Swing Weight นั้น สำคัญไฉน
Swing Weight นั้น สำคัญไฉน
นักกอล์ฟหลาย ๆ ท่าน คงคุ้นหูกับคำว่า สวิงเวจท์ (swing weight, ขอเรียกทับศัพท์ ไปแบบนี้จะเข้าใจได้ตรงกันมากกว่า) แต่อาจไม่เข้าใจว่า หมายถึงอะไร สำคัญมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบังเอิญผมได้ยินคำถามนี้จากนักกอล์ฟมือกลาง ๆ มาปรึกษากับโปร จนเกิดความคิดว่า คงต้องทำความเข้าใจกับ สวิงเวจท์ นี้สักหน่อยแล้ว เพื่อจะได้ไขความกระจ่างให้กับตัวเอง และเผื่อนำมาถ่ายทอดให้กับท่านที่ยังไม่เคยลงลึกกับคำนี้ด้วย
เมื่อลงมือค้นหาข้อมูล ก็พบว่า ได้ไอเดีย ‘ท่วม’ จนงง (555) กระทั่งพบกับบทความหนึ่งของ คุณ Jorge Arteta จาก curated.com ซึ่งอ่านง่ายได้ใจความ จึงขอนำเรื่องราวบางส่วนมาส่งต่อ ณ ที่นี้…
สวิงเวจท์ ของไม้กอล์ฟ มักเป็นสิ่งที่นักกอล์ฟทั่วไปมักให้ความสำคัญมากนัก จนอาจเกิดข้อผิดพลาดเมื่อต้องการหาไม้กอล์ฟคู่มือ เพราะสวิงเวจท์ มีความสำคัญ แต่จะสำคัญแค่ไหนนั้น เรื่องราวเป็นดังนี้ครับ
ไม้กอล์ฟแต่ละชิ้นที่ผลิตออกมานั้น มีน้ำหนัก โดยผู้ผลิตและผู้ประกอบไม้กอล์ฟ ใช้เครื่องชั่ง น้ำหนักสวิง หรือ สวิง เวจน์ ในการวัดน้ำหนักนี้ ซึ่งไม่ได้วัดเป็นหน่วยที่เราคุ้นเคยอย่าง กรัม ออนซ์ หรือแม้แต่น้ำหนักของก้าน
ผู้เชี่ยวชาญ อย่าง จอร์จ อาเธต้า สังเกตเห็นว่า เขามักจะได้พบกับนักกอล์ฟมือใหม่ มาพร้อมกับอุปกรณ์หลากหลาย ทั้งใหม่เอี่ยมแกะกล่อง หรือแบบเก่าใช้แล้ว มีรายหนึ่งเป็นสุภาพสตรี ที่เพิ่งเริ่มเรียนกอล์ฟ เธอมาพร้อมกับชุดกอล์ฟที่ดีมาก ๆ แต่มันเป็นไม้กอล์ฟของผู้ชาย!
โปรจอร์จ ได้บอกกับเธอว่า เหล็กชุดนี้อาจจะหนักสำหรับเธอไปหน่อย เพราะนี่คืออุปกรณ์สำหรับสุภาพบุรุษ แต่เมื่อเธอได้ลองใช้อุปกรณ์ชุดนี้ ก็พบว่าใช้ได้เลย และตีได้ค่อนข้างดีสำหรับนักกอล์ฟมือใหม่ อีกสามสัปดาห์ต่อมา แม้ว่าเธอจะยังคงตีลูกได้ค่อนข้างดีด้วยไม้ชุดเดิม แต่ จอร์จ ก็ได้นำไม้กอล์ฟสำหรับผู้หญิง เปลี่ยนให้เธอได้ลองตีดูบ้าง แล้วเธอก็ตีลูกได้ดียิ่งขึ้นในทันที! พอเขาถามเธอเกี่ยวกับความแตกต่างขั้นพื้นฐานที่เธอรู้สึกว่าเป็นอย่างไร เธอตอบว่า ไม้กอล์ฟของผู้หญิง ‘เบากว่ามาก’
นักกอล์ฟที่มีประสบการณ์ทราบดีว่า สวิงเวจท์ ของไม้กอล์ฟ สามารถส่งผลต่อจังหวะการตีของพวกเขาได้เป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับมุมการเข้าปะทะลูก, ความเร็วของวงสวิง, อัตราสปิน และความเร็วลูกกอล์ฟ ทุกสิ่งที่อาจส่งผลต่อผลลัพธ์ของวงสวิงกอล์ฟด้วยกันได้ทั้งนั้น
เรามาดูความหมายของ สวิงเวจท์ กันดีกว่าว่าคืออะไร และเหตุใดจึงสำคัญสำหรับนักกอล์ฟ
