4 โรคเสี่ยง ของวัยทำงาน
4 โรคเสี่ยง ของวัยทำงาน
ในยุคที่ “งาน” ของคนเราส่วนมาก อยู่ที่โต๊ะทำงาน การทำงานและการใช้ชีวิตระหว่างการทำงานในแต่ละวันมีรูปแบบซ้ำๆ เหมือนเดิมทุกๆ วัน ก่อให้เป็นพฤติกรรมที่ทำจนเคยชิน ดูเหมือนอาจจะทำให้อะไรง่ายๆ สบายๆ แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนวัยทำงานแบบไม่รู้ตัว
จอประสาทตาเสื่อม นับเป็นโรคที่น่ากังวลสำหรับคนวัยทำงาน ที่นอกจากจะต้องใช้สายตาในชีวิตประจำวันปกติแล้ว ยังต้องใช้สายตาในการทำงานเป็นหลักอีกด้วย อาการของจอประสาทตาเสื่อมคือ จะรู้สึกว่าดวงตามองไม่ชัดเหมือนเดิมและจะเริ่มเป็นไปอย่างช้าๆ มีอาการตามัว มีความลำบากในการใช้สายตาอ่านหนังสือหรือทำงานที่มีความละเอียดและต้องใช้แสงมากๆ สำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับจอคอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออาการจอประสาทตาเสื่อมนั้น สามารถป้องกันได้โดย สวมแว่นถนอมสายตา, ปรับแสงสว่างหน้าจอให้พอดี, ใช้ขนาดตัวอักษรให้ใหญ่เพียงพอและปรับความเข้มของตัวอักษรให้เหมาะสม และวางจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ไม่ควรให้จอภาพอยู่สูงหรือต่ำเกินไปกว่าระดับสายตา ซึ่งอาการจอประสาทตาเสื่อมกับอาการสายตาสั้นนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก หากมีอาการต้องสงสัยควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อตรวจโดยละเอียด
และสิ่งที่มาคู่กันกับ จอประสาทตาเสื่อม ก็คือ ประสาทหูเสื่อม การสัมผัสเสียงดังเปรียบเสมือนอันตรายใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่มองข้าม และไม่รู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่ตามมา เช่น การเปิดลำโพงทีวีเสียงดัง หรือใส่หูฟังฟังเพลงเสียงดังตลอดทั้งวัน เป็นต้น นอกจากนั้นระดับเสียงที่ดังมากๆ ยังเป็นสาเหตุของโรคที่คาดไม่ถึงอีกหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง, โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด, โรคเครียด, นอนไม่หลับ และโรคกระเพาะเป็นต้น ดังนั้น การใช้ลำโพงหรือหูฟัง ไม่ว่าจะเพื่อการทำงานหรือเพื่อความเพลิดเพลิน ก็ควรปรับระดับเสียงให้พอดีไม่ดังจนเกินไป ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดความรำคาณต่อบุคคลรอบๆ ข้างแล้ว ยังดีต่อสุขภาพตนเองด้วย
ความดันโลหิตสูง และ ไขมันในเลือดสูง โรคเบื้องต้นที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายอีกหลายโรคที่จะตามมา ความดันโลหิตสูง เกิดจาก กินโซเดียมหรือรสเค็มจัด, อาหารสำเร็จรูปหรือแปรรูป, น้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, เบเกอรี่และขนมหวาน สามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารข้างต้นที่กล่าวมา ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่วนไขมันในเลือดสูง เกิดจาก การกินเนื้อส่วนไขมันและเครื่องในสัตว์, อาหารทะเล, อาหารทอดน้ำมัน และขนมหวาน สามารถป้องกันได้โดยกินอาหารที่มีกากใยสูง พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง อย่างน้อย 30 นาที หากรู้สึกว่ามีอาการวิงเวียนศีรษะ มึนงงบ่อยๆ ซึ่งเป็นลักษณะอาการอย่างหนึ่งของภาวะความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด จะได้หาทางป้องกันหรือรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะ ความดันโลหิตสูง หรือ ไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุของโรคอันตรายอีกหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
ภาวะซึมเศร้า โรคที่ได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจจะคิดว่าตัวเองไม่น่าเป็น แต่ก็อาจอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก็ได้ ความรู้สึก เบื่อ เซ็ง เหงา เศร้าเป็นกันได้ทั่วไปก็จริง แต่หากถึงขั้นกระทบต่อการดำเนินชีวิต นั่นอาจเป็นภาวะซึมเศร้าที่ถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นภาวะที่พบมากในวัยทำงาน นอกจากนั้นการเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายอยู่เสมอ มีโรคประจำตัว หรือการกินยาบางชนิดก็อาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ หากพบว่าตัวเองมีความรู้สึกแบบนี้ ความสนใจหรือความเพลิดเพลินในกิจกรรมต่างๆ ลดลง, มีอารมณ์เศร้าอยู่เกือบตลอดทั้งวัน, เบื่ออาหารจนน้ำหนักลดลง หรือบางรายอาจมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น, นอนไม่หลับ หรือหลับมากแทบทุกวัน นอนดึกตื่นเช้า ไม่สดชื่น, ทำอะไรช้า พูดช้า เคลื่อนไหวช้า หงุดหงิด กระสับกระส่าย, อ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรง, ขาดสมาธิ, มีอารมณ์เศร้าอยู่เกือบตลอดทั้งวัน, รู้สึกตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากเกินควร, คิดอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดเรื่องการตายอยู่เรื่อยๆ ถ้าพบว่าตนเองหรือบุคคลใกล้เคียงมีอาการข้างต้นอย่างน้อย 5 อาการ นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรพบแพทย์หรือรับคำปรึกษา ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายจนเกินจะแก้ไขได้
แม้ว่าเราจะต้องทำงานกันเกือบทุกวัน แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพก็ต้องให้ความสำคัญ เพื่อสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง
ที่มา : สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (ศรร.)