เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี
เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี
อีกโครงการดีๆ เพื่อ “คนชอบถีบ”
กระทรวงมหาไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผุดโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” ขึ้น ดึง 15 จังหัวดนำร่อง ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของประชาชน มุ่งเน้นให้เกิดเป็นนโยบายระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับชาติ มีการสร้างพื้นที่เพื่อจักรยาน โดยมี สวน สนาม และเส้นทางเพื่อจักรยาน เน้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โดยร่วมพัฒนากิจกรรม และดำเนินโครงการในพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่ ตลอดจนการรณรงค์ การจัดกิจกรรมในวันพิเศษ และโอกาสต่างๆ
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวถึงโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” ว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานให้เป็นกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิต ที่ตอบสนองต่อกลุ่มผู้ใช้จักรยาน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันตลอดเส้นทาง กลุ่มเพื่อการเชื่อมโยงกับระบบสัญจรอื่นๆ และกลุ่มเพื่อการออกกำลังกายและนันทนาการ ผ่านยุทธศาสตร์ 3 ส. คือ สวนสาธารณะ เส้นทางสัญจร และสนามกีฬา
โดย “สวนสาธารณะ” ควรพร้อมใช้ 60% และตอบสนองต่อกลุ่มผู้ใช้จักรยานเพื่อการออกกำลังกายและนันทนาการ อีกทั้งจัดการสวนให้เอื้อต่อการใช้ อย่างเช่น ตีเส้นทางคนเดิน-วิ่ง-จักรยาน ระเบียบการใช้สวน เป็นต้น, “เส้นทางจักรยาน” ที่มีจะต้องตอบสนองต่อผู้ใช้เส้นทาง ทั้ง ไปทำงานไปเรียน โดยเลือก 1 เส้นทาง ที่รถยนต์วิ่งได้ช้าเป็นเส้นทางที่มีผู้คนใช้ประจำ หรือเส้นทางสัญจรเชื่อมต่อและใช้วิธีปรับแบ่งพื้นผิวจราจร พร้อมกับมีมาตรการดูแลตามกฎหมาย และ “สนามกีฬา” ทุกจังหวัดมีสนามของหน่วยราชการ โรงเรียน บางจังหวัดมีสนามบิน ซึ่งเอื้อต่อผู้ใช้เพื่อการออกกำลังกาย หรือการฝึกใช้จักรยานของเด็ก และสามารถทำเป็นกิจการเพื่อสังคม(CSR) กับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อจัดการกิจกรรมช่วงเวลาปั่นจักรยานได้อีกด้วย
ซึ่งโครงการนี้จะดำเนินการนำร่องใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงราย น่าน พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม จันทบุรี อุดรธานี อุบลราชธานี ประจบคีรีขันธ์ กระบี่ ตรัง พัทลุง และสงขลา
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายจักรยานฯ ได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อสนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันและเกิดการใช้จักรยานขึ้นจริงมากมายหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการปั่นปันข้าว, โครงการ Car Free Day 2015, โครงการปั่นล้อมเมือง, โครงการปั่น 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนฯ และโครงการ A Day Bike Fest 2015 รวมถึงการกระตุ้นใช้จักรยานผ่านการท่องเที่ยว จะมีทั้งโครงการแผนที่ท่องเที่ยวและเดินทางด้วยจักรยานทั่วประเทศ (Kingdom Ride) และโครงการปั่นรักษ์โลก (Green Ride) อีกทั้งการเพิ่มพื้นที่ปั่นจักรยาน มีโครงการ 60 สวน 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ และโครงการ 1 ค่าย 1 สนาม และโครงการรางวัลเมืองจักรยาน ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้มีการวางแผนและจัดการเมืองให้สามารถใช้จักรยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ประชาชนไม่น้อยหันมาให้ความสนใจกับการขี่จักรยานเป็นจำนวนมาก หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมองเห็นและให้ความสำคัญการใช้จักรยานอย่างจริงจัง นอกจากจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพทางกายของประชาชนแล้ว ยังเป็นการลดความสิ้นเปลือง ลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมทั้งเสียงและอากาศ แถมยังเป็นการอนุรักษ์พลังงานโดยรวมอีกต่างหาก นับว่าเป็นการพัฒนาวิถีชีวิตของชุมชนให้เกิดผลดีอย่างยั่งยืนทีเดียว