For Golf Trust

ทำถ้วยชาให้ว่างเปล่า (เปรียบดังทำจิตให้กว้างและว่างเปล่า)

ทำถ้วยชาให้ว่างเปล่า (เปรียบดังทำจิตให้กว้างและว่างเปล่า)

มีเหตุให้ได้กลับไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับจิตวิทยา ซึ่งเคยได้อ่านไปสักสองครั้ง แล้วก็ลืมเลือนไปว่ามีเรื่องทำนองนี้อยู่

เป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน ซึ่งสรุปได้ว่า มีหนุ่มหน้าใสผู้หนึ่งที่ได้เข้าไปสนทนาเรื่องความรู้เกี่ยวกับเซนกับพระอาจารย์เซน โดยเมื่อเข้าไปก็บอกว่าตัวเองรู้อย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้พระอาจารย์ผู้นั้นได้พูดอะไร

เมื่อเวลาผ่านไปครู่ใหญ่ พระอาจารย์ท่านนั้นก็เชิญชวนหนุ่มหน้าใสผู้นั้นร่วมดื่มชา โดยจังหวะหนึ่งของการชงชาให้หนุ่มหน้าใส น้ำชาได้ล้นไหลออกมาจากขอบถ้วยชาและไหลต่อเนื่องไปจนไหลลงบนโต๊ะเจิ่งนอง โดยที่อาจารย์ก็ไม่มีท่าทีว่าจะหยุดริน เจ้าหนุ่มเห็นอย่างนั้นก็รีบบอกพระอาจารย์ว่า “หยุดเถอะครับ หยุดรินได้แล้ว ถ้วยเต็มเปี่ยมแล้ว ไม่มีอะไรที่จะใส่ลงไปได้อีกแล้ว”

พระอาจารย์ก็หยุดริน พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า “จิตใจของเจ้าขณะนี้ ก็เฉกเช่นถ้วยชาใบนี้ เต็มไปด้วยความคิดของตัวเอง แล้วเจ้าจะเรียนรู้สิ่งใดได้อีกเล่า นอกเสียจากเจ้าจะทำให้ถ้วยชานั้นว่างเปล่าเสียก่อน

ที่ยกเรื่องนี้มาคุยก็เพราะว่าได้สัมผัสกับนักกอล์ฟท่านหนึ่งได้มาปรึกษาว่าอยากพัฒนาให้ตัวเองตีดีขึ้น และอยากจะสอนในอนาคต อยากถ่ายทอด เพราะตัวเองเป็นคนขยันซ้อม ขยันไปเข้าอบรม ขยันอ่านหนังสือของคนนั้นคนนี้ ขยันเข้าไปดูยูทูปอยู่เสมอๆ มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับวงสวิงมาก แอบไปเรียนกับโปรที่มีชื่อเสียงในการสอนหลายคน พบว่ามันไม่ใช่ โปรเหล่านั้นสอนผิดไปจากที่ตัวเองรู้ เหลือกับโปรเชาว์นี่แหละที่ยังไม่ได้มา(จับผิด)เรียนด้วย 5555 แล้วก็บราๆๆๆ….สรุปมาโม้ให้ฟังว่าฉันเก่ง ฉันรู้เยอะ แต่ขึ้นต้นว่าจะมาปรึกษา

ผมก็ไม่ได้ว่า ไม่ได้ตอบโต้อะไร เพียงแต่สรุปว่า คุณก็มีความรู้มากอยู่แล้ว ผมไม่มีอะไรจะสอนแล้ว ไม่อยากสอนจระเข้ว่ายน้ำครับ พูดให้เขามีความภาคภูมิใจต่อไป

ก็เข้าทำนองนิทานเรื่องที่เล่าตั้งแต่ตอนต้น

วิธีทำถ้วยชาให้ว่างเปล่า หรือทำจิตให้ว่าง ไม่ได้หมายความว่า ให้ละทิ้งสติปัญญา และเดินตามต่างคนตาบอดก็หาใช่ไม่ จุดสำคัญอยู่ที่จะต้องซึมซับสิ่งที่สอนในวิถีทางที่เปิดกว้าง อย่าเพิ่งตัดสินสิ่งใดจนกว่าจะได้ลองปฏิบัติในชั่วระยะเวลาหนึ่ง พยายามทำอย่างดีที่สุดที่จะเข้าใจในสิ่งที่กำลังเรียนรู้โดยปราศจากอคติ เพื่อจะได้ประจักษ์ว่าสิ่งนั้นเหมาะกับตัวเราหรือไม่

ไม่ว่าการสอนจะดีสักเพียงใดแต่มันจะเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อนักเรียนให้ความสนใจ และเพียรพยายามที่จะเรียนรู้ พุทธศาสนาทางเซนนั้น ได้เปรียบนักเรียนสี่ประเภทกับถ้วยชาสี่แบบ ส่วนการสอนก็เปรียบเสมือนน้ำชาที่กำลังไหลริน

ถ้วยชาแบบที่หนึ่ง เป็นถ้วยชาที่คว่ำลง ไม่ว่าจะรินน้ำชาลงไปมากเท่าใด มันก็ไม่มีทางเข้าไปในถ้วยชาได้

ถ้วยชาแบบที่สอง เป็นถ้วยชาที่ตั้งขึ้น แต่มีรูที่ก้นถ้วย รับไปเท่าไรก็ไม่เคยเหลืออยู่

ถ้วยชาแบบที่สาม เป็นถ้วยชาที่ตั้งขึ้น ก้นไม่รั่ว แต่ถ้วยชาเต็มไปด้วยความสกปรก เมื่อน้ำใสลงไปก็ทำให้น้ำขุ่นมัว เพราะเรามีแนวคิดล่วงหน้าไว้แล้วอะไรเข้าไปก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์

ถ้วยชาแบบที่สี่ เป็นถ้วยชาที่ตั้งตรง ไม่มีรูรั่ว ถ้วยสะอาด สามารถกับเก็บสิ่งที่ได้รับการสั่งสอน สะอาดเปิดกว้าง พร้อมรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

นักกอล์ฟหลายคนบอกว่าต้องการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องสภาวะของจิตใจ หลายคนบอกว่า “ใช่เลย นั่นเป็นสิ่งที่ผมต้องการ” แต่ไม่ได้ปฏิบัติตัวแบบถ้วยชาแบบที่สี่ ส่วนมากมาแบบที่หนึ่งสอง และแบบที่สาม ไม่ค่อยให้ความสนใจอย่างแท้จริงในการเรียนรู้

โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์