โดยทั่วไป สวิงเวจท์ คือ ‘ความรู้สึก’ ของไม้กอล์ฟระหว่างสวิง ไม่ได้วัดเป็นกรัม ออนซ์ หรือปอนด์ แต่เป็นจุดที่กำหนดบนเครื่องชั่งสำหรับวัด สวิงเวจน์ โดยเฉพาะ ที่ระบุน้ำหนักของไม้กอล์ฟ โดยมีค่าตั้งแต่ A0 คือน้ำหนักที่เบาที่สุดในตาชั่ง ไล่ไปจนถึงหนักที่สุด ที่ F9 (ดูภาพจากตาราง) โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อ สวิงเวจน์ ได้แก่ น้ำหนักหัวไม้กอล์ฟ, น้ำหนักกริป, น้ำหนักก้าน และความยาวของไม้กอล์ฟ
โดยเฉลี่ยแล้ว สวิงเวจน์ สำหรับไม้กอล์ฟของสตรีจะอยู่ที่ประมาณ C2 ถึง C9 ส่วนน้ำหนักเฉลี่ยของไม้กอล์ฟชายอยู่ที่ประมาณ D0 ถึง D8 โดยทั่วไปแล้ว ตัวเลขเหล่านี้ไม่มีหมายเลขใดที่ระบุว่า ‘ถูกหรือผิด’ เนื่องจากเป็น ‘ความรู้สึกส่วนตัว’ ของนักกอล์ฟแต่ละคน วิธีที่คุณสวิงด้วยน้ำหนักที่แตกต่างกัน จะเป็นตัวกำหนดน้ำหนักที่ดีที่สุดสำหรับคุณ นั่นคือ เรื่องของ สวิงเวจน์ เป็นเรื่อง ‘ของใครของมัน’ นั่นเอง
ที่มาของเรื่องนี้ เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 เมื่อ โรเบิร์ต อดัมส์ ช่างทำไม้กอล์ฟ ได้ออกแบบเครื่องชั่งสำหรับวัด สวิงเวจน์ ที่แท้จริง และคิดค้นระบบระบุการวัด A0 ถึง F9 มาตราส่วนนี้เรียกว่า “Lorythmic Scale” จากนั้น โรเบิร์ต อดัมส์ ก็คิดจุดศูนย์กลางบนตาชั่ง ที่เป็นฐานของการวัดน้ำหนัก ซึ่งอยู่ห่างจากปลายสุดของด้ามจับ 14 นิ้ว ไม้กอล์ฟจะถูกวางบนตาชั่ง และมีตุ้มน้ำหนักแบบเลื่อน ที่เคลื่อนย้ายไปมาได้ จนกระทั่งพบจุดสมดุลของไม้กอล์ฟ นั่นคือตำแหน่งจะพบค่าของการวัด สวิงเวจน์ ว่าตรงกับอักษรตัวใด และมีหลายเลขต่อท้ายอะไร เช่น D2 เป็นต้น กระบวนการของระบบดังกล่าวนี้ ยังคงใช้อยู่ในการปรับแต่งไม้กอล์ฟกันทุกแห่งทั่วโลก ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1940 Kenneth Smith ซื้อสิทธิ์เครื่องชั่งน้ำหนักแบบสวิงจาก Robert Adams เขาเริ่มทดลองกับตารางสเกลที่เคยใช้มาก่อน และคิดว่าจุดศูนย์กลางควรอยู่ที่ประมาณ 12 นิ้ว แทนที่จะเป็น 14 นิ้วเหมือนกับก่อนหน้า แต่กลายเป็นว่า ระยะที่กำหนดเป็น 12 นิ้ว นั้น ไม่เคยได้ใช้จริงเลย และมาตรฐานในปัจจุบันยังคงเป็น 14 นิ้ว
จากตัวอย่างของสวิงเวจน์กับไม้กอล์ฟบางส่วน เช่น ชุดเหล็ก Taylormade Stealth ปี 2019 ของผู้ชาย มีน้ำหนักสวิง D1 สำหรับเหล็ก 7 นี่คือเหล็กสำหรับแต้มต่อระดับกลางถึงสูง แต่นักกอล์ฟหลายคนก็สามารถสวิงไม้กอล์ฟนี้ได้อย่างง่ายดายด้วยน้ำหนักเท่านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนกริป เป็นขนาดที่แตกต่าง หรือมีน้ำหนักอื่น ๆ สวิงเวจน์สามารถลงไปที่ D0 หรือสูงถึง D3 อย่างชุดเหล็ก Taylormade Stealth ของผู้หญิง ปี 2019 มีน้ำหนักสวิงที่ C2 ซึ่งเบากว่าของผู้ชายมาก เมื่อเพิ่มเทปตะกั่วสองสามชิ้น ก็สามารถย้ายสวิงเวจท์ไปได้ถึง C5 โดย จอร์จ อาเธต้า สนับสนุนนักเรียนของเขา ให้ใช้อุปกรณ์ในถุงให้มีสวิงเวจท์สม่ำเสมอที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ และหากเปลี่ยนต้องเปลี่ยนกริป ก็เตือนให้ใช้แบบเดียวกัน ไม่เช่นนั้นไม้กอล์ฟชิ้นนั้นเวลาตีอาจรู้สึกแตกต่างจากชิ้นอื่น
