Interview

อมรินทร์ กรัยวิเชียร

“นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ที่ได้รู้จักกับกีฬานี้…
ไม่เคยมองว่ากอล์ฟเป็นอาชีพ
แม้ว่า ณ วันนี้ เล่นกอล์ฟเป็นอาชีพ เพื่อรายได้
แต่ทุกวันที่ไปซ้อมกอล์ฟ นั่นคือความสุข และความสนุกของผม
การไปแข่งกอล์ฟ คือการไปทำงานเท่านั้น
มุมมองกอล์ฟของผม จึงอาจต่างไปจากคนอื่นมาก”

14 เดือน :
คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า ผมจับไม้กอล์ฟครั้งแรก เมื่ออายุ 14 เดือน (หัวเราะ) คุณพ่อเล่นกอล์ฟอยู่แล้ว วันหนึ่งอุ้มผมพาไปซื้อไม้กอล์ฟพลาสติกที่ห้างฯ ก็ใช้หวดเล่นอยู่นานเลย พออายุ 2- 3 ขวบ มีไม้กอล์ฟจริง ๆ ก็ยังเล่นไม้พลาสติกอยู่ เพราะสนุกกว่า เล่นที่ไหนก็ได้ ตอนแข่งกอล์ฟครั้งแรก อายุ 4 ขวบ 1 เดือน แข่งสองวัน สกอร์เยอะเป็นร้อย (หัวเราะ) มารู้สึกชอบจริง ๆ เริ่มซ้อมจริง ๆ จัง ๆ เมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ ผมเคยเล่นกีฬาอื่น ๆ ด้วย พวก บาส ฟุตบอล ฯลฯ แต่แค่เป็นกิจกรรมในโรงเรียน

สมัครใจ ไม่บังคับ :
ตั้งแต่เกิด จนมาถึงปัจจุบัน ครอบครัวไม่มีการบังคับเรื่องกอล์ฟเลย ช่วงหนึ่ง เคยคิดเหมือนกันว่า ทำไมเราไม่โดนผลักดันมากกว่านี้ (หัวเราะ) แต่มาถึงวันนี้ นับว่าโชคดีมาก ที่ไม่มีใครมาผลักดันเยอะเกินไป ไม่ว่าจะเรื่องการซ้อม การแข่ง กอล์ฟ เป็นกีฬาที่เราควบคุมทุกอย่าง จะซ้อมก็อยู่ที่เรา ไม่ต้องพึ่งใคร เราซ้อมคนเดียวได้ ขณะที่กีฬาอื่น เราต้องมีคู่ซ้อมอยู่ตลอดเวลา, กรรมการไม่มีผลกับการเล่น อาจจะมาช่วยดู ๆ บ้าง แต่ไม่มีผลเหมือนกีฬาอื่น ไทเกอร์ วูดส์ เป็นไอดอลอันดับหนึ่งของผมเลย เขาเป็นคนแรกและคนเดียว ที่ทำให้กอล์ฟไม่น่าเบื่อ มีสีสัน ฝีมือก็ไม่มีข้อสงสัย ทำให้กอล์ฟเป็นความบันเทิงได้ ตอนเด็กผมก็ใส่ชุดแดงดำ อยากเป็นแบบเขาบ้าง (หัวเราะ)

สนับสนุนเต็มที่ :
คุณพ่อ เป็นนักกอล์ฟวันหยุด และมีความรู้ทางด้านกอล์ฟมากพอสมควรที่จะให้คำแนะนำ ถึงจะไม่ได้สอนในเรื่องวงสวิง เกมการเล่น แต่ช่วยจัดระเบียบ ให้ตัวเองมีวินัย มีการตัดสินใจที่เฉียบขาดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องในแง่กอล์ฟอย่างเดียว ส่วนคุณแม่ ช่วยเรื่องนอกสนามเยอะมาก เช่น พยายามบอกเสมอว่า อย่านอนดึก จะทำให้มีผลกับการเล่น แม่จะพูดเกี่ยวกับการกินอยู่เสมอว่า ให้กินให้พอ เลือกอาหารที่มีประโยชน์ จะมีผลภายหลัง จัดตารางการแข่งขัน การเดินทาง จองโรงแรม ฯลฯ

