Interview

สุวิทย์ ติกจินา

สุวิทย์ ติกจินา
ผู้อำนวยการ สำนักอธิการบดี
มหาวิทยาลัยธนบุรี
“ยอมก้มหัวให้สักหน่อย ยอมให้คนอื่นดูว่าแย่สักหน่อย มันจะเสียหายอะไร”

ลูกชาวนา : ผมเกิดที่ จ.นครศรีธรรมราช อ.ฉวาง สมัยก่อนนั้นนับว่ายังเป็นชนบทมาก ยังมีเสือ มีช้าง มาให้เห็นเป็นเพื่อนอยู่บ่อย ๆ (หัวเราะ) ครอบครัวผมเป็นชาวนา ชาวสวน ทุกคนมีพื้นฐานจากการทำนา ทำสวน ทำไร่ หากินอยู่กันแบบชาวบ้าน แต่มักไม่ค่อยถนัดเรื่องการค้าขาย ผมเองก็ทำนาเป็นตั้งแต่เด็กจนโต การเรียนหนังสือเป็นเรื่องยากลำบากมาก เพราะต้องดิ้นรนออกมาจากบ้าน เข้ามาเรียนหนังสือในเมือง ต้องหางานทำ

คิดเอง ทำเอง : คุณพ่อใช้วิธีเลี้ยงลูกด้วยการ ‘ไม่สอน ไม่แนะนำ ไม่ดุ’ ให้ลูกคิดเองทั้งหมด ไปเที่ยวกลางคืน จะถูกจะผิด ก็ไม่ต่อว่า ให้คิดเองว่าดีไม่ดี, ผมเป็นลูกที่ไม่ดื้อ ทำตัวเรียบร้อย ขยัน มีระเบียบวินัย ทำมาหากิน หาผัก หาปลา ผู้ใหญ่ไม่ต้องห่วง ก็คิดว่าพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ท่านรักเรา คนในหมู่บ้านก็รักเรา (หัวเราะ) 

เด็กเทคนิค : ผมคิดเองว่า ยังไงก็ต้องเรียน พ่อแม่มีลูก 11 คน เป็นคนที่ 5 มีพี่ชายคนรองได้เรียนหนังสือ ทำงานราชการ และอีกคนก็คือผม, ส่วนน้อง ๆ เวลาไปเรียน ต้องไปฝังตัวอยู่ในเมือง ไปหางานทำ บางครั้งการเดินทางไม่สะดวก จนทำให้ต้องกลับมาอยู่บ้าน ปัจจุบันพี่น้องหลายคนก็ยังอยู่ที่นั่น มีที่ทางพอทำมาหากินกันได้ พอมีพอกิน มีความสุข อยู่ดีกินดีตามรูปแบบเป็นครอบครัวเก่าแก่ ผมเรียนที่ฉวางจนจบ ม.3 แต่ไม่ได้เรียนต่อ ม.8 เพราะคิดว่ามันยาก (หัวเราะ) จึงไปต่อโรงเรียนอาชีวะ แล้วมาเรียนต่อ วิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย) ซึ่งสมัยนั้นทั้งประเทศมีวิทยาลัยเทคนิคแค่ไม่กี่แห่ง ผมเรียนจบ ปวส. พาณิชย์ บริหารธุรกิจ โดยหาหนทางร่วมกับเพื่อน ๆ ดิ้นรนกันเอง โดยไม่มีใครให้คำแนะนำ หรือช่วยชี้แนะเหมือนกับเด็กในยุคนี้

