Interview

ศาสตราจารย์ ดร.คณิต เขียววิชัย

ศาสตราจารย์ ดร.คณิต เขียววิชัย
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร

องค์กรแห่งความสุข : เป็นการสร้างค่านิยมร่วมให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี ทุกคนมาทำงานแล้วมีความสุข คนมีความสุข พูดคุยกันแล้วจะเข้าใจกันดีขึ้น การสื่อสารระหว่างผู้คนในองค์กรไม่ว่าเป็นใครก็ตามก็รู้เรื่องง่ายขึ้น ข้อมูลทุกอย่างมีการปรับจูน ทำให้สามารถจะก้าวไปได้ ความผูกพันในองค์กรเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อมีความสุขมากขึ้น อยากมาทำงาน ทำไม่เสร็จก็ไม่อยากกลับบ้าน

กิจกรรมเพื่อความสุข : เราดำเนินการทางด้านกายภาพไปด้วย มีกิจกรรมเพิ่มเติมให้ เช่น ด้านพบปะ เรามีบาร์กาแฟให้ ในเวลาว่าง หรือช่วงเช้า จะได้มาคุยกันก่อน ตรงนี้เป็นกระบวนการ จัดการความรู้ที่นอกระบบที่สุด ไม่มีทฤษฎีไหนบอกไว้ (หัวเราะ) ในฐานะเป็นนักนันทนาการ การวิจัยบอกไว้ว่า เวลาแห่งความสุขของคนคือการกิน ผมจึงนำกิจกรรมการกินมาเป็นสื่อ อาหารว่างอย่าง ชา กาแฟ ขนม เหมาะมาก จัดโอกาสให้ได้ทำสิ่งเหล่านี้ เมื่อมีความสุข ก็สามารถสร้างสรรค์งาน โดยใช้ความร่วมมือ การแบ่งปันทรัพยากรได้ง่ายขึ้น

แก้ปัญหา : เป้าหมายแรกที่มาทำหน้าที่ฯ คือการย้ายโรงเรียนสาธิตประถม ไปยังพื้นที่ ที่ยังว่างอยู่ของมหาวิทยาลัย เป็นปัญหา เป็นความท้าทาย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องจราจร แก้ปัญหาพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ แล้วเมื่อโรงเรียนได้ย้ายไปตรงนั้น พื้นที่จะมีชีวิตขึ้น มีร้านขายของ สามารถสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้อีกทางหนึ่ง มีการพูดคุยกันเรียบร้อย ส่งโครงการไปแล้ว เป็นโครงการที่ผมคิดไว้ตั้งแต่แรก ประถมวัยจะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ส่วนที่เดิมให้มัธยมใช้ การจราจรจะไม่มาแออัดตรงนี้อีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคาดหวัง และได้ทำไปแล้ว คาดว่าจะสำเร็จทุกอย่างได้ภายในสองปี หรือเรื่องที่จอดรถอาจารย์วิกฤติมาก จึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีการแบ่งพื้นที่ ติดตั้งไม้กั้นโดยมีระบบอิเลคโทรนิคสำรองที่จอดให้ ไม่ว่าจะมาในเวลาไหน ก็มีที่จอดให้ ทำให้อาจารย์มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น มาแล้วไม่ต้องกังวลเรื่องนี้อีก

