Interview

จิราภรณ์ ภูอุดม

จิราภรณ์ ภูอุดม
ครูชำนาญการพิเศษ, รักษาการ ผู้อำนวยการ
โรงเรียนวัดหนองสองห้อง (สายชนูปถัมภ์)
“ถ้ามองปัญหา ว่าไม่ได้เป็นตัวปัญหา มันก็ไม่ใช่ปัญหา”

พละศึกษา : คุณพ่อเป็นครู คุณแม่เป็นแม่บ้าน สมัยก่อนยังไม่มีชั้นอนุบาล เพื่อน ๆ จะเข้าเรียนกันตอน 7 ขวบ แต่เราเริ่มเรียนตั้งแต่ก่อนเกณฑ์ อายุแค่ 6 ขวบ ที่โรงเรียนวัดหนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ด้วยความที่คุณพ่อเป็นครู ทำให้ครอบครัวสนับสนุนด้านการศึกษา จึงย้ายเข้าไปเรียนในตัวเมืองบ้านแพ้ว จนจบชั้นประถม แล้วเข้าเรียน ม.ปลาย ที่ สมุทรสาครบูรณะ (สคณ.) โรงเรียนมีการทำทีมวอลเลย์บอล เราเองเริ่มเล่นมาตั้งแต่ ม.ต้น แต่อาจไม่ได้มุ่งเพื่อการเป็นนักกีฬา จน ม.ปลาย อาจารย์อาจมองเห็นแววก็นำเข้าไปร่วมทีมด้วย แต่ก็อยู่ท้าย ๆ ของทีม (หัวเราะ) ตำแหน่งที่เล่นคือตัวตั้ง ตัวรับ ปัจจุบันน่าจะเป็น ลิเบอโร่ เรียนจนจบมัธยมที่นี่ คุณพ่ออยากให้เรียนเกี่ยวกับบัญชี พยาบาล ซึ่งเราไม่ชอบ ค่อนข้างขัดใจพ่อ (หัวเราะ) จนกลับมาเรียนวิทยาลัยพลศึกษา ที่สมุทรสาคร ยิ่งเราเรียนสายวิทย์และมีพื้นฐานด้านกีฬามาบ้าง พอเข้าไปเรียนก็เรียนได้ดี ยิ่งทำให้รู้สึกว่ามาถูกทาง เข้าพลศึกษา ปีแรกเล่นวอลเลย์บอล เผอิญโค้ชที่สอนย้าย ทำให้พอขึ้นปีสองหันมาเริ่มเล่นเทนนิส ต่อเนื่องจนถึงได้รับการคัดเลือกให้ไปเรียนต่อที่ประสานมิตร ก็มีรุ่นพี่คอยซ้อมคอยสอนให้ เล่นกีฬาเทนนิสจนปี 4 ทั้งหญิงเดี่ยว หญิงคู่ มีเล่นซอร์ฟบอลบ้างนิดหน่อย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จขั้นสูงสุด เพราะเป้าหมายไม่ได้มุ่งไปทางสายกีฬา คิดว่าเรียนจบต้องสอบบรรจุให้ติด มองศักยภาพตัวเองแล้วว่า เหมาะกับการสอนหนังสือมากกว่า

อาชีพครู : ปีที่สอบติด ได้ลำดับที่หมื่นต้น ๆ จากทั่วประเทศ คาดว่าจะได้รับการบรรจุแน่ ๆ แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด มีการยกเลิกผลการสอบ แล้วจัดให้สอบใหม่ แล้วเราก็สอบได้ในลำดับที่สามพันกว่า จนได้รับการบรรจุให้รับราชการครู ตั้งแต่ 1 กันยายน 2530 ณ โรงเรียนบ้านช่องแคบ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ที่ทางรถไฟสายมรณะวิ่งผ่าน แต่ไม่มีไฟฟ้า หนทางไม่ค่อยมีรถยนต์ผ่าน บางครั้งต้องเดิน ต้องเตรียมเตาแก๊สไปหุงหาอาหารเอง วันศุกร์ญาติที่เป็นทหารจะไปรับ บางครั้งนั่งรถไฟกลับบ้าน แต่การใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบนั้น ก็เป็นความสุขอีกแบบ ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าลำบาก เพราะผ่านชีวิตแบบนั้นมาหมดแล้ว จนกระทั่งปี 2536 ขอย้ายกลับมาสอนใกล้บ้านเพื่อดูแลพ่อแม่ แล้วไม่ได้ไปไหนอีกเลย (หัวเราะ) รวมอยู่ในอาชีพครูทั้งหมด 36 ปี

