คอลัมน์ในอดีต

ประวัติวัดกู้

ประวัติวัดกู้

วัดกู้ ตั้งอยู่ เลขที่ 57 ซอยสุขาประชาสวรรค์ 2 หมู่ที่ 5 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สังกัดมหานิกาย มีเนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 6491,6491
อาณาเขต ทิศเหนือ    จดที่เอกชน
ทิศใต้        จดที่เอกชน
ทิศตะวันออก    จดถนนสาธารณะซอยสุขาประชาสรรค์ 2
ทิศตะวันตก    จดแม่น้ำเจ้าพระยา

มีอาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย พระอุโบสถ วิหาร อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง ศาลาบำเพ็ญกุศล และเมรุ

วัดกู้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ห่างจากอำเภอปากเกร็ดไปทางด้านทิศเหนือ 3 กิโลเมตร การคมนาคมไปมาสะดวก วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระยาเจ่ง ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวมอญ นำพวกมอญอพยพเข้ามา ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นมอญที่เป็นบรรพชนของมอญชาวเกาะเกร็ด วัดนี้จึงถูกสร้างโดยศิลปะแบบมอญ ภายในวิหารมีภาพเขียนฝาผนังศิลปะแบบมอญ เดิมชื่อวัด “หลังสวนหรือท่าสอน” ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดอุปัทวเหตุล่มลงบริเวณใกล้วัดท่าสอน ตำบลบางพูด จังหวัดนนทบุรี ในคราวเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน ทางชลมารค และได้กู้เรือพระที่นั่งพร้อมพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีขึ้นที่วัดหลังสวน และเชิญพระศพมาไว้ที่วัดนี้ก่อนเป็นการชั่วคราว ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5 ) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญพระศพสมเด็จพระนางเจ้าฯและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์กลับสู่พระนคร จึงได้ขนานนามใหม่ว่า “วัดกู้”

วัดกู้นี้ต่อมาได้ขาดการทะนุบำรุงจึงชำรุดทรุดโทรมและไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาเป็นเวลานาน ทางวัดจึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่และยกให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา

ภายในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังแบบรามัญ เป็นภาพเขียนด้วยสีน้ำมัน และภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่อายุหลายร้อยปีอยู่ในเขตพุทธาวาส กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเขตพุทธาวาสของวัดกู้ไว้เป็นโบราณสถาน

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2518 ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2523

หลังจากที่ยกวัดร้างเป็นวัดมีภิกษุจำพรรษาแล้วมีเจ้าอาวาสปกครอง ดังนี้
1. พระครูนันทาภิวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2511 จนถึง พ.ศ.2546
2. พระครูวิมลสุวรรณกร ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน

การให้การศึกษา
มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2511
มีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2548
มีโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ (การศึกษานอกโรงเรียน) เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2548
มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2549
นอกจากนี้มีโรงเรียนชั้นประถมภายในวัด ชื่อโรงเรียนวัดกู้ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2476

นับว่า “วัดกู้”มีความเป็นมาที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย พระศพของพระราชธิดาพระราชโอรสในพระครรภ์และองค์พระอัครมเหสีอันเป็นที่รักยิ่งของสมเด็จพระปิยมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินไทยได้จบลงตรงพื้นแผ่นดินบริเวณริมน้ำเจ้าพระยา “วัดกู้”แห่งนี้

และทุกๆปีของวันที่ 31 พฤษภาคม อันเป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) จะมีการจัดพิธีบวงสรวงโดยพราหมณ์จากสำนักมหาราชวัง กองพระราชพิธีฝ่ายโหรพราหมณ์ และจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ดังเช่นพระอาทิตย์ทรงกลด ขณะทำพิธีบวงสรวง นำความปิติยินดีมาสู่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมพิธีบวงสรวงด้วยความอาลัยรักและศรัทธา ในสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) กันอย่างพร้อมเพรียงเป็นประจำทุกๆปี

แต่เดิมบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมจะมีศาลที่สร้างด้วยความรักความศรัทธาของชาวบ้าน พ่อค้า ประชาชน เพื่อกราบไหว้บูชาเคารพสักการะของชาวจังหวัดนนทบุรี และประชาชนทั่วไป ปัจจุบัน พระครูวิมลสุวรรณกร เจ้าอาวาสวัดกู้ ได้มีดำริร่วมกับคณะกรรมการวัด ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และผู้มีจิตศรัทธา สร้างพระตำหนัก สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี แทนศาลเก่า ขณะนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ยิ่งใหญ่สง่างามสมพระเกียรติยศแห่งองค์พระปิยมเหสี และยังมีการบูรณปฏิสังขรณ์  ภายในบริเวณวัดกู้แห่งนี้ อาทิเช่น อุโบสถ  วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาบำเพ็ญกุศล เมรุ กุฏิสงฆ์ เป็นต้น ให้สมกับเป็นอุทยานการศึกษาและวัดในประวัติศาสตร์ หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5 )ได้ทรงทราบด้วยพระญาณวิถีใดก็ตาม พระองค์ก็คงทรงพระปิติโสมนัส  ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงเป็นพระปิยมเหสีราชินีคู่บัลลังก์ที่พระองค์ทรงมีรักอันยิ่งใหญ่ นิจนิรันดร

มณีจันทร์ฉาย