ครูต้นแบบ : นอกจาก องค์กรแห่งความสุขแล้ว เราจะผลิต “ครูต้นแบบ” แรก ๆ บุคลากรยังตามผมไม่ค่อยทัน (หัวเราะ) จึงอธิบายเพิ่มเติม โดยใช้ Non Formal ใช้วิธีนอกระบบ คุยกับทางภาควิชาก่อน แล้วนำไปถ่ายทอดต่อ เราจะสร้างครู ที่ไม่ได้สอนแค่ความรู้อย่างเดียว แต่ไปสอนทุกเรื่องของความเป็นมนุษย์ แล้วความเป็นมนุษย์ในโลกดิจิตอลเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งได้ข้อมูลมาจากโครงการวิจัย ตอนนี้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ เสร็จแล้ว กำลังเก็บข้อมูล เราจะวิจัยก่อนว่า ครูต้นแบบ มีลักษณะใดบ้าง เราได้ข้อมูลจากเด็ก ๆ ด้วย เพราะบางทีครูคิดว่าดี แต่เด็กไม่ได้คิดเช่นนั้น เด็กเขาจะบอกได้ว่า ครูต้นแบบเป็นยังไง ทั้งการแต่งกาย การพูดจา การวางตัว การสอน ขณะเดียวกัน ก็ดูจากผู้บริหาร เพื่อนครูด้วยกัน จากผู้ปกครอง การได้ข้อมูลทั้ง 4 เส้า มาทำให้คุณลักษณะครูต้นแบบ ที่เรากำหนดได้ คิดว่าจะเสร็จภายในครึ่งปี และหลังจากนั้นอีกหกเดือน เราจะสร้างนวัตกรรมว่า คุณลักษณะที่ว่า ต้องใช้กระบวนการอะไร กิจกรรมอะไร เพื่อสร้างเด็กของเราให้เป็นครูต้นแบบ และจะไม่ใช้เฉพาะกับคณะศึกษาศาสตร์เท่านั้น เราจะไปเผยแพร่ที่อื่นด้วย เพราะผมเคยเป็นอนุฯ ของครุสภา ได้ออกไปดูสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ กิจกรรมปลูกฝังจิตวิญญาณการเป็นครู อาจมีปัญหาอยู่ แต่ถ้าทำครูต้นแบบเสร็จ กระบวนการเหล่านี้ จะช่วยสร้างครู เผยแพร่ให้สถาบันอื่น ๆ ได้ใช้ด้วย การร่วมมือกันคนละไม้ละมือ ทำให้เกิดการตื่นตัวในการผลิตครูต้นแบบ เพื่อไปสอนเด็กตามโรงเรียนต่าง ๆ สอนเรื่องความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ การเป็นสมาชิกในสังคมในระบอบประชาธิปไตยที่ดี แล้วไม่ใช่แค่นั้น เราจะสร้างให้เป็น พลเมืองดีของ ‘สังคมดิจิตอล’ รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรที่จะเปิดเผย อะไรที่เป็นความลับของเราจะเก็บไว้ยังไง ไม่ให้ใครมาล้วงได้ เอาความรู้จากดิจิตอลไปสร้างสรรค์ได้ ประกอบอาชีพได้ เราจะแทรกเรื่องเหล่านี้เข้าในครูต้นแบบ

การจัดการตัวเอง : เรายังเพิ่มเติมในเรื่อง ‘การจัดการตนเอง’ ตามที่เราเห็นในข่าวว่าเรื่องหนี้สินของครูมีอยู่มากมาย ก็เป็นประเด็นสำคัญ คิดว่าถ้าเราผลิตคลื่นลูกใหม่ ให้เรียนวิชาการจัดการตนเอง โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ ซึ่งสำคัญที่สุด, การเงิน และการจัดการอื่น ๆ ครูของเราจะจัดการได้ดี เพราะเรามีกระบวนการพัฒนาให้เขา

1 ภาควิชา 1 ชุมชน : เราให้ครูกับเด็กไปเรียนรู้จากชุมชน ให้ภาควิชาไปคุยกันว่าจะออกชุมชนไหน เพราะแต่ละภาควิชาอาจมีลงชุมชนอยู่แล้ว และบางทีอาจต้องการสาขาอื่นไปช่วย เราจะคุยกันโดยใช้กระบวนการนอกรูปแบบ เพราะหากคุยกันเป็นทางการเมื่อไหร่ อาจทำให้ยากขึ้นไปอีก ใครขาดเหลืออะไร มาพูดคุยกันระหว่างดื่มกาแฟ ทำให้อะไร ๆ ง่ายขึ้น ใครอยากได้อะไรเพิ่ม อาจตรงกับสาขาวิชาอื่น ก็ชวนกันไป ทั้งเด็กและครู จะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ ทักษะเหล่านี้ สร้างไม่ได้จากห้องเรียน ต้องไปชุมชน ทำให้ทั้งเด็กบัณฑิตเราและครู เกาะติดพื้นที่ เข้าใจมากขึ้น เวลาสอนก็ไม่สอน ‘อยู่บนเวหา’ (หัวเราะ) เอาเรื่องจริงมาอธิบายในห้อง ซึ่งน่าสนใจกว่า