พื้นฐานต้องดี :
ช่วง 7 ขวบ เริ่มแข่งเยอะ ซ้อมทุกวันหลังเลิกเรียน อยากซ้อมเอง ไม่มีใครบังคับ เริ่มมีไปหาโค้ชตั้งแต่ตอนนั้น คนแรกที่ผมไปหา คือโปรเปิ้ล สาริณี เล็กสุวรรณ ตอนนั้นยังเด็กมาก จำอะไรยังไม่ค่อยได้ (หัวเราะ) แต่เป็นการไปเริ่มต้นพื้นฐานกอล์ฟที่ดีมาก ทำให้ชอบและสามารถต่อยอดมาเรื่อย ๆ กระทั่ง โปรเปิ้ลแนะนำว่า ผู้ชายควรจะเรียนกับโปรผู้ชาย ซึ่งผมก็เห็นด้วย ทำให้ต่อมาได้เรียนรู้กับท่านอื่น ๆ เช่น สอนการถ่ายน้ำหนักที่แน่นอน, สอนสิ่งสำคัญมากที่สุดในกอล์ฟ ฝีมืออาจใกล้เคียงกัน แต่ใครมีสมาธินิ่งมากกว่า ใครใจแข็งกว่า ย่อมได้เปรียบ หลายอย่างที่สอน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงสวิง หรือการตีเลยด้วยซ้ำ เป็นการฝึกสมาธิซะมากกว่า เช่น เดินไป เดินกลับ ทำมือให้นิ่งที่สุด ไม่ให้ลูกกอล์ฟอยู่ที่ตั้งอยู่บนทีหล่น ผมคิดว่านั่นสำคัญไม่แพ้เรื่องฝีมือเลยด้วยซ้ำ

กอล์ฟ ไม่ควรยาก :
ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องการ “เปลี่ยน” วงสวิง แต่ยอมรับได้เรื่องการ “ปรับ” ซึ่งต่างกันมาก หากไม่ใช่วงสวิงที่เป็น “ตัวตน” ของผม มันทำให้กอล์ฟยากเกินไป ผมอยากกลับไปตีแบบเดิม ในแบบที่สบายใจที่สุด “ไม่มีผิด ไม่มีถูก” แค่ตีให้ได้ มีอยู่ช่วงหนึ่งเมื่ออายุราว 13 – 18 ผมเล่นเองโดยไม่โค้ช ทำให้เรียนรู้อะไรเองอีกเยอะมาก ไม่ใช่แค่เรื่องสวิง รวมไปถึงอุปกรณ์ ความคิด การวางแผนเรียน เหมือนลองถูกลองผิดไปเรื่อย ฝีมืออาจไม่ได้เก่งขึ้นเยอะ แต่มีความรู้พื้นฐานที่ได้ทดลองเอง พอตัดสินใจว่าจะเลือกแบบนี้ พอทำไปสักพักถึงจะยังไม่ดีขึ้นมาก แต่ในใจมันโล่ง เพราะนี่คือสิ่งที่เราเลือก ไม่มีใครต้องมาตัดสิน อยากลองค้นหาตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง ค่อย ๆ ปรับไปเรื่อย ๆ ตามที่เจอจากหน้างาน การซ้อมเองก็ไม่ถึงขนาดปิดตัวเองสนิท ผมปรึกษาคุณพ่อ ถามเพื่อน ถามคนโน้นคนนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ โซเชียล เปิดกว้าง ค้นหาข้อมูลกันได้ทุกคน เราอยากทราบอะไร ก็ไปค้นคว้าแล้วลองมาใช้กับตัวเองได้ ซึ่งก็เหมือนกับเมื่อก่อนที่ผมทำ แต่นั่นเป็นการสอบถามโดยตรงจากผู้คน ไม่ใช่จากโซเชียล

เปิดหู เปิดตา :
พอเห็นช็อตไหน ของใคร ที่เห็นว่าเขาทำได้ดี ก็ถาม ขอคำแนะนำ แล้วลองมาฝึกเองว่าทำได้มั้ย แต่เวลาถามอะไรไป ต้องกรองเข้ามูลให้ดี นั่นคือ ลองกลับมาซ้อมเองดูก่อน แล้วลองไปใช้ตอนออกรอบว่าเวิร์คมั้ย ถ้ายังใช้ได้ ก็นำไปใช้ตอนแข่ง แต่ถ้าลองไปใช้ตอนออกรอบ เวลาได้รับความกดดันแล้วไม่เวิร์ค เวลาแข่งก็ไม่ควรใช้ ทำให้เรามีความหลากหลายในการเล่น ถามว่า ทำให้เก่งขึ้นมากมั้ย ถ้าจากสกอร์ คำตอบคือ “ไม่” แต่จากเบสิคพื้นฐาน ผม “กว้าง” ขึ้นเยอะมาก ทำให้เรามีเทคนิค ได้ความรู้ที่มาจากคนอื่นมากขึ้น

เส้นทางการศึกษา :
อนุบาล จนถึง ป.6 เรียนที่จิตลดา แล้วมาต่อที่ บางกอกเพร็บ เป็นโรงเรียนอินเตอร์ฯ ซึ่งมีระบบการศึกษาแบบอังกฤษ เพื่อเตรียมตัวไปเรียนต่อ ในใจทุกคนที่เล่นกอล์ฟใช้ได้ อยากเล่นกอล์ฟอาชีพอยู่แล้ว แต่ก็รู้ดีว่า ถ้าเล่น ก็คงไม่รอด หมายถึง เต็มที่อาจแค่ผ่านตัดตัว บวกกับช่วงนั้นได้เห็นคนไทย ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ และเล่นกอล์ฟด้วย ตั้งแต่ช่วง ม.ต้น คุณพ่อก็ได้วางแผนอยากให้ผมไปในเส้นทางนั้นเหมือนกัน จนได้เข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัย แคมป์เบล นอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา

ทุนนักกีฬา :
ผมได้ทุนแบบครบทั้งหมด เลือกเรียนคณะบริหารธุรกิจ เพื่อจะได้มีเวลาให้กับการซ้อมกอล์ฟ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเราด้วย ช่วงเรียนคือเรียน ช่วงเล่นกีฬาก็แยกออกมาเลย ตารางเรียนเรามีโอกาสเลือกก่อน ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน กับครูคนไหน ที่เราจะจัดตารางกับการซ้อมได้ง่าย ให้สิทธิ์แบบนี้กับทุกประเภทกีฬา รวมถึง นักดนตรี หรือผู้ทำประโยชน์ให้กับโรงเรียน ทำให้ผมเลือกเรียนช่วงเช้าทั้งหมด เพื่อจะได้ซ้อมตอนบ่าย ซึ่งเป็นแบบนี้กันทุกสถาบัน การลาไปแข่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก แค่ไปยื่นจดหมาย แต่แน่นอนว่า เวลามีงาน ก็ต้องส่งให้ครบตามที่สั่ง อาจมีการเจรจาว่า ขอส่งช้า หรือส่งก่อน บางคนอาจขอสอบทีหลัง ซึ่งเขาเอื้ออำนวยให้ สำหรับผมตลอดสี่ปี แทบไม่มีปัญหาอะไรเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ต้องปรับตัวเรื่องภาษา เพราะเตรียมความพร้อมไปอยู่แล้ว วิชาที่เรียนก็ไม่ถึงกับยากมากจนเกินไป ผมจบด้วยคะแนน เกียรตินิยมอันดับ 2

นักกีฬามหา’ลัย :
การไปเรียนต่างประเทศ ด้วยกีฬากอล์ฟนั้น ไม่ได้ยากจนเกินไป แต่ต้องมีการวางแผนที่ดี มีคนแนะนำที่ถูกต้อง ในกรณีของผม คุณพ่อคุณแม่ก็สอบถามกับครอบครัวอื่น ๆ ที่ส่งลูกไปเรียนก่อนหน้านั้น เพราะตอนนั้นยังไม่มีตัวแทนหรือพี่ ๆ ที่มาให้คำแนะนำ แทบจะทุกอย่างต้องทำกันเอง แต่เดี๋ยวนี้ง่ายขึ้นเยอะแล้ว ตอนเรียนผมไม่ได้ต้องการความสีสันมากนัก ไม่รู้สึกทรมานกับการเรียน แต่ก็คิดว่าผู้ชายส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยชอบเรียน (หัวเราะ) สนามซ้อมก็อยู่ใกล้ ๆ ขับรถแค่ 5 นาที เรียนเสร็จ กลับห้องเปลี่ยนชุด ซ้อมเสร็จ หาอะไรกิน ดูทีวี เล่นเกมส์ แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านี้

Burnout :
การหมดไฟ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และอาจเกิดขึ้นกับทุกคน ในกรณีของผม นับว่าโชคดีมาก ที่ผ่านมาได้ ตอนกลับมาบ้านช่วงปิดซัมเมอร์ปี 2 กลับมาพักที่บ้าน ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเล่นกอล์ฟ หรือโดนผลักดันจนเกินไป ผมก็ไม่จับไม้กอล์ฟแล้ว ซีเรียสในการพิจารณาว่าจะ “เลิก” ไม่สนุกกับมันแล้ว คุยกับคุณพ่อคุณแม่ คิดว่าจะพอกับกอล์ฟ… แต่ความ “เข้าใจของครอบครัว” คือสิ่งสำคัญที่สุด ว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นได้ และยอมรับว่าวันนึง ลูกอาจไม่อยากเล่นกีฬาแล้ว ตัวนักกีฬาเองก็อาจไม่รู้หรอก ตอนนั้นผมเองก็ไม่รู้ รู้ว่าแค่เบื่อ พอโตขึ้นก็เข้าใจว่า มันเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องปกติ เมื่อได้รับความกดดันมากเกินไป ซึ่งผมกดดันตัวเอง อยากซ้อมเยอะ แต่ไม่ได้ผลตามต้องการ พอเข้าใจเรื่องนี้แล้ว การปรับตัว การยอมรับ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ทำให้ผ่านช่วงนั้นมาได้ ฟังแล้วอาจเป็นเรื่องตลก ผมเล่นกอล์ฟมาตั้งแต่เด็ก ทำในสิ่งที่รักมาทั้งชีวิต แล้วอยู่ดี ๆ หยุดเล่นดื้อ ๆ ไม่ได้ทำอะไร มันเหมือนชีวิตว่างเปล่า (หัวเราะ) กีฬามันตลก จะขึ้นหรือจะลง มันไม่เลือกเวลา เราทำในสิ่งที่รักมาเกือบยี่สิบปีแล้ว อยู่ดี ๆ หยุด จนมีความรู้สึกว่าคิดถึง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงได้กลับไปเล่นอีก รู้สึกอยากกลับมาซ้อม พอกลับไปเรียนปี 3 เลยกลายเป็นปีที่เล่นได้ดีที่สุด

ผลงานเด่น :
ตอนไปเรียนที่อเมริกา ทั้ง 4 ปี ได้เล่นครบทุกรายการ ไม่พลาดเลย ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้ยาก, อเมริกาค่อนข้างใหญ่ มีการจัดทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ เยอะมาก แต่ถ้าพูดถึง NCIA ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลนักกีฬาทุกประเภท จะมีแข่งแมทช์สุดท้ายประจำปี NCIA แชมเปี้ยนชิพ ไฟนัล ก่อนหน้านั้นก็จะเป็นระดับภูมิภาค คัดเลือกกันมาเรื่อย, 4 ปีที่อยู่ที่นั่น ได้แชมป์ 3 ครั้ง แพ้เพลย์ออฟ 1 ครั้ง, ได้เป็นเพลเยอร์ออฟเดอะเยียร์ ของสมาคมกีฬาที่นั่น และยังมีแชมป์ประเภททีมอีกหลายครั้ง ปี 3 เป็นปีที่เล่นได้ดีที่สุด ชนะ 2 ครั้ง แพ้เพลย์ออฟ 1 ครั้ง แชมป์ที่ภูมิใจที่สุด เป็นการได้แชมป์ครั้งที่ 2 เพราะทำให้ได้สิทธิ์เข้าไปเล่นหนึ่งในรายการของ web.com ซึ่งปัจจุบัน คือ Korn Ferry Tour รายการที่ผมชนะ คือ Stitch Intercollegiate เป็นรายการใหญ่ ครั้งนั้น “คาเมรอน ยัง” ลงแข่งด้วยซึ่งปัจจุบันเขาติดอันดับในท้อป 20 ของ พีจีเอ และยังมีคนเก่ง ๆ อีกหลายคนที่ลงแข่ง จึงเป็นความภาคภูมิใจมาก ๆ ในระดับมหาวิทยาลัย จนทุกวันนี้ผมยังได้สปอนเซอร์ จาก Stitch อยู่เลย (หัวเราะ)

