Interview

ธนธร พัฒนทองกุล

ธนธร พัฒนทองกุล
ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท อีเอส คอนสตรัคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด
“ถ้าเข้าใจว่าคนอื่นเป็นอย่างไร เราจะไม่โกรธเขาอีกเลย”

ตระกูลทหาร : ผมเป็นเด็กลพบุรี ตระกูลผมสายทหารทั้งนั้นเลย (หัวเราะ) พ่อพยายามปลูกฝังให้เป็นทหาร พาไปอยู่ประจวบฯ กับลุง ซึ่งเป็นผู้พัน อยากให้ไปสอบเข้านักเรียนเตรียมทหาร แต่ผมไม่ไป (หัวเราะ) ลุงก็โทรมาต่อว่า พยายามจะให้เป็นทหารด้วย แต่ผมเห็นว่า อาชีพรับราชการนั้น ดูไปแล้วไม่ค่อยเข้าทางกับชีวิตผม จนในที่สุดท่านก็ยอม ปล่อยให้ไปเรียนตามความสมัครใจ สมัยนั้น ผมอยากมีรายได้ ไปเรียน ปวช. อิเล็กทรอนิกส์ ที่เทคนิคลำปาง แล้วไปต่อ ปวส.ที่เชียงใหม่ สองปี ก่อนจะมาเรียนที่พระจอมเกล้าพระนครเหนือ อีกสองปี จนจบปริญญาตรี

รับราชการ : หลังเรียนจบ ใจอ่อน รับราชการตามใจพ่อ (หัวเราะ) ไปเป็นวิศวกรรถไฟ ช่วงนั้น รถไฟกำลังเปลี่ยนระบบโทรศัพท์ ทำสายใยแก้วพอดี งานที่ทำก็น่าสนุก แต่ผมกลับไม่ชอบเพราะว่ามันเฉื่อยชาจากระบบ พอจะทำดี ก็เหมือนกับเราเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่จริงไม่มีอะไร ตำแหน่งผมอยู่ที่เบตง ขณะที่พ่ออยู่ลำปาง จะกลับบ้านแต่ละครั้งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 วัน กลับบ้านคือลาออกเลย (หัวเราะ) หลังจากทำได้สองปี เพราะคิดว่ามันไม่ใช่แนวทางของผม

งานเอกชน : ผมทำให้คุณพ่อเห็นว่าถ้าไม่รับราชการ ก็สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้เช่นกัน อย่างประกันสังคม ก็ช่วยดูแลชีวิตเราได้ พอลาออกจากรถไฟ ผมไปอยู่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ทำด้านวิศวกรเครื่องกลของเยอรมัน ตอบโจทย์ผมมาก ได้เรียนรู้เทคโนโลยี ตรงมากับที่เรียนเยอะขึ้น ได้ไปฝึกงานที่เยอรมัน ไปเรียนรู้เพื่อเตรียมเป็นพี่เลี้ยงให้กับบริษัทที่ติดตั้งเครื่องจักร ทำอยู่นานพอสมควร จากที่เคยดูเฉพาะเครื่องจักร ก็มารับผิดชอบมากขึ้น ดูทั้งโครงการ ดูแลโรงไฟฟ้า จนมาถึงเรื่องพลังงานเกี่ยวกับโรงงานชีวมวล ระบบแกลบ พลังงานไอน้ำ

ตั้งบริษัท : ตอนนั้นผมอายุยังไม่ถึงสามสิบเลย แต่เงินเดือนสูงมากแล้ว เพราะบริษัทต่างชาติ ดูที่การประเมินความสามารถเป็นหลัก, จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ตัดสินใจออกมาทำงานเอง คือเรื่องความคล่องตัวในการให้บริการลูกค้า เพราะหากอยู่ในรูปบริษัทใหญ่ ๆ กว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหา ต้องมีขั้นตอนต่าง ๆ ในการแจ้งเรื่องเข้าไป บางครั้งต้องรอเวลาจนกว่าจะได้รับคำสั่ง เกิดความล่าช้า จนผู้ต้องการความช่วยเหลือ อาจเกิดความเสียหายมากขึ้น แต่ถ้าเราดูเองโดยตรง ไม่ว่าเวลาไหนก็รับสาย พอรับแจ้งปัญหาก็ส่งลูกน้องเข้าไปหน้างานได้ทันทีโดยไม่ต้องรออะไรอีก