ปลูกฝังความดี : ทุกวันพุธ จัดให้นักศึกษา มีกิจกรรมใส่บาตร เพราะสอนให้เด็กรู้จักให้ เรานิมนต์พระที่เข้าใจวัยรุ่น และให้ข้อคิดกับเด็ก พระท่านจะให้ข้อคิดสั้น ๆ ซึ่งดีมาก ๆ ผมก็ไม่คิดเหมือนกันว่าเด็กจะสนใจมาใส่บาตรกันเยอะมาก ทำให้เด็กอยากไปวัดมากขึ้น คนที่ไปวัดจะได้ไม่มีแค่คนแก่ คนถือศีล (หัวเราะ) เป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะสร้างคุณธรรมให้กับเด็ก ได้รับข้อคิดดี ๆ จากพระเกจิที่มีความรู้ มีการประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบ เป็นสิ่งละอันพันละน้อย ที่ทำให้เราก้าวไปสู่ Work Place Happiness องค์กรแห่งความสุข กับ การผลิตครูต้นแบบ ที่เป็นต้นแบบจริง ๆ ได้ สอนครูที่มีวิชาความรู้ดี เพราะมีเทคโนโลยีอยู่แล้ว ยิ่งสมัยนี้มีการศึกษาออนไลน์ เด็ก ๆ เก่งกันอยู่แล้ว ครูอาจตามไม่ทันด้วยซ้ำ บางเรื่องอาจใช้ ‘ห้องเรียนกลับด้าน’ ครูสอนแล้วอัพขึ้นคลาวด์ ทำให้เข้าถึงความรู้ได้จากทุกที่ พอมาโรงเรียนก็ติวเพิ่มเติม เพื่อให้เด็กทบทวนความรู้ได้ ไม่เข้าใจก็ไปดูบทเรียนซ้ำเองได้ ไม่จำเป็นต้องไปลอกการบ้านเพื่อน สอนให้ซื่อสัตย์ เป็นการสร้างนิสัยที่ดี มีความภูมิใจ มั่นใจในตัวเอง กระบวนการเหล่านี้ จะสร้างให้มีความเป็นผู้นำ คิดเองได้ แก้ปัญหาเองได้ ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยจะมีกันแล้ว (หัวเราะ)

จิตวิญญาณความเป็นครู : เราเน้นเรื่องการเรียนรู้จากการปฏิบัติ จากสถานประกอบการ คือโรงเรียน การที่เราขยายโรงเรียนประถม เพื่อให้รองรับการไปสังเกตการณ์งานครู ของเด็กสาขาวิชาการสอนทั้งหลาย เขาต้องไปเรียนรู้ในห้องเรียน ไปช่วยครูทำอุปกรณ์ ยกอุปกรณ์ เล่านิทานให้เด็กฟัง ทำให้เขาได้ฝึกวิทยายุทธเหล่านี้ แล้วทำให้รักเด็กมากขึ้น นี่คือจิตวิญญาณความเป็นครู แล้วต่อไปเขาจะสอนเด็กได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่ความรู้อย่างเดียว รู้วิธีการสอนว่าจะทำอย่างไรให้เด็กยอมรับ บางเรื่องหากครูสอนแบบโบราณเก่า ๆ นักเรียนจะต่อต้านมาก ครูต้องเข้าใจและปรับตัวเข้าหาเด็กได้ทำบุญใส่บาตร

