Interview

วริษา สุทธิกุลพานิช

วริษา สุทธิกุลพานิช
ครูแนน Swet Society

“เคยมีคำพูดกล่าวไว้ว่า โยคะเหมาะกับทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับโยคะ ซึ่งจริงๆ แล้ว โยคะบางประเภทอาจจะไม่เหมาะกับทุกคน หรืออาจจะเคยเห็นคำกล่าวที่ว่า โยคะเป็นเรื่องของทฤษฎีแค่ 1 % แต่อีก 99 % คือการฝึกซ้อม ซึ่งก็คงไม่เป็นจริงเฉพาะแค่โยคะเท่านั้น กับกีฬาชนิดอื่นๆ ก็คงเป็นจริงด้วยเช่นกัน”

นั่นคือการเกริ่นนำบทสนทนาของของ ครูแนน (วริษา สุทธิกุลพานิช) คุณครูโยคะสาวสวยมากความสามารถ แขกรับเชิญของเราในครั้งนี้

“ตอนเป็นเด็กไม่ค่อยแข็งแรง ไม่สบายบ่อย ทานยาครั้งละเป็นกำมือเลยค่ะ” ครูแนน เล่าให้ฟังถึงสุขภาพในอดีต ที่ตรงข้ามกับปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

หลังจากเรียนจบเธอเคยเป็นพนักงานโรงแรมทำงานเป็นกะไม่เป็นเวลา ไล่เลียงมาจนถึงงานบริษัทเอเจนซี่ แต่ละกิจกรรมล้วนแล้วแต่ งานหนัก พักผ่อนน้อย ทั้งๆ ที่ร่างกายก็ไม่ค่อยแข็งแรงนัก

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อต้องผ่าฟันคุด แล้วเลือดไหลไม่หยุด ถึงได้มารู้ว่าเป็นโลหิตจาง จึงเริ่มหันมาถามตัวเองว่า “ถึงเวลาที่ต้องดูแลตัวเองแล้วหรือยัง”

ลึกๆ แล้ว ในใจคุณแนนชอบในเรื่องการเล่นกีฬาแนวผาดโผน หรือตื่นเต้นท้าทายมาตลอด อย่างพวกศิลปะการป้องกันตัวชนิดต่างๆ เลยคิดว่าโยคะคงไม่เหมาะกับตัวเอง เมื่อยังเด็กก็กีฬาเล่นทุกอย่างที่คุณพ่อคุณแม่พาไป ว่ายน้ำ บัลเล่ต์ แต่ใจไม่ชอบ สิ่งที่ชอบจริงๆ กลับเป็นกีฬาที่ออกแนวท้าทาย แม้กระทั่งทุกวันนี้เธอยังเรียนมวยไทย ดูมวยไทยคู่เด็ดทางโซเชี่ยลอยู่เรื่อยๆ

พอทำงานมีเงินเดือน ก็แอบคุณพ่อไปเรียนเทควันโด โดยที่บ้านไม่มีใครรู้ อุปกรณ์การเรียนทุกอย่างอยู่ท้ายรถ จนความมาแตกก็เมื่อ วันหนึ่งเรียนการใช้และป้องกันตัวจากมีดสั้น ระหว่างซ้อม เกิดอุบัติเหตุดึงมีดแล้วหลุดมาโดนจมูก จนได้เลือดกลับบ้าน คุณพ่อคุณแม่เลยรู้ว่าไปทำอะไรมา จริงๆ ท่านไม่ได้ห้ามเรื่องเล่นกีฬา แต่ห่วงเรื่องสุขภาพของลูกสาวมากกว่า ถ้าเล่นอะไรรุนแรงมากไป อาจจะได้รับบาดเจ็บ คุณแนนจึงอธิบายว่า อยากจะออกกำลังกายบ้างเพราะร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง อยากลองอะไรที่มันดูแล้วน่าสนุกบ้าง แต่ที่เจ็บก็เพราะตัวเอง ซึ่งการเล่น ถ้าถูกวิธี รู้จักป้องกันตัวก็จะไม่เจ็บ แต่ถ้าไม่ระวังหรือประมาท โอกาสที่ผิดพลาดแล้วเจ็บตัวก็ย่อมมีเป็นธรรมดา เป็นสิ่งเราต้องจำเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