หนองสองห้อง : โรงเรียนวัดหนองสองห้อง (สายชนูปถัมภ์) เป็นโรงเรียนขยายโอกาสแห่งแรกของสมุทรสาคร สมัยนั้นเด็กนักเรียนค่อนข้างเยอะ ราวห้าร้อยกว่าคน เปิดมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนประถม เพื่อให้โอกาสกับเด็กที่อยากเรียนต่อ แต่ไม่สะดวกในการเดินทางเข้าไปในเมือง เราสอนพลศึกษาคนเดียว เหมาตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.3 (หัวเราะ) จนตอนหลังมีน้องจบเอกพลศึกษาเข้ามาช่วย ทำให้ไปสอนสุขศึกษา หรือวิชาอื่น ๆ ได้บ้าง เนื่องจากเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ครูต้องสอนได้หลากหลายวิชา เรารักและชอบการสอน ทำให้ไม่เคยคิดจะไปทำงานในสายผู้บริหาร ขนาดช่วงหลังมีข้อกำหนดว่า หากจะขึ้นบริหารได้ ต้องเรียนจบปริญญาโทบริหารการศึกษา แต่เรากลับไปเรียนสาขาพัฒนาการศึกษา เพราะไม่คิดจะทำงานบริหารอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ตำแหน่งหน้าที่การงาน วิทยฐานะ ผ่านเกณฑ์มานานแล้ว จึงอยากเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเอง แต่เนื่องจากผู้บริหารโรงเรียนได้ย้าย ทำให้ต้องทำหน้าที่ในสายบริหาร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ พร้อมกับทำหน้าที่ครูผู้สอนตามปกติควบคู่ไปด้วย ต่อเนื่องมาจนเกือบจะสองปีแล้ว เราเป็นคนท้องที่ มีความได้เปรียบในเรื่องการติดต่อประสานงานกับผู้คนในพื้นที่ ในชุมชนที่เราคุ้นเคย ทำให้การจัดหางบประมาณที่มาสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ จะหาได้ง่ายกว่า ปัจจุบันเด็ก ๆ ที่เรียนอยู่กับเราเป็นรุ่นหลานแล้ว (หัวเราะ) รุ่นพ่อแม่เขาเราก็สอนมา เวลาเด็กไม่เชื่อฟังก็มักจะบอกว่า ครูตีเธอไม่ได้ ครูก็ตีไปยันพ่อแม่เธอได้ (หัวเราะ) คุณปู่ย่าตายาย ก็รุ่นเดียวกับเรา

ความภาคภูมิใจ : ช่วงที่กลับมา ทำเรื่องกีฬาด้วย ส่งเด็กเข้าแข่งขันแอโรบิค ทำอยู่หลายปี เด็กเราทะลุขึ้นไปถึงระดับประเทศ เวลาส่งก็มีทั้งทีมประถมและทีมมัธยม เราเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ได้เป็นตัวแทนของจังหวัด ตัวแทนภาค จนถึงไปแข่งเคยได้รางวัลที่สามระดับประเทศ, จริง ๆ มีทำทีมวอลเลย์บอลด้วย แต่ผลงานในช่วงแรก ๆ ยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เพิ่งจะมาประสบความสำเร็จมาเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง เรายังส่งโครงงานอื่น ๆ เช่น ศิลปะหัตกรรม เข้าร่วมแข่งขัน แต่การส่งแข่งขันในกิจกรรมต่าง ๆ ต้องใช้งบประมาณเยอะมาก แต่โรงเรียนไม่มีงบ ก็ต้องอาศัยการเป็นจิตอาสา การเสียสละ, ช่วงเป็นครู ไปทำงานด้านลูกเสือ เป็นวิทยากร ได้รับหน้าที่สำคัญเป็นรองหัวหน้าจัดกิจกรรมจตุรัสวัฒนธรรม ในงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 15 เป็นงานระดับโลก สี่ปีมีครั้ง ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดที่หาดยาว สัตหีบ ชลบุรี มีโอกาสเข้าไปร่วมในกิจกรรมนี้ ความภาคภูมิใจที่สุดคือ ได้รับเหรียญสดุดีชั้นที่หนึ่งจากในหลวง มีชื่อเราสลักไว้ด้านหลัง แต่ช่วงหลัง ๆ สุขภาพไม่ค่อยดีนัก ทำให้หันมามุ่งเรื่องการสอนแค่อย่างเดียว ช่วงที่ไม่ได้เป็นวิทยากรจึงไปเรียนปริญญาโท คณะพัฒนศึกษา ม.ศิลปากร ไปเรียนกับรุ่นน้อง ๆ บางคนยังทักว่า พี่อายุเท่าแม่หนูเลย (หัวเราะ) ทั้งนี้เพื่อนำความรู้มาปรับใช้ แต่ไม่ได้เลือกเรียนสายบริหาร ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย

พลศึกษา ทำได้ทุกอย่าง : การเล่นกีฬา เป็นเสมือนการทำงานอย่างหนึ่ง เป็นการฝึกทักษะ การจะเล่นกีฬาได้ ต้องมีกระบวนการตัดสินใจ การจัดการในหลาย ๆ เรื่อง เป็นศิลปะ สามารถทำได้ทั้งรุกและรับ จึงนำเรื่องของกีฬามาปรับใช้กับการทำงาน ครูพละ ลุยได้ทุกสถานการณ์ (หัวเราะ) ไม่ว่าจะทำอะไร เราทำได้หมด เพราะกระบวนการตัดสินใจ ทำได้ค่อนข้างดี นำทักษะในการเล่นกีฬา มาปรับใช้กับการทำงาน ปรับใช้ได้ทุกเรื่องในชีวิต เรามองว่า ครูพละ ในโรงเรียนมักจะได้ความชื่นชอบชื่นชม เพราะใช้งานได้ทุกเรื่อง (หัวเราะ) เช่น หัวหน้าฝ่ายปกครอง อาจมองว่าเราห้าว ๆ หน่อย เด็กจะได้เกรงใจจึงถึงค่อนข้างกลัวเลยล่ะ (หัวเราะ) แต่เราก็ทีเล่นทีจริงกับเขาบ้าง

กอล์ฟ ถูกที่ ถูกเวลา : เด็กบ้านนอกอย่างเรา ไม่เคยคิดถึงกีฬากอล์ฟเลย (หัวเราะ) เพราะรู้ว่า ใช้เงินค่อนข้างมาก เป็นเรื่องที่ไกลตัว สมัยก่อนเรียนพละก็ยังไม่มีในการเรียนการสอน จะซื้อไม้เทนนิสราคาพันกว่าบาท แม่ยังบ่นว่าทำไมแพงจัง (หัวเราะ) ยิ่งพอมาเจอกอล์ฟ ทำให้เราไม่คิดอะไรเลย จนเมื่อเป็นรองช้ำ ใส่รองเท้าคัทชูไม่ได้เลย เพราะเอ็นใต้ฝ่าเท้ายืด เจ็บ เดินไม่คล่อง แล้วเมื่อปี 2557 ไปตรวจสุขภาพเจออีกว่า หลอดเลือดหัวใจตีบไปหนึ่งเส้น ทำบอลลูนรักษาก็ไม่ได้ เพราะมีขนาดเล็กสุด หมอบอกว่าหัวใจทำงานอยู่ราวห้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ต้องออกกำลังกายให้เหมาะกับตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เราเป็นครูพละ สอนเล่นกีฬา แต่เทนนิสก็เล่นไม่ได้เพราะหนักเกินไป จังหวะนั้นมีผู้มาแนะนำว่าให้เล่นกอล์ฟ ก็ตอบว่าไม่ไปหรอก เดินไปเดินมาตั้งหลายชั่วโมง รู้สึกว่าร้อนด้วย แล้วมันจะสนุกตรงไหน เป็นการเริ่มด้วยความไม่อยากเล่น แต่ต้องการออกกำลังกาย ตีได้มั่งไม่ได้มั่ง เขาบอกให้นำกีฬาเทนนิสมาปรับใช้ แต่ไม่ได้เล่นเทนนิสมาสามสิบกว่าปี ใครจะจำได้ (หัวเราะ) ก็เล่นไปแบบงั้น ๆ ไม่ได้เต็มใจ ขาไปตีได้ก็พอไหว ขากลับตีไม่ได้ก็เริ่มมีปัญหา ทนตีมาเรื่อย ๆ ไปออกรอบบ้าง แต่ทำไปทำมา จากที่เคยรู้สึกไม่อยากไป กลายเป็นคนชวนซะเอง (หัวเราะ) หลงเสน่ห์กอล์ฟโดยไม่รู้ตัว ไม่เหมือนกับไปแข่งขัน ไม่เคร่งเครียดกับผลแพ้ชนะ ได้เพื่อนมากขึ้น ได้คอนเน็คชั่นมากขึ้น และจากผลการตรวจสุขภาพก่อนหน้านี้ พบว่าหลอดเลือดตีบ มีกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนตายไปแล้ว ซึ่งหมอบอกว่าแก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยไปตามสภาพ แต่ว่าผลการตรวจหลังจากเล่นกอล์ฟไปแล้วสักพัก พอไปตรวจสุขภาพได้ผลเลือด ค่าต่าง ๆ ออกมาแล้ว หมอถามว่า ไปทำอะไรมา เพราะพบว่าสุขภาพปกติ แต่ในแบบของเรานะ (หัวเราะ) ไม่ได้แย่ลง ก็เล่าให้ฟังว่า ไปออกกำลังกาย ไปเล่นกอล์ฟ ผลการตรวจก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ กินยารักษาไปตามอาการ เพื่อให้สิ่งที่ยังดีอยู่คงสภาพไว้ให้นานที่สุด แต่ยาบางตัวก็ยังไม่ได้กินเลย เพราะไม่รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ ออกกำลังกายได้มากขึ้น ทำงานอะไรได้มากกว่าเดิม ถือว่ากอล์ฟ มาถูกที่ ถูกเวลากับชีวิตจริง ๆ

