อมยิ้มริมกรีน

กอล์ฟ กับสงคราม

กอล์ฟ กับสงคราม ปืนก็จะยิง สวิงก็อยากเหวี่ยง

ท่ามกลางบรรยากาศที่อึมครึมจากความไม่สงบ ในตะวันออกกลาง ที่ส่อแววว่าอาจจะปะทุเชื้อไฟสงครามเข้าให้ในเร็ววันนี้ บ้านเราเมืองเรา ถึงแม้จะไม่ค่อยได้เข้าไปเกี่ยวพันสายตรงกับประเทศต้นเรื่อง แต่เชื่อเถอะว่า ความขัดแย้งไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ต่อให้ห่างไกลเราคนละซีกโลก ผลกระทบของควันที่เกิดขึ้น ย่อมลอยละล่องมาถึงเราจนได้ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งสมัยนี้แล้ว ข่าวสารข้อมูลสื่อกันได้เร็วยิ่งกว่ายุคไหน ๆ มีหรือที่เราจะไม่รู้สึกร้อนหนาวไปกะบ้านเขาด้วย

แน่นอนว่า กิจกรรมที่ต้องถูกสั่งให้ “งด” เป็นประเภทแรกเมื่อเกิดภัยสงคราม ต้องเป็นกลุ่มสันทนาการต่าง ๆ ทั้งนี้ หากมัวรื่นเริงบันเทิงใจ ขณะที่มีการรบพุ่งคงเป็นเรื่องประหลาดนัก แล้วคนที่ยังมีหัวจิตหัวใจ เหลือให้กับความสนุก ก็คงดูแปลงประหลาดมิใช่น้อยเช่นกัน แต่ในช่วงสงคราม ที่เกิดเหตุการณ์แบบระยะยาว เช่นสมัยสงครามโลก นอกจากกำลังกายที่จะต้องใช้ในการรบแล้ว กำลังใจที่จะใช้ในการขับเคลื่อนร่างกาย เพื่อให้เป็นปกติสุขมากที่สุด ย่อมเกิดจากการพักผ่อน หรือหันความสนใจไปให้กิจกรรม สันทนาการต่าง ๆ ที่จะช่วยเบี่ยงเบนความเครียดให้เลี้ยวหายไปได้บ้าง แล้วก็ไม่น่าเชื่อว่า “กอล์ฟ” เป็นอีกหนึ่งในกีฬาสำคัญ ที่ช่วยเยียวยา สมานแผลทางใจได้เป็นอย่างดี ทำให้พอมีภาพหลงเหลือจากยุคสงครามหรือมีเรื่องบอกเล่า ว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นจริง

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สนามกอล์ฟในอังกฤษหลายแห่งยังคงเปิดให้บริการ แต่มีการปรับเปลี่ยน กฎ กติกา ให้เข้ากันกับสภาวการณ์ในขณะนั้น ตัวอย่างเช่น ริชมอนด์ กอล์ฟ คลับ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการประกาศใช้ กฎ กติกา ชั่วคราว ขึ้น เมื่อปี 1941 ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาของสงครามโลกครั้งที่สอง กำลังรบกันอย่างดุเดือดในทุกสมรภูมิ รวมทั้งถูกกระหน่ำด้วยการทิ้งระเบิดจากฝ่ายศัตรู แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า ถึงแม้จะโดนถล่มกันจนอ่วมขนาดนั้น ก็ยังมีคนกล้า (บ้า) ฝ่าภัยสงครามไปออกรอบ เป็นจำนวนไม่น้อย

