พลางค์สิทธิ์ สุทธปรียาศรี
พลางค์สิทธิ์ สุทธปรียาศรี
ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจ
บจก. เนสท์เล่ (ไทย)
“วิธีการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีที่สุด คือการรู้เท่าทันและป้องกันไว้ก่อน”
ครอบครัวข้าราชการ : คุณพ่อเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ทำงานสายบริหาร ท่านเป็นคนกว้างขวาง มีคนรู้จักเยอะแยะมากมาย ส่วนคุณแม่เป็นอาจารย์หมอ สอนที่มหาวิทยาลัย ทำงานวิจัย อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ทำให้ตอนเด็ก ๆ ผมเห็นแต่โรงพยาบาลที่เป็นของรัฐ ไม่เคยเห็นของเอกชน ภาพจำจึงรู้สึกว่า ที่นั่นทึม ๆ อึมครึม คนไข้เยอะ (หัวเราะ) พี่สาวก็เป็นทันตแพทย์ รับราชการ ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย ทำให้ผมคิดว่าเป็นวิศวะ ก็น่าจะดีนะ (หัวเราะ)
เด็กเกษตรฯ : ใช้ชีวิตใกล้บ้านย่านเกษตร วนเวียนอยู่แถวนั้นตั้งแต่เล็กจนโต ตอน ม.ปลาย ชอบฟิสิกส์ ส่วนเลขก็งั้น ๆ, ชีวะ ตอน ม.4 เรียนได้ดีมากนะ (หัวเราะ) แต่คิดว่าจะไม่เลือกสายหมอ สมัยนั้นยังมีสายวิทย์ ที่เลือกเรียนได้ว่าถ้าจะไปสายหมอก็เรียนชีวะ หากมุ่งไปสายวิศวะก็ตัดชีวะออกเลย พอจบสาธิตเกษตรฯ สมัยนั้นใช้วิธีเอ็นทรานซ์ ก็เลือกตามคะแนนตามที่คิดว่าเราไปได้ จนได้ที่ ม.เกษตรฯ ซึ่งผมก็แฮ้ปปี้ เพราะทำให้ชีวิตลงตัว
วิศวะเครื่องกล : เลือกเครื่องกล เพราะตอนนั้นชอบรถ เมื่อเทียบกับสาขาอื่นแล้ว ผมสนใจแนวนี้มากที่สุด คุณพ่อเองก็จบเครื่องกล เป็นไอดอลเลย (หัวเราะ) รถที่บ้านเก่าๆ อายุค่อนข้างเยอะ รถโบราณ เก่ามาก เห็นคุณพ่อซ่อมรถ จนชินตา พ่อทำเองบ้าง บางครั้งมีลูกน้องมาช่วยบ้าง ซ่อมไป ขับไป (หัวเราะ) สำหรับผมตอนเด็ก ๆ กิจกรรม ไม่ค่อยมี เป็นเด็กเงียบ ๆ ด้วยซ้ำ ที่บ้านคุณพ่อค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการเรียน ทำให้ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม แตกต่างจากปัจจุบันนี้โดยสิ้นเชิง (หัวเราะ) เพื่อน ๆ สมัยโน้น ถ้ามาเจอผมตอนนี้ คง งง ๆ ว่าทำไมพูดเก่งขึ้น (หัวเราะ)
กีฬา – กอล์ฟ: ตอนมัธยมเคยเล่นฟุตบอล แต่ไปไม่รอด (หัวเราะ) แต่บาสฯ พอได้ เพราะตัวสูง ส่วน กอล์ฟ ได้เริ่มครั้งแรกนานแล้วตั้งแต่มัธยม ประมาณช่วง ม.4 – ม.5 จริง ๆ ที่บ้านไม่ได้สนับสนุน เพราะไม่มีตังค์ (หัวเราะ) คุณแม่ต้องทำงานเลี้ยงลูกสองคน ก็คงเหนื่อย ผมมีพี่สาวอีกคนห่างกันพอสมควร ซึ่งเรียนมหาลัยที่เชียงใหม่ พอจบก็ไปรับราชการที่สงขลา เรียกว่าออกจากบ้านไปยาวเลย ทำให้ผมอยู่สองคนกับคุณแม่ แต่พอดีเพื่อนสนิทเล่นกอล์ฟกันทั้งบ้าน เพื่อนชวน เราก็ไป สมัยนั้นสนามทหารมีราคาของเด็กราคาไม่แพงมาก ทำให้มีโอกาส ก็ไปเล่นกับเขา ได้ซ้อมแบบ งู ๆ ปลา ๆ ขณะที่เพื่อนไปเรียนจริงจังกับโปรฝรั่ง แล้วมาสอนเราอีกที ช่วยจับวงให้ แบบครูพักลักจำ (หัวเราะ) แต่ไม่ได้ซ้อมบ่อยหรอก ยังเล่นกับเขาไม่ได้ เพราะเพื่อนเก่งมาก ติดอยู่หนึ่งในสิบ ระดับเยาวชน ในกลุ่มเพื่อนๆ มีเก่ง ๆ กันหลายคนเลย, สมัยนั้น คนที่ได้เล่นกอล์ฟ ถ้าไม่ที่บ้านมีฐานะ ก็ลูกนายทหารระดับผู้ใหญ่ทั้งนั้นเลย คุณพ่อเพื่อนใจดี เอ็นดูเรา เหมือนเป็นลูกอีกคน