ครู : เมื่อก่อนหางานยาก พอเรียนจบ เริ่มทำงานครั้งแรกเป็นครูอาชีวะ ที่ นครศรีธรรมราช สอนอยู่พักนึง พอได้ยินว่าที่ จ.นครสวรรค์เปิดรับ ก็ไปสมัครและสอนที่นั่น จนกระทั่งได้ข่าวว่า จ.ศรีสะเกษ มีตำแหน่งว่าง ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ทันที เก็บข้าวของ บอกว่าจะไปลุยเอาข้างหน้า แล้วขับมอเตอร์ไซด์จากนครสวรรค์ไปศรีสะเกษ ขนข้าวของไปด้วย ชีวิตนี้ผมเจออะไรมาเยอะแยะ เรื่องแค่นี้ไม่กลัว คิดว่าตายดาบหน้า (หัวเราะ) ขับรถผ่านไปทางจังหวัดโคราช สุรินทร์ บุรีรัมย์ สมัยเมื่อปี 2518 ยังมีบังเกอร์ให้เห็นอยู่ตลอดทาง บางช่วงขับอยู่คันเดียวเป็นชั่วโมง ไม่มีรถสวนทางมาเลยสักคัน (หัวเราะ) ตอนนั้น จังหวัดศรีสะเกษ นับว่าเป็นพื้นที่ที่ยังมีการพัฒนาน้อยมาก พอเดินทางถึงก็ไปสมัครงานที่ศาลากลางจังหวัด แจ้งความประสงค์ว่าต้องการมาเป็นครูที่นี่ ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนก็จัดสอบเอง ก่อนจะพิจารณารับให้เข้าทำงานในโรงเรียนของกรมสามัญฯ ที่ อ.ราษีไศล จัดบ้านพักให้อยู่ โดยผมทำงานสอนและเน้นหนักเรื่องงานด้านธุรการด้วย เพราะผมจบมาทางบริหารธุรกิจ สามารถพิมพ์ดีดได้คล่อง มีความถนัดในเรื่องการดูแลเอกสารต่าง ๆ ขณะที่ครูท่านอื่นที่ไม่ได้จบมาทางนี้โดยตรงอาจไม่คุ้นเคยกับงานแนวนี้มากนัก

ขั้นบันไดชีวิต : เมื่อชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ได้ย้ายไปทำงานตามที่ต่าง ๆ ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ถึงแม้บางครั้งการโยกย้ายอาจไม่ได้รับตำแหน่งหรือหน้าที่การงานที่สูงขึ้น แต่สิ่งที่ได้รับจากที่ใหม่ ๆ ก็ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำงานที่ราษีไศลเข้าปีที่สาม ผมก็ลาออก เพื่อสอบบรรจุใหม่ เข้ากรมอาชีวะ เนื่องจากรู้สึกว่าตัวเองถนัดสายนี้มากกว่า ประกอบกับพอดีมีครอบครัวแล้ว มีลูกคนแรก คิดว่าถ้าให้ลูกอยู่ต่างจังหวัดห่างไกล จะลำบากในเรื่องการศึกษา จึงเลือกลงที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษา ในช่วงที่มีการเริ่มจัดตั้งวิทยาลัยสารพัดช่าง ที่ จ.สุพรรณบุรี พอดี ผู้ใหญ่ก็ชักชวนให้ไปร่วมงานกันที่นั่น จนกระทั่งย้ายมาที่ วิทยาลัยการอาชีพ จ.นครปฐม ซึ่งติดกับสนามกอล์ฟสามพราน (หัวเราะ)

ม.ธนบุรี : ผมเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ วิทยาลัยการอาชีพนครปฐม วัดไร่ขิง มีความตั้งใจว่าต้องทำงานอย่างจริงจัง ขยัน ตรงไปตรงมา จนท่านผู้อำนวยการฯ ได้แนะนำให้ผมได้มาช่วยงานกับทาง วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี และมีส่วนร่วมมาเป็นกำลังช่วยกันทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่าน จาก วิทยาลัย มาเป็น มหาวิทยาลัยธนบุรี สำเร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ผมมาอยู่ที่นี่ร่วมยี่สิบปีแล้ว ท่านอธิการฯ บอกว่าพวกเราช่วยกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ ก็ทำงานกันไปเรื่อย ๆ (หัวเราะ)