มาดูกันครับว่า กฎ กอล์ฟ ยามมีภัยสงคราม เขียนไว้ยังไงบ้าง

  1. ขอให้ผู้เล่น เก็บเศษระเบิด เศษกระสุน เพื่อป้องกันความเสียหายให้กับเครื่องตัดหญ้า
  2. ระหว่างการเล่น หากเกิดการยิงปืนต่อสู้ หรือมีการทิ้งระเบิด ผู้เล่นอาจเข้าที่กำบัง โดยไม่มีการลงโทษสำหรับการหยุดเล่น
  3. ตำแหน่งของระเบิดเวลาที่ยังไม่ทำงาน แจ้งตำแหน่งให้ทราบด้วยธงสีแดง ในระยะห่างพอสมควรแล้ว แต่ไม่รับรองในความปลอดภัย
  4. เศษกระสุน และ/หรือ เศษระเบิด บนแฟร์เวย์หรือในบังเกอร์ ภายในระยะหนึ่งไม้กอล์ฟ อาจเคลื่อนย้ายได้ รวมถึง การทำลูกเคลื่อนโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีโทษปรับ
  5. ลูกเคลื่อนที่โดยเกิดจากการกระทำของฝ่ายข้าศึก หากสูญหาย หรือถูกทำลาย สามารถนำลูกใหม่มาทดแทน และดรอบในจุดที่ไม่ใกล้เข้าไปหาหลุมกว่าจุดเดิม ไม่มีโทษปรับ
  6. ลูกหยุดอยู่ในหลุมกระสุนปืนใหญ่ สามารถหยิบขึ้นมาและดรอปได้โดยไม่ใกล้หลุมกว่าจุดเดิม ในทิศทางเข้าหาหลุม ไม่มีโทษปรับ
  7. ผู้เล่นทำสโตรคพร้อมกับเกิดระเบิดขึ้นในเวลาเดียวกัน สามารถเล่นลูกอื่นจากจุดเดิมได้ แต่มีโทษปรับ 1 สโตรค

เป็นอย่างไรบ้างครับ กับ กฎ กติกา ที่เคยถูกกำหนดขึ้นจริง แล้วก็มีคนใช้กันจริง ๆ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หากพิจารณาให้ละเอียด ในมุมของกีฬาล้วน ๆ แล้ว อาจพบว่า กฎ กติกา ที่ตั้งขึ้น สอดคล้องกับเหตุการณ์ยุคนั้น และบางข้อยังถูกนำมาปรับเปลี่ยนเป็นกติกาในเล่มปัจจุบัน ในเรื่องของความสมเหตุสมผล โดยเฉพาะในเรื่อง “เจตนา” ในการทำลูกเคลื่อน โชคดีที่ภายหลังสงคราม กฎทำนองนี้คงไม่มีความไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว แต่ความแน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้น เราจึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์ไว้เป็นบทเรียน เพราะนี่แสดงให้เห็นถึงความหลงใหลและความทุ่มเทให้กับกอล์ฟ หากไม่มีคุณค่าพอ ก็คงจะไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกอล์ฟทั่วโลกได้อย่างที่ปรากฎจนถึงทุกวันนี้

หลายท่านอาจจะมองว่า เมื่อบ้านเมืองยากลำบากซะขนาดนั้น ยังจะมีกระจิตกระใจเล่นกอล์ฟกันอีกได้ยังไง แต่นั่นล่ะครับ หากสงครามที่ยืดเยื้อกันหลายปี แล้วทุกคนจมอยู่กับความเครียดโดยไม่ได้มีการผ่อนคลาย ไม่ได้รับการเยียวยาทางใจ ชีวิตที่แทบไม่มีความสุขใด ๆ อยู่แล้ว คงจะยิ่งดำดิ่งจมลึกไปมากกว่านี้อีกแน่ ไหน ๆ ก็ไม่มีทางออกจากวังวนของปัญหานี้อยู่แล้ว หากจะมีการท้าทายความกลัวกันบ้าง แล้วทำให้ชีวิตมีกำลังใจ ไปต่อกันได้ ก็คุ้มที่จะเสี่ยง ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่า “กอล์ฟ” ช่วยได้จริง ๆ ครับ.

ที่มา เรื่อง/ภาพ usga.org, golfingherald.com