ให้โอกาส : เราสามารถสร้างคนได้ ผมมีวิสัยทัศน์ว่า ส่งเสริมให้ทุกคนไปเติบโต ไม่ได้ติดว่าจะต้องมาเป็นลูกน้องเราตลอดไป ผมเริ่มเปิดบริษัทด้วยพนักงานไม่กี่คน แต่ถือว่าเราทำงานเป็น ทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ไม่กลัวว่าใครจะลาออก อยู่กับใคร ก็ต้องเข้าใจชีวิตเขาด้วย ทุกคนอยากมีอนาคตที่ดีกันทั้งนั้น เวลาผมร่วมงานกับใคร ผมจะต้องเห็นและวิเคราะห์ชีวิตเขาด้วย สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือครอบครัว ถ้าเขาเป็นคนที่มีการกระทำที่ดี พูดได้เต็มปากว่า มีความรักและรับผิดชอบครอบครัว แบบนี้ผมสนับสนุนเต็มที่ แต่ขณะที่บางคนอาจไม่เป็นแบบนี้ การให้ของผมก็จะไม่เหมือนกัน เปลี่ยนไปอีกแบบ (หัวเราะ) แต่เน้นว่า อยู่กับผม ขอให้ทำงานเป็น เพราะอย่างน้อยเราจะใช้เขาได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับผม จะออกไปโต ไปเปิดบริษัทเอง ผมยินดีมาก ๆ เพราะผมยังเรียกใช้เขาได้ ทำงานให้เราได้ เป็นเรื่องง่ายสำหรับผมด้วยซ้ำ จึงพยายามให้เขาหาโอกาส พัฒนาตัวเอง ถ้าหากเปิดใจกว้าง การที่เขาไปเจริญก้าวหน้า ก็คืองานของเรานี่แหล่ะ อย่างเช่น ถ้าเขาไปเปิดบริษัทอยู่โคราช พอมีงานที่ร้อยเอ็ด เราสั่งให้เขาไปดูก็ง่ายกว่าที่จะวิ่งไปเองจากกรุงเทพฯ แล้วทำไมจะมาเหนี่ยวรั้งคนให้อยู่กับเรา อยากให้คนที่อยู่กับเราได้เรียนรู้ให้มากที่สุด อยากให้ทุกคนโต แล้วทำงานในนามเราอย่าให้เสียชื่อเสียง

ธุรกิจเพื่อสังคม : เราเป็นที่ปรึกษาบริษัทใหญ่ ๆ ในเครือตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เรามีทุนจดทะเบียน สองพันสองร้อยล้านบาท มีแนวทางวิสัยทัศน์ในเรื่องการบริหารจัดการขยะ ที่ผ่านมาเรารอแต่เรื่องโรงไฟฟ้า เรามีทีมงานและหน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุน เลยมองถึงเรื่องขยะ ว่าควรจัดการอย่างเป็นรูปแบบ ‘รีไซเคิล’ เป็นหลัก เรียกว่า ซีโร เวสต์ (Zero Waste) ไม่ต้องนำไปเผาอย่างโรงไฟฟ้า ซึ่งในบ้านเรายังไม่ค่อยนิยม แต่ต่างประเทศเขาทำกันอยู่แล้ว เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงให้เห็นว่าเราทำได้ และจะอยู่กับชุมชนอย่างไร ปัญหาที่ผ่านมาของสังคมคือ มีแต่ขนขยะเข้ามา แต่ไม่มีผลผลิตกลับออกไป ทำให้เกิดภูเขาขยะ ดินเสีย น้ำใต้ดินเสีย

