อมยิ้มริมกรีน

ลงทุนแล้วต้องคุ้ม?

ลงทุนแล้วต้องคุ้ม?

เรื่องของการใช้ความสามารถทางกีฬา เพื่อเป็นใบเบิกทางให้กับอนาคต ‘กอล์ฟ’ เป็นอีกหนทาง ซึ่งพบเห็นกันได้ค่อนข้างชัดเจน มีตัวอย่างให้ดูเป็นกรณีศึกษามากมาย โดยเฉพาะในเรื่อง ‘การศึกษา’ ที่หลายคนเตรียมตัวสารพัด ทั้งในเรื่องภาษาอังกฤษ ที่เด็กต้องคุ้นเคยกันตั้งแต่เริ่มเรียน ต้องเข้าโปรแกรมอินเตอร์ พ่อแม่พูดไทยไปคำลูกตอนกลับด้วยอังกฤษหลายคำ อย่างนี้ก็ต้องยอม เพราะหากมัวแต่อนุรักษ์ ยืนกรานให้ใช้แค่ภาษาเดียว บอกเลยว่า ‘รอดยาก’ รวมถึงยังต้องรู้จักวิธีกินอยู่แบบฝรั่ง อยู่ง่าย กินง่าย โดยไม่มีเงื่อนไขว่า อันนี้กินได้ อันโน้นกินไม่ได้ ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่อยู่ใกล้ ๆ ฉันทำอะไรไม่เป็นทั้งนั้น ฯลฯ แต่การเตรียมตัวสารพัดที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องผ่านเงื่อนไขข้อแรกอันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดให้ได้เสียก่อน นั่นคือ ‘ทักษะ’ ในเชิงกอล์ฟ ต้องเด่น ชนิดเรียกว่า ถ้ามีจังหวะแมวมองหันมาปะเมื่อไหร่ วงสวิง ลีลาท่าทาง พร้อมทั้งผลงาน ต้องเข้าตาแบบเต็ม ๆ เห็นแล้วแทบอยากจะจูงมือไปรับทุน ว่าง่าย ๆ ก็คือ ต้องมีดีพอใน ‘ทุกด้าน’ มากโข ถึงจะมีภาษี มีโอกาสเหนือกว่าคนอื่น

จะมีสักกี่หยิบมือ ที่ถือว่าเป็นหัวกระทิ ของหัวกระทิ เพราะในที่สุดแล้ว อันดับบน ยอดปลายแหลมที่สูงสุด จะมีจำนวนแค่ไหนนักเชียวที่ได้อยู่บนนั้น ซึ่งแน่นอนว่า ใครที่ขึ้นไปได้ ย่อมได้รับทุกสิ่งครบครัน เอาแค่เรื่องในระดับมหาวิทยาลัยก่อน เรียนฟรี อยู่ฟรี กินฟรี แถมอาจมีเบี้ยงเลี้ยง เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เป็นจริงมาเยอะแล้วด้วย โดยเฉพาะกับเด็กไทยของเรา

กลุ่มยอดปลายแหลม ผมไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลอะไรด้วยเลย เพราะนั่นเขามีดีพร้อมสรรพอยู่แล้ว แค่เพียงทำหน้าที่ให้ครบ เรียนจบ สร้างผลงานให้สถาบัน พอจบออกมา ก็แค่มาเล่นอาชีพต่อ รับทรัพย์สร้างชื่อเสียงต่อเนื่อง เป็นสูตรสำเร็จที่ใคร ๆ ก็อยากจะเดินตามรอย… แต่… มันง่าย ขนาดนั้นเลยหรือ?

ผมได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นความ กับคุณพ่อที่ทุ่มทั้งชีวิตให้กับ กอล์ฟ ซึ่งเป็นกีฬาโปรดของลูก ๆ มุ่งมั่นถึงขนาดย้ายถิ่นฐานไปยัง สหรัฐอเมริกา เพื่อจะเอื้ออำนวยให้ลูก ๆ ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับกอล์ฟอย่างเต็มที่ พร้อมกับเรียนหนังสือตั้งแต่ในระดับประถมและต่อเนื่องไปจนจบมหาวิทยาลัยอย่างไม่ต้องสงสัย

ถึงหนทางกอล์ฟของแต่ละครอบครัวจะแตกต่างกันไป ราวกับนิยายคนละเล่ม พอหยิบมาอ่านแล้ว บางเล่มก็เป็นเรื่องสมหวังราวกับเทพนิยาย สนุกสนานราบรื่น แต่บางเล่มก็ดราม่าจนคิดว่าอ่านต่อคงไม่ไหว บางช่วงช่างโหดร้าย ซ้ำเติมกันเกินไป แต่นี่คือชีวิตจริงของแต่ละครอบครัว ที่พากันเทหมดหน้าตัก ทั้งหมดก็เพื่อ ‘ลูก’ … ครั้งนี้ลองหยิบฉบับสมหวังมาอ่านกันสักเล่มครับ

คุณพ่อ เล่าย้อนถึงอดีตเมื่อครั้งลูก ๆ เริ่มเล่นกอล์ฟ และเข้าแข่งกอล์ฟในประเทศไทย โดยกล่าวอย่างติดตลก ขำตัวเองที่… เจอมาแล้วทุกรูปแบบ คนดีก็เจอมาเยอะ มีอะไรช่วยเหลือเกื้อกูล ส่วนคนฉกฉวยหาแต่ผลประโยชน์ก็มากไม่น้อย ใหม่ ๆ คิดว่า นี่คือความหวังดี มีอะไรก็แนะนำ แต่มาพร้อมกับค่าใช้จ่าย… ซึ่ง ณ ตอนนั้น เท่าไหร่ก็สู้ ขอแค่ให้อยู่ในลำดับแถวหน้า แต่พออยู่วงการได้สักพัก ก็ถึงบางอ้อ… คิดย้อนกลับไป นี่ตรูพลาดท่าเขาแล้วนี่หว่า ฮ่าฮ่าฮ่า

