบมาถุงย่อมๆเท่านั้น..จึงทำใจไม่ได้
ทัศนคติ ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นมุมมองมุมเดียว ซึ่งเป็นการ ติดยึดกับความรู้สึกอาลัยของคนยังอยู่ ไม่ใช่ความปรารถนาของคนตาย
หากในมุมของ “การให้” เพื่อยังประโยชน์ เป็นอานิสงส์สุดท้ายของผู้สละบริจาคร่าง บ่งบอกชัดเจนในตำแหน่งของ “อาจารย์ใหญ่” ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา อันทรงคุณค่ายิ่ง
ผมเคยถามเพื่อนที่เป็นแพทย์ว่า วิทยาการสมัยนี้ก้าวหน้า สามารถทำหุ่นศึกษาวิชากายภาพศาสตร์ได้อย่างละเอียดยิบ เครื่องสแกนเนอร์สามมิติ ชัดเจนยิ่งกว่าของจริงก็มี หุ่นร่างมนุษย์ก็หล่อด้วยซิลิโคน โครงกระดูก ก็หล่อพลาสติกละเอียดยิบได้ ทำไมยังต้องใช้ ร่างคนเป็นอาจารย์ใหญ่อีก
เขาบอกว่า สมัยเรียนวิทยาศาสตร์มัธยมปลาย ยังต้องมีผ่ากบ ไม่ได้ใช้กบพลาสติก ก็เพื่อให้ได้รู้ เป็นนิสิต นักศึกษาแพทย์ ต้องผ่าศพนั้น เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้อย่างหนัก ต้องศึกษาจากเนื้อเยื่อของจริง ยิ่งเป็นศัลยแพทย์ยิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้พลาดกับร่างคนไข้ที่ยังมีชีวิต
ยิ่งมีจำนวนนิสิต นักศึกษาแพทย์มากขึ้น มีคณะแพทย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่ขยายเพิ่ม ก็ยิ่งต้องมี อาจารย์ใหญ่ ให้วิชามากขึ้น มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดบางทียังต้องขอร่างบริจาคที่ดองไว้ จากคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ,มหิดล ไปเป็นอาจารย์ใหญ่
ภาพแห่งการเป็นศพโดนดอง และถูกนำไปกรีดร่าง ก็มิใช่จะน่ากลัวหมดศักดิ์ศรีของร่างนั้น หากแต่ก็ได้รับการปฎิบัติเป็นอย่างดี ได้รับการกราบไหว้จากลูกศิษย์ เมื่อครบเทอมที่เพียงพอแล้ว ญาติๆ จะขอร่างคืน เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาเองก็ได้ หรือจะให้ สถาบันที่บริจาคให้ เป็นเจ้าภาพส่งอาจารย์ใหญ่ถึงปลายทาง เขาก็จะมามอบสุดท้ายเป็น อัฐิ
อันถือว่า เรียบง่าย เป็นสัจธรรมอย่างยิ่ง
การบริจาคร่างนั้น แค่คิดเริ่มต้นก็มีคุณค่าแล้ว คือมีประโยชน์ต่อผู้อื่นอีกคณนานับ แทนที่จะเผาไปเป็นอัฐธุลี ลอยอังคาร ให้ปูปลา
ให้ได้มีประโยชน์อย่างที่สุดต่อคนอื่นก่อน แล้วค่อยคืนสรรพสิ่งสู่มาดรธรรมชาติ..ผมว่าดีนะ
เพื่อนผมคนนึง พ่อบริจาคร่าง มันเล่าว่า ใจแทบขาด ตอนแจ้งให้ เขามาเอาร่างไป หลังพ่อจากไปไม่ถึงชั่วโมง ร้าวใจกับสิ่งที่ได้ฟังว่า การดองพ่อเป็นอย่างไร ครุ่นคิดตลอดว่า..ทำบาปต่อพ่อหรือเปล่า?
แต่กลับเป็นสุขที่สุด ปลื้มปิติ ในวันที่นักศึกษาแพทย์สี่คน พาพ่อมาคืนในสภาพเป็นอัฐิถุงหนึ่ง กราบว่า ท่านคืออาจารย์ใหญ่ของพวกเรา ที่ให้เรามีความรู้เพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น
พ่อคงดีใจ และเขาต้องเสียใจแน่ๆ ถ้าในวันนั้น ไม่แจ้งให้สถาบันมารับศพพ่อ ด้วยไม่ต้องการบริจาค
เพื่อนอีกคน พ่อเป็นหมอ แม่เป็นหมอ ทั้งคู่เป็นอาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ่อบริจาคร่างให้เป็น อาจารย์ใหญ่
ทุกวันนี้ มันบอกว่า..เดี๋ยวจะไปเยี่ยมพ่อหน่อย
นั่นคือ ไปดูโครงกระดูกพ่อที่อุทิศอยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์มช. มาหลายสิบปีปีแล้ว
ผมเองก็ทำพินัยกรรมไว้แล้ว เมื่ออายุแซยิด บริจาคร่างและอวัยวะทุกอย่าง หากยังประโยชน์กับผู้อื่นได้ให้กับสภากาชาดไทย มีบัตรอยู่ในกระเป๋าสตางค์
สั่งเมียลูกไว้เลยว่า เมื่อไรก็เมื่อนั้น รีบแจ้งภายในหนึ่งชั่วโมงด้วย ไม่ต้องอาลัยชักช้าหรอก ด้วยเป็นความต้องการของผมเอง ขอให้ปฏิบัติตามนั้น
ทุกวันนี้มีความสุขครับ แฮปปี้ว่า สักวันหนึ่งจะได้เป็น “อาจารย์ใหญ่” สร้างอานิสงส์สุดท้ายในโลกนี้ด้วยตัวเอง
อ่านแล้ว “อิน” ทำอย่าง ชาติชาย เชี่ยวน้อย หรืออย่างผม ก็ได้นะครับ
เชื่อเถอะว่า การทำอานิสงส์ครั้งสุดท้ายในโลกนี้นั้น อย่าเรียกว่า ทำบุญบารมีเลย หากเป็นเรื่องดีงามล้วนๆ ดีกว่า
ยอดชาย ขันธชวนะ