ตั้งหลักเพื่อไปต่อ :
แผนในใจคือ กลับมาเริ่มที่เมืองไทยก่อน รู้ว่าพอเจอของจริง เราคงไม่ดีพอจะแข่งกอล์ฟจริงจังที่สหรัฐอเมริกา ณ ตอนนั้นคือไม่มีความคิดว่าจะต้องอยู่ ไม่มีประโยชน์ที่จะเล่น เป้าหมายการเล่นกอล์ฟของผมอาจไม่เหมือนคนอื่น ที่ต้องการจะไปเล่นในทัวร์ใหญ่ พีจีเอ ยูโรเปี้ยนส์ แต่สำหรับผมคือ เล่นแล้วได้ตังค์มากที่สุด ง่าย ๆ เลย ไม่คิดอะไรเยอะ (หัวเราะ) จะไปที่ไหนก็ได้ เพราะนี่คืออาชีพ ข้อดีคือ ไม่มีข้อบังคับตายตัวเรื่องเวลาเหมือนพนักงานบริษัท แต่เราต้องซ้อม เดินทาง แข่ง, เวลาทำงาน ต้องเก็บเงิน หากมีรายรับเข้ามา ต้องดูว่ามีรายจ่ายแค่ไหน ต้องคิดกำไรขาดทุนด้วย (หัวเราะ)

เทิร์นโปร :
ตอนเรียนปี 4 เคยไปควอลิไฟล์ เอเชียนทัวร์ วันสุดท้ายตกรอบไปแค่แต้มเดียว แต่อย่างน้อยตอนปี 4 ทำให้มีสถานะเป็นนักกอล์ฟอาชีพในเอเชียนดีเวลลอปเมนต์ทัวร์ เรียนจบจะได้พร้อมเล่น (หัวเราะ) การเล่นอาชีพ สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ “ผ่านการตัดตัว” ไม่เหมือนกับกอล์ฟสมัครเล่นที่มีอายุเป็นรุ่น ๆ เพราะเรากลายเป็นเด็กอายุ 22 ปี ที่ต้องแข่งกับโปรฝีมือดีที่มีอายุหลากหลาย สิ่งที่ยากที่สุดคือ การ “ผ่าน” การตัดตัว และทำให้รู้สึกว่า คนที่เล่นด้วยอยู่นั้น เรา “สู้ได้”

ได้อยู่เพราะคู่ควร :
การจะทำให้รู้สึกสบายใจในสนาม เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะที่คนอื่นเขาอยู่มานานจนชินแล้ว โชคดีที่ผมผ่านการตัดตัวมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าตัวเองสบายใจ มั่นใจมากขึ้น แต่การทำให้รู้สึกว่า “คู่ควร” กับการอยู่ตรงนี้ ก็ต้องใช้เวลาเป็นปี อีกสิ่งคือ การเล่นที่เยอะขึ้นและมีผลงานดีขึ้น คิดว่าถ้าเราไม่รู้สึกดีกับตรงนี้ ก็ไม่ควรเล่นแล้วล่ะ (หัวเราะ) ผมชอบเล่นภายใต้ความกดดัน ถ้าเรามีอะไรกดดันในสนาม แปลว่าเราทำบางสิ่งบางอย่างถูกต้อง เราถึงมาอยู่ตรงนี้ แต่ถ้ารู้สึกสบาย ๆ แสดงว่า มาผิดที่แล้ว (หัวเราะ) อย่างการได้ลุ้นแชมป์ แล้วตื่นเต้น เกร็ง เป็นสิ่งที่ดี

วิกฤติคือโอกาส :
ผมเทิร์นโปรช่วงกลางปี 2019 แล้วก็เจอโควิดไปหลายช่วง กว่าจะได้แข่งเต็มที่ก็ปี 2022 ก่อนโควิด รู้สึกเริ่มตัน หาทางออกไม่ได้ว่าจะไปทางไหน พอเจอวิกฤติก็เหมือนทำให้ได้เริ่มใหม่อีกรอบ สิ่งที่ดีสำหรับการไม่แข่งกอล์ฟ คือได้เพิ่มน้ำหนักตัวเอง เพราะการแข่งติด ๆ กัน น้ำหนักผมจะลดลงง่าย ทำให้หมดแรงเร็ว จึงได้มีโอกาสตั้งใจกิน ขุน ทำน้ำหนักให้เพิ่ม (หัวเราะ) และได้ออกกำลังกาย นั่นคือข้อดีที่สุดของโควิด