บางครั้งช่วงแข่ง ถึงกับเคยต้อง แย่งตัว แคดดี้ คนไหนที่ลือกันว่าเก่ง ฝีมือดี ช่วยได้ ค่าตัวไม่มีเกี่ยง ขออย่างเดียว ช่วยมาถือให้ลูกฉันละกัน ซึ่งก็ดีจริง ผลงานออกมาสมคำร่ำลือ พ่อแม่ก็ใจดี ที่ลูกเข้าป้ายติดอันดับ คิดว่าราคาที่สู้ไป ถึงจ่ายแพงแค่ไหนก็เกินคุ้ม

มาตระหนักได้ภายหลังว่า เรื่องแบบนี้เสมือนกับ เราให้ขนมหวานที่อร่อยแต่เปลือกนอก แต่ข้างในมีพิษร้ายแอบแฝงอยู่ แล้วเผลอกินเข้าไปเต็มเปา เพราะผลงานหรือชัยชนะที่หอมหวาน ณ เวลานั้น ผู้ช่วย ที่เราจ่ายค่าตัว เขาก็ทำหน้าที่อย่างดี ไม่ขาดตก แต่มันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เด็ก ‘เล่นกอล์ฟไม่เป็น’ เพราะทุกอย่าง เขาจัดการให้หมด เด็กไม่ต้องใช้ความคิดแม้แต่นิดเดียว ขนาดตั้งลูกยังทำเองไม่เป็นเลย!

เพราะกีฬากอล์ฟนั้น สุดท้ายแล้ว ตน ต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน นั่นคือนิยามที่ดีที่สุดสำหรับกอล์ฟ

ข้ามไปที่ฝั่งอเมริกา พบว่า สภาพสังคมของเขา ให้การส่งเสริมกีฬาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกอล์ฟกับเด็ก ๆ ที่เขามองว่า สักวันหนึ่ง เด็กก็ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าสังคมช่วยกันให้โอกาสกับเด็ก ๆ ได้เล่นในวันนี้ วันข้างหน้ายังไงก็ต้องกลับมาเป็นลูกค้าคนสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย ถึงจะเป็นการลงทุนระยะยาว แต่เมื่อทำกันทั้งระบบ เขาย่อมได้ผลตอบแทนคืนมาแบบกำไรท่วม ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย อาจต่างจากบ้านเราที่คิดเรื่องกำไรขาดทุนกันหน้างาน โดยไม่มีนโยบายส่งเสริมแบบมหาชน ทำให้กอล์ฟ มีข้อจำกัด ขีดวงให้เหลือผู้เล่นหน้าใหม่น้อยลงไปมาก

คุณพ่อเล่าว่า สนามกอล์ฟดี ๆ ที่ผู้ใหญ่ต้องตีตั๋วแพง ๆ แต่พอเด็กเข้าไปเล่น คิดราคาอยู่ที่ 5 ดอลล่าห์ หรือบางทีก็ฟรีเลย แล้วแต่เงื่อนไขการสนับสนุนของสนาม เป็นแบบนี้เกือบทุกที่ อยู่ใกล้ ๆ บ้านทั้งนั้น เรียกว่าเป็นสวรรค์สำหรับการฝึกซ้อมจริง ๆ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ หากมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง มีแวว วงสวิงเป๊ะ ๆ เขายิ่งให้การต้อนรับมากเป็นพิเศษ ใครเห็นก็เอ็นดู อะไรที่ช่วยได้ ฟรีได้ เขาก็จัดให้ ถึงแม้วันนี้ลูก ๆ ยังเป็นเด็กน้อย อนาคตจะไปไกลแค่ไหนในเรื่องกอล์ฟก็สุดจะคาดเดา แต่อย่างน้อยที่สุด การให้กอล์ฟเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของลูก ๆ ได้ซึมซับบรรยากาศแบบนี้ ตั้งแต่เวลานี้ ก็นับเป็นการลงทุนที่เกินคุ้มแล้ว

ผมขออนุญาตนำเรื่องของครอบครัวกอล์ฟที่น่ารัก และเห็นว่าน่าจะเป็นตัวอย่างอีกหนึ่งบท ที่อาจสร้างแรงบันดาลใจบางแง่มุมให้ได้บ้าง แล้วในเร็ว ๆ นี้หากคุณพ่อตอบตกลงจะถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ของครอบครัวกอล์ฟเด็กไทยในต่างแดน เราคงได้อ่านเรื่องสนุก ๆ จากฟากกระโน้นกันบ้าง

ถึงแม้ว่าเรื่องของเรา จะมีอุปสรรคต่างกับเขา หรือมีเงื่อนไขชีวิตที่คิดว่า ไม่มีใครเข้าใจเรา จะมาเปรียบเทียบกันคงยาก คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน สารพัดจะหยิบยก ฯลฯ แต่นั่นคงไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างในการปิดกั้นความสำเร็จของเราได้ โอกาสถึงมีน้อยแค่ไหน ก็ยังดีกว่าไม่มี อยู่ที่ว่าเมื่อมีแล้ว จะใช้ได้คุ้มค่าแค่ไหน, ขยัน อดทน คุณสมบัติที่ต้องมีครบ แต่ก็ต้อง ขยันในสิ่งที่ถูก อดทนในสิ่งที่ควร เหมือนกับคำกล่าวสมัยใหม่ที่ต่อเติมจากของเดิมที่ว่า ‘Practice does not make perfect. Only perfect practice makes perfect’ … ถูกต้องนะครับ!

Mr.A