Interview

สุรภา ยอดคำปัน

สุรภา ยอดคำปัน
บริษัท กรุสยาม

คุณเกดมีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปะตั้งแต่ยังเด็ก เพียงเห็นรูปภาพแค่แว่บเดียวก็จะจำได้หมดไม่ว่าจะเป็น รูปแบบ เสื้อผ้า แม้กระทั่ง สี… เวลาเรียนก็ยังแอบฝึกหัดวาดรูปไปด้วย ถ้าหาอะไรเป็นแบบไม่ได้ ก็หยิบแบงค์ยี่สิบออกมาจากกระเป๋า พอเห็นลายไทยบนนั้น ก็วาดตามแบบ ขีดๆ เขียนๆ จนคล่อง
พอเริ่มฝีมือฉมังขึ้น คะแนนวาดภาพออกมาทีไรก็ได้ A … มีครั้งหนึ่งที่อยากไปเที่ยว แต่ขาดงบ เลยเกิดไอเดียรับจ้างเขียนรูปให้เพื่อน ไม่ว่าครูจะสั่งงานมาแบบไหน รายละเอียดอย่างไร ถ้าใครอยากจะได้เกรดไหนก็มาปรึกษาให้ช่วยเหลือได้

“เกรด A คิดแพงหน่อย ถ้าจ่ายน้อยก็ผลงานระดับ B แต่ถ้าจะให้ทำผลงานแค่ระดับ C ไม่รับปรึกษา เพราะกลัวว่าเสียชื่อเสียง” คุณเกดเล่าไปพร้อมกับเสียงหัวเราะ ขำตัวเองในวีรกรรมสมัยเด็ก

แววความเป็นแม่ค้าที่ควบคู่กับทักษะทางศิลปะเริ่มมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยตัวจิ๋ว แค่ ป.3 – ป.4 ก็ขายของเป็นแล้ว เพราะเธอเป็นลูกสาวชาวสวนขนานแท้ พอถึงฤดูผลไม้ชนิดไหน คุณยายก็เก็บใส่กระจาดให้หลานสาวนั่งเฝ้าทำหน้าที่แม่ค้า… “ถ้าวันไหนอยากกลับบ้านเร็ว ก็แถมลูกค้าเยอะหน่อย” คุณเกดเล่าแบบหัวเราะร่วนเมื่อบอกถึงเคล็ดลับของการขายดีแบบเทน้ำเทท่า

แต่พอมาถึงเรื่องเรียน เธอสารภาพว่าไม่ค่อยเอาไหน บางวิชาที่คุณแม่รู้ว่าอ่อน ก็ส่งไปติวถึงจุฬาฯ “วิชาไหนไปติว กลับมาก็ตกวิชานั้นเลย” เธอหัวเราะใหญ่… จนคุณแม่บอกว่า ถ้าให้เรียนสายสามัญของไม่ไหวแน่ คงต้องเปลี่ยนแผนหันไปเรียนสายอื่น

แล้วโชคชะตาในสายศิลปะของคุณเกดก็เริ่มขึ้นอย่างเหลือเชื่อ เมื่อคุณแม่ฟังวิทยุแล้วได้ยินข่าวสารว่า ในปีนั้นธุรกิจทางด้านจิวเวอรี่ ทำรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จึงถามว่า “เรียนทางด้านนี้เลยดีมั้ย?” ตอนแรกก็ยังรู้สึกงงๆ เพราะเคยวาดมาแต่เสื้อผ้า และในที่สุด คุณแม่ก็ช่วยจัดการจนคุณเกดได้เข้ามาอยู่ในโรงเรียนช่างทองหลวง

ตั้งแต่เกิดคุณเกดอยู่ในโรงเรียนหญิงล้วนมาตลอด พอมาอยู่ที่นี่ทั้งรุ่นมีผู้หญิงแค่เพียง 3 คน ที่เหลืออีกราวยี่สิบกว่าคนเป็นชายวัยทโมนทั้งนั้น “เข้าแถววันแรก วิ่งออกไปร้องไห้ในห้องน้ำเลย ผู้ชายเห็นเรานิ่มๆ เงียบๆ ก็จะคอยแกล้ง” คุณเกดเอ่ยถึงการปรับตัวเมื่อเริ่มต้นชีวิตที่ไม่คุ้นเคย แต่แค่พักเดียว เธอก็ปรับตัวได้ “ทีนี้เดินแถวหน้าเลย ทำอะไรต้องเร็ว เสร็จก่อน ใครแกล้งเรา มีตอบโต้สวนกลับทันที ทำให้ค้นพบตัวเองว่า แท้ที่จริงแล้วเราก็เป็นคนไม่ยอมใคร เป็นคนสู้คนเหมือนกัน กับพวกหัวโจกนี่สนิทกันเลย” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจพร้อมกับรอยยิ้มกว้าง