ไปเล่นก็ดูแลทั้งหมด ชุดกอล์ฟก็ยกให้ ช่วงมัธยมมีไปเล่นบ้างกับเพื่อน พอเข้ามหาวิทยาลัยก็หยุดไป กลับมาเล่นอีกครั้งตอนเรียนปริญญาโทบริหารการจัดการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรม ที่ เอแบค อาศัยว่าเคยเล่นมาบ้างก็พอเล่นต่อเนื่องได้ จนมีความรู้สึกว่า อยากจะลองเทิร์นโปร เพราะตอนนั้นเล่นได้ค่อนข้างดี ตีไกล แต่ติดเรื่องการเงิน (หัวเราะ) เราเป็นเด็กจบใหม่ ยังไม่มีทุน ที่สำคัญคือ ไม่มีเวลา ทั้งต้องซ้อม ต้องไปสอบ ใช้เวลาหลายวัน ต้องลางานยาว ซึ่งเรามีงานประจำก็ลาไม่ได้ เลยไม่ค่อยได้จริงจังกับกอล์ฟอีกเท่าไหร่ เก็บไว้เป็นกิจกรรมเล่นสนุกกับเพื่อน ๆ มากกว่า
ต้มยำกุ้ง : ช่วงที่จบ ตรงกับยุคหลังต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจตกต่ำ งานสายวิศวะหายากมาก แล้วคุณแม่ก็เกษียณพอดี ยังไงผมต้องหางานทำให้ได้ สมัครไปเป็น Sale Engineer ขายงานระบบแอร์คอมเพรสชัน งานระบบปรับอากาศ ถือว่ายังได้ใช้ความรู้ในสิ่งที่เรียนมา

จุดเปลี่ยน : ผมมีโอกาสได้ไปทำงาน สถาบันยานยนต์ เป็นวิศวกรที่ปรึกษา ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ทำเรื่องการเพิ่มผลผลิตให้กับโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ได้เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญของเขา สุดทางจริง ๆ เรียกว่า ‘เก่งโคตร ๆ’ (หัวเราะ) ถึงแม้จะไม่เก่งขนาดเขา แต่ก็ได้เห็น ได้เรียนรู้เยอะมาก ทั้งการบริหารจัดการ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน เพื่อให้โรงงานอยู่ได้, ทำอยู่สองปี รองผู้อำนวยการฯ ชวนให้ไปทำงานกับบริษัทรถยนต์ด้วยกัน ผมก็ตามท่านมา
รัฐกิจ : ต้องบอกว่า เป็นงานที่ไม่เชิงตั้งใจละกัน เพราะผมจบวิศวะเครื่องกลยานยนต์ ไม่เกี่ยวอะไรกับงานที่ทำในปัจจุบันเลย (หัวเราะ) เพราะสมัยรุ่นปี 90 พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนหมอ เรียนวิศวะ ยังคุยกับเพื่อนเลยว่า เด็กสมัยนี้มีโอกาสดีกว่ารุ่นเรา ได้เห็นโลกเยอะ มีอินเตอร์เน็ต มีโซเชียล สามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ สมัยเรายังไม่มี งานอะไร ทำยังไง หน้าตาเป็นอย่างไร เราไม่มีโอกาสได้เห็น เป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานในสายรัฐกิจ ดูเรื่องการประสานงานภาครัฐ นโยบาย ข้อกำหนด เงื่อนไขต่าง ๆ การทำงานเริ่มขยับออกจากสายงานวิศวะโดยตรง แต่ยังมีติดบางส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่ อย่างตอนอยู่บริษัทรถยนต์ ดูเกี่ยวกับเรื่อง กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ ต่าง ๆ เช่น สมอ. กรมขนส่งฯ การขออนุญาตรถยนต์ มีทีมทำงานที่เป็นเรื่องกึ่ง ๆ ระหว่างเทคนิค กับ กฎหมาย เรื่องมาตรฐานต่าง ๆ ยกตัวอย่างสมัยนั้นเริ่มมีแก๊สโซฮอล์ เราต้องประสานทั้งภายนอก ภายใน เพื่อให้บริษัทสามารถปรับตัวได้ทัน และรัฐสามารถดำเนินนโยบายได้สำเร็จตามเป้าประสงค์