ชอบกีฬา : ผมชอบออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก เล่นกีฬาเป็นแทบทุกอย่าง สมัยเรียนพอพักเที่ยงเล่นตะกร้อวง เตะกันจนเหงื่อโชก แล้วกลับเข้าห้องไปเรียนแบบตัวเปียก ๆ จนถูกบ่นเป็นประจำ (หัวเราะ) ตอนไปทำงานที่ นครสรรค์ ได้เล่นบาสเกตบอล พอย้ายไป ศรีสะเกษ ได้เล่นวอลเลย์บอลกับเตะตะกร้ออยู่บ้าง จนมาอยู่ที่ สุพรรณ ได้เล่นทั้งวอลเลย์บอล ตะกร้อ เข้าทีมเล่นกับนักศึกษา แล้วมาเจอกับเทนนิส ได้เริ่มหัดเล่นครั้งแรกที่วิทยาลัยพลศึกษา ตอนนั้นชอบมาก โดยเฉพาะประเภทเดี่ยว เล่นหนักจนเข่าเสีย ก่อนหน้านี้ก็เคยเล่นตะกร้อจนแขกหักมาแล้ว (หัวเราะ) พอมาอยู่ วิทยาลัยการอาชีพ นครปฐม ซึ่งใกล้กับ สถาบันพัฒนาผู้บริหาร ของกระทรวงศึกษาธิการ ผมมีพื้นทางเทนนิส ก็เข้าไปเล่น เข้าไปแนะนำคนอื่นบ้าง พอมีทักษะในระดับที่พอเล่นได้ ไม่ถึงกับแข่งขัน แต่เล่นกับใครก็ไม่น่าเบื่อ (หัวเราะ)

กอล์ฟ : มีวันหนึ่ง มีคนแนะนำให้รู้จักกับท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยธนบุรี ซึ่งท่านเป็นนักกอล์ฟ แล้ววิทยาลัยฯ ก็ยังติดกับสนามกอล์ฟสามพราน (โรส การ์เด้น) ผมเองก็มองเห็นสนามกอล์ฟมานานแล้ว แต่ยังไม่รู้จักอะไรที่เกี่ยวกับกีฬานี้เลย พอได้ไปดูเขาเล่นกันที่สนาม ท่านก็ให้ไม้มาลองเล่นอันนึง ผมอาจมีพรสวรรค์ทางกีฬาอยู่บ้าง (หัวเราะ) ได้ไปซ้อม ลองหัดอยู่ไม่นาน ก็เริ่มจับทางได้ จากนั้นอุปกรณ์ก็เพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ สักพักจึงเริ่มออกรอบ พอเล่นแล้วตีได้ก็ยิ่งชอบ ผมมีพื้นฐานทางกีฬาอยู่แล้ว ทำให้ตีได้ค่อนข้างไกล โชคดีที่ได้ราคาพิเศษด้วย เลยทำให้มีโอกาสได้เล่นบ่อย ผมเริ่มเล่นกอล์ฟตั้งแต่อยู่นครปฐมเมื่อ ปี 2537 จนปี 2547 ย้ายมาอยู่ มหาวิทยาลัยธนบุรี จนถึงทุกวันนี้ เล่นกอล์ฟมาร่วมสามสิบกว่าปีแล้ว และยังพยามยามเล่นอยู่เป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี

กีฬาคนรวย? : ไม่จริงหรอกครับ มันอยู่ที่แนวคิดในการเล่นของคุณต่างหาก ก่อนหน้านั้นผมไม่คิดว่าจะตีกอล์ฟเลยด้วยซ้ำ คิดว่ากีฬานี้คงมีแต่คนรวยเท่านั้นที่เล่นได้ (หัวเราะ) แต่พอเข้าไปเล่นเองแล้ว ก็พบว่าความจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะคนทั่ว ๆ ไป ธรรมดา ๆ ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ก็ยังรักและเล่นกอล์ฟได้ เพียงแค่รู้จักหาความเหมาะสม เลือกสิ่งที่พอดีกับตัวเอง บางคนอาจคิดว่า ไม้กอล์ฟต้องดี ต้องใหม่ แต่พอตี ๆ ไป กลับพบว่า อุปกรณ์ไม่ค่อยมีส่วนเท่าไหร่ มิเช่นนั้น คนที่ตีกอล์ฟไม่ค่อยได้ ถ้ามีตังค์ก็แค่ไปซื้อรุ่นใหม่ ๆ มาตี คงทำให้เล่นได้ดีกันหมดแล้ว (หัวเราะ) ซึ่งก็ไม่ใช่ แต่เป็นที่ตัวเราเองมากกว่า เราเป็นครูเงินเดือนน้อย ใช้ไม้เก่าของคนอื่นให้มาทั้งนั้น (หัวเราะ) ผมมีหัวไม้สาม ใช้มาสามสิบกว่าปีแล้ว ตอนนี้ยังใช้เล่นอยู่ ตีเข้ามือจนเก็บหัวไม้หนึ่งไปเลย และใช้ไม้นี้อันเดียว ผลงานดีกว่าหัวไม้หนึ่งซะอีก (หัวเราะ) ตั้งแต่เล่นมาผมยังไม่เคยซื้อไม้กอล์ฟใหม่ ขนาดลูกกอล์ฟใหม่ก็ยังไม่ซื้อเลย (หัวเราะ)