ขยะเรื่องไม่เล็ก : ขยะแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันอย่างมาก, ขยะชุมชน ไม่ควรทำลายหรือเผา ควรจะรีไซเคิล ซึ่งคือปิโตรเคมี สามารถในกลับไปใช้งานได้อีก เช่น ฝาไม้สังเคราะห์ ทำจากเศษพลาสติก ผสมกับปูน ขยะจากเม็ดพลาสติก ที่มีค่าปิโตรเคมีอยู่ เราโชคดีที่มีสัญญาซื้อขายกับบริษัทใหญ่ที่มีความต้องการใช้วัสดุเหล่านี้ ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะปนเปื้อน ก็ต้องมีวิธีจัดการที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งในบ้านเรายังไม่มี เราเปิดมาเพื่อเป็นที่เรียนรู้ ให้ชุมชมได้เรียนรู้ว่า ขยะสามารถบริหารจัดการได้ด้วยชุมชนเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่น กรุงเทพฯ สร้างขยะมหาศาล แต่ต้องนำไปทิ้งที่อื่น, เราเริ่มจากทำสัญญากับภาครัฐ ทำให้เกิดรายได้ เทศบาลนำขยะมาทิ้งที่เรา มีการคัดแยกประเภท เพื่อนำกลับไปขาย RDF (Refuse Derived Fuel : เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย) ขายได้แทบทั้งหมด ใน 100 กิโลฯ จะมีเศษอาหารราวครึ่งนึง ที่เหลือเป็น พลาสติก กระดาษ ฯลฯ ถ้าเรานำของเน่าเสีย ไปรวมกับพลาสติก ทั้งหมดคือของเสีย ซึ่งต้องคัดแยกตั้งแต่เริ่ม โรงงานของเราจะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในการคัดแยก ขยะก็จะหายไปทันทีราวครึ่งหนึ่ง มีการสะบัดน้ำ เศษอาหารไปที่ พลาสติกไปอีกที่ ก็จะไม่มีกลิ่นแล้ว ถ้าเราสร้างความสมดุลให้กับขยะ ก็ไม่เกิดการสะสม, ขยะที่เน่าเสีย เรานำไปหมักในบ่อ เพื่อได้แก๊สออกมาใช้ขับเคลื่อนเครื่องจักร และนำไปแบ่งปันให้มวลสมาชิกในชุมชนได้ใช้ในราคาถูก ให้ชาวบ้านนำไปอบมันเส้น แต่ไม่ได้ไปขายแข่งกับใคร ให้มีผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อหมดแก๊สแล้ว บ่อนี้ก็กลายเป็นปุ๋ย ส่งเม็ดปุ๋ยไปขายตามร้านค้าส่งใหญ่ ๆ โดยให้ชาวบ้านเข้ามาทำ เข้ามามีส่วนร่วม ที่เหลือเป็นเศษพลาสติก กระดาษ ผ้า ไม้ นำมาแยกประเภทนำไปอัดเม็ดได้หมด ไม่มีอะไรเหลือทิ้ง ยิ่งขยะเข้ามามาก ผลผลิตก็ยิ่งมีมาก หากไม่มีชาวบ้านมาช่วย สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นของสะสมที่สร้างปัญหาให้ต่อไป แต่ถ้าเราแบ่งปัน สร้างรายได้ให้กับเขา เราก็อยู่ร่วมกันได้

คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม : สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่า ไม่ติดขัดกับข้อกฎหมาย ซึ่งพื้นที่ของเราผ่านหลักเกณฑ์อนุญาตเบื้องต้น ของ ESA, EA (Environmental Site Assessment : การประเมินสิ่งแวดล้อมในพื้นที่, Environmental Assessment : การประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อม) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การก่อสร้างก็ให้เข้ามาควบคุมทุกขั้นตอน เพราะนี่คือการคุ้มครองเรา ต้องตอบโจทย์ ตอบข้อโต้แย้ง หรือปัญหาที่จะเกิดในระยะกลาง ได้ครอบคลุมทั้งหมด ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน เราทำงานให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตามข้อกฎหมาย และฟังเสียงสะท้อนของชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ เสียง ถึงแม้จะเหนื่อยและยากลำบากมาก แต่นั่นก็ทำให้เราสามารถมีพื้นที่อยู่ร่วมกันได้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ชุมชนมาก่อน : การทำเรื่องขยะ สิ่งที่อ่อนไหวที่สุดคือเรื่องชุมชม ต้องใช้เวลามาก ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าใจ เข้าร่วมกับเรา ทำให้เขารู้ว่า เราไม่ได้มาขวางผลประโยชน์เขา แต่เราจ่ายคืนตามข้อตกลงให้ชุมชนเพื่อนำไปใช้ตามความเหมาะสม ยิ่งมีขยะเข้ามาก ชุมชุนก็ยิ่งได้มาก เราก็อยู่ด้วยกันได้ สิ่งสำคัญในการลงทุนคือ มั่นใจว่า ชุมชน ท้องถิ่น ต้องร่วมด้วยกับเรา ไม่มีกระแสต่อต้าน ใบอนุญาตออกได้ เราก็พร้อมทำงาน เราต้องไปมีส่วนร่วมกับชุมชน ให้มีความสัมพันธ์อันดี ถึงแม้จะยังไม่ได้ผลกำไร ก็ต้องเข้าไปทำ ต้องทำให้เปิดใจรับ