“ตอนนั้นไปลองอย่างอื่นด้วย ทั้ง เทควันโด ปีนเขา ทั้งๆ ที่ร่างกายไม่ค่อยจะเอื้ออำนวย ไม่สามารถทำได้ แล้วเพื่อนชวนให้ไปเล่นโยคะ เลยไปลอง ครั้งแรกก็ชอบ ติดใจเลย เพราะเล่นแล้วรู้สึกเหมือนกับได้อยู่กับตัวเอง ได้นั่งสมาธิขณะที่ได้ออกกำลังไปด้วย” นั่นคือ รักแรกพบกับของเธอกับ… โยคะ

“โยคะมีหลากหลายประเภทค่ะ เช่น แบบ วินยาสะโยคะ Vinyasa Yogaที่เคลื่อนไหวเยอะๆ, บิแกรมโยคะ โยคะร้อน Bikram Yoga ที่เล่นในห้องปรับอุณหภูมิสูงๆ  แต่ที่ไปเล่นครั้งแรกแล้วถูกใจคือ โยคะยืดเหยียด หรือที่เรียกว่า หฐะโยคะ Hatha Yoga ดูเหมือนไม่ค่อยออกแรง แต่จริงๆ ก็เหนื่อยจากการต้องค้างนานๆ ในแต่ละท่า”

อุปสรรคของโยคะอย่างหนึ่งก็คือ แต่ละคนนั้นพื้นฐานทางร่างกายจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะไม่อยากเคลื่อนไหวมาก อยากแค่ยืดเหยียด หรือบางคนมีพื้นฐานค่อนข้างกระฉับกระเฉงตื่นตัว ก็ต้องเลือกประเภทที่เคลื่อนไหวมากๆ ใช้พลังงานเยอะๆ โดยทั่วๆ ไปแล้ว คนที่ไปลองเล่นโยคะแล้วราว 70% จะชอบ แต่บางคนไปเล่นแล้วกลับไม่ชอบ ซึ่งอาจเป็นเพราะเลือกประเภทที่ไม่เหมาะกับตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรทำให้เลือกประเภทโยคะไม่ถูก

คุณแนนมีจุดเปลี่ยนของชีวิตอีกครั้งเมื่อพี่สาวมีครอบครัวอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เธอมีโอกาสจะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝัน คือการไปเรียนต่อ ประกอบกับงานประจำที่ทำก็นานพอสมควรแล้ว อยากจะลองเปลี่ยนตัวเองดูบ้าง เพื่อหาความพอดีให้กับชีวิต แต่ชีวิตในต่างแดนไม่มีอะไรสบาย เพราะยังไงไปอยู่ในบ้านเขา เราย่อมเป็นรอง ก็ต้องพยายามดึงตัวเอง สู้ด้วยตัวเอง เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย จุดหนึ่งที่ทำให้คุณแนนยังอยู่กับโยคะก็คือ เมื่อทำงานหนักด้วยเรียนด้วย อาการปวดเมื่อยก็ตามมา จะให้เข้าร้านไปนวดให้หายก็จ่ายไม่ไหว ทำให้ต้องอาศัยโยคะด้วยตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก แต่เมื่อทำไปๆ ก็เกิดข้อสงสัยว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือเปล่า อยากทำให้ได้ดีกว่านี้ จึงอยากไปเรียนเพื่อให้ตัวเองสามารถจะโยคะได้เอง ดีกว่าแค่ไปฝึกเฉยๆ แล้วจ่ายค่าเรียนอีกเรื่อยๆ โดยไม่ได้ความรู้อะไร