ลานกล้วยไม้ : ด้านหลังตึก 1 เมื่อก่อนมีกล้วยไม้ติดต้นไม้อยู่ แล้วไม่มีใครดูแล หายหมด ตายหมด พอบอกลานกล้วยไม้ ไม่มีสักต้นเดียว เหลือแต่ชื่อ ผมจะรื้อฟื้นใหม่ ซึ่งเรื่องนี้เชื่อมโยงกับการศึกษา เพราะ มล.ปิ่น มาลากุล เขียนบทประพันธ์ตอนหนึ่งไว้ว่า “กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม” ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาเหมือนการปลูกกล้วยไม้ ค่อย ๆ บ่มเพาะ ค่อย ๆ เอาใจใส่ แต่การศึกษาในปัจจุบัน ผมมองว่า เหมือนปลูกถั่วฝักยาวมากกว่า (หัวเราะ) ใส่ปุ๋ยวันนี้ พรุ่งนี้ฉีดยา มะรืนเก็บขาย ทำให้การผลิตทรัพยากรบุคคล ไม่ตอบโจทย์ในสังคมอนาคตที่ดี อาจมีความรู้ แต่ขาดสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ เรื่องของคุณธรรม จริยธรรม จะไม่ได้ เด็กจะได้ปลูกกล้วยไม้ สาขาวิชาละหนึ่งต้น ผมจะหาพันธุ์ ปุ๋ย และอุปกรณ์มาให้ แล้วมาแข่งขันว่าของใครจะสวยสุด (หัวเราะ) นี่คือสิ่งที่คิดแล้วจะทำจริง

สิ่งที่ผมคิดในใจตลอดเวลา ก่อนจะตัดสินใจ กลับมาทำหน้าที่คณบดี ผมบอกประชาคมว่า ถ้าผมถูกเสนอชื่อเยอะ จะตอบรับและทำให้ด้วย แต่ทุกคนต้องช่วยผมนะ แบบนี้ทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้ ผมถึงจะรับ ผมจึงกล้าเข้ามาทำหน้าที่ เราต้องทำงานอย่างมีส่วนร่วม การกำหนดหน้าที่ การตัดสินใจ ทุกคนต้องทำร่วมกัน บรรยากาศเป็นประชาธิปไตย องค์กรถึงจะมีความสุข การพิจารณาความดีความชอบ กำหนดกรอบ ตั้งกฎเกณฑ์ ผมเคยใช้ในหน่วยงานอื่นสำเร็จมาแล้ว ก็จะนำมาใช้ที่ศึกษาศาสตร์ด้วย มีทำไปแล้วหลายเรื่อง เช่น สำนักงานสีเขียว ปลอดมลพิษ อย่างการใช้เครื่องพิมพ์ ถ้าตั้งไว้ใกล้ตัว อาจสะดวก แต่อันตราย แต่หากตั้งเครื่องไว้ส่วนกลาง ยอมเดินบริหารร่างกายสักหน่อย ปลอดภัยกว่า ระยะยาวย่อมดีกว่า หรือ ใช้ต้นไม้มาช่วยดูดซับสารพิษในที่ทำงาน ไม่ใช้กระดาษสิ้นเปลือง ใช้พลังงานทางเลือก ลดมลพิษ หรืออย่างฟิตเนสของศิลปากร เครื่องมือเรามีเต็มไปหมด เรามีสาขาศิลปศึกษา ศิลปะนิพนธ์ของเขา เด็กฝีมือดีมาก ผมอยากขอซื้อไว้ ภาพสวย ๆ ประติมากรรมงาม ๆ แล้วไปติดไว้ที่ฟิตเนส เวลาไปใช้บริการจะเหมือนกับได้ออกกำลังกายในแกลเลอรี่ ได้ชมงานศิลปะสวย ๆ และยังสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะมีเด็กผลิตผลงานออกมาตลอด

ศาสตราจารย์ : ผมพยายามทำงานด้านวิชาการมาตลอด แต่ทิ้งช่วงห่างจาก รองศาสตราจารย์ ยี่สิบกว่าปี เพราะไปทำงานบริหาร ผลงานไม่ได้ระดับก็ไม่อยากส่ง ไม่อยากตก (หัวเราะ) ช่วงต่ออายุราชการ มีเวลา มีโอกาสที่จะดำริ เรียบเรียง อะไรที่ดี มั่นใจ ถึงได้ส่ง ยากมาก (หัวเราะ) ต้องใช้การเสนอผลงานที่ค่อนข้างโดดเด่น มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ผมมีตำราที่ไม่มีใครเขียน เรื่องของหลักนันทนาการ มีงานวิจัยที่ออกพื้นที่ ที่ใช้นันทนาการในการสร้างกระบวนการ ในการศึกษาให้กับชุมชนต่าง ๆ การจะได้ตำแหน่ง ต้องส่งผลงานให้ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน อ่าน และต้องผ่านเป็นเอกฉันท์ ถ้าผ่านแล้ว จะให้กลับไปก่อนอีก 1 อาทิตย์ แล้วถามใหม่ ว่ายืนยันผลเหมือนเดิมมั้ย? นี่คือความยากลำบาก ต้องห้ามลังเลในผลงานศาสตราจารย์ เป็นตำแหน่งสูงสุดทางวิชาการ มีความสำคัญ ก่อนเสนอต้องมีการตรวจสอบประวัติ มีขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย ต้องใช้เวลา ก่อนจะได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อได้รับแล้ว ย่อมมีความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดเกี่ยวกับ การนำนันทนาการ ไปเสริมทางด้านกระบวนการเรียนรู้ ของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการครองชีวิตตนเอง ในโลกชุมชนในยุคปัจจุบัน จะมาจากหลายหลาย เพราะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ลาวโซ่ง กระเหรี่ยงโป คนไทย ฯลฯ แล้วนำสิ่งเหล่านี้มาสังเคราะห์ เพื่อดูว่า กิจกรรมนันทนาการของแต่ละที่ เสริมสร้างคุณลักษณะให้คนยังไง ทำยังไงให้กลุ่มคนเร่ร่อนไม่ไปถางป่า เป็นประเด็นที่เราคิดไว้ ก็ได้ประโยชน์เยอะ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างกระเหรี่ยงโป ที่เข้ามาในชุมชน เดิมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของเขา ตอนนี้เขาใส่เสื้อ หมวก ของเขา แต่สวมกางเกงยีนส์แล้ว นี่คือการผสมผสาน ผมก็ได้บทเรียนไปสอนเด็กแล้วว่า อย่าให้ยึดมั่นอันใดอันหนึ่ง ต้องผสมผสาน อย่าเอาแนวปรัชญาใดอย่างเดียว จะไม่สำเร็จ จากการทำงานวิจัย เลยได้ข้อยุติว่า ทุกอย่างต้องผสมผสาน ต้องคิดนอกกรอบได้ ถ้าทำอย่างนี้ไม่สำเร็จ อย่าฝืน ต้องหาช่องทางอื่น ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ นี่คือผลที่ได้จากการวิจัยเพื่อการขอตำแหน่งทางวิชาการ ทำให้ค้นพบสิ่งเหล่านี้ และนำมาใช้สอนเด็กระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ซึ่งประสบผลสำเร็จมาก เพราะเขาหาอ่านที่ไหนไม่ได้ เพราะผมนำจากการวิจัยมาสอนการจัดการนันทนาการ การท่องเที่ยวและกีฬา เราจะติดอาวุธทางปัญญา ให้กระบวนคิด แต่ไม่ให้ความรู้โดยตรง แต่ให้วิธีการไปหาความรู้เอาเอง เพราะความรู้มีอยู่ทั่วไป แต่ความคิด ต้องมาเสริมสร้าง หลักสูตรจึงเน้นให้ไปดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ได้เรียนเพื่อมาเอาตั๋วอย่างเดียว มาเอาเครือข่ายกลับไปด้วย ต้องมีกิจกรรมที่ทำให้ได้พบปะ กินข้าวกลางวันด้วยกัน คุยกัน ทำให้เครือข่ายเกิดขึ้น ทำงานก็ไม่ต้องมีหนังสือ ใช้วิธีโทรหาก็ตกลงกันแล้ว ทำให้งานสำเร็จ เรามีส่วนช่วยชุมชน ช่วยสังคม ช่วยประเทศชาติ ในโลกอนาคตเครือข่ายอาจสำคัญมากกว่าความรู้ก็เป็นได้งานบริหารจะยุติตำแหน่งคณบดี กลับมาคราวนี้จะสร้างสิ่งที่คิดว่า น้อง ๆ อาจจะลำบากนิดนึง เลยยอมใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ และเครือข่ายที่มีอยู่ มาสร้างตรงนี้ และในอนาคตคิดว่าจะวางมืองานด้านบริหาร จะทำงานด้านวิชาการต่อ คิดว่าจะไม่หยุด ศึกษาค้นคว้า ทำวิจัยไปเป็นระยะ ๆ ตอนนี้ก็ทำอยู่ แต่เบนมาเรื่องการศึกษา กำลังคิดว่า จะต้องสร้างการจัดพื้นที่นวัตรกรรมทางการศึกษา ว่าจะทำยังไง ให้คนเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ โอกาสไม่เท่ากัน ให้เด็กบ้านนอก มีโอกาสได้เรียนกับครูเก่ง ๆ ในเมือง นี่คือสิ่งที่คิดไว้