ธุรกิจอาหาร : ผมย้ายไปอยู่กับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นงานด้านรัฐกิจเหมือนกัน แต่หน่วยงานที่ประสานงานด้วย เป็นคนละหน่วยกัน จากเคยอยู่ด้านวิศวะ ด้านเทคนิค ก็มาดูงานด้านภาษี ด้านสาธารณสุข ทำอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งได้มีโอกาส เข้ามาอยู่กับ เนสท์เล่ ข้ามจากสินค้าที่มีการควบคุมเป็นพิเศษมาสู่ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเป็นคนละมุมเลย (หัวเราะ) อย่างกลยุทธ์ Good for You, Good for the Planet เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนทั้งด้านโภชนาการและความยั่งยืนซึ่งเนสท์เล่ ลงมือทำจริง ผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างกว่าจะออกมาได้ ต้องดูแล้วดูอีก ก่อนออกจำหน่าย, ส่วนเรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องใหม่ ที่มีค่าใช้จ่าย ถึงบริษัทจะไม่ได้ผลประโยชน์ทางการเงินหรือได้กำไร แต่ก็ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพราะนี่คือประโยชน์ของสังคมและสิ่งแวดล้อม เรามีบทเรียนมาแล้วจากทั่วโลกว่า การทำธุรกิจแบบไม่มีความรับผิดชอบ แม้ได้กำไรในช่วงแรก แต่สุดท้ายแล้ว ไม่มีความยั่งยืน รัฐก็ต้องมาควบคุมอยู่ดี สู้เราทำไปเลยดีกว่า พยายามคุยกับรัฐในสายงานว่า อะไรคือสิ่งที่เรามองว่าจะเกิดทั้งประโยชน์สาธารณะและกับประชาชนในแง่ของผู้บริโภค บริษัทก็อยู่ได้
การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม : ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับ อาหารที่มีคุณ มีโทษ หวาน มัน เค็ม, เช่น ขนมบางอย่าง ที่มองว่าไม่ดีต่อสุขภาพ ควรถูกจำกัดการทำการตลาด เหมือนกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, แต่ส่วนตัวเรามองว่าอาหารจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสูตรของอาหารเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคต่างหาก อาหารที่บอกว่าดีต่อสุขภาพ แต่ถ้ากินในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ยังจะดีต่อสุขภาพอีกหรือไม่ อาหารที่ไม่ดีสำหรับบางคน อาจจะพอดีสำหรับบางคนก็ได้ ซึ่งมีปัจจัยหรือตัวแปรหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางด้านโภชนาการ เช่น เพศ วัย ขนาดร่างกาย หรือประเภทของกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน อย่างพนักงานออฟฟิศ กับ นักกีฬา ย่อมใช้พลังงานต่อวันแตกต่างกันไป สำหรับคนที่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ เขาเสียเหงื่อ เสียแร่ธาตุตลอดเวลา ก็ต้องกินเสริม, การขีดเส้นไปว่าอาหารไหนดีไม่ดีอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด อาจสร้างปัญหาได้ เนื่องจากคนที่ไม่เข้าใจโภชนาการของตนเองจะคิดว่าแค่เดินตามที่ขีดเส้นไว้ก็พอ ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่แค่นั้น แต่ละคนต้องมีการรักษาสมดุลโภชนาการของตนเอง กินเยอะต้องเผาผลาญเยอะ ออกกำลังกายเยอะ ส่วนอะไรที่อันตรายจริง ๆ เช่น น้ำมันใช้ซ้ำ สารอันตรายต่าง ๆ มีประเด็นแน่ ๆ ก็ไปวางกฎระเบียบอาหารที่ไม่ปลอดภัย มีหน่วยงานควบคุมอยู่แล้ว ส่วนอาหารที่มีการรับรองความปลอดภัยแล้ว กินได้แน่ ๆ แต่ต้องมีปริมาณพอดีกับตัวเอง เพราะถ้ามากไป น้อยไป ยังไงก็ไม่ดี