ซูเปอร์ซีเนียร์โปร : ผมเล่นกอล์ฟมาเรื่อย ๆ จนเมื่ออายุ 62 ปี เพื่อนนักกอล์ฟด้วยกันบอกว่า ‘ควรไปเทิร์นโปรนะ’ ครั้งแรกคิดว่าจะไปเทิร์นทำไม? (หัวเราะ) แต่พอมีเสียงสนับสนุนมากขึ้น ก็ลองไปเทิร์น ‘ซูเปอร์ซีเนียร์’ เพื่อการเข้าร่วมแข่งขันกอล์ฟอาชีพ ไม่ได้เป็นโปรเพื่อการสอน โชคดีมากที่เทิร์นครั้งแรกก็ผ่านเลย (หัวเราะ) แข่งสองวัน ต้องไม่เกิน 8 โอเวอร์พาร์ ผมทำได้ 6 โอเวอร์พาร์ สมัครกันไปหลายสิบคน มีผ่านแค่สามคน, เคยไปแข่งแล้วทำ โฮลอินวัน หลุมพาร์ 3 ที่ เขาชะโงก หลุมนั้นถ้าตกไม่ดีลูกอาจไหลย้อนกลับมาจนตกกรีน ได้รางวัลมาหลายหมื่น ดีใจมาก จนหลุมอื่นแทบไม่ต้องตีแล้ววันนั้น (หัวเราะ) เคยเข้าอยู่ใน 20 อันดับแรก พอได้รางวัลบ้างนิดหน่อยก็ดีใจแล้ว เพราะเราไม่เคยเป็นนักกอล์ฟอาชีพมาก่อน คนที่ได้รางวัล มักเคยเป็นนักกอล์ฟอาชีพมาก่อนแล้วตั้งแต่อายุยังหนุ่ม ๆ แล้วผมก็ไม่ได้ซ้อม ไม่ได้เตรียมตัว ไปแข่งก็คือไปแข่งเลย ไม่มีเวลา เพราะต้องทำงาน แต่ไปแข่งได้แค่ไม่กี่ครั้ง ก็รู้สึกว่าเป็นห่วงงานประจำ ถึงสนุกแต่ไม่อยากจะเสียงาน เพราะไปแข่งแต่ละครั้งใช้เวลาหลายวัน เลยไม่ได้ไปแข่งอีก ตอนนี้จึงไม่ได้ต่ออายุสมาชิกฯ ไม่ได้ไปแข่งมานานแล้ว จนคิดว่าบอกใครไม่ได้แล้วว่าเป็นโปร (หัวเราะ) แล้วก็ไม่ค่อยมีคนรู้เท่าไหร่ ผมไม่ค่อยบอกใคร เพราะเราไม่เก่งจริง ก็ไม่อยากอวดใคร เป็นการเทิร์นโปรเพื่อทดสอบตัวเอง เป็นเกียรติประวัติ และบางครั้งไปเล่นบางสนามก็มีส่วนลดให้ (หัวเราะ)

