จิตวิทยาการกีฬา

ทำอย่างไรให้เราออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและมีผลดีต่อสุขภาพ

ทำอย่างไรให้เราออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและมีผลดีต่อสุขภาพ

การรับรู้ว่ามนุษย์จะมีสุขภาพที่ดีได้ ต้องมีเรื่องของการออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม (ในเชิงคุณภาพและปริมาณ) รับประทานอาหารที่เพียงพอ รวมทั้งการพักผ่อนอย่างเหมาะสมเพียงพอ

แน่นอนว่าบทความของเราเกี่ยวข้องกับเรื่องของร่างกายและจิตใจ ดังนั้นการที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจของเราได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญและรับรู้กันแล้ว แต่การที่เราจะดูแลสุขภาพกายและใจให้มีความเหมาะสมและสม่ำเสมอนี่ซิที่ต้องทำกันให้ได้จริงๆ

ผมมีเทคนิคที่ได้ทดลองดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และพบว่าสามารถทำให้บุคคลที่มีความสนใจ มีความตั้งใจ ในการดูแลสุขภาพ แม้จะมีสถานภาพของร่างกายที่แตกต่างกัน มีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพที่ต่างกัน สามารถที่จะดูแลร่างกายและจิตใจให้มีความเหมาะสมต่อเนื่องเป็นอย่างดี

สิ่งที่ได้ดำเนินการที่ผ่านมาจนบรรลุเป้าหมายเป็นอย่างดี ที่ทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ/กิจกรรม มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีเพียง 2 จาก 12 คนที่หลุดออกไปจากเงื่อนไข แต่ก็ยังกลับมาดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ผมได้ทดลองทำดูเพื่อทดสอบหลักการของการดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน เรียกกันเล่นๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า 10,000 Steps Challenge โดยมีเงื่อนไขง่ายๆ ดังนี้

  1. ออกกำลังกาย โดยการเดินไม่น้อยกว่า 10,000 ก้าว หรือว่ายน้ำ ไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงาน ไม่น้อยกว่า 300 Kcal
  2. ระยะเวลาของการดำเนินการต่อเนื่อง 30 วัน
  3. ต้องรายงานผลการดำเนินการและหลักฐาน (ภาพถ่ายจากโทรศัพท์ หรือนาฬิกาที่สามารถแสดงผลได้) ภายในเที่ยงคืนของทุกวัน
    หมายเหตุ: หากไม่สามารถส่งหลักฐานหรือดำเนินการได้ครบ ต้องกลับไปเริ่มต้นวันแรกใหม่

ผลการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ในรอบ 30 วันแรก สามารถสำเร็จได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ได้จากการดำเนินการดังกล่าวมีมากกว่าการได้ทำครบ เพราะคนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความสุข มีความมุ่งมั่น และพยายามที่จะให้บรรลุ มีการให้กำลังใจระหว่างกัน ดังนั้นความสำเร็จที่แท้จริงของกิจกรรมนี้ คือการที่ร่างกายมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทีละเล็กที่ละน้อย คนที่มีความยากลำบากในเรื่องของน้ำหนัก การไม่คุ้นเคยก็สามารถผ่านตามเป้าหมายไปได้ และที่สำคัญอีกประการคือการที่เกิดกลุ่มสังคมที่มีความใกล้ชิด เอื้ออาทรและประสบความสำเร็จไปพร้อมๆกันที่มีผลต่อจิตใจอีกทางด้วย

จากความสำเร็จในช่วงแรกของกิจกรรม เมื่อทุกคนเข้าใจ ปรับตัว และคุ้นเคยกับการดูแลสุขภาพในลักษณะนี้ ช่วงต่อไปของกิจกรรมเพื่อสนองการดูแลสุขภาพมากขึ้น เราจึงขยับไปที่คุณภาพและปริมาณของอาหารที่รับประทานทุกวัน โดยกำหนดในช่วง 30 วัน คือต้องทานผักและผลไม้ ไม่น้อยกว่า 25% มื้อใดมื้อหนึ่งในแต่ละวัน

ผลการดำเนินการในช่วงที่ 2 ที่มีการเพิ่มข้อกำหนดเรื่องผัก/ผลไม้นี้ ทั้ง 12 คนก็ยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นด้านการเดินที่มีไม่ถึง 10,000 ก้าว บางวันและต้องไปเริ่มใหม่

ผมเชื่อว่าในที่สุดทั้ง 12 คนก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ต้องฝืนใจทำ และจะติดเป็นนิสัยของการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องต่อไป

ลองคิดดูครับว่าหากเราสามารถมีกิจกรรมทางกาย (เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ฯลฯ) และจัดการเรื่องการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในบรรยากาศที่เป็นเพื่อน สนุก มีขวัญกำลังใจติดตาม กระตุ้น ที่เป็นกิจกรรมที่ไม่ยากจนเกินไป และดำเนินการต่อเนื่องหลายเดือน เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และนั่นคือเราสามารถดูแลสุขภาพได้อย่างสมบูรณ์

ลองทำกันดูครับในกลุ่มเพื่อนของท่าน มีข้อจำกัดอย่างหนึ่ง ณ เวลานี้ คือท่านต้องมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่สามารถรวบรวม ติคตามและแจ้งผลการมีกิจกรรมทางกายเหล่านี้ ซึ่งอาจจะมีราคาสูง

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย