Interview

ธนกร ดวงมณี

ธนกร ดวงมณี
US College Sports Camp
Founder & President
“รู้จักวางแผนล่วงหน้า และเมื่อมีโอกาส จงอย่าปิดกั้นโอกาสนั้น”

บทเรียนสำคัญที่ผมได้รับเมื่อเลือกทางเดินชีวิตในสายกีฬา คือความล้มเหลวในเรื่องการเรียน เวลาเล่าประสบการณ์ ผมจึงบอกเสมอว่า กีฬา เป็นสิ่งสำคัญ แต่เรื่องเรียนสำคัญกว่า กล้ายืนยันได้เลยเพราะผมผ่านมาแล้ว เคยเรียนที่บัญชีจุฬาฯ เทอมแรกได้แค่ 1.5 เพราะไม่ได้เรียนเลย เอาแต่ออกไปแข่งเทนนิส เทอมสองต้องกลับมาตั้งใจเรียน ทำเกรดได้ 3.8 แต่เกรดเฉลี่ยก็เหลือแค่สองกว่าๆ เท่านั้น

เมื่อมีโอกาสได้ตั้งต้นใหม่อีกครั้ง ที่ มหาวิทยาลัยเซ้าท์อะลาบาม่า ผมจึงเริ่มเรียนหนังสือด้วยความตั้งใจ และยังบอกกับทุกคนเสมอว่า เทอมแรกสำคัญที่สุด แต่เทอมสองสำคัญกว่าอีก เพราะต้องนำมาคิดเกรดเฉลี่ยกัน จากภาษาอังกฤษที่ไม่รู้เรื่อง กว่าจะผ่านไปแต่ละหน้าต้องนั่งเปิดดิกฯ หาคำศัพท์ เป็นชั่วโมง เมื่อมีโอกาสแก้ตัวใหม่ก็ตั้งใจเรียนเต็มที่ ทำให้จบมาที่เกรด 3.9 และผมยังช่วยเด็กไทย ให้คำแนะนำ เพื่อจะได้เข้ามหาวิทยาลัยด้วยทุนเทนนิสมาแล้วมากมาย จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง

การอยู่ในมหาวิทยาลัยในฐานะนักกีฬา เป็นการใช้ชีวิตตามแบบแผนที่กำหนดมาให้แล้ว เรามีหน้าที่แค่ทำตาม เช่นช่วงยังไม่ถึงฤดูแข่งขันหนักๆ โปรแกรมของวันจันทร์ ถึง ศุกร์ เริ่มตั้งแต่ตื่นนอน ไปวิ่ง ไปเรียน บ่ายซ้อมเทนนิส เย็นเข้าเวทเทรนนิ่ง กินอาหาร เข้าห้องทบทวนบทเรียน พอถึง ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ก็ออกไปแข่ง ตารางก็จะวนเวียนแบบนี้

ด้วยความที่ไม่รู้ และอยากรู้ ทำให้ผมกลายเป็นคนที่ขยันเรียนที่สุดในทีม อ่านหนังสือมากที่สุด อยู่ในห้องสมุดมากที่สุด และที่สำคัญ วิชาไหนที่อยากจะรู้เพิ่มเติม ก็มีติวเตอร์มาช่วยสอนให้ โดยมหาวิทยาลัยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ผมก็ใช้สิทธิ์ทุกวิชา สองปีแรกเหนื่อยมากเพราะต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจกับวิชาต่างๆ โดยเฉพาะกับเทอมแรกผมจะยอมไม่พลาดอีกแล้ว รวมทั้งเทอมสองที่จะต้องมาคิดเฉลี่ยกันครึ่งๆ ผมจึงบอกกับทุกคนว่า ถ้าปีแรกเกรดออกมาดี ยังไงก็เรียนจบด้วยเกรดดีๆ แบบสบายๆ ไม่เหนื่อยมาก แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยเกรดไม่สูง จะมาดึงเกรดช่วงหลังยังไงก็ขึ้นยาก วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะจบเกรดดีๆ ก็คือตั้งใจเรียนให้มากๆ ในปีแรก ใครจะชวนไปปาร์ตี้ ไปเที่ยวที่ไหนยังไงก็อย่าไป ใช้เวลากับการเรียนให้มากที่สุด

ทุน ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยในฐานะนักกีฬา เรียกว่าจัดเต็มให้หมดทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องการเรียน เสื้อผ้า อาหาร อุปกรณ์การกีฬา การเดินทางไปแข่งขัน การฝึกซ้อม แม้กระทั่งติว ฯลฯ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับผู้ที่จะเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย โดยอาศัยทักษะทางการกีฬาเป็นกุญแจสำคัญ

ผมเคยสัมผัสประสบการณ์มาแล้วว่า ถ้าการแข่งกีฬาของมหาวิทยาลัยจัดปีละหน การพัฒนาการกีฬาจะเป็นไปได้ยาก เพราะส่วนใหญ่นักกีฬาก็จะรอให้ใกล้ๆ แข่งก่อน ถึงจะลุกขึ้นมาซ้อม แล้วพอเล่นได้แค่ปีสองปีก็เลิก ขณะที่อเมริกาแข่งกันยาวนานถึงแปดเดือนต่อปี ต้องฝึกซ้อมพัฒนากันตลอด แบ่งเป็นช่วงก่อนฤดูกาล แข่งกันแบบเก็บแต้มไปเรื่อยๆ กับกลุ่มสถาบันที่อยู่ใกล้ๆ กัน พอถึงช่วงฤดูแข่งขัน จะแข่งกันแบบเหย้าเยือน มีแข่งกันตลอด บางช่วงสัปดาห์ละ 3 หนก็ยังมี สอนให้เรารู้จักเรื่องการเดินทาง การใช้ชีวิตในระหว่างแข่งขัน

ช่วงเรียนปี 3 ผมกลับมาฝึกงานที่ตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย เริ่มรู้แล้วว่าเทนนิสอาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต จะต้องมีการวางแผนทางด้านอื่นไว้เป็นทางเลือกบ้าง ขณะที่ก็ยังเล่นเทนนิสให้มหาวิทยาลัยอยู่ จนเรียนจบก็ไปต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย จอร์จ วอชิงตัน, วอชิงตัน ดีซี

เมื่อตอนเรียนปริญญาตรี แทบไม่มีเวลาว่างเลยเพราะยังเล่นเทนนิสอยู่ แต่พอเรียนปริญญาโทอย่างเดียว ไม่ได้เล่นเทนนิส เลยว่าง จึงมีเวลาทำงานที่บริษัทไฟแนนซ์ไปด้วย เทนนิสเลยกลายเป็นแค่งานอดิเรก จนเมื่อมาเจอกับ ภราดร ศรีชาพันธุ์ ตั้งแต่กำลังเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะนักเทนนิสอาชีพจากประเทศไทย ผมเลยตั้งสมาคมไทยเทนนิสแห่งอเมริกา เพื่อตามเชียร์โดยเฉพาะ มีเครือข่ายตามหัวเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะไปแข่งที่ไหนจะมีคนคอยดูแล เวลาแข่งมีกองเชียร์ใส่เสื้อแดงคอยตามเชียร์ ผมทำหน้าที่คอยต่อรองเรื่องราคาตั๋วให้ถูกลองเพื่อคนไทยจะได้เข้าไปดูเยอะๆ รวมถึงติดต่อประสานงานเรื่องต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทนนิส เพราะความที่ผมรักกีฬา ทำให้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องการดูแลและจัดการให้กับนักกีฬาไทยหลายๆ คน โดยเฉพาะนักกีฬาเทนนิส จนกระทั่งช่วงหลังกระแสค่อยๆ จางลงไป

ผมยังคอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษากับเด็กไทยรุ่นน้องๆ ที่จะเข้ามาเรียนหนังสือในอเมริกา ให้รู้ขั้นตอนต่างๆ ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เช่น การสอบ SAT, TOEFL ให้มีคะแนนตามเกณฑ์ แล้วพอติดต่อมหาวิทยาลัยให้ ก็บินไปหาโค้ชเพื่อเล่นให้ดูทักษะ พอผ่านขั้นตอนต่างๆ จนสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว เขาเองก็ต้องคอยให้คำแนะนำ ช่วยให้คำปรึกษาแบบนี้กับน้องๆ รุ่นถัดไปแบบปากต่อปากด้วยเช่นกัน ซึ่งก็มีคนไทยเข้าไปเรียนทุนลักษณะนี้พอสมควร แต่ยังไม่เคยมีใครเทิร์นโปรในระหว่างเรียนมาก่อน ตอนนั้นคนยังคิดว่าจะเล่นเทนนิสเพื่อเป็นทุนเรียนจนจบเท่านั้น แต่ปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว การเข้ามหาวิทยาลัยอาจจะเป็นการเตรียมตัวเพื่อพร้อมสำหรับการเล่นอาชีพก็ได้

ผมผูกพันกับเทนนิสมากเป็นพิเศษ ได้อยู่ในคณะกรรมการเทนนิสของประเทศอเมริกาตั้งแต่ระดับเมืองเล็ก เมืองใหญ่ จนถึงระดับประเทศ นับสิบปี ได้มีส่วนร่วมรับรู้เรื่องราวของวงการเทนนิสของอเมริกาอย่างลึกซึ้ง

จนเมื่อผมมีครอบครัว มีลูก ก็อยากจะสานฝัน ผมเป็นนักเทนนิส ก็อยากจะให้ลูกเป็นนักเทนนิสบ้าง พอเขาเริ่มเดินได้ก็อยู่บนคอร์ทกับผมวันละหลายชั่วโมง แต่พอสองปีต่อมาลูกอายุได้ 5 ขวบ ลูกก็บอกผมว่าไม่อยากเล่นเทนนิสแล้ว อยากเล่นกอล์ฟ ซึ่งเป็นกีฬาที่ผมไม่ถนัดเลย

ชีวิตผมเปลี่ยนไปเลยทันที รู้ว่าตัวเองทำผิดที่ให้ลูกสานฝันของพ่อ ซึ่งนั่นไม่ใช่ฝันของเขา เมื่อลูกอยากเล่นกอล์ฟ แต่ผมไม่รู้ว่าจะทำยังไง ก็ติดต่อพี่คนไทยที่ลูกเขาเล่นกอล์ฟ ปรึกษาว่าจะทำยังไง ก็ได้คำตอบกลับมาว่าต้องพาลูกไปหาโค้ชที่เก่งๆ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี

ตอนลูกอายุราว 5-6 ขวบ ผมต้องไปนั่งรอโค้ช เพื่อจะขอให้สอนลูก ซึ่งปกติเขาสอนแต่เด็กที่โตๆ กับผู้ใหญ่ ครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ เขายังไม่ยอมสอนอยู่ดี ผมก็ต้องรอไปอีกเป็นปี ก่อนจะชวนรุ่นพี่ไปรอโค้ชเพื่อขอให้เขาสอนลูกผมอีกรอบ โดยบอกกับโค้ชว่า ลูกผมเก่ง ขอให้ลองรับสอนดูก่อน คราวนี้เขาก็ยอมสอน ให้มาหาเขาเดือนละสองครั้ง แล้วระหว่างนั้นให้ไปฝึกเอง แล้วเขาก็จะกลับมาดูว่าสิ่งที่สอนไปมีการพัฒนาการอย่างไร ได้ทำตามในสิ่งที่เขาสอนไปหรือไม่ หลังจากนั้นอีกเป็นปี ก่อนถามว่าจะมาเรียนทุกอาทิตย์รึเปล่า

ลูกชอบกีฬากอล์ฟ แต่เล่นเทนนิสเพราะผม หลังจากนั้นผมบอกกับพ่อทุกคน โดยเฉพาะกับพ่อที่เป็นนักกีฬาเก่งๆ ว่า อย่าให้ลูกตามฝันพ่อ ให้ลูกเล่นกีฬาที่ลูกรัก แล้วเขาจะทำได้ดี เพราะเขาทำในสิ่งที่เขารัก

ถึงลูกจะรักกอล์ฟแค่ไหน อยากเล่นทุกวัน แต่ผมก็ขอให้ทุกวันจันทร์เป็นวันหยุดพักของกีฬากอล์ฟ จะเล่นกีฬาอื่น หรือทำกิจกรรมอะไรก็ได้ เพราะร่างกายควรได้พักกล้ามเนื้อบ้าง โดยเฉพาะวัยเด็ก อีกทั้งยังต้องการให้มีสังคมกับเพื่อนๆ หรือเล่นกีฬาประเภททีมบ้าง เช่นฟุตบอล บาสฯ จะเล่นไม่เก่งก็ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีใครว่า เพราะนี่คือทักษะทางสังคมที่เด็กควรจะต้องมี

ไม่ว่าลูกจะเล่น จะเลิก หรือจะทำอะไรก็ตาม หน้าที่เราคือสนับสนุนเขาเสมอ ขอแค่ให้เขามีความสุข แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง นั่นคือ กอล์ฟเป็นกีฬาของครอบครัว เราดีใจที่ได้ใช้เวลากับลูก ในทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ๆ เขาก็ให้ผมไปเป็นแค้ดดี้แบกถุงให้ ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้เล่นกอล์ฟ ไม่ได้ชอบกอล์ฟ ดูไลน์ก็ไม่เป็น แต่เราได้เดินไปด้วยกัน คุยกันไป เล่นกันไป เป็นความสุขของครอบครัว สิ่งที่ผมทำได้เพื่อเขาจากการเป็นนักกีฬาเทนนิสก็คือ การดูแลสุขภาพร่างกาย ดูแลโภชนาการ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของนักกีฬาทุกประเภท

ทุกกีฬาย่อมจะมีวันที่เล่นได้แย่ หรือที่เรียกว่า Bad day กันทุกคน กอล์ฟก็เช่นกัน ลูกผมก็เคยเกิดเหตุการณ์นี้ วันนั้นเขาทำสกอร์ได้แย่มาก ทุกอย่างผิดฟอร์มไปหมด ทำอะไรก็ไม่ดี พอเล่นจบ เขาเดินออกมา เราก็รู้ว่าเขาเล่นไม่ดี หัวเสียมาก แต่สิ่งที่เราทำก็คือ เราพ่อแม่เดินเข้าไปหาแล้วกอด ให้กำลังใจ โดยไม่ตำหนิอะไรเขาเลยสักคำ แล้วสองวันต่อมาเขาก็เล่นได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถทำอันเดอร์ จนคะแนนรวมกลับมาสแควร์ได้สำเร็จ นั่นแสดงว่าการให้กำลังใจน่าจะดีกว่าการตำหนิเมื่อเขาต้องเผชิญกับภาวะย่ำแย่

ผมฝึกเขาให้ทำทุกอย่างด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก สอนให้รู้จักรับผิดชอบ มีวินัย อย่างเรื่องเวลาการทีออฟ เมื่อก่อนเราเคยคอยบอก คอยกำกับ คอยช่วยเขาตลอด พอถึงเวลาก็ปล่อยให้ดูแลตัวเอง ครั้งแรกทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาจะสาย ไปไม่ทันแน่นอน แต่ผมก็ปล่อยให้เขาสาย โดนลงโทษไป จากครั้งนั้นเขาก็จำแม่น ไม่เคยสายอีกเลย