กอล์ฟ… ไม่ยาก : ผมมีความรู้สึกว่า ที่เล่นกีฬากอล์ฟได้ดี เพราะร่างกายมีความพร้อม ต้องมีพื้นฐานร่างกายแข็งแรงก่อนเป็นอันดับแรก ใช้การยืดหยุ่นของร่างกาย มิเช่นนั้นถึงเล่นได้ อาจลำบากหน่อย ต้องใช้เทคนิคอย่างอื่นเข้าช่วย และทักษะที่ฝึกสะสมมาตลอด ซึ่งมันไม่ยาก ‘ทุกคนทำได้’ เพราะการเล่นกอล์ฟคือ ‘การใช้ความคิด’ แต่บางคน ‘คิดมากไป’ คิดเลยไป กอล์ฟมีพื้นฐานไม่มาก ใช้วิธีธรรมดา ๆ สามารถนำมาใช้ได้ตลอด แต่บางคนลืมไป มุ่งแต่ไปคิดถึงขั้นสูง ๆ แค่ยืนตัวนิ่ง ทำหน้านิ่ง แขนตึง ใช้ซ้ายสวิงสำหรับคนถนัดขวา คุณก็ตีได้แล้ว เรามักจะเรียก ‘ตีกอล์ฟ’ แต่จริง ๆ กอล์ฟ ตีไม่ได้ มิเช่นนั้นลูกจะไปไหนไม่รู้ ต้องใช้ ‘วงสวิง’ ตามรูปแบบ ลูกถึงจะไปได้ไกล และ กอล์ฟ ให้เล่นด้วยวิธีที่ ‘ง่ายที่สุด’ เช่น ลูกไม่ออน แต่อยู่ใกล้ ๆ กรีน พัตต์ได้ให้พัตต์ แต่ส่วนใหญ่เราจะพลิกแพลง พยายามเล่นลูกยาก ๆ อยากตีลอยโด่งเข้าไป แล้วให้ตกหยุด ซึ่งส่วนใหญ่ผลลัพธ์มักจะออกมาไม่เป็นไปตามความคาดหมาย (หัวเราะ)

กีฬาเพื่อออกกำลังกาย : อาทิตย์นึงอย่างน้อยต้องออกรอบสักครั้ง โดยการลากถุงตี ผมมีเวลาตั้งแต่ประมาณสิบโมงเช้า ตีไปจนถึงบ่ายสองโมง โดยกินแต่น้ำอย่างเดียว พอกลับมาจะรู้สึกว่าได้เหงื่อออก ร่างกายสดชื่น สบาย โล่ง สนามที่ไปลากถุงเดินเล่นเองบ่อย ๆ ก็มีที่ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน, กรมชลฯ ที่ ท่าม่วง หากมีแรงก็เดินตีได้ทั้งวัน เหมาะมากสำหรับการเล่นกอล์ฟแบบออกกำลังกาย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัยไปออกกำลังกายกัน กรีนดี แฟร์เวย์ดี ยิ่งถ้าเป็นฤดูฝนหญ้าจะเขียวหน่อย ต้นไม้ใหญ่ แต่สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ค่อยมี ต้องเตรียมจัดหาไปเอง เหมาะสำหรับคนใจรักการเล่นกอล์ฟแบบออกกำลังกายสักหน่อย