ไม่มีปัญหา ปัญหาไม่มี : ทุกขั้นตอนของชีวิต ต้องพยายามมองในมุมบวก คิดซะว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ชีวิตเราก็ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ทุกครั้งที่เจอปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี จะคิดเสมอว่า นี่คือพลัง เดี๋ยวเราก็จะไปเจอเรื่องดี ๆ ข้างหน้า ต้องเจอแสงสว่างรออยู่ ไม่จมกับปัญหา ไม่คร่ำครวญว่าทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ แต่จะคิดว่าเรื่องแบบนี้แหล่ะ ที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น แล้วสุขภาพจิตของเราก็จะดี ไม่ไปหมกมุ่นอยู่กับความทุกข์ ปล่อยให้มันผ่าน ๆ ไป เคยเจอเหตุการณ์หนัก ๆ ลำบากจนแทบไม่มีเงินเหลือติดตัวเลย แต่ก็ไม่เครียด เพราะเดี๋ยวพอเรื่องร้าย ๆ ผ่านไป เรื่อง ๆ ดี ๆ ก็จะหมุนเวียนเข้ามา ถ้ามองปัญหา ว่าไม่ได้เป็นตัวปัญหา มันก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้าเรามองทุกเรื่องเป็นปัญหา ทุกเรื่องก็จะเป็นปัญหาจริง ๆ เพราะเรื่องนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เป็นปัญหาทั้งนั้น หากไม่สำเร็จด้วยตัวเอง ก็ยังสำเร็จด้วยคนอื่นได้ ต้องเชื่อว่าทำได้ เดี๋ยวก็มีทางออก แล้วก็เป็นแบบนี้จริง ๆ เกิดขึ้นกับชีวิตมาแล้วหลายครั้งหลายหน จนคิดเหมือนกันว่า เราคงเป็นเหมือนแมวเก้าชีวิต (หัวเราะ)

พลังโซเชียล : นึกถึงเด็กเป็นหลัก ว่าจะหาทุนสักเท่าไหร่ มาเป็นตัวช่วยให้กับผู้ปกครอง จะมีวิธีการหาทุนอย่างไร ความโชคดีอย่างหนึ่งก็คือ ทุกครั้งที่มีการโพสต์แจ้งระดมทุน จะได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม อย่างปีที่ผ่านมา เราต้องการให้เด็กได้ทุน คนละหนึ่งทุนต่อเทอม ก็ทำได้เกินเป้า เป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครอง, ทุนการศึกษา เราไม่ได้ให้เด็กนำกลับบ้าน แต่จะมาฝากไว้ให้เป็นสวัสดิการ เวลาจะใช้ก็มาขอเบิกกับครู บอกเหตุผล เช่น ซื้ออุปกรณ์การเรียน เป็นค่าอาหาร หรือไปทำกิจกรรม เด็กบางคนมีเงินฝากมากกว่าทุนที่ได้รับด้วยซ้ำ เพราะมีเงินออมของตัวเองมาสมทบด้วย มีดอกผลให้จนกว่าจะเรียนจบ