ในชั้นเรียนเรื่องขีดๆ เขียนๆ ไม่มีใครสู้เธอได้ แต่ทว่างานฝีมือที่ต้องใช้กำลังยอมรับว่าแพ้ทาง ความถนัดในการใช้เครื่องมือสู้พวกหนุ่มๆ ไม่ได้ จึงต้องอาศัยฝีมือในการออกแบบมาดึงคะแนนให้แซงหน้าจนนำลิ่ว และในร้านสหกรณ์ของโรงเรียน อาจารย์ท่านต่างๆ ได้นำผลงานเช่น แหวน กำไล เครื่องประดับทองโบราณ มาฝากขาย คุณเกดก็เข้าไปช่วย เริ่มจากหยิบจับงานเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็มาช่วยเฝ้า จนหลังๆ ต้องขายเอง ดูแลทั้งร้าน เพราะผู้ใหญ่เห็นแล้วว่า มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ สามารถทำหน้าที่ได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องการขายที่ต้องอาศัยความรู้และทักษะในการเจรจากับลูกค้า

พอเจอลูกค้าบ่อยๆ ขึ้น ความรู้ความชำนาญก็มากขึ้น เมื่อลูกค้าเดินเข้ามา ก็พอจะรู้ว่าบุคลิคแบบนี้ควรหยิบชิ้นไหนนำเสนอ หรือแค่ขอดูชิ้นแรก เธอก็จะหยิบชิ้นต่อไปมารอให้ดูได้เลยโดยลูกค้าไม่ต้องคิดเอง ซึ่งส่วนใหญ่ถึงแม้จะหยิบเลือกดูหลายๆ ชิ้น ก็มักจะมาจบในชิ้นที่เธอนำเสนอ

เคล็ดลับสำคัญที่สุดคือ “ไม่ผลักดันลูกค้าให้ซื้อจนเกินไป” มิเช่นนั้นอาจจะเสียลูกค้าไปจริงๆ ปล่อยให้เขามีเวลาคิดเต็มที่ แม้กระทั่งให้ถ่ายรูปกลับไปดูแล้วค่อยตัดสินใจ เพราะว่า “ถ้ามันเป็นของคุณแล้ว คุณก็จะกลับมารับมันเอง”

“เครื่องประดับทำหน้าที่หลายอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามอย่างที่เรามองเห็นเท่านั้น เครื่องประดับยังใช้เพื่อเป็นตัวแทนความเป็นตัวตนของคนๆ นั้น ในสมัยโบราณยังแสดงถึงตำแหน่งยศศักดิ์ของผู้สวมใส่ ยิ่งเมื่อเราใช้รูปแบบโบราณมาสวมใส่ ยิ่งต้องมีความชอบลึกๆ ว่าชอบสิ่งนี้จริงๆ แล้วเขาก็จะตามมาหาเราเอง คนสวมใส่ต้องมีความถึงพร้อม ทั้งทางด้านจิตใจ และรสนิยม” คุณเกดช่วยขยายรายละเอียด

คุณเกดชอบของสวยๆ งามๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ชอบเพชร ชอบพลอย ชอบหยิบขึ้นมาส่องดูว่าพลอยชนิดไหนสีอะไร ตอนพักกลางวันก็จะดูแต่หนังสือ อ่านตำรา ดูว่าพลอยชนิดไหนมีคุณลักษณะเป็นอย่างไร บอกชื่อภาษาอังกฤษที่ยากๆ ได้หมด แม้กระทั่งดูชิ้นงานออกว่าเป็นงานจากไหน ใครออกแบบ ใช้พลอยชนิดไหนทำ ขณะที่เพื่อนๆ มองว่านั่นคือยาขม แต่สำหรับเธอนั่นคือความสุข สาเหตุก็คือความรักความชอบ จนอาจารย์เห็นแวว โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบและประวัติศาสตร์เครื่องประดับ สนับสนุนให้เป็นอาจารย์สอนในสถาบันฯ และยังได้เป็นช่างทองหลวงอีกด้วย ซึ่งยากมากที่จะได้รับตำแหน่งนี้ เพราะต้องมีทั้งทักษะฝีมือและจังหวะของโชคชะตานำพา เพราะมีจำนวนจำกัดเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะทำหน้าที่นี้ได้