ระหว่างเรียนก็ต้องสอบ ต้องเก็บชั่วโมง จังหวะนั้นกำลังจะมีครอบครัวพอดี วีซ่าที่ถืออยู่ก็เปลี่ยนไป สามารถทำงานที่นั่นได้ และหลังจากแต่งงานต้องย้ายตามสามีจากเมืองซานดิเอโก้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ไปอยู่ที่ เมืองออสติน รัฐเท็กซัส สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างมากมาย ไม่ได้อยู่กับพี่สาวเหมือนเดิม คนไทยที่นั่นก็น้อย ทำให้เกิดความเหงาอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงตัดสินใจลงเรียนโยคะ ซึ่งเป็นการเรียนเพื่อสอนอย่างจริงจัง จนได้รับใบประกาศรับรอง และสอนที่นั่น

“สิ่งที่ยากที่สุดคือตอนเริ่มต้นค่ะ เพราะเราเป็นเอเชี่ยนไปสอนฝรั่ง ภาษาเป็นหนึ่งในอุปสรรค ซึ่งเราต้องพูดต้องฟังนักเรียนให้เข้าใจ ส่วนใหญ่เป็นศัพท์ของโยคะโดยเฉพาะ ต้องเรียนต้องท่องกายวิภาคเยอะ เป็นเรื่องยากมาก และยังมีศัพท์ที่เป็นสันสกฤติเข้ามาอีก ดีที่ว่าใกล้เคียงกับภาษาไทยเลยพอโยงกันได้ อาศัยว่าศัพท์ที่ใช้เป็นเรื่องโยคะซึ่งเราคุ้นเคย เป็นสิ่งที่เรารัก และยังมีกำลังใจที่ดีจากสามี ที่บอกว่า โยคะมาจากอินเดีย เราก็เป็นเอเชี่ยน ลูกศิษย์ฝรั่งอาจจะอยากเรียนกับเรามากกว่าก็เป็นได้ อีกทั้งความเป็นคนไทย ทำให้บุคลิกของเรามีความอ่อนโยน นอบน้อม อยู่ในตัว ซึ่งเขามักจะชอบบุคลิกแบบนี้”

เมื่อสอนครั้งแรก เธอยังได้เจอกับนักเรียนที่มีน้ำหนักตัวร้อยกว่ากิโล ตัวใหญ่มาก นั่งไม่ได้ ต้องเอาเก้าอี้มาให้นั่ง นั่นทำให้เห็นว่า ใจเขาสู้ เขาอ้วนเพราะมีสาเหตุ ไม่ใช่เพราะกินอาหารเยอะ หมอจึงสั่งให้มาออกกำลังกาย มาฝึกโยคะ… “หน้าที่ของเราคือต้องทำให้เขาฝึกได้ คนไม่แข็งแรงมีโรคภัย เขายังมีความพยายามมาเรียนเพื่อที่จะต่อสู้ เพื่อจะได้ออกมาสู่สังคมโลกภายนอกได้ เหมือนกับที่เรามักจะเห็นคนเดินไม่ได้นั่งรถเข็นออกมาจากบ้าน ซึ่งย่อมดีกว่าเมื่อเจ็บป่วยเดินเองไม่ได้แล้วยอมแพ้ ต้องอยู่แต่ในบ้านไม่ออกมาดูโลกภายนอกเลย”… นั่นคืออีกหนึ่งความประทับที่ได้เห็นในกีฬานี้

ครูแนน ยังเล่าถึงประเด็นที่ทำให้เธอต้องขวนขวายบินกลับมาเรียน นวดไทย เพื่อเสริมทักษะของตัวเอง

“ที่นั่นมีครูโยคะฝรั่งคนหนึ่งไปเรียนนวดไทย แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับการสอน เราเองเป็นคนไทยแท้ๆ กลับไม่รู้เรื่องนวดไทยเลย รู้สึกเสียหน้ามาก ยอมไม่ได้จริงๆ ค่ะ ต้องบินกลับมาเรียน แล้วก็ได้ใช้ความรู้เรื่องนวดไทยนี้กับโยคะจริงๆ รอบแรกกลับมาเรียนยังรู้สึกว่าน่าจะเรียนเพิ่มเติมอีก เพราะโยคะก็เรียนในระดับสูงขึ้นแล้ว นวดไทยก็น่าจะเรียนขั้นสูงตามขึ้นไปด้วย สามารถนำไปประยุกต์กับการสอนโยคะได้หลากหลาย บอกนักเรียนถึงที่มาที่ไปในการทำแต่ละท่าและประโยชน์ที่ได้ในแต่ละส่วนได้ลึกมากกว่า ทำให้นักเรียนเห็นรายละเอียดการสอนของเรามีความแตกต่างจากคนอื่น”