อย่าเห็นแก่ตัว : ในกลุ่มคนที่แวดล้อมเราอยู่ อาจมีการแย่งชิง อิจฉาตาร้อน ค่อนข้างสูง แต่ผมไม่คิดอะไรมาก เพราะเข้าใจ พูดความจริง แต่กลายเป็นว่าเขาอาจไม่ชอบที่ผมพูดตรงไปตรงมา คนไม่ชอบใจย่อมมีบ้าง งานที่ผมได้ เป็นงานเฉพาะทาง ใครจะมาทำแทนกันได้ยาก เรามีประวัติความสำเร็จในการทำงานอย่างชัดเจนมายาวนาน ไม่ใช่ผลสำเร็จจากแค่คำพูด การทำงานจากขยะที่ทิ้งแล้ว แต่เราสามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าจนขายได้ทุกส่วน ต้องเป็นลงทุนที่ไม่เห็นแก่ตัว ถึงจะทำได้ ต้องมีการคิดรอบด้านอย่างรอบคอบ ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ผมไม่ชอบทำอะไรตามคนอื่น ชอบทำให้นำหน้า ทำธุรกิจให้เป็นโรงเรียน ให้ทุกคนที่มีโอกาสมาเรียนรู้กันได้ พอเราเป็นแบบอย่าง นำร่อง การดูงานมีแน่ ๆ ผมก็ให้ผลประโยชน์กับชาวบ้าน นำสินค้ามาขาย หรือจะมาขายอาหาร โดย บริษัท อีเอส คอนสตรัคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่บนเนื้อที่ราว ห้าร้อยไร่ ณ แก่งเสี้ยน กาญจนบุรี และกำลังจะเริ่มดำเนินกิจการในเร็ว ๆ นี้

การให้ : เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผม โดยเฉพาะการให้ก่อน โดยไม่คิดหวังผลตอบแทน, ครั้งหนึ่ง เราทำงานกันจนจบโครงการใหญ่ ผมมีลูกน้องที่สนิท อยู่ด้วยกันมานาน รู้ว่าเริ่มมีครอบครัว มีลูก แต่ก็ไม่เคยเอ่ยปากอะไร ผมก็เรียกมาคุยด้วย ถามว่าต้องการอะไรบ้าง เขาตอบว่า ต้องการบ้าน ผมให้เงินไปซื้อบ้านเงินสดเลย และไม่จำเป็นด้วยว่าเขาจะต้องอยู่กับผมตลอด จะไปไหนก็ได้ ขอให้เก่ง ๆ หากมีอะไรผมก็เรียกใช้ได้

กิจกรรม : เคยเล่นกีฬามาหลายอย่าง สมัยนั้น มีโค้กคัพ เล่นฟุตบอลโรงเรียน ไปถึงระดับภาค ตะกร้อก็เคยเล่นบ้าง แต่เป็นคนรู้ตัวเองว่ามีความสามารถแค่ไหน และพยายามตัดสิ่งที่คิดว่าไม่ใช่อนาคตของเราออกไป รู้ว่าเวลาเล่นของผมจบแค่นี้แล้ว เราต้องมองว่า ชีวิตจะไปในทางไหน เล่นได้ แต่ต้องรู้เวลา พออยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ไม่ได้เล่นอะไรเลย เพราะอาจารย์ให้งานพิเศษ รับเหมาตีกิ้บสายไฟฟ้า มีรายได้ผมรับหมด ผมชอบกิจกรรมแบบนี้ (หัวเราะ)