เช่นเดียวกับหัวไม้และก้าน ก็ไม่ควรเลือกใช้แบบผสมกันมั่วไปหมด หากนักกอล์ฟมีไม้กอล์ฟที่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับไม้ชิ้นอื่น ๆ เช่น มีหัวไม้ 3 เป็น TaylorMade 3 แต่มีหัวไม้ 5 และไดร์ฟเวอร์ ของ Callaway อยู่ในถุง อย่างน้อยก็ต้องใช้กริปแบบเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ความรู้สึกคล้ายกัน และถ้าไม้ยังได้งานได้ดีอยู่ ก็พยายามอย่าไปยุ่งอย่าไปซ่อม ความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักกอล์ฟ ยิ่งคุณมีความสม่ำเสมอในชุดกอล์ฟมากเท่าใด การเล่นก็จะยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น… นี่คือคำแนะนำของกูรู
โดยสรุปส่งท้าย มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อสวิงเวจน์ และมีตัวเลือกสวิงเวจน์ที่แตกต่างกันมากมาย แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะเป็นของนักกอล์ฟผู้ใช้อุปกรณ์นั้นเอง และเมื่อทดสอบแล้ว จะกำหนดความรู้สึกของไม้กอล์ฟเมื่อสวิงว่า รู้สึกหนัก, รู้สึกเบา หรือรู้สึกว่ากำลังดี หลังจากนั้นค่อยจดจำ และนำค่าสวิงเวจน์นี้ไปปรับใช้กับอุปกรณ์ของตัวเองในถุงให้อยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อทำให้การเล่นในแต่ละชิ้น มีความสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะหยิบจับชิ้นไหน
ทั้งนี้ การที่จะเริ่มใส่ใจในเรื่องสวิงเวจน์ ควรผ่านการฝึกซ้อมมาแล้วพอสมควร จนเริ่มมีความเข้าใจในวงสวิงของตัวเอง หรือพบว่าในการตีในแต่ละชิ้นนั้นทำได้สม่ำเสมอ แต่มีความแคลงใจว่า ‘น่าจะ’ ทำได้ดีกว่านี้อีก เช่น โดนเต็ม ๆ แล้วแต่ทำไมวิถีลูกไม่ไปแบบที่ควรจะเป็น ค้านกับสาย หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแล้ว ให้คำแนะนำว่า ควรปรับสวิงเวจน์ ถึงค่อยเข้าสู่กระบวนการนี้ มิเช่นนั้น การโทษสวิงเวจน์ หรือไปปรับไปยุ่งเกี่ยวตั้งแต่วงยังไม่เข้าที่ จะยิ่งนำพาปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง อย่างที่ ผู้เชี่ยวชาญ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ นั่นคือ… ถ้าเล่นชุดนี้ได้ดีอยู่แล้ว หรือ สม่ำเสมอแล้ว ก็สมควรจะลองหาอะไรใหม่ ๆ มาเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีขึ้นไปอีก แต่ถ้ายัง… ก็ต้องซ้อม ซ้อม และซ้อม… อย่างถูกวิธีด้วยนะครับ
Mr.A
เนื้อหาบางส่วนและภาพประกอบอ้างอิงจาก : curated.com, tutelman.com