การสอนกับการฝึกนั้นไม่เหมือนกัน บางครั้งสอนเยอะๆ การฝึกก็จะหลุดไป ซึ่งครูแนนเป็นคนชอบฝึกมากๆ แต่การฝึกดีก็ไม่แสดงว่าจะสอนได้ดีเสมอไป ดังนั้นเธอต้องพยายามปรับปรุงวิธีการสอน สอบถามนักเรียนว่าเรียนแล้วเป็นอย่างไรบ้าง คำตอบออกมาคือ “เขาก็ชอบ เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการถ่ายทอด ก็ช่วยให้เรามีกำลังใจทำงานต่อไป”

ถึงแม้จะมีงานที่มั่นคงอยู่ที่นั่น แต่ใจของเธอก็ยังอยากกลับมาเมืองไทยตลอดเวลา จนเมื่อสามีจะต้องย้ายกลับก็ย้ายตามมาด้วยทันที เพราะคิดว่าถ้ากลับมาตอนนี้ยังมีความพร้อมในการทำงาน ครั้งแรกตั้งใจมาเที่ยวก่อน แล้วลองหางานสอนโยคะดู ปรากฏว่าได้งานเลย และต้องเริ่มสอนทันที จนเธอต้องให้สามีกลับไปก่อนเพื่อเตรียมตัวย้ายกลับประเทศไทยอย่างถาวร

มาสอนที่นี่ความยากก็คือภาษา แบบเดียวกับตอนที่เริ่มสอนที่โน่น เพราะที่ผ่านมาสอนเป็นภาษาอังกฤษมาตลอด พอต้องใช้ภาษาไทยล้วนๆ กับคำอธิบายที่ไม่คุ้นเคย จึงต้องมีโพยคอยกำกับ ใหม่ๆ นักเรียนยังคิดว่า ครูคนนี้คงไม่ได้เตรียมการสอนล่วงหน้าแล้วมาอ่านเอาจากโพยด้วยซ้ำ แต่พอรู้ว่าจริงๆ แล้วครูแนนเตรียมการสอนทุกครั้งเยอะมาก แต่ที่กังวลจนต้องจดโน้ตคือคำศัพท์ภาษาไทยที่กลัวลืมต่างหาก

บุคลิกส่วนใหญ่ของผู้เรียนโยคะที่นี่ คือต้องการจะเรียนท่าที่แข็งแรงและทำท่ายากให้ได้เร็วๆ ขณะที่พื้นฐานการสอนของครูแนนคือการเตรียมตัวนักเรียนให้มีความพร้อมที่สุด ก่อนที่จะเริ่มจัดท่า ครูทุกคนจะมีความถนัดแตกต่างกันไป วิธีการเข้าท่าแต่ละท่าอาจจะไม่เหมือนกัน แต่จุดหมายปลายทางเหมือนกัน ซึ่งครูแนนเองจะใส่ใจในเรื่องรายละเอียดมาก เพื่อให้ท่าสวย ถูกต้อง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ควรจะได้ก็จะตามมา ลดความเสี่ยงจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งบางท่านอาจจะใจร้อน อยากจะทำท่าได้เร็วๆ โดยไม่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็อาจจะเกิดอาการบาดเจ็บได้ เพราะที่ต่างประเทศหากมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นขณะสอน นักเรียนอาจจะฟ้องร้องได้ ซึ่งครูผู้สอนต้องรับผิดชอบ ดังนั้นในแต่ละครั้งที่สอนครูแนนจะต้องใส่ใจเรื่องการเตรียมตัวของนักเรียนว่าพร้อมจริงๆ และประเมินความสามารถว่าของแต่ละคนว่า จะทำได้มากที่สุดแค่ไหนโดยไม่เกิดปัญหา และยังทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าไม่ชอบ ไม่อยากเรียน เพราะทำให้เขาเจ็บ