ชุมชนไม่ทอดทิ้ง : โรงเรียนเป็นอาคารไม้หลังใหญ่ สภาพก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา มีอยู่ครั้งหนึ่งช่วงเดือนเมษา เกิดลมพายุ พัดกระเบื้องหลุด เราถ่ายภาพแล้วโพสต์บรรยายไปตามความรู้สึก ก็ไม่นึกว่าศักยภาพของเราจะทำได้มากน้อยแค่ไหน พอโพสต์แจ้งข่าวไป ก็มีผู้ติดต่อเข้ามาทันที บางคนเป็นศิษย์เก่า ปัจจุบันอาศัยอยู่ต่างประเทศ ขอร่วมสนับสนุน โอนเงินเข้ามาช่วย รู้สึกประทับใจในศิษย์เก่า เพราะที่นี่เด็กไม่เยอะเราจำลูกศิษย์ได้ทุกคน หรือผู้มีจิตศรัทธาบางท่านก็เดินทางเข้ามามอบให้ถึงโรงเรียน ผลปรากฏว่า ปีนั้นได้ทุนมาซ่อมแซมเกือบล้าน โดยไม่ได้อาศัยงบของทางการเลย เราใช้วิธีการรับบริจาคอย่างถูกต้องตามระบบ โปร่งใส มีบัญชีให้ตรวจสอบ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ ทำให้มีโอกาสปรับปรุงโรงเรียนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง นับว่าโชคดีที่เราทำอะไรแล้ว ได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุน ด้วยดีเสมอมา ตลอดการใช้ชีวิตข้าราชการ ทำให้ชีวิตมีความสุข เราไม่ได้เป็นครูเฉพาะมีหน้าที่สอนหนังสือ แต่ยังต้องดูทุกเรื่องราวในชีวิตเด็ก รวมไปถึงงานในชุมชน ก็ยินดีเข้าไปช่วยเหลือในทุกเรื่องที่ช่วยได้อยู่แล้ว และเมื่อถึงเวลาที่เราต้องการความช่วยเหลือบ้าง ชุมชนก็ไม่ทอดทิ้งเราเช่นกัน

ความสุขหลังเกษียณ : จะไม่ทำอะไรที่ผูกมัดตัวเองว่าต้องตื่นขึ้นมาทำงานเจ็ดวัน แต่จะเลือกงานเฉพาะที่อยากทำ อาจเป็นงานทางด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือสมัครเข้าชมรมผู้สูงอายุต่าง ๆ เพื่อให้มีกิจกรรม เวลาว่างจะได้ไม่รู้สึกเหงา ส่วนเล่นกอล์ฟคงต้องจริงจังมากขึ้น การท่องเที่ยวคงต้องหาโอกาสมากขึ้น เพราะชอบการเดินทางอยู่แล้ว และความสุขที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัว ความผูกพันกันระหว่างพี่น้อง คอยดูแลซึ่งกันและกัน คิดอยู่เสมอว่า ถ้าสักวันเรามีความสุข มีสภาพคล่อง ครอบครัวเรา พี่น้องเรา ก็ต้องมีความสุขไปด้วย ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ที่มีอยู่ สักวันก็จะเป็นของลูกหลานอยู่แล้ว ความสุขของเราคือเห็นพี่น้องมีความสุข ได้ดูแลทุกคน ส่งหลาน ๆ เรียนหนังสือ

ศุกร์ (สุข) นี้เพื่อน้อง : วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 เป็นวันเกษียณอายุราชการ จะไม่มีพิธีแสดงมุทิตาจิต เมื่อเรามีความสุข เด็กก็ต้องมีความสุข จึงอยากเปลี่ยนเป็นการทำบุญของเรากับพันธมิตร มอบทุนการศึกษาให้กับเด็กในวันนั้น หากใครจะมาแสดงความยินดี หรือมอบของที่ระลึก ก็ขอเปลี่ยนให้เป็นทุนการศึกษาสำหรับน้อง ๆ แล้วก็มาทานอาหารร่วมกันกับเด็ก ๆ มีซุ้มสวนสนุกให้เด็กเล่น เลี้ยงอาหารตามที่เด็กชอบ อยากกินอะไรก็จัดหามาให้ โดยมีน้อง ๆ จิตอาสา มาทำสันทนาการให้เด็กในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก อยากให้เด็กสบาย ๆ ไม่ต้องมานั่งในหอประชุม ถือเป็นการทำบุญครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตแล้ว และหลังจากนี้จะส่งต่อ มอบหน้าที่ให้กับน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ให้มาทำหน้าที่แทน ถึงแม้อาชีพครูจะหมดไปตามวาระหน้าที่ แต่ความเป็นครูที่ผูกพันกัน ก็ยังจะช่วยเหลือในฐานะผู้สนับสนุนโรงเรียนต่อไป ในทุกเรื่องที่ทำได้ หรือทำอะไรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม หากมีเวลาก็ยินดี เพราะความสุขของคนรอบข้างเราสัมผัสได้จริง ๆ ค่ะ