สุขภาพ : ผมนอนดึก ชอบทำงานกลางคืน เนื่องจากเงียบสงบ ชอบอยู่ในบ้านแบบเป็นสวนเป็นไร่ ท่ามกลางธรรมชาติ มีต้นไม้เยอะ ๆ ทำงานเหนื่อย ๆ กลับไปก็ได้พักผ่อน ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ครั้งเดียวก็ไม่เคย เพราะเห็นตัวอย่างจากพ่อ ท่านอยู่ในสังคมราชการย่อมมีอยู่แล้ว เพื่อนเยอะด้วย แต่พอท่านป่วย สาเหตุมาจากการดื่ม เริ่มต้นจาก ตับ เบาหวาน แล้วเป็นโน่นเป็นนี่ต่อเนื่องลุกลามมา ผมเห็นตรงนี้มาตลอด จึงไม่เคยคิดดื่มตั้งแต่ไหนแต่ไร ช่วงเรียน เพื่อนบอกไม่ดื่มด้วยไม่เป็นไร แต่ต้องหารเท่ากันนะ (หัวเราะ) ผมซื้อให้เลย ตอนทำงานบางครั้งมีอบรมสัมมนา หากคนที่ชอบดื่มขึ้นมาเจอเพื่อนในช่วงสัมมนาจะสิ้นเปลืองมาก (หัวเราะ) จึงส่งให้ผมเป็นตัวแทนมาร่วมงาน เพราะทราบกันดีว่าผมไม่ดื่ม แต่เข้ากับทุกคนได้ไม่มีปัญหา ส่วนอาหาร ผมพยายามเลือกทานประเภทที่คิดว่าดีต่อสุขภาพ แต่ก็น้ำหนักเกินบ้างเพราะอายุ พยายามหมั่นตรวจสุขภาพ ค่าน้ำตาล ไขมัน ก็อยู่ในระดับปกติ ช่วงทำงานด้านวิศวกรรม เป็นงานสั่งการเยอะ พอมีเวลาได้เข้าฟิตเนสบ้าง เพราะตั้งแต่ปี 2557 ไม่เคยเข้าเลย (หัวเราะ) และช่วงนี้ก็หันมาวิ่งออกกำลังกายด้วย

จิตใจ : ทุกข์ สุข ตลอดชีวิต ผมเจอหนัก ๆ มาแล้วทุกรูปแบบ (หัวเราะ) เวลาจะคบกับใคร เราต้องทำความเข้าใจคนนั้น ให้มากที่สุดก่อน เมื่อเราเข้าใจว่า คนแบบนี้ เขาเป็นอย่างนี้ ก็จะแบ่งชั้นในการคบหา ทั้งในเรื่องการให้ใจ หรือทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วจะไม่เก็บมาเป็นเรื่องกลุ้มใจเราอีก ‘ถ้าเข้าใจว่าคนอื่นเป็นอย่างไร เราจะไม่โกรธเขาอีกเลย’ ถ้าเราคิดแบบนี้ได้ จะดูรู้ถึงสถานการณ์ ก็ไม่จำเป็นต้องโกรธใคร ผมใช้วิธีนี้ แล้วชีวิตไม่ต้องซีเรียสอีก คนรอบข้างจะรู้ว่า ผมไม่ใช่คนใจเย็น แต่เป็นคนเข้าใจเขา แล้วจะรู้ว่า ความโกรธถึงจะมี ก็มีไม่นาน เพราะถ้าคุณเข้าใจเขา แต่เขายังไม่รู้เท่าคุณเลย แล้วคุณจะไปโกรธทำไม ทุกคนอาจเรียนหนังสือมาเท่าทันกัน แต่วิชาชีวิตของตัวเองแต่ละคน ได้ไม่เท่ากันหรอก จะให้เขามาคิดเหมือนกันกับเรา โดยไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน คงเป็นไปได้ยาก คำพูด หรือ การกระทำ บางครั้งหากเข้าใจผิด จากเหตุการณ์แค่นิดเดียว อาจทำให้ลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โตได้ แต่ถ้าเรามีความเข้าใจ ตัดวงจรตรงนี้ออกไป ทุกเรื่องก็ไม่มีปัญหาครับ