สัพเพฯ กอล์ฟ

อดีตที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง

อดีตที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อปลายเดือนที่แล้วคือการโดยสารรถเมล์ครั้งล่าสุด จากบ่อนไก่พระราม 4 มาสุดที่พาหุรัด สนนราคาก็ 10 บาท ความจริงผมบอกกระเป๋าไปว่า “ลงเพาะช่าง” ความจริงเธอมองหน้าผมนิดนึง แล้วก็ทอนสตางค์มาจากราคาตั๋วที่ว่าคือ 10 บาท พอลงพาหุรัดปุ๊ปจนเลย “เพาะช่างอยู่หนาย” ผมหาเพาะช่างไม่เจอ ฝั่งตรงข้ามคือคือ “พาหุรัด” ถ้ามองไปตามถนนก็ “สะพานพุทธ” เอาละวา เพาะช่างอยู่ไหน สุดท้ายก็ต้องถามตำรวจจราจรแถวนั้นก็คงเดิม “มองหน้านิด” ถึงจะอ้างเอ่ย

ความจริงที่ผมลงจากรถเมล์คือถนน “พาหุรัด” ผมต้องเดินทะลุไปอีก 2 สายของถนนจึงจะถึง “เพาะช่าง” ตำรวจบอกมาผมก็เดินเข้าพาหุรัดไป เห็นจะมีกว่า 10 ปีที่ผมเดินที่นี่ สถานที่ข้าวของดูเหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปมากมายนัก การเดินก็ต้องเอียงๆ ไปตามทางใครหยุดดูของ ต่อราคาก็ติดกันไปเป็นแพ.. อะไรที่อยากได้หรืออยากเห็นมานี่เลย ในที่แห่งนี้มีครบตั้งแต่ปลายเอ็นข้อเท้าจดปลายเส้นผม ของกิน ของใช้ ดูแล้วมันน่าสนใจไปหมด

จากถนนนี้พอทะลุออกมาก็จะเป็น “สะพานหัน” ว่ากันว่า สะพานแห่งนี้อดีตเมื่อก่อนพอมีเรือใหญ่เข้ามา สะพานนี้จะหันเพื่อเปิดทางให้เรือผ่านไปได้ ส่วนจะไปแบบไหนหรือหันอย่างไรก็สุดจะเดาครับ เดินข้ามสะพานมา พลันจมูกผมได้กลิ่นหอมแปลกๆ ผ่านเครื่องปรุงอาหาร หรือเครื่องหอมจากร้านที่ตรงออกไป ถนนสายนี้น่าจะเป็น “Little India” เสียกระมัง ด้วยภาษาและหน้าตา รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้มันแน่นอน “ผมมาอยู่ India” เข้าให้แล้ว

ร้านรวงแถบถนนนี้ส่วนมากลงมาทางสาย “ศาสนา” ทั้งเครื่องบูชาที่เป็นลักษณะเฉพาะ เครื่องทองเหลือง หรือบรรดา “เทพผู้ทรงอิทธิพล” ต่อจิตใจ ส่วนเครื่องหอมแปลกๆ ผมก็ยังไม่รู้ว่ามันมาจากอะไรกัน…? ครูไก่เดินผ่าน “Little India” มาที่ทำการไฟฟ้าอะไรสักอย่าง แต่สิ่งที่ยั่วยวนน้ำลายมากก็ “ของกินเพียบ” แล้วทุกอย่างมันน่ากินไปหมด เราต้องอดทนไว้ก่อน เพราะขากลับมีงานแน่นอน

จู่ๆ ผ่านเข้าถนนอีกสายก็ป๊ะกับสิ่งที่อยากมา “เพาะช่าง” ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าของอีกฟากถนน ตอนนี้เราจะมาจากทางซ้ายนั่นคือ “สะพานพุทธ” จะได้เมือง “ในอดีต” เพาะช่าง ที่ผมเห็นเป็นตึกน่าเกรงขามในแง่ของความสวยงามของการก่อสร้างจากอดีต มองทางซ้ายไปอีกนิด ผมเห็นศาล “เจ้าแม่ทับทิม” รูปแบบสวยงามแบบจีนแท้ อีกหน่อยทางซ้ายเช่นกันก็เป็น โรงเรียนเก่าแก่ที่มีส่วนสร้างบ้านเมืองจากนักเรียนที่จบจากที่นี่…แน่นอนครับ “สวนกุหลาบวิทยาลัย” โรงเรียนนี้มองจากข้างนอก “ขลังเอาเรื่อง” แต่อย่างว่าเป้าหมายคือ “เพาะช่าง” ผมเดินเข้าเพาะช่าง ยกมือขึ้นไหว้ เทพแห่งการก่อสร้าง “องค์พระวิษณุกรรม” ที่หน้าทางเข้า