คนที่มาเรียนโยคะที่เจอส่วนใหญ่มีสองกลุ่ม กลุ่มแรกบาดเจ็บมา จนไม่สามารถเล่นกีฬาอย่างอื่นได้ หมอแนะนำให้ฝึกโยคะ อย่างที่สอง เป็นกลุ่มที่มีความแข็งแรง มีความกระตือรือร้นอยากเล่นกีฬา เรียนโยคะเพื่อหาความความยืดหยุ่น หาความสมดุลให้กับตัวเอง พวกนี้เสี่ยงกับการบาดเจ็บ เพราะเขารู้ว่าทำได้ จึงพยายามผลักดันให้ตัวเองทำในสิ่งที่ยากขึ้นไปอีก

“โยคะสอนให้เรียนรู้ร่างกาย เปิดให้เรารู้จักมีความอ่อนน้อมถ่อมตน สามารถนำมาใช้กับชีวิตได้ หรือ การเล่นกีฬาอื่นๆ ก็ทำให้รู้จักกับสังคมของกีฬานั้นอีก การเล่นกีฬาเยอะๆ ทำเรากว้างขึ้น ถ้าร่างกายเอื้อกับกีฬาชนิดไหนก็จะพยายามเล่น อย่างกอล์ฟก็เคยไปฝึกซ้อม การที่มีพื้นฐานโยคะ ก็ช่วยให้มีวงสวิงกอล์ฟที่ดีขึ้น หรือเวลาสามีไปออกรอบแล้วมีอาการตึง เจ็บปวด ตรงจุดไหน ก็จะใช้โยคะเข้าไปช่วย แม้กระทั่งเขาเคยไปเล่นเวคบอร์ด แล้วบาดเจ็บมาจนเกือบต้องผ่าตัดตรงช่วงกระดูกคอ หมอก็แนะนำให้เล่นโยคะเพื่อช่วยบรรเทาอาการแทนการผ่าตัด โยคะเข้าได้กับทุกกีฬาค่ะ”

“แนนพยายามจะสอนโยคะต่อไป โดยจะ รักษาสมดุลของตัวเอง ครึ่งหนึ่งอาจจะสอนโยคะ ส่วนอีกครึ่งจะทำอะไรที่กว้างขึ้น เพราะถ้าสอน คงได้แค่ถ่ายทอดให้นักเรียน แต่ถ้าเปิดกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้คนเปิดกว้าง ไม่ใช่แค่โยคะอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเล่นกีฬาอื่นๆ อีกด้วย เป็นการเปิดใจให้สังคมกีฬา การออกกำลังอื่นๆ ของเมืองไทยให้ไปได้ดีมากขึ้น อาจจะอาศัยช่องทางของโลกโซเชี่ยลในการติดต่อสื่อสาร ให้ข้อมูลที่ทุกคนต้องการ เพื่อตอบโจทย์ให้กับสังคมในยุคปัจจุบันอีกด้วยค่ะ”

นอกจากจะสอนโยคะแล้ว ครูแนนยังอยากจะเห็นสังคมที่มีคนรักและชื่นชอบการออกกำลังกายให้มาพบกัน โดยจะจัดเป็นกิจกรรมแนะนำการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เล่นโยคะ ฯลฯ ด้วยอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ใช้ชื่อว่า Fit Fun and Frienship Festival ให้สตูดิโอที่ต่างๆ มารวมตัวกัน มีการแนะนำอาหารเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มาให้บริการ เป็นการให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพ มาแชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน หลายคนอาจจะมีคำถามก็มาหาคำตอบได้ที่นี่

ก่อนจบบทสนทนา ครูแนน ยังได้เสริมข้อคิดดีๆ แถมท้ายด้วยว่า

“ถ้าคนเรากินดี อยู่ดี แล้วออกกำลังดี ชีวิตย่อมดีตามไปด้วยแน่นอนค่ะ”