อ.เกด ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการจะเป็นนักออกแบบที่ดีไว้ว่า… “การจะเป็นนักออกแบบ ต้องดูงานของคนอื่นเยอะ แต่ไม่ใช่ลอกเลียนแบบ เป็นการสะสมความรู้ แล้วนำมาผสมกับความเป็นตัวตนของเรา แล้วสมองก็จะประมวลผลเองเพื่อสร้างงานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเราออกมา”

“เกดเคยเปิดร้านขายเครื่องเงินที่สวนลุมไนท์บาร์ซ่าตั้งแต่ยังเรียนอยู่ จุดมุ่งหมายไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องสร้างรายได้มากมาย แต่อยากจะรู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร

ไม่เคยวาดฝันไว้ว่าโลกจะต้องสวยงาม ชีวิตทุกคนเต็มไปด้วยอุปสรรคอยู่แล้ว ถ้าเราได้เรียนรู้ที่จะสู้ ได้ทำงานเยอะ ได้เจอกับผู้คนหลากหลาย เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ชีวิตย่อมแกร่งขึ้น ตามไปด้วย พอเจอกับปัญหาก็ไม่เคยกลัว หน้าที่ของเราคือแก้ไข แล้วทำให้ออกมาดีที่สุด”

จากสาวสวยรักสวยรักงาม พูดจาอ่อนหวาน ทำงานศิลปะละเอียดอ่อน แต่กลับมีงานอดิเรกยามว่างต่างจากบุคลิกที่เห็นแบบสุดขั้ว เพราะเธอคือหนึ่งในสาวจำนวนน้อยมากที่หลงใหลการขับขี่ บิ๊กไบค์ มอเตอร์ไซด์คันใหญ่ยักษ์ แบบเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งที่ดูไปแล้วสรีระไม่น่าจะเอื้ออำนวยให้ทำกิจกรรมแสนจะท้าทายนี้ได้ ทำเอาแทบทุกคนต้องอึ้งและทึ่งในความมุ่งมั่น

“บิ๊กไบค์ เริ่มจากความกลัว ไม่ใช่ความชอบเลย เพื่อนเคยพาซ้อนท้ายแล้ววิ่งผ่ากลางระหว่างรถบรรทุก วันนั้นกลัวสุดขีด… จนวันหนึ่งได้นั่งซ้อนไปกับเพื่อนที่เขาใหญ่ แล้วนึกสนุกอยากจะลองขับบ้าง เลยขอให้เพื่อนสอน เขาก็แนะนำวิธีการบังคับรถเบื้องต้นให้ แล้วเราก็ขับได้ทันที จนคนที่เห็นงงกันหมดว่าทำได้ยังไง ทั้งๆ ที่ขนาดรถกับตัวคนไม่สมส่วนกันเลย และเกิดความชอบในบิ๊กไบค์ตั้งแต่วินาทีนั้น บอกเพื่อนว่าช่วยสอนให้อีก แต่เพื่อนกลับบอกว่า มันอันตรายมากรู้มั้ย พลาดพลั้งอาจถึงชีวิตได้ การขับมอเตอร์ไซด์ต้องรู้จักคำว่ากลัวไว้ก่อน ไม่ใช่กล้าไว้ก่อน ยิ่งกล้ามากก็ยิ่งไปก่อน”… คุณเกดเล่าถึงกิจกรรมสุดโปรด
ด้วยความมุ่งมั่น อยากเริ่มอย่างถูกต้องและจริงจัง จึงต้องไปเข้าเรียนกับครู ฝึกกันกลางแจ้งแบบไม่กลัวแดด เริ่มจากคันเล็กแล้วค่อยๆ ขยับไปหาคันใหญ่ ฝึกขับ ฝึกเข้าโค้ง ให้กระจ่างทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ

วีรกรรมความหลงใหลเกี่ยวกับบิ๊กไบค์ของคุณเกดเริ่มต้นเมื่อตัดสินใจ ซื้อรถคันแรก… “ต้องแอบจอดเก็บไว้ที่ทำงาน ให้ที่บ้านรู้ไม่ได้ โดยแม่ห้ามแน่ๆ หัวค่ำก็เข้ารีบเข้านอน แล้วตื่นมาตอนตีสอง ขับรถยนต์ออกจากบ้านเพื่อกลับมาเอารถไปซ้อมหัดขับตอนถนนว่างๆ กลางดึกออกทริปแรกๆ ขับยาวไปกลับเชียงใหม่ จนมือถลอก ชาไปอีกหลายวัน เพราะควบคุมรถยังได้ไม่ดีนัก แต่เอาตัวรอดมาได้เพราะความใจเย็น”