เส้นทางสู่ดวงดาว :
ช่วงเริ่มเทิร์นโปร ชนะรายการ Thailand PGA Development Tour เป็นการแข่งขัน 2 วัน, ช่วงปี 2021 ได้แข่งเต็มปีครั้งแรก ผลงานดีที่สุดของปีนั้น เป็นอันดับสองรายการทรัสต์กอล์ฟ ส่วนรายการอื่น ๆ ก็มีได้ขึ้นอยู่ในอันดับต้น ๆ ของตารางบ้าง จนมาปีนี้ ได้ชนะรายการ 4 วัน ครั้งแรก นับว่าเป็นปีที่ค่อนข้างใช้ได้เลย เพราะมีได้อันดับ 2, 3 และ 4, ปีที่ผ่านมาเห็นการพัฒนาของตัวเอง เกมมีความแน่นอนขึ้น ไม่หวือหวา ตรงนี้ค่อนข้างพอใจ การพัฒนาการอาจจะช้าไปบ้าง แต่ไม่ซีเรียสขนาดนั้น เพราะกอล์ฟยังเล่นได้เรื่อย ๆ ยังไม่อยากเห็นจุดต่ำของตัวเอง อาจยังไม่มีจุดพีค แต่ก็ได้เห็นโอกาสที่ขึ้นไปลุ้นอันดับข้างบนบ่อยขึ้น เพราะแน่นอนว่า กอล์ฟแข่งกันร้อยกว่าคน เราคงไม่ได้ขึ้นอันดับบน ๆ อยู่ทุกอาทิตย์ เริ่มเห็นพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจช้าบ้าง อยากให้ขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ “ขึ้นเร็ว ลงเร็ว” มองว่าเมื่อได้แข่ง เอเชี่ยน ดิเวลอบเมนต์ ทัวร์ ขั้นต่อไปก็อยากขึ้นระดับ เอเชี่ยน ทัวร์ แต่ขอขึ้นไปแบบพร้อม ถ้าไม่พร้อมจริง ๆ ไม่ขึ้นดีกว่า ยิ่งมีเงินรางวัลมากขึ้น นักกอล์ฟเก่ง ๆ จากนอกภูมิภาคสนใจเข้ามามากขึ้น ทำให้ทัวร์แข็งแรง งานเราก็หนักมากขึ้น (หัวเราะ)

ช้างแคมป์ :
ผมได้เข้าช้างคลินิกตั้งแต่รุ่นแรก ได้ฝึกเบสิคหลายอย่าง จาก โค้ชเชน กิลเลสพี สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ปัจจุบันผมก็ยังได้กลับมาคลินิก มาบอกเล่าให้น้อง ๆ ได้ฟังว่า “การเป็นนักกอล์ฟอาชีพ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ไม่ได้ยากจนเกินความเป็นจริง แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด” อีกสิ่งที่สำคัญคือการให้คำแนะนำ เรื่องทุนในการไปเรียนสหรัฐอเมริกา มีสถิติว่า มีนักกีฬาแค่ 2% ที่ออกไปเป็นนักกีฬาอาชีพ เพราะฉะนั้น “การศึกษาสำคัญมาก” การไปอเมริกา ทำให้ได้ทั้งกีฬาและเรียน ใครที่เป็นนักกีฬาแล้วอยากก้าวไปอีกขั้นก็ทำได้ แต่หากทำไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะคุณยังได้ในเรื่องการศึกษา

ตัวตน :
สำหรับผม กอล์ฟไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็น ตัวตน (Identity) ของผม ถึงแม้สมมติว่า ต่อไปจะเลิกแข่งขัน แต่ผมจะไม่เลิกตีกอล์ฟ กอล์ฟอยู่กับผมมาทั้งชีวิต กอล์ฟ เป็นทั้งความสุข และความสนุกของผม ไม่ใช่แค่เรื่องกีฬา เป็นอะไรที่มากกว่านั้นเยอะ หากไม่ได้เล่น เหมือนบางสิ่งบางอย่างในชีวิตหายไป สำหรับผมไม่จำต้องเล่นเป็นเรื่องเป็นราว ผมต้องการความรู้สึกสนุกจากกอล์ฟ พอความสนุกมา ความกระหายก็ตามมาครับ.