แก่ได้ แต่ไม่เก่า : การวิจัย คือสิ่งที่ผมคงทำต่อไป ไม่หยุด เพราะถ้าหยุด เราคงถอยหลัง และล้าสมัย ผมเลยตั้งปณิธานตัวเองไว้ว่า เรา ‘แก่ได้ แต่ต้องไม่เก่า’ การสอนหนังสือจะทำต่อไป งานบริหารจะหยุดแค่นี้ ส่วนงานตำแหน่งอื่น ๆ ก็พอแล้ว เพราะได้รับเกียรติให้ทำอยู่หลายหน้าที่ เช่น นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา การเป็นกรรมการสภาในสถาบันอื่น ๆ ทำให้ได้แนวคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ประโยชน์มาก ขณะเดียวกันเรามีองค์ความรู้อยู่ ก็นำไปแลกกับเขา เผื่อที่เราคิดไว้อาจผิด เขาจะได้ทักท้วง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เราสามารถนำกระบวนคิด มาใช้พัฒนาองค์กรเราได้ ที่เรามุ่งตรงนี้เพราะศึกษาศาสตร์ เป็นครั้งแรกที่ผมทำงาน เป็นแหล่งที่สร้างผมมาตั้งแต่เด็ก ๆ จนกระทั่งมีความมั่นคงในชีวิต ก็ต้องทำตัวอย่างให้น้อง ๆ ดูว่า ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน เพราะถือว่าที่นี่มีบุญคุณกับผมเยอะ ผมมักจะนึกถึง มล.ปิ่น มาลากุล เสมอ ซึ่งท่านรักศึกษาศาสตร์มาก ท่านเห็นว่าการศึกษาจะไปช่วยพัฒนาคนได้เป็นอย่างดี ถ้าคนดีแล้ว ทุกอย่างจะดีตาม สังคม สิ่งแวดล้อม ถ้าคนไม่ดี เป๋ หมดทุกเรื่อง นี่คือแนวคิดของท่าน ซึ่งเป็นอมตะมาก

นักนันทนาการ : ดูหนัง ฟังเพลงบ้าง การฟังเพลงมีส่วนช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลาย ที่ชอบเป็นลูกกรุงเก่า ๆ มีเนื้อร้องไพเราะ มีคำสอนดี เนื้อหาให้เกียรติผู้หญิงมาก หรือบางครั้งฟังเพลงใหม่ ๆ บ้าง เพื่อจะได้ตามโลกทัน (หัวเราะ) สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความสุข แล้วนอนหลับ พอหลับได้ จิตใจจะสบาย ๆ ทำงานก็มีความสุข

กอล์ฟ : เมื่อก่อนต่อต้าน (หัวเราะ) เพราะรู้สึกทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ตอนหลังพบสัจธรรมที่ว่า สนามกอล์ฟสร้างในพื้นที่ที่ใช้ในทางเกษตรไม่ค่อยได้ ไปสร้างแล้วทำให้ชุมชนรอบ ๆ มีงานทำ ค้าขายได้ เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ และกีฬากอล์ฟยังเป็นกีฬาที่เล่นได้ตลอดไป แข่งกับตัวเอง ต้องเอาชนะตัวเอง ผ่อนคลาย ชมนกชมไม้ ชมธรรมชาติ ทำให้เรามีเพื่อน สนุกสนาน สร้างสรรค์มาก ต้องจัดการตัวเองเป็นด้วย มีฝีมือ มีศักยภาพแค่ไหน ก็ต้องรู้จักประมาณตัวเอง ถ้าไม่พนัน ก็ไม่ทะเลาะกัน กอล์ฟเป็นกีฬาประจำกายที่ผมเล่นต่อไปได้เรื่อย ๆ ครับ