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย (TBA) : เป็นสมาคมฯ ที่น่ารัก เรื่องที่แข่งขันกัน เราไม่มาคุยกันในนี้ (หัวเราะ) ในยุคปัจจุบัน ข้อมูลทั่วถึงกันได้ง่าย เวลาจะขับเคลื่อนนโยบาย มีประเด็นร่วมที่เป็นปัญหาของประเทศ สมาคมฯ สามารถช่วยเหลือสนับสนุนได้, การที่คุณขีดเส้นแล้วให้เราปฏิบัติตาม เดี๋ยวนี้หมดยุคแล้ว พวกเรามาคุยกันดีกว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความเห็น เป็นประโยชน์มากกว่า ยิ่งเดี๋ยวนี้บริษัทต่าง ๆ มีมาตรฐานระดับสากล ทุกคนพร้อมที่จะทำดี เมื่อมีโอกาส
จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน : นโยบายด้านประโยชน์สาธารณะบางอย่าง บางคนทำแล้ว บางคนอาจตามไม่ทัน แต่ถ้าพวกเรารวมกลุ่ม แล้วพาเพื่อนไปพร้อม ๆ กันได้จะเกิดผลดีมากกว่า การที่เราจูงมือกันไป ทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ทำให้ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ถ้าเราทำไปแล้ว เพื่อนไม่ทำ บริษัทที่ทำก่อนก็จะเสียเปรียบในแง่ของต้นทุน เป็นการดำเนินธุรกิจอย่างยุติธรรม หรือ แฟร์เพลย์ สามารถขับเคลื่อนนโยบายที่ดีได้ เปลี่ยนจากคู่แข่งให้กลายเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อนร่วมธุรกิจ, อย่างเช่น การดำเนินงานในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การพัฒนา วางแผน ต้องทำพร้อมกัน จึงจะเกิดแรงพอที่จะขับเคลื่อนได้
ร่วมแรงร่วมใจ : เมื่อก่อนภาครัฐเขียนกฎหมายมาให้ทำตาม ฟังเราบ้างไม่ฟังบ้าง แล้วบังคับใช้ แต่ในปัจจุบันมีการเปิดรับฟังมากขึ้น มีเรื่องใหม่ๆด้านสิ่งแวดล้อม ที่เราเองยังไม่แน่ใจ รัฐเองก็ไม่แน่ใจ ต้องทำงานด้วยกันก่อน มีบทเรียน ลองทำดูก่อน ถ้าทำไม่ได้ ไม่ดีจะได้ปรับแก้ ก่อนจะออกเป็นกฎหมาย เพราะหากกฎหมายออกมาแล้วจะเลี่ยงปฏิบัติไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็เป็นเรื่องใหม่เช่นกัน ซึ่งบริบทในแต่ละแห่ง ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงของทั้งประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันจากทุกฝ่าย
ป้องกันไว้ก่อน : เมื่อก่อนน้ำหนักตัวเยอะ เคยออกกำลังด้วยการวิ่ง กระโดด แต่เข่าไม่ค่อยดี ทำให้มีอาการเจ็บ จนต้องเปลี่ยนวิธี ในการออกกำลังกาย ก่อนหน้าช่วงโควิด ส่วนใหญ่เข้ายิม เล่นเวท แต่พอถึงช่วงโควิดทำให้ห่างหายไป ช่วงที่ยังไม่ได้ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก โดยใช้วิธีคุมอาหาร มันทรมานมาก (หัวเราะ) เพราะการออกกำลังกายเป็นการสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้เรากินอาหารได้อย่างเต็มที่, ช่วงกินมากขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น รู้สึกดีที่สุด (หัวเราะ) แต่ต้องมีเวลา พอตอนหลัง ๆ เวลาไม่ค่อยมี ขณะที่กินเท่าเดิม เลยน้ำหนักขึ้น นี่คือการลดน้ำหนักแบบรักษาสมดุล ผมเชื่อว่าทุกคนทราบในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพกันอยู่แล้ว ทั้งการรับประทานอาหาร การพักผ่อน และการออกกำลังกาย วิธีการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีที่สุด คือการรู้เท่าทันและป้องกันไว้ก่อน เพราะหากเจ็บไข้ได้ป่วย ค่ารักษาพยาบาลแพงมาก ต้องดูแลตั้งแต่วันนี้ครับ