“การขับมอเตอร์ไซด์ของเกดคือการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง ต้องปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ ใจต้องว่าง ต้องมีสมาธิสูง จดจ่ออยู่แค่เรื่องเดียว สายตาต้องจดจ้อง คอยอ่านว่าหนทางข้างหน้าจะเจอกับอุปสรรคอะไร ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอยู่ตลอดเวลา แล้วยังต้องคอยส่งสัญญาณเตือนบอกเพื่อนในขบวนที่ร่วมทางด้วยกันอีกด้วย และที่สำคัญที่สุดก่อนจะออกรถได้ ร่างกายต้องพร้อม อุปกรณ์ป้องกันต้องครบเครื่อง เพราะถึงแม้จะระมัดระวังสักแค่ไหน อุบัติเหตุก็ยังอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งเกดเองก็มีประสบการณ์เฉียดตายมาแล้ว”

ความน่าประทับใจอย่างหนึ่งของครอบครัวคุณเกดก็คือ ถึงแม้ว่าคุณสามี (อ.นิพนธ์ ยอดคำปัน) จะไม่ขับขี่บิ๊กไบค์ แต่ทุกครั้งที่คุณเกดออกทริป จะต้องขับรถยนต์ตามขบวนไปด้วย “ในเมื่อห้ามเกดไม่สำเร็จ เขาก็คอยเป็นกองเชียร์ ตามไปให้กำลังใจ”

คุณเกดเป็นคนจริงจังมาก เวลาทำงานก็ทุ่มเทจนแทบไม่ได้พักผ่อน จนครั้งหนึ่งขณะกำลังคัดพลอยอยู่ เกิดอาการชาไปครึ่งตัว ตกใจมาก พยายามหาวิธีต่างๆ เพื่อรักษา แต่ยังไงก็ไม่ยอมหาย โดยที่คนอื่นมองไม่ออกว่าไม่สบาย เพราะคือการเจ็บป่วยภายใน เจ็บออดๆ แอดๆ จนรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข เบื่อโลก แต่อยู่ดีๆ ก็คิดขึ้นมาได้เองว่า ต้องออกกำลังกายด้วยการเล่นโยคะ และหลังจากนั้นสุขภาพก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นสามารถเล่นโยคะรักษาสมดุลบนรถบิ๊กไบค์ได้อย่างสวยงาม

ผู้คนมักจะมีคำถามกับคุณเกดอยู่เสมอว่า ทำไมถึงเลือกการใช้ชีวิตบางส่วนที่ดูแล้วอาจจะอันตรายมากกว่าคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องออกไปเสี่ยงแบบนั้นเลย

คำตอบที่เป็นข้อคิด และจากตัวตนของเธอนั้นคือ… “ทุกวินาทีที่เรามีลมหายใจอยู่ ไม่ว่าจะพยายามรักษาชีวิตให้ปลอดภัยสักแค่ไหน โอกาสเสี่ยงกับอันตรายที่ไม่คาดคิดก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าหากเราได้เลือกทำในสิ่งที่รักที่ชอบ โดยตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มีสติ อยู่ในกฏเกณฑ์ของความปลอดภัย ไม่ทำให้ทั้งเราและคนรอบข้างเดือดร้อน สิ่งนั้นแหล่ะค่ะคือกำไรชีวิตของเกด”

และเมื่อให้กล่าวถึง กรุช่าง และ บริษัท กรุสยาม ปิดท้ายบทสนทนา คุณเกดได้ให้ข้อสรุปว่า

“กรุช่าง ทองโบราณ เปิดต้อนรับทุกคนเสมอ ถึงจะไม่ซื้อแต่ถ้าอยากดู แค่อยากสอบถามเราก็ยินดีให้คำอธิบาย ยินดีให้คำแนะนำ เราให้เกียรติคนที่ชอบงานโบราณ เห็นคุณค่าความเป็นศิลปวัฒนธรรมไทย บางคนพาลูกหลานมาดูด้วย ช่วยเปิดโลกทัศน์ของคนรุ่นใหม่ ให้ได้รู้ ได้เห็นศิลปะแขนงนี้มากขึ้น และเราก็หวังว่าในอนาคต คนรุ่นใหม่ๆ นี้แหล่ะที่จะมาสืบสาน ช่วยกันอนุรักษ์งานที่เป็นไทยแท้ๆ ของเรา ให้ยืนยาวต่อไป การได้มาเห็นความสวยงาม การให้ความสำคัญของศิลปะทองโบราณ การได้มาช่วยอุดหนุน ก็เหมือนมาช่วยต่อลมหายใจให้กับช่างโบราณที่มีจำนวนน้อยนิด ให้มีกำลังใจช่วยกันสืบสานศิลปะแขนงนี้ของไทยให้ต่อไปได้อีกอย่างยั่งยืนค่ะ”