ในเรื่องเทนนิส ผมหลับตาก็บอกได้ แต่พอเป็นกอล์ฟผมไม่รู้ แล้ววิธีจะทำยังไงให้รู้ ผมปั้นเด็กดีกว่า จะได้รู้ขั้นตอนอย่างละเอียดว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง ช่วงนั้นหมดยุคเทนนิสของเราพอดี จะให้ไปนั่งบริหารงานสมาคมเทนนิสเพื่อช่วยเหลือแต่คนอเมริกันก็คงไม่ใช่ ผมต้องการช่วยคนไทย เลยคิดว่าจะหานักกอล์ฟไทยสักคน ที่อยากตามฝันตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร หน้าที่ผมคือ ต้องไปเรียนรู้ขั้นตอนทั้งหมดอย่างละเอียด เพื่อจะนำนักกีฬาหญิงเข้าไปสู่ LPGA ให้ได้ เมื่อพาเข้าได้สำเร็จแล้ว ทราบวิธีการแล้ว ต่อไปผมก็อยากจะพานักกีฬาชายไปเข้า PGA บ้าง

ผมมีความคิดที่อยากจะจัดแค้มป์ในเมืองไทย แล้วนำโค้ชจากอเมริกามาแนะนำว่า ถ้านักกีฬากอล์ฟหรือเทนนิสสนใจจะรับทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัย ของอเมริกา จะต้องทำยังไงบ้าง ตอนเริ่มต้นได้รับการสนับสนุนจากคุณสันติ ภิรมย์ภักดี ปีแรกที่ทำแค้มป์หลายคนยังอาจจะงงๆ กับเนื้อหาที่อาจจะจัดยังไม่เข้าที่เข้าทาง

ปีที่สองเสียงตอบรับก็ดีขึ้น พอปีที่สามผมก็เพิ่มฟุตบอลเข้าไปด้วย ส่วนทั้งกอล์ฟและเทนนิส เด็กๆ ก็มาพร้อมกับเรซูเม่เพื่อมาคุยกับโค้ช ยิ่งปีที่สี่ เขาถามกันล่วงหน้าเลยว่า โค้ชคนไหนจากมหาวิทยาลัยไหนจะมา จะได้หาข้อมูล ติดต่อกันไว้ก่อน พอถึงเวลาก็มาพบกัน ซึ่งผมยินดีมากที่จัดแค้มป์ขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าเด็กของเราได้ประโยชน์เต็มที่ และหลังจากที่ได้เห็นความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เราก็เพิ่ม แบดมินตัน กับ ว่ายน้ำ เข้าไปในโปรแกรมอีกด้วย ซึ่งในอเมริกามีกีฬาทั้งหมด 24 ชนิดที่ได้ทุน หน้าที่ผมคือหากีฬาอะไรที่คนไทยมีโอกาสจะรับทุนก็จะทำให้ทันที

สิ่งที่ผมเป็นห่วงก็คือ การเชิญโค้ชแต่ละท่านให้มาแคมป์นั้น ครั้งแรกเขาอาจจะมาด้วยความเกรงใจเพราะเราเชิญ แต่ครั้งต่อๆ ไปเขาจะมาก็ต่อเมื่อรู้สึกว่ามาแล้วไม่เสียเวลาเปล่า เพราะแต่ละครั้งเขาต้องสละเวลาหลายวัน ดังนั้น เด็กของเราจึงต้องเก่งจริง มีความสามารถ ภาษาอังกฤษได้บ้าง มีความตั้งใจสูง ซึ่งเราก็จะนำแนวคิดแค้มป์นี้ไปเปิดที่อินเดีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

ผมทำงานทางด้านการเงินจึงทราบว่า การวางแผนเป็นเรื่องจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่ง แต่ก็มักเป็นสิ่งที่คนมักจะผัดผ่อนกันตลอด เราจึงต้องรู้จักวางแผนกันตั้งแต่เด็ก ต้องรู้ไว้ก่อนล่วงหน้าว่าในอนาคต หรืออีกสี่ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งมีเวลาเตรียมตัวนานเท่าไหร่ ความพร้อมในชีวิตก็ยิ่งจะมีมากขึ้น เมื่อโอกาสเรามี ก็อย่าไปปิดโอกาสนี้กับเด็ก พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกได้ดี แต่เด็กก็ต้องรักที่จะเอาดีด้วย ยิ่งในฐานะของพ่อแม่แล้ว ผมเข้าใจดีครับ