เอาละ ต่อแต่นี้คือการงมหาความรู้ที่สถาบันแห่งนี้ ผมเดินดูแทบทุกชั้นที่มีการเรียนรู้ ทั้งปั้น ทั้งวาด หลายสาขาน่าสนใจ ทั้งภาพที่เด็กๆ เขาวาด หรือรูปปั้นที่เด็กเขาทำมันดูแล้วน่าสนุกสนานจริง… สีหน้าท่าทางเด็กๆ ไม่ส่อถึงความทุกข์สักนิด นั่นคงเพราะเขาได้เรียนในสิ่งที่ชอบ และชอบในสิ่งที่ทำ ถึงแม้จะทำมาหากินลำบากเมื่อจบออกมาก็ตาม จากการสอบถามและพูดคุยกับอาจารย์หลายท่าน ผมก็มาหยุดที่การปั้นศิลปแบบ “ไทย” กับท่านอาจารย์ผู้ฝากผลงานไว้ให้เป็นที่ประจักษ์ นั่นคือ การปั้นที่หลายท่านคงเคยเห็นที่สนามบิน “สุวรรณภูมิ” ชุดนี้คือฝีมือของ อ.ทมิฬ ศรีศิลา ความวิจิตรที่เราพบเห็นมาจากท่านโดยแท้

ครูไก่อยู่สนทนากับ อ.ทมิฬ ถึงที่มาที่ไปของงานชุดนี้ ก็ได้องค์ความรู้มากมาย สุดท้ายก็ต้องให้ท่านช่วยงานที่อยากจะทำมานาน แล้วก็ดั่งใจหมาย ท่าน อ.ทมิฬ ตกปากรับคำ ผมก็ลิงโลดสุดๆ แต่เก็บอาการไว้ครับ แล้วก็ถึงเวลาที่ต้องอำลากันเสียที

จากเพาะช่าง ผมเดินดูเมืองที่ครั้งหนึ่งที่นี่คือ “ศูนย์กลางของกรุงเทพฯ” ชื่อแปลกๆ ใหม่ๆ ผุดขึ้นมามากมายตามสถานที่ซึ่งผมเดินผ่าน ความจริงชื่อเหล่านั้นมันเป็นของเดิมทั้งสิ้น เพียงแต่ผมไม่เคยรู้จักเท่านั้น เมืองในอดีตบางแห่งก็คงเดิม หรือบางแห่งก็เปลี่ยนไป ที่เปลี่ยนหนักสุดก็ “เวิ้งนาครเกษม” อดีตอุดมไปด้วยเครื่องใช้ไม้สอยที่เป็น “ไฟฟ้าและเสียงเพลง” ปัจจุบันเหลือเป็นเพียงอาคารที่ไม่มีร้านรวงอีกแล้ว… กาลเวลาที่ผ่านมามันนำพาพวกเขาไปด้วย จากตรงนั้นผมเดินจนเมื่อย ผ่านแยก, ตึก, เมือง, ถนน รวมถึงการก่อสร้าง “รถไฟฟ้าใต้ดิน” หลายอย่างดูโกลาหลไปหมด

ครับ นี่คือเมืองที่รุ่งโรจน์ในอดีต และปัจจุบันก็ยังคงดำเนินต่อไป ส่วนจะจบครบบริบูรณ์เมื่อใดผมจะกลับมาอีกรอบ แต่นึกถึงกระเป๋ารถเมล์ที่มองหน้าผม พี่แกคงนึกในใจ “ไอ้โง่” สาย 4 ผ่านเพาะช่างขากลับ แต่เดี๋ยวแกเดินขาขวิดแน่

ครูไก่ ลำพอง ดวงล้อมจันทร์