สุขภาพสำคัญ : ผมกินระวัง กับออกกำลังกายสม่ำเสมอ ต้องมีความเชื่อในคำแนะนำในเรื่องสุขภาพ ต้องตระหนักในการกิน ถ้าไม่จำเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพจะไม่กิน ปฏิบัติเช่นนี้มานานแล้ว กินแค่พอรู้สึกว่าอิ่ม แล้วพอ ไม่ต้องกินจนอิ่มเต็มที่ อย่าคิดว่าของอร่อยต้องกินให้เต็มที่ กินได้บ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องกินหมด ผมมีดื่มบ้างนิดหน่อย เพื่อสังสรรค์กับเพื่อน ๆ หากเขาไม่รักเรา คงไม่ชวนเรา คนที่ชวนเราไปมีแต่คนดี ๆ เวลาไปพบกัน คุยกันแต่เรื่องดี ๆ มีแต่คนอยากฟัง ซึ่งทำให้อารมณ์ดี มีความสุข พรรคพวกเพื่อนฝูง ที่ใช้งานไหว้วานกันได้ ก็จะเป็นกลุ่มที่ร่วมกันสังสรรค์ด้วยกัน ผมประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ก็จากพวกที่เล่นกีฬาด้วยกัน สังสรรค์ด้วยกัน ซึ่งส่งผลดีไปถึงรุ่นลูกของเราด้วย ตั้งแต่แต่งงานก็ตกลงกับแม่บ้านว่า ถ้าเขาเชิญเราไปดื่ม ห้ามขัดเด็ดขาด (หัวเราะ) แต่เราจะรู้ตัวเองว่า ต้องมีสติ ควบคุมตัวเองไม่ให้ดื่มจนขาดสติ ซึ่งแม่บ้านก็เข้าใจ ไม่เคยขัดจริง ๆ (หัวเราะ)

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน : ปัจจุบันอายุ 73 แล้ว แต่ทางมหาวิทยาลัยฯ ยังให้ทำงาน เพราะยังทำงานได้อยู่ ตั้งแต่ทำงานมา ไม่เคยมาเซ็นชื่อใต้เส้นแดง ต้องตรงต่อเวลา งานที่รับผิดชอบ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ไวที่สุด ถึงเราจะไม่เก่ง แต่ก็จะอยู่ได้ ผมดูแลร่างกายด้วยการออกกำลังกาย ที่เป็นหลักเลย คือการเล่นกอล์ฟอาทิตย์ละครั้ง ใช้เวลาในการเดิน เน้นเดินให้ร่างกายแข็งแรง มีจิตใจแจ่มใส มีเพื่อนฝูงได้พูดคุยในเรื่องเดียวกัน ไม่มีความขัดแย้งในสนามกอล์ฟ วันที่ไปตีกอล์ฟ จะมีความสุขกันทั้งวัน เพราะถ้าไปตีแล้วไม่สนุก คงไม่ไปเล่นกัน (หัวเราะ) เน้นในเรื่องลากถุงเอง ผมอาจมีความคิดไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งเคยชินกับวิถีแบบนี้ ถ้ามีแคดดี้ อาจรู้สึกว่ามีใครมาแบ่งปันความเป็นส่วนตัวไปหน่อยนึง (หัวเราะ) มีบางแห่งที่สามารถให้เดินลากถุงเองได้ ในอนาคตอาจมีสนามที่มีแนวคิดให้ไปเดินออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นก็ได้ นักกอล์ฟต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ดูแลตัวเอง ตั้งแต่การดูระยะ ดูไลน์ จะเล่นวิธีไหน ดูแลสภาพสนามยังไง ทั้งหมดต้องทำเอง การฝึกแบบนี้จะทำให้เพิ่มทักษะได้อีกเยอะเลย

5 นาที ต้องจบ : ถ้ามีเรื่องทุกข์ใด ๆ เกิดขึ้น พยายามทำให้หายไปภายใน ‘5 นาที’ ให้ได้ ต้องคิดว่าเรื่องนี้ ‘ถึงตายรึเปล่า’ ถ้าไม่ตาย ปัญหาต่าง ๆ แก้ได้หมด ถ้ามันหนักจริง ๆ จะต้องเกิดขึ้นจริง ๆ เราต้องยอมรับความเสี่ยงของมันให้ได้ แล้วต้องอย่าทุกข์ อย่ามีเรื่องกับใคร ต้องไม่มีปัญหากับใคร ต้องเห็นใจเขาทุกคน หากเรายอมก้มหัวให้สักหน่อย ยอมให้คนอื่นดูว่าแย่สักหน่อย มันจะเสียหายอะไร เราไม่จำเป็นต้องโชว์ออฟตลอดเวลา เรายกย่องเขา ก็ไม่ได้เสียหายอะไร แถมเราอาจจะได้ดีซะอีก ผมคิดแบบนี้จริง ๆ ครับ